xs
xsm
sm
md
lg

ชี้เศรษฐกิจไตรมาสแรกปีหนูทองภาคอีสานพ้นขอบเหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวขอนแก่น-แบงก์ชาติชี้ภาวะเศรษฐกิจภาคอีสานไตรมาสแรกปี 51 พ้นขอบเหว ภาคเอกชนมั่นใจที่จะลงทุนหลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งราคาข้าวเปลือก-มันสำปะหลังขายได้ราคาสูง หัวมันสดคละขยับถึง 2.10 บาท/กก.โดยเฉพาะจีนต้องการมันเส้นผลิตเอทานอลจำนวนมาก อย่างไรก็ตามยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจเดี้ยง ต้องจับตาใกล้ชิดทั้งนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลหุ่นเชิด ราคาน้ำมัน-ผลกระทบซับไพรม์

วันนี้( 1 ก.พ.)ที่สถานสวัสดิสงเคราะห์ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(สภอ.) ได้มีการจัดแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 และแนวโน้มของไตรมาสแรกปี 2551

นายสมชาย เสตกรนุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ. กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2551 ว่าภาวะเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ตามความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น โดยโครงการลงทุนของรัฐจะเป็นตัวนำในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ภาคเอกชนเริ่มขยายการลงทุนและกระตุ้นการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม คงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการระยะหนึ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น

สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้เศรษฐกิจของภาคอีสานขยายตัว ประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก ประการแรกคือความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมือง เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะทำให้ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น จะช่วยให้เริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนเพิ่มขึ้น
ประการถัดมาเป็นเพราะราคาพืชผลหลักสำคัญของภาคอีสาน โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือกเจ้า มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศเวียดนามประสบกับภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตลดลง และราคาหัวมันสำปะหลังที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ยังมีอีกมาก โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีความต้องการมันเส้นเพื่อนำไปผลิตเอทานอล โดยราคามันสำปะหลังและมันเส้นในช่วงเดือน มกราคม 2551 ยังคงอยู่ในระดับสูง ณ วันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา จังหวัดนครราชสีมา ลานมันรับซื้อหัวมันสดคละในราคากิโลกรัมละ 2.10 บาท สูงขึ้นถึงร้อยละ 91 (มกราคม 50 ราคา 1.10 บาท/กก.)

ขณะที่โรงแป้ง(เชื้อแป้ง(25 % )รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 2.13 บาท สูงขึ้นร้อยละ 85(มกราคม 50 ราคา 1.15 บาท/กก.) เพราะความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งจากตลาดต่างประเทศและการบริโภคภายในประเทศ

“แนวโน้มในห้วง 1-2 ปีนี้ ภาวะเศรษฐกิจของภาคอีสาน น่าจะดีขึ้น เพราะมีหลายปัจจัยหนุน อย่างน้อยก็เชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โครงการขนาดใหญ่ก็ต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้น ให้มีการจ้างงาน มีเงินหมุนเวียนในตลาด”นายสมชายกล่าวและว่า

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ควรระมัดระวังและควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ก็มีหลายปัจจัย เพราะจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวม คือ 1.ราคาน้ำมันที่จะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป จะทำให้มีแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง 2.ความต้องการอ้อยและมันสำปะหลังเพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลที่สูงขึ้น อาจมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในอนาคต

3.ผลกระทบของซับไพรม์( subprime )ที่จะมีต่อประเทศไทย 4.ผลของการลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา 4.ทิศทางของค่าเงินบาทและ 5.แนวทางและนโยบายของรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ

ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สำนักงานภาคอีสาน เปิดเผยต่อว่า สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ปี 2550 ที่ผ่านมา ภาพโดยรวมด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 ของปีเดียวกัน ทั้งนี้เป็นผลจากการชะลอตัวของการอุปโภคและบริโภคของประชาชน และการลงทุนของภาคเอกชน ที่สำคัญราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการผลิต การขนส่งเพิ่มขึ้นกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพประชาชน

กระนั้นก็ตามในไตรมาสที่ 4 ของปีกลาย เศรษฐกิจของภาคอีสานก็ยังมีหลายปัจจัยที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ ประกอบด้วย 1.การผลิตของอุตสาหกรรมสำคัญ คือน้ำตาล เครื่องดื่มและแป้งมัน ต่างปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน

2.การส่งเสริมการลงทุนในส่วนของอุตสาหกรรม เพื่อผลิตพลังงานทดแทนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนโดยไตรมาสที่ 4 ปี 2550 เงินลงทุนของโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 25,886 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า เนื่องจากมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการ ได้แก่ โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ จ.มุกดาหาร เงินลงทุน 10,133 ล้านบาท และที่ จ.สกลนคร เงินลงทุน 4,424 ล้านบาท โครงการผลิตเอทานอลที่ จ.นครราชสีมา เงินลงทุน 5,384 ล้านบาท และที่ จ.อุบลราชธานี เงินลงทุน 4,230 ล้านบาท

3.การค้าชายแดนไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 มูลค่าการค้าชายแดนไทย-ลาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ขณะที่การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ขยายตัวร้อยละ 16 ทำให้ธุรกิจตามแนวชายแดนทั้งภาคบริการและการขนส่งขยายตัวเพิ่มขึ้น

4.การท่องเที่ยวของภาคช่วงไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เพราะมีการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง มีการจัดแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ จ.นครราชสีมาในเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา มีส่วนทำให้ภาคบริการการท่องเที่ยวในภาคอีสานคึกคักขึ้น ประมาณการว่าน่าจะมีเงินหมุนเวียนกว่า 2,000 ล้านบาทจากการเป็นเจ้าภาพจัดแข่งกีฬาซีเกมส์
กำลังโหลดความคิดเห็น