xs
xsm
sm
md
lg

ภาครัฐยังพลิ้วปัดกลุ่มแรงงาน “เครือซีพี” ยังไม่ได้ร้องขอให้เข้าตรวจสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฉะเชิงเทรา - หน่วยงานราชการพลิ้ว ปัดตอบปัญหาเรื่องนายจ้างสั่งปลด 25 ตัวแทนสหภาพแรงงาน “ซีพีสัมพันธ์” โยนไปมา ก่อนระบุลูกจ้างยังไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิ์ให้เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานดำเนินการ เพียงแต่เข้ามายื่นเรื่องสำเนาหนังสือร้องคัดค้านของสหภาพแจ้งให้รับทราบ ขณะที่ฝ่ายตัวแทนสหภาพแรงงาน บุกเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อนายจ้างไว้แล้ว

จากกรณีบริษัทเครือซีพีสั่งปลดสายฟ้าแลบ 25 คนงาน ซึ่งเป็นตัวแทนสหภาพสหภาพแรงงาน ซีพีสัมพันธ์ หลังได้ยื่นหนังสือจดทะเบียนก่อตั้งสหภาพได้ไม่นาน ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปขอเข้าพบ นางกัลยาลักษณ์ โอภาสานนท์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่อาคารสำนักงาน ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ นางกัลยาลักษณ์ กล่าวว่า ยังติดธุระมีแขกเข้าพบอยู่ในห้องทำงาน

นายอานนท์ พรหมนารท ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องยังมาไม่ถึงจึงยังไม่ทราบข้อเท็จจริง ทราบข่าวเพียงจากสื่อมวลชนเท่านั้น ให้ไปสอบถามเรื่องในดังกล่าว ที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงจะดีกว่า

นางกัลยาลักษณ์ โอภาสานนท์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา อีกครั้ง โดยระบุว่า ขณะนี้ลูกจ้างยังไม่ประสงค์ที่จะใช้สิทธิ์ ให้เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเข้าดำเนินการ เพียงแต่ได้มีการเข้ามายื่นเรื่องสำเนาหนังสือร้องคัดค้านของสหภาพให้ทางสำนักงานรับทราบไว้เท่านั้น

ส่วนในแง่ของกฎหมายนั้นหากนายจ้างต้องการเลิกจ้างลูกจ้างนั้น ต้องกระทำการบอกเลิกจ้างล่วงหน้าแก่ลูกจ้างก่อน 1 งวดค่าจ้าง ซึ่งหากนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้เป็นรายเดือนก็จะต้องบอกเลิกจ้างแก่พนักงานก่อนเป็นเวลา 1 เดือน การกระทำของนายจ้างดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 ซึ่งมีข้อห้ามต่อนายจ้างมิให้เลิกจ้าง ขัดขวางการเป็นสมาชิก ขัดขวางการดำเนินการของสหภาพ หรือแทรกแซงการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน

นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ตามมาตรา 49 กรณีศาลแรงงานเห็นว่า นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม อาจสั่งให้รับกลับเข้าทำงาน หรือกำหนดค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทน โดยคำนึงถึงองค์ประกอบความเดือดร้อนของลูกจ้าง มาประกอบการพิจารณา

สำหรับสถานะภาพการจดทะเบียนเป็นสหภาพของ สหภาพแรงงานซีพีสัมพันธ์ นั้น ทราบว่าไม่ได้จดทะเบียนที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งการจดทะเบียนนั้นไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนในจังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถจดทะเบียนตามที่ตั้งของสำนักงานสหภาพแรงงานนั้นๆ ตั้งอยู่ ซึ่งทราบว่าเป็นสหภาพจากหนังสือการร้องคัดค้านที่นำมายื่นให้ที่ระบุบอกว่า เป็นสหภาพแรงงานเท่านั้น


ส่วนการโอนย้ายพนักงาน หรือเปลี่ยนเจ้าของบริษัทนั้น นายจ้างเดิมจะต้องบอกลูกจ้างให้รับรู้ นายจ้างกับลูกจ้างต้องยินยอมด้วยกันทั้งสองฝ่าย และได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนเดิมที่เคยได้รับจากนายจ้างเก่า


ขณะที่ นายรุ่ง วงษ์ศรี รองประธานสหภาพแรงงานซีพีสัมพันธ์ บริษัท ซีพีพีซี (CPPC) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในวันนี้เมื่อเวลา 10.30 น.ได้เดินทางไปเข้าพบ พ.ต.ท.อนุเทพ โชคสมงาม สารวัตรเวรสอบสวน สภ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อนายจ้างไว้แล้วในข้อกล่าวหาที่ นายจ้างละเมิดสิทธิ์คณะกรรมการลูกจ้าง ปลดออกโดยไม่ขออำนาจศาล โดยมีสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย เข้ามาคอยให้คำปรึกษาในแง่ของขั้นตอนการดำเนินการ และเกี่ยวกับขั้นตอนของกฎหมาย

โดยในวันพรุ่งนี้ (14 มี.ค.) ตัวแทนสหภาพทั้งหมดจะได้เข้าแจ้งต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้เข้าดำเนินการตามกฎหมายต่อนายจ้าง ตามมาตรา 52 พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518

สำหรับสหภาพแรงงานซีพีสัมพันธ์นั้นได้เข้าจดทะเบียนที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กรุงเทพฯ ตามทะเบียนเลขที่ กท-991 เมื่อวันที่ 22 ก.พ.51 ก่อนการโอนย้ายสภาพการจ้างงานจาก บริษัท ซีพีพีซี (CPPC) จำกัด (มหาชน) นั้น ทางบริษัทอ้างว่า บริษัทอีเกิลสปีด คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด เป็นเพียงผู้เข้ามาถือหุ้น เราจึงได้ยินยอมเซ็นโอนย้ายไปอยู่กับบริษัทใหม่ เมื่อวันที่ 3 มี.ค.51 ซึ่งวันที่ 4-5 เป็นวันหยุด จึงได้เริ่มทำงานวันแรกกับบริษัทใหม่

“ในวันที่ 6-7 มี.ค.51 และวันที่ 8 ในช่วงเย็นผู้ที่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานบางส่วนที่มาทำงานในเวลานั้นประมาณ 10 คน ได้ถูกนายจ้างเรียกเข้าไปพบ โดยบอกว่าบริษัทขอเลิกจ้างพวกคุณ และไม่บอกเหตุผลของการเลิกจ้าง และอ้างว่าทางบริษัทมีสิทธิ์ที่จะเลิกจ้างพนักงานได้ตามกฎหมาย ซึ่งทำให้ทางพวกเราซึ่งเป็นตัวแทนสหภาพทั้งหมดรับไม่ได้ เมื่อเรายินยอมโอนไปแล้ว กลับมาบอกเลิกจ้างพวกเรา” นายรุ่ง กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น