xs
xsm
sm
md
lg

Property:"จรัญ เกษร"บริหารชุมชนมือ1 LPN มุมมองชีวิตธุรกิจเพื่อชุมชน ไม่ใช่มุ่งกำไรด้านเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ใครจะเคยคิดว่า "จรัญ เกษร" นักบริหารชุมชนระดับมืออาชีพบริษัทแอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ฯ จะต้องพบกับคำว่า "ผิดหวัง"ในระบบราชการของไทย

และอะไรคือ "เหตุผล" ที่ทำให้รักและชอบงานการบริหารชุมชน

ยิ่งต้องคลุกคลีกับผู้คนหลายหมื่นครอบครัวที่อยู่ในโครงการของบริษัทฯแล้ว อะไรคือ "หลัก" ของความสำคัญกับการบริหารลูกค้าหลายหมื่นครอบครัว

"10 ปีแรกของชีวิตผม คลุกคลีกับการทำหน้าที่วิศวกรบริหารการก่อสร้าง ส่วน 10 ปีหลัง ผมต้องคลุกคลีกับงานบริหาร แต่ช่วง 10 ปีแรกที่ทำงานในวิชาชีพวิศวกรเป็นจุดพลิกผันทางความคิดและอุดมคติของผม จรรยาบรรณของนักก่อสร้างที่ได้รับการสั่งสมมาจากสถาบันการศึกษา เมื่อต้องมาประสานงานกับหน่วยงานราชการ ในการขออนุญาตก่อสร้างและประมูลงาน เงินสินบน การเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะของข้าราชการนักการเมืองไม่ใช่เรื่องโกหก ความเบื่อหน่ายจากเงินสินบน และการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะของระบบราชการ ทำให้ต้องหันมาทำงานในองค์กรเอกชน" เสี้ยวหนึ่งของมุมมองนายจรัญ เกษร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี โปรเจค มาเนจเมนท์ เซอร์วิส จำกัด บริษัทในเครือ แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่สะท้อนบางแง่มุมของระบบราชการไทย

จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมรักงานการบริหารชุมชน เพราะความสุขที่ได้รับจากงานที่ได้ช่วยเหลือคนให้มีความรู้ ความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในชุมชนต่างๆ เริ่มขึ้นในช่วงที่ผมเบื่อหน่ายกับการทำงานธุรกิจก่อสร้าง ที่ต้องขัดแย้งกับแนวคิด เพราะการเรียก เก็บเงินใต้โต๊ะของราชการ ประกอบกับในช่วงนั้น เป็นช่วงที่จบการศึกษาหลักสูตรการบริหารธุรกิจ (MBA) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และด้วยความที่มีประสบการณ์ ในการบริหารธุรกิจผนวกความรู้ที่ได้จากการเรียนในหลักสูตรดังกล่าว

นั่นจึงเป็นเหตุผลหลักของการตัดสินใจเดินสายร่วมกับคณะอาจารย์ มธ.ในการอบรมความรู้เกี่ยวกับการวางแผนธุรกิจในหลักสูตรที่เรียกกันติดปากว่า "เถ้าแก่น้อย" นอกจากนั้นยังได้ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี โดยได้รับเชิญเป็นวิทยากรในการอบรม และเปิดเครือข่ายส่งเสริมแผนธุรกิจการพัฒนาชุมชน และการบริหาร จัดการให้แก่ชุมชน ให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งมีธุรกิจ มีโรงงาน และวัตถุดิบในการผลิต แต่ยังขาดแนวทางการบริหารจัดการในธุรกิจ SME และธุรกิจโอทอปให้แก่ประชาชนในต่างจังหวัด

"ก่อนหน้าที่จะเข้าศึกษาต่อที่มธ. การดำเนินธุรกิจยังมีทัศนคติไป ในเชิงการดำเนิน-การเพื่อผลกำไร แต่หลังจากที่ได้เข้าศึกษา และรับเชิญเป็นวิทยากรในการอบรมโครงการต่างๆ และมีส่วนร่วมการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับชุมชน ทำให้มีแนวคิดการ ดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไปว่า การดำเนินธุรกิจนั้นไม่ใช่เพียงเพื่อหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่การทำเพื่อชุมชน เป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืน เพื่อความเอื้ออาทร เพื่อสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และสามารถดำเนินไปได้อย่างพออยู่พอกิน เหลือก็เก็บสะสมเป็นการออมเพื่ออนาคต" นายจรัญ หยิบหลักแนวคิดของปรัชญา "พอเพียง" มาถ่ายทอด

