xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยา” ควัก 2 หมื่นให้กำลังใจหมอไส้ติ่ง สนใจตั้งศาลสาธารณสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไชยา” ให้แพทยสภาหาข้อมูลเสนอตั้งศาลสาธารณสุข ตัดสินคดีเกี่ยวกับแพทย์ พร้อมเรียก “หมอสุทธิพร” คดีผ่าตัดไส้ติงตายให้กำลังใจ อย่าท้อ ให้ถือว่าเป็นวิบากกรรม รับปากช่วยเหลือเต็มที่ แถมให้เงินปลอบขวัญ 20,000 บาท

เวลา 13.30 น.วันนี้ (15 ก.พ.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธารณสุข ได้เรียกพบ พญ.สุทธิพร ไกรมาก แพทย์โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งถูกศาลตัดสินจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานประมาทเลินเล่อ เนื่องจากฉีดยาชาเข้าไขสันหลังผู้ป่วย เพื่อผ่าตัดไส้ติง แล้วทำให้เสียชีวิต เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือด้านคดี

โดย นายไชยา กล่าวให้กำลังใจว่า คงต้องให้ความเป็นธรรมกับหมอ ลองพิจารณาดูว่า โทษจำคุก 3 ปี โดยไม่ลงอาญา มันรุนแรงเกินไปหรือไม่ ดังนั้น จึงขอให้หมอใจเย็นๆ อย่าหมดกำลังใจ ให้ถือเป็นวิบากกรรม เมื่อเราคิดดีทำดี ก็จะส่งผลดีกลับคืนมา อย่าน้อยเนื้อต่ำใจ วันนี้เมื่อรู้ปัญหาแล้วก็จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ในการหารือ นายไชยาได้มอบเงินจำนวน 20,000 บาท สร้างขวัญและกำลังใจด้วย

นายไชยา กล่าวภายหลังพูดคุยกับ พญ.สุทธิพร ว่า ตามกำหนดการเดิมตั้งใจลงไปเยี่ยม พญ.สุทธิพร ในพื้นที่ แต่เมื่อ พญ.สุทธิพร มาราชการที่กรุงเทพฯ จึงขอให้มาเข้าพบ เพื่อให้ขวัญและกำลังใจ ปลอบประโลม ให้ขวัญกลับคืนมา ด้านคดีคงเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลซึ่งจะก้าวล่วงไม่ได้ แต่ในแง่ของความดีที่คุณหมอได้ทำไว้ ทั้งทุ่มเทการทำงาน มีประวัติ แต่ต้องมาติดคุก เป็นเรื่องน่าเวทนามาก

“มั่นใจว่า แพทย์มีความตั้งใจในการทำงาน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีเจตนา ต้องการให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ถือเป็นเรื่องอุบัติเหตุที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ซึ่งผู้เสียหายเองก็ไม่ติดใจแล้ว และการที่ออกมาพูดครั้งนี้ก็ไม่ได้ต้องการคะแนนเสียจากแพทย์ แต่อยากให้สังคมเห็นว่า เขายังเป็นบุคคลที่มีคุณค่า ”นายไชยากล่าว

นายไชยา กล่าวต่อว่า ส่วนพ.ร.บ.กองชุนชดเชยผู้เสียหายทางการแพทย์ ก็จะต้องเร่งผลักดันต่อซึ่งมั่นใจว่าจะมีผลบังคับใช้ในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะเร่งนำกลับมาทบทวน กฎหมายที่คั่งค้างอยู่ นอกจากนี้ ได้หารือกับแพทยสภาในการรวบรวมข้อมูล และเสนอการตั้งศาลสาธารณสุขขึ้น เพื่อใช้พิจารณาคดีความทางแพทย์โดยเฉพาะ เหมือนกับศาลแรงงาน ศาลเด็ก เยาวชน เนื่องจากในการพิจารณาคดีทางการแพทย์ ผู้พิพากษาจะไม่มีความรู้ในเรื่องขั้นตอน กระบวนการรักษา อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการทำเรื่องกฎหมายมีขั้นตอนกระบวนการมาก อาจต้องใช้เวลายาวนาน

“อย่าไปคิดว่าเป็นการทะเลาะกันระหว่างคนไข้กับแพทย์ หรือไปเรียกว่าโจทย์กับจำเลย เพราะเป็นเพียงความไม่เข้าใจกันในการสื่อสาร เมื่อคนไข้มีความทุกข์ ห่อเหี่ยว เครียด ขณะที่แพทย์พูดตรงไปตรงมาซึ่งอาจทำให้เกิดความน้อยใจ ซึ่งต้องรู้จักให้อภัย ต้องรู้จักประคับประคองใจ” นายไชยา กล่าว

พญ.สุทธิพร กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาล ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากปลัดกระทรวง และรองปลัดมาโดยตลอด สำหรับเรื่องที่ต้องการขอความช่วยเหลือ คือ เรื่องเรียนต่อเฉพาะทางให้ต่อเนื่องให้จบจนได้วุฒิบัตร ซึ่งขณะนี้ศึกษาอยู่ที่สถาบันโรคผิวหนัง แต่เนื่องจากติดปัญหาด้านคดี ทำให้ไม่สามารถเรียนต่อได้
กำลังโหลดความคิดเห็น