“การโจนทะยานของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ได้เริ่มฉุดลากให้ปัจจัยหลายอย่างกำลังเปลี่ยนแปลง สัดส่วนของการค้าระหว่างประเทศมหาศาล กำลังเผชิญหน้ากับการกดดันอย่างยิ่งยวด ทำให้อุปสงค์ภายในไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การบริการ และการลงทุนภายในได้รับประโยชน์มากขึ้น”
ผู้จัดการออนไลน์ – ในช่วงที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างร้อนแรงของจีนที่หนุนให้รายได้ภาคประชาชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆแบบปีต่อปี กำลังจะกระตุ้นให้จีนเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ที่พึ่งพาการเติบโตจากธุรกิจและการบริโภคภายในมาเป็นตัวขับเคลื่อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในภาคการเงินกับอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเนื้อหอม สินค้าบริโภค การบินการขนส่งที่โตวันโตคืน ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่มาสะท้อนความแข็งแกร่งอีกขั้นของเศรษฐกิจมังกร
ล่าสุดได้มีรายงานจากมูลนิธิคาร์เนจี เอ็นดอว์เมนท์ เพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ ได้จับมือร่วมกับศูนย์ความร่วมมือระหว่างประเทศ สังกัดคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (เอ็นดีอาร์ซี) ได้ระบุว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจเกือบ 10% ที่มีมาตั้งแต่ปี 1990 ของจีนนั้น มาจากอุปสงค์ภายในของจีนเอง”
นอกจากนั้นรายงานยังชี้ว่า “แม้ว่าการค้าระหว่างประเทศจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แต่นั่นก็เป็นเพราะมันเป็นที่มาของเทคโนโลยี และความรู้ในด้านการบริหารจัดการ ซึ่งสิ่งนี้จะแตกต่างจากประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออก เพราะการขึ้นหรือลงของเศรษฐกิจจีนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจที่ขึ้นหรือลงของสหรัฐฯ ดังนั้นนักวิเคราะห์ในรัฐบาลสหรัฐฯจะต้องแก้ไขความเข้าใจผิดที่คิดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนเกิดจากการส่งออกและการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน”
โดยเฉพาะในปี 2008 เป็นปีที่ถูกมองว่าเศรษฐกิจของจีนกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งเป็นยุคที่หลายฝ่ายเรียกว่า “ยุคอุปสงค์ใหม่” หรือยุคที่มีการพึ่งพาอุปสงค์และการบริโภคจากภายในประเทศมากขึ้น หลังจากในอดีตช่วงทศวรรษปี 1980 เศรษฐกิจของจีนเติบโตท่ามกลางการอาศัยอุปสงค์ภายในเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อน ทว่าอุปสงค์ภายในประเทศสมัยนั้น เป็นอุปสงค์ที่เกิดจากการบริโภคเป็นหลักจึงถูกจัดว่าเป็น “ยุคต้น” ของการพัฒนาเศรษฐกิจจีน ในขณะที่ยุคอุปสงค์ใหม่ของจีนหลังจากนี้ จะเป็นการแสดงให้เห็นถึง “ยุคแห่งการเติบโต” ซึ่งจะสะท้อนระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเติบโตขึ้นอีกก้าวหนึ่ง
ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงมาจากช่วงที่ผ่านมา ที่จีนต้องเผชิญหน้ากับความไม่สมดุลทางการค้าอย่างมโหฬารระหว่างอุปสงค์ภายในและภายนอกประเทศ ในปี 2006 การค้าระหว่างประเทศของจีนมีมูลค่าที่สูงเกือบ 7% ของมูลค่าทั่วโลก สูงกว่าสัดส่วนจีดีพีของจีนต่อทั่วโลกถึง 1% ทว่าสำหรับประเทศที่มีขนาดโครงสร้างเศรษฐกิจใหญ่อย่างจีน การพึ่งพาอุปสงค์จากภายนอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจย่อมไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน ทำให้สามารถพยากรณ์ได้ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังจะผ่านช่วงการปรับตัวอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างสมดุล ซึ่งสมมติฐานของการปรับตัวเหล่านี้ สามารถมองได้จากผลกำไรที่มากขึ้นในธุรกิจภาคต่างๆ และการเติบโตของตลาดหลักทรัพย์
สวีกัง ผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริษัทซิติก ซีเคียวริตีส์ จำกัดได้มองว่า การโจนทะยานของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ได้ฉุดลากให้ปัจจัยหลายอย่างกำลังเปลี่ยนแปลง สัดส่วนของการค้าระหว่างประเทศที่สูงมากกำลังเผชิญหน้ากับการกดดันอย่างยิ่งยวด ทำให้อุปสงค์ภายในไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การบริการ และการลงทุนภายในได้รับประโยชน์มากขึ้น
การเงิน-อสังหาฯ แชมป์ทำกำไร
จากการจับตาสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ในปี 2008 ภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ไม่เพียงแต่จะเป็นส่วนที่มาแรง และทำกำไรอย่างมหาศาลเท่านั้น แต่อาจถึงขั้นมีผลประกอบการเติบโตมากกว่าระดับมาตรฐานการเติบโตของตลาดด้วย โดยปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของธุรกิจธนาคารคือการปรับดอกเบี้ยโครงสร้าง ที่ทำให้มีสัดส่วนดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากมีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะการประเมินจากสภาพการณ์ที่มองว่าใน 2008 ธนาคารกลางแห่งประเทศจีนจะยังมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก ดังนั้นในปีหน้าธนาคารต่างๆที่มีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อาจจะมีผลกำไรได้มากถึง 42%
ในภาคอสังหาริมทรัพย์ อีก 3 ปีข้างหน้าสภาพของผู้ประกอบการในอสังหาริมทรัพย์น่าจะยังร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยอุปทานด้านที่ดินจะยังคงมีขีดจำกัดอยู่ต่อไปเหมือนกับ 3 ปีที่ผ่านมา ที่ผู้ประกอบการสามารถจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ได้มากกว่างานที่สร้างเสร็จสิ้นเสมอ ดังนั้นสภาวะที่อุปสงค์มากกว่าอุปทานจะยังคงเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ และทำให้บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์อาจสามารถทำกำไรได้ถึง 80% ในปี 2008 และเป็นแชมป์ของการทำกำไรของธุรกิจประเภทต่างๆ
การเติบโตของการบริโภคภายใน
ในภาคการบริโภค แม้ว่าในปี 2007 จะยังเป็นอุปสงค์จากภายนอกเป็นตัวชักนำเป็นหลัก ทว่าการเติบโตของธุรกิจในภาคนี้อย่างรวดเร็ว มักจะเป็นไปในช่วงพิเศษๆเท่านั้น อย่างเช่นช่วงพีคของการลงทุนอยู่ในปี 2004 และช่วงพีคของการเกินดุลการค้าในช่วงครึ่งหลังของปี 2006 ต่อเนื่องปี 2007 ซึ่งในอนาคต เมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อยๆมีความสมดุลมากขึ้น จะทำให้สินค้าบริโภคภายในอย่างเหล้าขาว หรือเวชภัณฑ์มีแรงดึงดูดมากยิ่งขึ้น
รายได้ของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นตัวฉุดการบริโภคภายในให้สูงขึ้น โดยเฉพาะเหล้าขาวซึ่งในปีหน้าจะมีการเก็บภาษีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 15% โดยคาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าธุรกิจเหล้าขาวจะสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นในอัตรา 40%ต่อปี ในขณะที่สินค้าบริโภคอีกประเภทคือ เวชภัณฑ์ ท่ามกลางการปฏิรูปตลาดยาขนานใหญ่จะทำให้อุปสงค์ตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากการประเมินเบื้องต้นในอีก 2 ปีข้างหน้า ตลาดยาในจีนจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากถึงราว 100,000 ล้าน - 450,000 ล้านหยวน ซึ่งบริษัทยาหลักๆ 100 บริษัทแรกจะเติบโตราว 10% ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมยาจะเติบโตถึง 30%
ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจด้านการคมนาคมอย่างการบิน รถไฟ การขนส่งก็จะเข้าสู่ยุคการเติบโตแบบติดจรวด โอลิมปิกปักกิ่ง 2008 จะกลายมาเป็นปัจจัยกระตุ้นพิเศษ โดยธุรกิจด้านอากาศยานจะคึกคักอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2010 เป็นอย่างน้อย ในขณะที่การบินภายในประเทศจะเติบโตอย่างน้อยปีละ 10% ขึ้นไป ซึ่งที่ผ่านมาการเติบโตของธุรกิจการบินเริ่มรวดเร็วอย่างเห็นได้ชัด โดยในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 11 นี้ ในด้านธุรกิจการบินจะเป็นไปในรูปแบบของอุปสงค์มากกว่าอุปทานอยู่ตลอด ผนวกกับนโยบายของจีน ที่ในปี 2010 จะหยุดอนุมัติให้มีการตั้งบริษัทสายการบินใหม่ ก็จะเป็นตัวเร่งที่สร้างความท้าทายและคึกคักให้กับธุรกิจการบินในช่วงที่เหลือเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนธุรกิจด้านเหล็กหรือเครื่องจักร แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากแรงกดดันในการส่งออก และราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ทว่าท่ามกลางตลาดรถ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อนแรงคอยฉุด จะทำให้ธุรกิจประเภทนี้จะยังเติบโตไปได้ด้วยดี แตกต่างจากช่วงปี 2005-2007 ที่มีกำลังผลิตที่ล้นเกินจนต้องอาศัยการส่งออกมาช่วยผ่อนเพลา ทว่าในปี 2007-2009 ที่จะเป็นช่วงการปรับสมดุลของธุรกิจ บวกกับการส่งเสริมให้มีการยกระดับการผลิตและควบรวมกิจการเพื่อเพิ่มศักยภาพมากขึ้น จะทำให้ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายสามารถทำกำไรได้ดีอยู่
แปลและเรียบเรียงจาก "นิตยสารไฉจิง"