xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายจัดโครงสร้างศก.จีนเริ่มส่งผล จีดีพีบริโภคแซงลงทุนครั้งแรกรอบ7ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โปสเตอร์เชิญชวนซื้อสินค้าในจีน หลังปีที่ผ่านมาการบริโภคได้นำหน้าการลงทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี
ไชน่านิวส์ – หลังจากที่ทางการมังกรได้ทุ่มเทความพยายามมาตั้งแต่ปี 2001 ที่จะขยายการบริโภคภายในให้มากขึ้น เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างสัดส่วนของการลงทุน การบริโภค และการส่งออกในที่สุดในปี 2007 นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีที่จีดีพีของการบริโภคสูงกว่าการลงทุน ด้านผู้เชี่ยวชาญชี้ นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

โดยปกติคงน้อยนักที่จะมีใครคาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2007 ที่ทำลายสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปีนั้น จะมีการบริโภคเป็นหัวรถจักรในการขับเคลื่อน โดยผู้ที่รับผิดชอบในกรมสถิติแห่งชาติได้เปิดเผยว่า จากการคำนวณเบื้องต้น ในปี 2007 ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จำนวน 24.6619 ล้านล้านหยวนหรือที่เติบโตในอัตรา 11.4% นั้น มาจากการส่งออก 2.7% มาจากการลงทุนจากต่างชาติร้อยละ 4.3% ส่วนที่เหลืออีก 4.4% มาจากการบริโภค

ในช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย ได้ส่งผลให้การส่งออกของจีนลดลง การเติบโตของเศรษฐกิจก็เป็นไปอย่างอ่อนแรง ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงได้เสนอทิศทางและกลยุทธ์ระยะยาวในการที่จะผลักดันและขยายการบริโภคภายใน เพื่อปรับสัดส่วนโครงสร้างระหว่างการลงทุนกับการบริโภค โดยเน้นที่ให้ความสำคัญกับการขยายการบริโภคภาคประชาชนเป็นหลัก

แต่ทว่าในช่วงต้นก็ยังไม่ประสบผลเท่าใดนัก เพราะนับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา อัตราส่วนของการบริโภคในจีดีพีก็ยังตามหลังการลงทุนมาตลอด โดยในปี 2006 อัตราส่วนจีดีพีที่มาจากการลงทุนอยู่ที่ 4.6% สูงกว่าการบริโภค 0.3%

ผู้เชี่ยวชาญได้ชี้ว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา จีนมีการลงทุนที่สูงเกิน ในขณะที่การบริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ จนทำให้เกิดเป็นความไม่สมดุลทางโครงสร้างและเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจจีนเสมอมา ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ตัวเลขการลงทุนมีสัดส่วนมากกว่าการบริโภคมาโดยตลอด จนกระทั่งในปีที่แล้ว ที่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ซึ่งอาจจะกลายมาเป็นจุดพลิกผันรูปแบบการเติบโตของเศรษฐกิจจีน

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว มีปัจจัยสำคัญมาจากนโยบายการควบคุมการลงทุนไม่ให้เติบโตเร็วจนเกินไป อีกทั้งได้รับอิทธิพลจากรายได้เฉลี่ยของประชาชนที่เพิ่มขึ้น บวกกับนโยบายการขยายการบริโภคภายในที่เริ่มส่งผล และอิทธิพลจากโอลิมปิกที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าการบริโภคภายใน ประเทศจะกลายเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดยิ่งขึ้นในปี 2008

จากสถิติได้ชี้ให้เห็นว่า ปี 2007 ประชาชนในตัวเมืองมีรายได้เฉลี่ย 13,786 หยวน เพิ่มขึ้น 12.2% ในขณะที่เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยสุทธิอยู่ที่ 4,140 หยวน เพิ่มขึ้น 9.5% จากปีก่อน โดยนายหลี่เสี่ยวเชา อธิบดีกรมสถิติแห่งชาติได้ชี้ว่าเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลพยายามที่จะสร้างรายได้ให้กับประชากร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย

นายจางซินฝ่า นักวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ประธานบริษัทหลักทรัพย์อิ๋นเหอได้เปิดเผยว่า “รายได้ที่เพิ่มขึ้นกับความพยายามของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิต การขยายอัตราจ้างงาน และนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ด้านต่างๆ ทำให้มีการบริโภคเพิ่มมากขึ้น และคาดว่าสินค้าบริโภคจะสามารถเติบโตถึง 17%”

“ในปี 2008 การลงทุนจะถูกจำกัดจากนโยบายการควบคุมมหภาค เพื่อที่จะลดตัวเลขเกินดุลการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสูงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นการบริโภคจะมีบทบาทที่สำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าการบริโภคในปีนี้จะเติบโตในอัตราพอๆกับปี 2007” ฟ่านเจี้ยนผิง ผู้อำนวยการฝ่ายพยากรณ์เศรษฐกิจศูนย์ข้อมูลสารสนเทศแห่งชาติระบุ

ฟ่านยังได้ชี้ว่า ทางการจะต้องเดินหน้าในการกระจายและเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานต่อไป เพื่อให้ประชาชนส่วนนี้มีสัดส่วนในรายได้รวมของประเทศมากยิ่งขึ้น และแม้ว่าค่าแรงนั้นควรจะเป็นไปตามกลไกตลาด ทว่าทางการก็สามารถอาศัยการกำหนดมาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำ และดัชนีอัตราขึ้นค่าแรงเพื่อเข้ามาควบคุมบริษัทให้ขึ้นค่าตอบให้ตามปกติ

ทั้งนี้ เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา รายงานจากมูลนิธิคาร์เนจี เอ็นดอว์เมนท์ เพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ ได้จับมือร่วมกับศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ สังกัดคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (เอ็นดีอาร์ซี) ได้ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจเกือบ 10% ที่มีมาตั้งแต่ปี 1990 ของจีนนั้น มาจากอุปสงค์ภายในของจีนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น