ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดเวิร์กชอปผู้ประกอบการ SMEs 17 จังหวัดภาคเหนือ เสริมความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา หวังนำไปใช้พัฒนาและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมเผยสถานการณ์การละเมิดทรัพย์ทางปัญญาปี 50 สามารถจับผู้กระทำผิดได้กว่า 7,000 ราย ยึดของกลางได้กว่า 3.7 ล้านชิ้น ระบุ “เชียงใหม่” เป็นหนึ่งในแหล่งที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ
วันนี้ (8 เม.ย.51) ที่จังหวัดเชียงใหม่ นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “โครงการยกระดับศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยทรัพย์สินทางปัญญา” เพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รู้จัก มีความเข้าใจ และนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและก่อให้เกิดประโยชน์ทางการค้า โดยมีผู้ประกอบการในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือเข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 230 ราย
อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า การจัดการสัมมนาตามโครงการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจ และสร้างศักยภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนได้เข้าสู่ระบบการจดทะเบียนคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการตามโครงการดังกล่าวนี้ เพิ่งจัดขึ้นในส่วนภูมิภาคเป็นครั้งแรกในพื้นที่ภาคเหนือ หลังจากปีที่แล้วมีการจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ แล้วได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยมีผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแล้วมีการยื่นจดทะเบียนคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทั้งสิ้น 118 ราย และในจำนวนนั้นประมาณ 50% สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้
ส่วนการจัดประชุมในครั้งนี้ตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้ประกอบการ 50% จากที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด ยื่นจดทะเบียน และมีราวครึ่งหนึ่งจากนั้นที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้
ขณะเดียวกันนางพวงรัตน์ กล่าวถึงสถานการณ์การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทยว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องได้รับการจับตามมองเป็นพิเศษ ร่วมกับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งในเร็วๆ นี้กำลังจะมีการจัดลำดับใหม่
สำหรับแหล่งที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาแล้วนำไปแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้านั้น นอกจากแหล่งใหญ่ในกรุงเทพฯ แล้ว จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ ในส่วนของกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้มีความพยายามอย่างเต็มในการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการปราบปรามกวาดล้างการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยในปี 2550 ที่ผ่านมานั้น สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้ 7,118 ราย แบ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ 4,614 ราย การละเมิดเครื่องหมายการค้า 2,465 ราย การละเมิดสิทธิบัตร 4 ราย และเทปวัสดุโทรทัศน์ 35 ราย พร้อมยึดของกลางได้ทั้งสิ้น 3,746,036 ชิ้น
ขณะที่ในปี 2549 สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 9,575 ราย และยึดของกลางได้ 2,823,588 ชิ้น โดยเมื่อเปรียบเทียบสถิติการจับกุมระหว่างปี 2550 กับ 2549 พบว่า ในปี 2550 จับกุมผู้กระทำความผิดได้น้อยลง แต่จำนวนของกลางที่ยึดได้เพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุเป็นเพราะสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดรายใหญ่ได้มากขึ้น
ส่วนในปี 2551 เฉพาะเดือนมกราคม 2551 เพียงเดือนเดียว สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ 522 ราย และยึดของกลางได้ 160,062 ชิ้น