ภาพของชีวิตในช่วงนั้น นับว่าเป็นช่วงที่มีความสุขมาก ได้เดินทางไปอบรมให้ความรู้วางระบบการบริหารจัดการให้แก่ชุมชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดอื่นๆ ได้พบกับชาวบ้านที่ทำนา ทำไร่ สวนเกษตรต่างๆ โดยเราเป็นผู้ที่นำระบบ บริหารจัดการเข้าไปให้แก่ชุมชน และสอนให้วางระบบการบริหารจัดการในธุรกิจเล็กๆ แม้ว่ารายได้ที่มีจะไม่มากมายอะไร แต่ได้ทำงานเพื่อสังคม..."เอาโมเดลธุรกิจไปผสมผสานธุรกิจชุมชน" สอนให้เกิดการแข่งขันเชิงธุรกิจ แต่การแข่งขันไม่ได้มุ่งที่จะสร้างผลกำไร แต่เป็นการแข่งขันเพื่อพัฒนาคุณภาพของชุมชน

จากการที่ได้เข้าไปคลุกคลี และทำงานร่วมกับชุมชนนี้เอง ที่ทำให้เกิดแนวคิดในการทำงานใหม่ๆ และนำมาใช้กับการบริการชุมชนในบริษัทแอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ฯ ในปัจจุบัน และในทุกวันนี้ สิ่งที่พยายามถ่ายทอดให้แก่ลูกน้อง คือ การฝึกให้ลูกน้อง รู้จักมองปัญหาและตั้งคำถามว่ามีเหตุปัจจัยมาจากอะไร โดยฝึกให้เกิดคำว่าให้ใจ และประโยชน์มากกว่าคำว่าผลกำไร ทำให้เกิดประโยชน์จากการบริหารงานอย่างมาก

ผมเข้ามาร่วมงานกับ (LPN) ในปี2546 โดยรับหน้าที่เกี่ยวกับงานการบริหารจัดการ กรอบของงานเกี่ยวกับการบริหารงานก่อสร้างโครงการเป็นหลักและเข้ามาดูแลงานบริหาร จัดการ (Operation) ทั้งหมด และปัจจุบันก็ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนวิทยากรอบรมเชิงกระบวนการความรู้ โดยสอนให้ลูกน้องรู้จักจัดหาข้อมูล (ของลูกค้า) มาเป็นเหมือนวัตถุดิบ เพื่อใช้ในกระบวนการแก้ไขปัญหา นำมาประมวลในกระบวนการแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดการตกผลึกทางความคิดในการแก้ปัญหา และนำมาปรับใช้กับการบริหารชุมชนของ LPN

"18 ปีที่ผ่านมา LPN บริหารจัดการชุมชนในแนวทางเดียวกับที่ผมทำอยู่ ดังนั้น การเข้ามารับงานของ LPN ในการบริหารชุมชน จึงไม่ใช่เรื่องยาก เพราะมีแนวทางเดียว กันอยู่แล้ว และที่สำคัญคือเป็นเรื่องที่ผมชอบ การเข้ามาของผมจึงเป็นการนำเอาโมเดลการบริหารจัดการเข้ามาเสริมในทีมและชุมชนเท่านั้น และอนาคตจากนี้ คงจะเป็นเรื่องที่หนักพอสมควร เพราะจนถึงวันนี้ LPN มีสมาชิกในชุมชนที่ต้องบริหารจัดการมากกว่า 1 แสนราย และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในปีนี้ LPN ต้องมีการปรับปรุงองค์กรครั้งใหญ่เพื่อรองรับการบริหารชุมชนในอนาคตที่จะเกิดขึ้น" นายจรัญ กำลังฉายภาพภารกิจข้างหน้าของบริษัทฯแก่ลูกค้า

ถามว่าปัจจุบันชีวิตเดินทางมาถึงจุดอิ่มตัวกับการทำงานบริหารจัดการชุมชนนั้น ตอบได้เต็มปากว่า "ยัง" เพราะงานที่ทำอยู่ทุกวันนี้เป็นงานที่ชอบ สนุก และมีความสุขที่ได้ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนในชุมชนและสังคม และแม้ว่าทุกวันนี้งานที่ทำจะหนัก แต่หากมีเวลาว่างผมก็ยังไปสอนหนังสือให้แก่เครือข่ายเก่าๆ อย่างในวันว่างเสาร์-อาทิตย์ ก็จะไปสอนหนังสือให้แก่ชาวบ้าน บางครั้งไปเป็นวิทยากรรับเชิญ ให้แก่องค์กรพัฒนาชุมชน (พอช.) หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

"การทำให้คนอื่นในสังคมมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข เราก็มีความสุขด้วย ดังนั้น ทุกวันนี้ชีวิตจึงยังไม่อิ่มต่อการให้แก่สังคม เพราะเรายังมีความสุข สุขกับการได้มีส่วนร่วม ในการสร้างประโยชน์ในชุมชน" หนึ่งในเสียงสะท้อนที่สังคมนี้กำลังค้นหา


กำลังโหลดความคิดเห็น