ศูนย์ข่าวนครราชสีมา -โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 48/49 พ่นพิษ กลุ่มผู้ประกอบการโรงสีแบล็กลิสต์ 41 รายสุรินทร์ ผวาถูกดำเนินคดีออกมายอมรับนำข้าวรับฝากของ “อคส.” ออกขายเกลี้ยงโกดังทั้งหมดแล้ว ไม่มีเหลือในสตอกให้ จนท.ตรวจสอบ พร้อมร้องข้อความเป็นธรรมอ้างเหตุเก็บนานคุณภาพข้าวต่ำทำขาดทุนต้องเร่งขาย จี้ “เจ๊มิ่ง” จับเข่าคุยแก้ปัญหาอย่างจริงจังก่อนผู้ประกอบเจ๊งกันหมด พร้อมยกกลุ่มขึ้นโรงพัก เข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อแสดงความบุรีสุทธิ์ใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดสุรินทร์ ว่า ผู้ประกอบการโรงสีข้าวจังหวัดสุรินทร์ 9 โรง จากโรงสีข้าวที่ถูกหน่วยงานรัฐขึ้นบัญชีผู้กระทำผิดสัญญากับรัฐไว้ถึง 41 โรง ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และ กรมการค้าภายใน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ ได้ดำเนินการตรวจสอบปริมาณข้าวโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีในฤดูกาลผลิตปี 2548/2549 ที่ฝากเก็บไว้กับผู้ประกอบการโรงสีข้าวอย่างเป็นธรรม และรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน
พร้อมทั้งระบุว่า ผู้ประกอบการโรงสีข้าวกำลังประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากนโยบายการรับจำนำข้าวของรัฐที่ยังมีจุดอ่อนหลายอย่าง และ เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ผู้ประกอบการโรงสีข้าวจะอยู่ไม่ได้และปิดกิจการกันหมด
นายโรจนินทร์ หิรัญโชคอนันต์ กรรมการผู้จัดการโรงสีสุรินทร์ชัยเจริญ จำกัด อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ กล่าวว่า จากการที่เจ้าหน้าที่ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ องค์การคลังสินค้า (อคส.) และ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุรินทร์ จะเข้าทำการตรวจสอบปริมาณข้าว ในโครงการรับจำข้าวเปลือกนาปีในฤดูการผลิตปี 2548/2549 ที่ฝากเก็บไว้กับผู้ประกอบการโรงสี นั้น ขณะนี้ข้าวเปลือกนาปีในฤดูกาลผลิตปีดังกล่าว ทางโรงสีข้าว จ.สุรินทร์ที่เข้าร่วมโครงการได้ทำการขายข้าวออกไปหมดแล้ว
ทั้งนี้เนื่องจากข้าวที่เก็บไว้นานเมื่อแปรรูปสีเป็นข้าวสารแล้ว จะมีสีเหลือง คุณภาพต่ำและทำให้ผู้ประกอบการขาดทุน เพราะช่วงที่เข้าร่วมโครงการซื้อมาในราคาเกวียนละ 8,400 บาท แต่เมื่อเก็บข้าวไว้นานคุณภาพข้าวจะต่ำลง โรงสีทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการกับทางหน่วยงานของรัฐใน จ.สุรินทร์ ถึง 41 แห่ง จึงพากันนำออกไปขาย ในราคาเกวียนละ 6,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ขาดทุน มีโรงสีบางรายขาดทุนถึง 70 ล้านบาท บางราย 30 ล้านบาท หากเป็นเช่นนี้ผู้ประกอบการโรงสีข้าวก็จะมีแต่ต้องปิดกิจการไปจนหมดเพราะทนสภาพขาดทุนไม่ไหว
ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะขณะนี้หากเจ้าหน้าที่ไปตรวจโกดังโรงสีข้าวที่ไหน ที่เข้าร่วมโครงการรับฝากข้าวจำนำในปีการผลิต 2548/2549 ก็จะไม่มีข้าวให้ตรวจสอบเพราะเขาทนขาดทุนไม่ไหว ได้ขายข้าวออกไปกันหมดแล้ว
“นโยบายโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมาเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลเอง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโรงสีข้าวทุกแห่งได้เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์มาช่วยแก้ไขปัญหาให้ แต่ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงสีข้าวไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินที่ไหนได้เพราะถูกขึ้นบัญชี ดำไว้ เนื่องจากเป็นผู้กระทำผิดสัญญากับรัฐ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลมาร่วมแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง” นายโรจนินทร์ กล่าว
ทางด้าน นายฮวงเซ็ง แซ่ลี้ ประธานชมรมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า โรงสีข้าวทุกแห่งที่เข้าร่วมโครงการกับรัฐมีประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้เป็นปัญหาเดียวกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ได้รับจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล จึงขอเรียกร้องให้ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้ามาร่วมรับฟังปัญหาและแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการโรงสีข้าวด้วย
ขณะนี้มีสหกรณ์โรงสีข้าวหลายแห่งขาดทุน และจำต้องปิดการไป เพราะติดปัญหาระบบการรับจำนำข้าว ขาดเงินหมุนเวียนไม่มีเงินไปรับซื้อข้าว เนื่องจากเข้าร่วมโครงการของรัฐบาล และที่สำคัญที่มีการเรียกเก็บเงิน 72% จากการค้าขายของหน่วยงานรัฐ จำเป็นต้องมีการแก้ไข ขอเรียกร้องให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงมาร่วมประชุม กับผู้ประกอบการโรงสีข้าวเพื่อแก้ไขปัญหา ก่อนที่ผู้ประกอบการโรงสีข้าวจะขาดทุนและปิดกิจการไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นกลุ่มผู้ประกอบการโรงสีข้าวจังหวัดสุรินทร์ ดังกล่าวได้พาเข้าพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรปราสาท (สภ.ปราสาท) อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการเข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวกับรัฐบาลหาต้องถูกดำเนินคดี โดยมี พ.ต.ท.ทรงศักดิ์ แก้วแฉล้ม เป็นพนักงานสอบสวนลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานต่อไป