xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.เร่งฉีดฆ่าตัวเรือดแล้ว ขณะที่ผู้โดยสารยังขยาดขอคืนตั๋ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี- นายสถานีรถไฟอุบลราชธานี แจงกรณีตัวเรือดระบาด ร.ฟ.ท.เร่งฉีดพ่นยาฆ่าตัวเรือดแล้ว เผยพบเฉพาะรถด่วนสปรินเตอร์เท่านั้น ไม่พบการระบาดในขบวนรถไฟสายธรรมดา หรือขบวนรถเร็ว, รถด่วน เผยระบาดเมื่อ 5-6 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้โดยสารยังขยาดขอเปลี่ยนเที่ยวไปขบวนอื่น ทั้งขอคืนตั๋ว

จากกรณีผู้โดยสารรถไฟด่วนพิเศษ หรือ สปรินเตอร์ สายอุบลราชธานี-กรุงเทพฯ ถูกตัวเรือดที่เป็นแมลงขนาดเล็กกัด ทำให้คันตามร่างกาย บางรายมีอาการแพ้มาก ต้องให้แพทย์รักษา เบื้องต้นการรถไฟยอมรับมีการระบาดจริง และพยายามกำจัดอยู่ แต่ยังไม่หมด ทำให้ตัวเรือดที่เหลือออกมาไล่กัดผู้โดยสารอยู่ในขณะนี้

ล่าสุด วันนี้ (26 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดอุบลราชธานี รายงานจากการเปิดเผยของนายบรรพต สายพิมพ์ นายสถานีรถไฟอุบลราชธานี กล่าวถึงการระบาดของตัวเรือด ทราบว่า มีการระบาดในตู้ผู้โดยสารรถไฟสปรินเตอร์เมื่อ 5-6 เดือนที่ผ่านมา จึงรายงานให้ผู้ใหญ่การรถไฟทราบ

หลังจากนั้น การรถไฟส่วนกลางได้ฉีดพ่นยาฆ่าตัวเรือด ที่ซุกซ่อนอยู่ตามเบาะที่นั่ง และมีการรื้อเบาะผู้โดยสารที่พบการแพร่ระบาดอย่างมากออก สำหรับตัวเรือดมีการพบอยู่เฉพาะรถสปรินเตอร์ ไม่พบการแพร่ระบาดในขบวนรถไฟสายธรรมดา หรือขบวนรถเร็ว และขบวนรถด่วน

นายบรรพต กล่าวอีกว่า หลังมีข่าวพบการแพร่ระบาดของตัวเรือดในขบวนรถไฟสปรินเตอร์ มีผู้โดยสารโทรศัพท์มาสอบถามถึงการแพร่ระบาดดังกล่าว และได้ชี้แจงทำความเข้าใจว่า ไม่พบการระบาดในรถขบวนอื่น แต่สำหรับผู้โดยสารที่ได้จองตั๋วเดินทางไปกับรถด่วนพิเศษสปรินเตอร์ มีการขอเปลี่ยนตั๋วเดินทางไปกับรถไฟขบวนอื่น และมีบางรายขอยกเลิกตั๋วเดินทาง เพราะยังมีความกังวลในเรื่องการระบาดของตัวเรือดอยู่

ขณะเดียวกัน หลังมีข่าวเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง มีชาวบ้านที่หวังดีโทรศัพท์แนะนำวิธีการกำจัดตัวเรือดโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยให้นำเปลือกทุเรียนมาวางไว้ใต้เบาะที่นั่งผู้โดยสาร เมื่อตัวเรือดได้กลิ่นฉุนของทุเรียนจะหนีไปเอง ซึ่งกรณีนี้คงแนะนำให้พนักงานทำความสะอาดทดลองใช้ แต่การกำจัดตัวเรือดอย่างถาวรทางส่วนกลางจะเป็นผู้ดำเนินการเอง

ด้าน นพ.วุฒิไกร มุ่งหมาย นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงลักษณะและพฤติกรรมของตัวเรือด ว่า ตัวเรือดถือเป็นแมลงชนิดหนึ่ง มีลำตัวเป็นรูปไข่และแบน มีปีก 2 คู่ คู่หน้ามีลักษณะต่างจากปีกของแมลงชนิดอื่น ส่วนปีกคู่หลังเป็นแผ่นบางทั้งปีก มีปากแหลมแบบโค้งงอใช้แทงดูดกินเลือดคนและสัตว์ ปากแหลมสามารถพับเก็บไว้ใต้ลำตัวได้

การแพร่พันธุ์เรือดตัวเมียจะวางไข่ตามซอกเบาะและรอยแตกร้าววันละ 2-3 ฟอง และสามารถวางไข่ได้มากถึง 100-250 ฟอง ในการผสมพันธุ์แต่ละครั้ง ไข่ของตัวเรือดจะมีสารซีเมนต์เหนียวเคลือบอยู่ ลูกของตัวเรือดใช้เวลาเติบโตเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 2 เดือน

การหากินจะออกมาดูดกินเลือดในเวลากลางคืน โดยเฉพาะในที่มืดทั้งตามบ้านเรือนและโรงภาพยนตร์ รวมทั้งรถไฟที่พบการระบาด ส่วนกลางวันจะซ่อนตัวอยู่ในรู ผู้ที่ถูกตัวเรือดดูดกินเลือดจะรู้สึกเจ็บบริเวณที่ถูกกัดโดยมองไม่เห็นตัว และการกัดแต่ละครั้ง ตัวเรือดจะทิ้งรอยผื่นแดงไว้บนผิวหนัง ต่อมาจะเกิดเป็นผื่นแพ้ เจ็บปวด และถ้าเกิดอาการคันเกามากๆ จะยิ่งเกิดการอักเสบ และอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำได้

กำลังโหลดความคิดเห็น