ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ชาวบ้านที่บุรีรัมย์ แห่จับปลา “ชัคเกอร์” ที่จับได้จากแหล่งน้ำต่างๆ จำนวนมาก นำมาแลกปลาสวยงามหรือปลาเศรษฐกิจที่ประมงจังหวัด เพื่อนำไปทำลายหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพ ลดการแพร่ขยายพันธุ์ของปลา “ชัคเกอร์” ที่เป็นอันตรายกับปลาพื้นเมือง ส่งกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (31 ม.ค.) ชาวบ้านที่ จ.บุรีรัมย์ ได้พากันนำปลาชัคเกอร์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่กว่า 2,500 ตัว ที่จับจากคลองละลม เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ และแหล่งน้ำธรรมชาติ มาแลกปลาสวยงาม และปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลานิล ปลาไน หรือ ปลาตะเพียน ที่สำนักงานประมงจังหวัดบุรีรัมย์ และศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำจัดขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาชัคเกอร์ หรือที่เรียกว่า ปลาเทศบาล เป็นปลาที่มีอันตรายแย่งอาหาร กินไข่ และลูกปลาพื้นเมือง ทั้งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งปลาชัคเกอร์สามารถวางไข่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง
ปกติประชาชนทั่วไปจะนำปลาชัคเกอร์มาเลี้ยงในตู้ปลา เพื่อความสวยงาม แต่ไม่นิยมนำไปบริโภค พอมีขนาดตัวใหญ่ขึ้นก็จะนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ จนทำให้เกิดปัญหาแพร่ขยายพันธุ์ยากต่อการควบคุม โดยเฉพาะในคลองละลม เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ มีปลาชัคเกอร์ที่ถูกนำมาปล่อย อาศัยอยู่นับแสนตัว
นายสมเกียรติ พิบูลย์ผล ประมงจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การให้ประชาชนนำปลาชัคเกอร์ มาแลกปลาสวยงาม หรือปลาเศรษฐกิจดังกล่าว เพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันกำจัดปลาชัคเกอร์ ไม่ให้มีการแพร่ขยายพันธุ์จนเกิดปัญหากับระบบนิเวศ ซึ่งปลาชัคเกอร์ที่รับแลกจะได้นำไปทำลายหมักเป็นปุ๋ยชีวภาพ และนำไปใช้ประโยชน์ในอีกทางหนึ่ง
“ส่วนหลักเกณฑ์การแลกปลาชัคเกอร์ 1 ตัว ขนาดต่ำกว่า 20 เซนติเมตร สามารถแลกปลาสวยงาม หรือปลาเศรษฐกิจ ขนาด 2-3 เซนติเมตร ได้ 5 ตัว และปลาชัคเกอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่า 20 เซนติเมตร สามารถแลกปลาเศรษฐกิจขนาด 2-3 เซนติเมตรได้ 10 ตัว” นายสมเกียรติ กล่าว