xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวต่อไปของ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ก่อรูปสร้างเครือข่ายหนุนการเมือง ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงาน

มิติใหม่ของการเมืองภาคประชาชนจะก่อรูปขึ้นภายหลังที่ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ประกาศใช้เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา การมีสถานะทางกฎหมายขององค์กรชุมชนต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ตามหมู่บ้านและชุมชนจะทำให้เสียงของชาวบ้านดังขึ้น อำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น ในขณะที่การหนุนเสริมองค์กรของชาวบ้านจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชน การเปลี่ยนแปลงเพื่อกำหนดอนาคตของตัวเองจะเป็นรูปธรรมหรือไม่ ต้องพิจารณาจากการที่ชุมชนหยิบใช้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ในอนาคตอันใกล้

“เรามีการเลือกตั้งมาเจ็ดสิบกว่าปี แต่ถามว่าชาวบ้านได้ใช้อำนาจของตัวเองหรือไม่ ที่ผ่านมาคนที่ใช้อำนาจคือตัวแทนที่เราเลือกตั้งเข้าไป แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาของชาวบ้านได้จริงๆ” สุวัฒน์ คงแป้น หัวหน้าส่วนสนับสนุนสภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวถึงแนวคิดพื้นฐานของสภาองค์กรชุมชน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม ในการกำหนดอนาคตของตัวเองตั้งแต่ในระดับหมู่บ้าน

ทั้งนี้ หากมีกฎหมายรองรับ สถานะขององค์กรชุมชนทั้งที่เป็นกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ กลุ่มอาชีพ กลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่น หรือกลุ่มอะไรนานัปการที่จัดตั้งและทำงานภายในชุมชนอยู่เดิมจะมีช่องทางในการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มตัวเองเพิ่มมากยิ่งขึ้น พร้อมกับถ่วงดุลอำนาจขององค์กรต่างๆ ในระดับท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบลไปในตัว

สุวัฒน์ บอกว่า การเตรียมการก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะประกาศใช้มีมาโดยตลอด โดยหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.ผ่านสภาในวาระที่ 3 รอการประกาศใช้ สมัชชาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย (สอท.) พอช. และเครือข่ายได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด ได้แก่ คณะทำงานเตรียมการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน ซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชนและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อกำหนดแนวทางในการสร้างรูปธรรมของสภาองค์กรชุมชนในระดับต่างๆ โดยวางเป้าหมายให้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนระดับตำบลใน 200 พื้นที่นำร่อง และอีก 1,000 พื้นที่ขยายภายในปีนี้

คณะทำงานอีกชุดหนึ่งทำหน้าที่ร่างประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการตามร่าง พ.ร.บ. เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน โดยล่าสุดได้มีการจัดทำระเบียบการจดแจ้งจัดตั้งเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และองค์กรชุมชนสามารถจดแจ้งได้ที่ผู้ใหญ่บ้านและกำนันได้เลย

สุวัฒน์ ระบุต่อว่า หลังจากการหารือร่วมกันของผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนกรมพัฒนาชุมชน และผู้แทนจาก 4 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งสมาคม อบจ. สมาคม อบต. สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ พอช. เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปในการจัดตั้งกลไกคณะกรรมการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนขึ้น เพื่อเป็นกลไกกลางในการหนุนเสริมสภาองค์กรชุมชนในระดับต่างๆ

กลไกกลางนี้จะมีคณะทำงาน 2 ชุด คือ คณะทำงานระดับพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการจัดตั้งตั้งแต่ระดับตำบล จังหวัด โซนและระดับประเทศ โดยมีตัวแทนชุมชนและภาคีในระดับต่างๆ เป็นคนทำงาน ในขณะที่คณะทำงานเชิงประเด็น จะเป็นฝ่ายสนับสนุนด้านข้อมูล ประสานงาน และฝึกอบรม ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับต่างๆ จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละพื้นที่และไม่จำเป็นที่ทุกตำบลจะต้องมีสภาองค์กรชุมชนในระยะเวลาอันสั้น แต่ถึงกระนั้น สุวัฒน์ บอกว่า จำเป็นที่จะต้องได้ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนในระดับจังหวัดภายใน 210 วัน เนื่องจากจะสอดคล้องกับสภาพัฒนาการเมือง ที่ถูกจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง พ.ศ.2551 ซึ่งสมาชิกสภาจะต้องเป็นตัวแทนของสภาองค์กรชุมชนในระดับจังหวัดของแต่ละจังหวัด

