ฉะเชิงเทรา - กลุ่มแพปลาภาคตะวันออก รวมตัวชุมนุมประท้วงคัดค้านโครงการจัดตั้งตลาดซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำ องค์การสะพานปลา ระบุจะทำให้ราคาปลาในพื้นที่ตกต่ำ คนงานในกลุ่มศูนย์รวมปลาน้ำจืดภาคตะวันออกที่มีอยู่เดิมตกงาน รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อราคาปลาน้ำจืดของเกษตรกรในท้องที่
ค่ำวานนี้ (4 มี.ค.) ที่บริเวณศาลาไทยหน้าศาลากลาง จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีกลุ่มผู้ประกอบการแพปลา จากศูนย์รวมปลาน้ำจืดภาคตะวันออกกว่า 200 คน เดินทางมารวมตัวชุมนุมประท้วงเรียกร้องขอเข้าพบ นายอานนท์ พรหมนารท ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอร้องให้ระงับโครงการก่อตั้งตลาดซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำขององค์การสะพานปลา บนพื้นที่องค์การตลาดกระทรวงมหาดไทย ตั้งอยู่ริมถนนสาย 304 ใกล้สี่แยกบางคล้า อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และมีกำหนดที่จะเปิดทำการซื้อขายในวันอาทิตย์ที่ 9 มี.ค.51 นี้
โดย น.ส.ชัชกมล พวงเจริญ อายุ 33 ปี อยู่บ้านเลขที่ 235 ถ.ศุภประยูร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าของแพปลาน้ำจืด และฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ ศูนย์รวมปลาน้ำจืดภาคตะวันออก ที่มีอยู่เดิม ตั้งอยู่บริเวณตรงข้ามศูนย์การค้าห้างตะวันออกคอมเพล็กซ์ สี่แยกกองพลทหารราบที่ 11 ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า อ.เมืองฉะเชิงเทรา บนเนื้อที่ 15 ไร่ กล่าวว่า แพปลาน้ำจืดภาคตะวันออก ที่มีอยู่เดิมนั้นได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 เพื่อรองรับซื้อขายปลาจากเกษตรกร และแม่ค้าพ่อค้าจากกลุ่มจังหวัดในภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด)
เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกร และผู้ค้าปลาต้องนำปลาน้ำจืดไปส่งขายยัง องค์การสะพานปลาที่กรุงเทพฯ (ตลาดยานนาวา และตลาดไทย) ซึ่งมีผลกระทบในด้านการขนส่ง เกิดปัญหาเวลาเปิดทำการที่ไม่เหมาะสมกับการขนส่ง ปัญหาราคาปลาที่พ่อค้าแม่ค้ารับซื้อไม่แน่นอน เกษตรกรต้องประสบปัญหาการขาดทุนส่งผลกระทบให้ได้รับความเดือดร้อน การก่อตั้งศูนย์รวมปลาแห่งนี้จึงได้เกิดขึ้นมา จากการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรเพื่อค้าขาย เพื่อเป็นตลาดรองรับซื้อปลาน้ำจืดในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก
ต่อมาในปีนี้องค์การสะพานปลา ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ได้เข้ามาแทรกแซงแย่งอาชีพชาวบ้าน ด้วยการที่จะเปิดตลาดซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ห่างกันเพียง 13 กม. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออาชีพเดิมของเกษตรกรที่ได้รวมตัวกันก่อตั้งขึ้นมาก่อนหน้า และกำลังดำเนินการค้าขายไปได้ด้วยดี แต่จะไม่สามารถต่อสู้กับกลุ่มนายทุนที่จะเข้ามาเปิดตลาดรับซื้อปลาในตลาด ขององค์การสะพานปลาได้ ซึ่งทราบว่าเป็นคนที่มาจากนอกพื้นที่ทั้งหมด ที่มีความสามารถในการกักตุนสินค้าเพื่อปั่นราคา เพราะมีห้องเย็นเก็บปลา ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการแย่งชิงพ่อค่าแม่ค้า และบ่อปลา
จึงอยากถามผู้เกี่ยวข้องว่าทำไมเมื่อ 3 ปี ที่แล้วคุณจึงไม่เข้ามา ในขณะที่เกษตรในเขตภาคตะวันออกอยู่ในภาวะลำบาก แต่ทำไมเพิ่งเข้าเมื่อพวกเราสามารถก่อตั้งรวมตัวกันค้าขายได้แล้ว เหมือนเป็นการเข้ามาฉวยโอกาสชุบมือเปิบ เอารัดเอาเปรียบประชาชน โดยหน่วยงานภาครัฐเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน นอกจากนี้ยังจะทำให้คนงานในกลุ่มแพปลาภาคตะวันออกเดิมที่เป็นคนพื้นที่ที่มอยู่เดิมต้องตกงาน เพราะที่ตลาดแห่งใหม่จะใช้แรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตเข้าทำงานทั้งหมด ถือเป็นการแย่งอาชีพของคนไทยในพื้นที่
“ที่ผ่านมาได้เคยยื่นหนังสือคัดค้าน โดยส่งหนังสือมายังจังหวัด แล้วทางจังหวัดได้ส่งให้ทางประมงจังหวัดดำเนินการ แต่ทางประมงจังหวัดกลับส่งเรื่องกลับคืนมายังจังหวัดอีก เป็นการโยนความรับผิดชอบไปมาระหว่างกัน” น.ส.ชัชกมล กล่าว
หลังจากนั้น นายวิศว ศะศิสมิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าร่วมเจรจาภายในห้องประชุม 1 ชั้น 2 ศาลกลางจังหวัด เนื่องจาก นายอานนท์ พรหมนารท ไม่อยู่ โดยใช้เวลานานกว่าสองชั่วโมงในการเจรจา แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้
หลังการประชุมเจรจาเสร็จสิ้นลง กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนตัวจากบริเวณศาลาไทย มายังลานพระบรมรูป ร.5 หน้าศาลากลางจังหวัด พร้อมกับใช้เครื่องขยายเสียงในการปลุกระดม พร้อมขู่ที่จะนำปลาน้ำจืดมาเทแจกจ่ายชาวบ้านยังบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด จนกระทั่งเวลา 18.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้สลายตัวไป โดยระบุว่าจะกลับมาชุมนุมใหม่ในวันนี้