xs
xsm
sm
md
lg

ชาวแพร่ร่วมบวชป่าถวายในหลวง-โชว์สัก 5 คนโอบฝีมือชุมชนรักษ์ป่าห้ามรัฐตัดทางเข้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ - ทึ่งไม้สักขนาดใหญ่ 5 คนโอบ ยังเหลือในผืนป่าเมืองแพร่ หลังชาวบ้านร่วมอนุรักษ์มาหลายชั่วอายุคน ห้ามทางการตัดถนนผ่านเพิ่มนอกจากเส้นทางที่คนในชุมชนใช้เดินเท่านั้น จนเกิดเป็นป่าที่อุดมด้วยไม้สักขนาดใหญ่ถึง 350 ไร่ ล่าสุดชาวบ้านหน่วยต้นน้ำร่วมมือกันบวชป่าต้นน้ำผาหิ้ง สร้างกระบวนการดูแลรักษาระหว่างชาวบ้านกับรัฐถวายในหลวง

รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่ แจ้งว่า นายสัมผัส วรรณอ้วน ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 ต.ห้วยอ้อ และชาวบ้านแม่เกี่ยม บ้านแม่จองไฟ บ้านแม่หีด บ้านผาคอ ต.ห้วยอ้อ จ.แพร่ กว่า 200 คน ได้ร่วมกับหน่วยพัฒนาการอนุรักษ์ต้นน้ำดอยผาหิ้ง จัดทำโครงการร้อยใจบวชป่า 80 พรรษาถวายในหลวง พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2551 ที่ผ่านมา บริเวณป่าต้นน้ำบ้านแม่เกี่ยม จำนวน 500 ต้นในพื้นที่ 350 ไร่ เขตบ้านแม่เกี่ยม ซึ่งเป็นผืนป่าเบญจพรรณที่มีความอดุมสมบูรณ์อย่างสูง เป็นพื้นที่ต้นน้ำของชาวบ้านในการใช้เป็นประปาภูเขา

โดยชาวบ้านร่วมกันดูแลรักษาป่าผืนนี้มานานกว่า 2 ชั่วอายุคน ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดกว่า 3,000 ไร่ มีต้นไม้ขนาด 4-5 คนโอบเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก โดยไม่มีผู้บุกรุกตัดไม้แต่อย่างใด

สำหรับการบวชป่าแห่งนี้นอกจากจะเป็นการบวชป่าถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างชาวบ้านกับรัฐในการช่วยกันดูแลรักษาผืนป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำของชาวบ้านอีกด้วย

นายธวัชชัย ศักดิประศาสน์ หัวหน้าหน่วยพัฒนาการอนุรักษ์ต้นน้ำดอยผาหิ้ง กล่าวว่า ป่าต้นน้ำแห่งนี้ถือว่าเป็นผืนป่าของชุมชนบ้านแม่เกี่ยมที่ผู้นำและชาวบ้านมีความเข้มแข็ง ร่วมกันดูแลรักษาและจัดการป่าด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลไปหล่อเลี้ยงคนในชุมชนนั้นเอง ซึ่งพื้นที่แห่งนี้หน่วยจัดการต้นน้ำผาหิ้งเป็นเพียงผู้ที่เข้ามาสนับสนุนเท่านั้น กระบวนการดูแลรักษาเป็นบทบาทหน้าที่ของชุมชน ป่าจึงยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่จนถึงทุกวันนี้ สังเกตได้จากขนาดของต้นสักและต้นไม้ประเภทอื่นๆในป่าแห่งนี้ที่ยังเหลือเต็มผืนป่า ดังนั้นกระบวนการดูแลปกป้องผืนป่าจึงควรเป็นของชุมชนมิใช่ของหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว

นายสัมผัส วรรณอ้วน ผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่เกี่ยม กล่าวว่าการบวชป่าครั้งนี้เป็นเพียงแค่กิจกรรมเล็ก ๆ เท่านั้น หากแต่ที่ผ่านมากว่า 40 ปีชาวบ้านร่วมกันดูแลมาโดยตลอดซึ่งต้นไม้มีอายุนับ 100 ปีขึ้นไป มีกฎระเบียบของชุมชน ห้ามนำไม้ออกจากป่า และสามารถทำได้สำเร็จเพราะชาวบ้านเห็นความสำคัญของผืนป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำร่วมกัน การแก้ปัญหาของชาวบ้านคือการไม่อนุญาตให้หน่วยงานใดสร้างทางตัดป่าแห่งนี้ จึงมีเพียงทางออกจากป่าที่ชาวบ้านใช้เพียงเส้นทางเดียวการควบคุมดูแลจึงทำได้ง่าย ผลของการดูแลรักษาป่ากว่า 3,000 ไร่ร่วมกัน ทำให้ชุมชนบ้านแม่เกี่ยมมีน้ำประปาภูเขาใช้ตลอดทั้งปีนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ผืนป่ากว่า 3 พันไร่ของบ้านแม่เกี่ยม ที่รักษามานานถึง 2 ชั่วอายุคน จะไม่สามารถเหลืออยู่จนถึงทุกวันนี้ได้หากขาดการดูแลจากชาวบ้านเอง ดังนั้นกระบวนการดูแลจัดการป่าบ้านแม่เกี่ยมแห่งนี้ถือว่าเป็นรูปธรรมหนึ่งของชุมชนในการรักษาป่าโดยชาวบ้านและชุมชน มิใช่การบังคับควบคุมดูแลหรือรักษาโดยภาครัฐองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นจิตสำนึกของชุมชนเองที่จะรักและหวงแหนผืนป่า เพื่อความอยู่รอดและความยั่งยืนของชุมชน ตราบใดที่ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากป่าและเป็นเจ้าของป่า ความยั่งยืนของผืนป่าจะยังคงสืบต่อไปชั่วลูกชั่วหลานนั่นเอง ที่สำคัญยังสามารถช่วยลดภาระทางด้านงบประมาณของภาครัฐในการรักษาป่าอีกด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น