xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายชุมชน8จังหวัดภาคเหนือ จัดระดมสมองปฏิรูปที่ดินทำกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการออนไลน์- เครือข่ายองค์กรชุมชน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จัดงานระดมสมองปฎิรูปที่ดินทำกินเพื่อเป็นฐานการผลิตชีวิตชุมชน ชี้ที่ผ่านมารัฐฯไม่เอาจริงจัดการนายทุนรุกที่ ทำให้การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินไม่บรรลุผล

วันนี้ (24 เม.ย.) ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดเวทีสัมมนา “สรุปประสบการณ์ประสานความร่วมมือจัดทำแผนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างมีส่วนร่วม” ณ โรงแรมเบสเวสต์เทริน์ อ. เมือง จ. เชียงใหม่ โดยมีผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบล 20 แห่ง องค์กรพัฒนาเอกชน ส่วนราชการและองค์กรอิสระตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้กว่า 150 คน เพื่อเร่งระดมความคิดเห็นเพื่อเสนอนโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของคนจนตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทในอนาคต

นายบุญยืน คงเพ็ชรศักดิ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในภาคเหนือ มีทั้งความขัดแย้งในเรื่องที่ดินในเขตป่าตามกฎหมายของรัฐและที่ดินนอกเขตป่าที่เป็นพื้นที่ของนายทุน ซึ่งที่ผ่านมาการประกาศเขตพื้นที่ป่าทับที่ชุมชนของรัฐบาล ทำให้เกษตรกรขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ในขณะที่การดำเนินนโยบายอย่างแข็งกร้าวในการจับกุมและฟ้องร้องชาวบ้านที่เข้าถือครองที่ดินนอกเขตป่า โดยมิได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินของเอกชน หรือตรวจสอบแล้วว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่มีการยกเลิกเพิกถอน ทำให้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในภาคเหนือไม่ได้รับการแก้ไขจนกระทั่งปัจจุบัน

“จะเห็นว่านโยบายการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐ ที่มุ่งแก้ไขปัญหาที่ดินโดยการออกเอกสารสิทธิที่ดินอย่างเดียว จึงไม่ใช่นโยบายที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเด็นที่ดินทำกินของพี่น้องเกษตรกรภาคเหนือได้ ตราบเท่าที่ยังไม่มีการรับรองสิทธิที่ดินทำกินของชุมชนท้องถิ่นอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งการตรวจสอบความชอบธรรมหรือการได้มาของเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินของนายทุนภาคเหนือก็ยังเป็นปัญหาค้างคาไม่จบสิ้น” นายบุญยืนกล่าว

ทางด้านนายดิเรก กองเงิน ตัวแทนเครือข่ายปฎิรูปที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ดูเหมือนว่าการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินอันเป็นปัญหาหลักของชาวบ้านจะยังไม่คืบหน้ามากนักในช่วงที่ผ่านมา เพราะที่ดินส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของคนส่วนน้อย เกษตรกร ต้องเช่าที่ดินทำกินจึงเกิดความไม่มั่นคงของชีวิต ดังนั้นการแก้ไขปัญหาที่ดินให้คิดว่า ที่ดินคือฐานการผลิต หรือปัจจัยการผลิตเพื่อยังชีพของครอบครัว แม้การออกเอกสารสิทธิ์ยังเป็นของรัฐก็ตาม แต่ต้องมีหลักประกันให้ชาวบ้านเข้ามาใช้พื้นที่ผลิตได้ชั่วลูกชั่วหลาน เพราะถ้าไม่สร้างความเข้าใจเรื่องที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตแล้วก็จะตกอยู่ในวังวนของนายทุนกว้านซื้อที่ดินตลอดไป

นายเดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานมูลนิธิการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาที่ดิน ภายใต้การกำกับของศูนย์อำนวยการปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนภาคประชาชน (ศตจ.ปชช.) ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาความยากจนด้านที่ดิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ได้ระดมความคิดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น การประสานความร่วมมือกับส่วนราชการ ตลอดจนการแก้ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประสานความร่วมมือในการดำเนินงานและร่วมพิจารณาปรับปรุงทิศทางการแก้ไขปัญหาในระดับต่างๆให้มีความเหมาะสมมากขึ้น
ปัจจุบันเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคเหนือตอนบน ได้เลือกดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 13,622 ครัวเรือน ใน 109 หมู่บ้าน 46 ตำบล 34 อำเภอ ทั้งนี้โดยมุ่งเน้นให้คนท้องถิ่นได้ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาที่ดินด้วยตนเองมากขึ้น โดยกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา เช่น การสำรวจข้อมูล กลั่นกรองคัดเลือกผู้เดือดร้อนจริง จัดทำระเบียบชุมชน ประสานความร่วมมือกับภาครัฐ และได้ดำเนินการจัดทำข้อมูลแสดงตำแหน่งขอบเขตที่ดินของครัวเรือนผู้เดือนร้อนในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1: 4000 ไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น