“ตอนนี้หลายพื้นที่มีการเตรียมความพร้อมอยู่แล้ว โดยเฉพาะทางอีสานซึ่งมีชุมชนนำร่องอยู่แล้ว 96 ตำบล เชื่อว่าชุมชนจะสามารถจัดตั้งได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด”

ขณะที่ ธนาธร ธารทอง นายก อบต.ศรีสว่าง อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด ระบุว่า ชาวบ้านใน ต.ศรีสว่างมีการตื่นตัวและเตรียมความพร้อม เรื่องการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนเป็นอย่างมาก คาดว่าภายในวันที่ 20 มีนาคมนี้ จะสามารถจดแจ้งจัดตั้งองค์กรชุมชนในระดับหมู่บ้านและตำบลได้แล้วเสร็จ

ต.ศรีสว่างนับเป็นพื้นที่นำร่องที่มีความพร้อมสูง เพราะนอกจากภายใน 15 หมู่บ้านจะมีเครือข่ายองค์กรชุมชนด้านต่างๆ ถึง 12 เครือข่ายแล้ว พวกเขายังร่วมเคลื่อนไหวร่วมกับ สอท.เพื่อผลักดันกฎหมายฉบับนี้มาตั้งแต่แรก

ธนาธร บอกว่า เครือข่ายองค์กรชุมชนในศรีสว่าง ทั้งเครือข่ายองค์กรด้านการเงิน เครือข่ายสวัสดิการชุมชน เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายร้านค้าชุมชน เครือข่ายสุขภาพ เครือข่ายพัฒนาสตรี เครือข่ายวัฒนธรรม เครือข่ายแผนแม่บทชุมชน เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ล้วนมีองค์กรในแต่ละหมู่บ้านและทำงานของตนเองมาก่อนแล้ว แต่ตลอด 4 – 5 ปีที่ผ่านมา การที่ไม่มีกฎหมายรองรับก็มักจะติดขัดในเรื่องการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง อบต. หรือหน่วยงานราชการ

“แต่ถ้ามีสถานะรองรับ จะมีคนดูแลทั้งในเรื่องงบประมาณและการพัฒนาศักยภาพได้ง่ายขึ้น ถ้าถามว่าเป็นประโยชน์หรือเปล่า มันก็ช่วยให้หนุนเสริมงานของชาวบ้านมากขึ้น”

โดยภาพรวมแล้ว ธนาธร ซึ่งเป็นนายก อบต. มาประมาณ 7 ปี มองเห็นว่า การมีสถานะทางกฎหมายของกลุ่มต่างๆ ในชุมชน จะทำให้ อบต.มองเห็นศักยภาพของชุมชนมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม อบต.เองก็ต้องปรับตัวจากเดิมการมีส่วนร่วมของชาวบ้านจะขึ้นอยู่กับผู้บริหารในแต่ละพื้นที่ไป แต่จากนี้ไปผู้บริหารก็ควรต้องเปิดให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะอย่างน้อยกลุ่มชาวบ้านก็มีกฎหมายรองรับเป็นรูปธรรม

นอกจากมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของชุมชนแล้ว ธนาธร ระบุด้วยว่า การบริหารงานองค์กรท้องถิ่นก็จะโปร่งใสขึ้น เพราะองค์กรชาวบ้านมีช่องทางในการตรวจสอบการดำเนินการของ อบต. เพราะสภาองค์กรชุมชนสามารถเรียกผู้บริหารมาชี้แจงได้ แม้ว่าจะไม่มีอำนาจบังคับ แต่ชาวบ้านสามารถใช้กระบวนการของชุมชนในการตรวจสอบ

“จากที่เคยชี้แจงให้คนในสภาฟังเพียง 20 คน ต่อจากนี้อาจต้องพูดให้คนเป็นพันฟัง ผมว่ามันก็เข้าท่าดีเหมือนกัน” ธนาธร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น