xs
xsm
sm
md
lg

เจาะช่องโหว่ “น้ำท่วม 67” พัฒนาแอปฯ ข้อมูลน้ำ แต่เตือนภัยยังไม่ได้ มีแต่ข้อมูลดิบ!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ข้อมูลน้ำ” มีครบ รวมไว้ได้ในที่เดียว แต่น่าเสียดาย กลับขาดการ “สานต่อ” วิเคราะห์ข้อมูลให้เข้าใจง่าย เพื่อให้พี่น้องประชาชน “เข้าใจ” และ “เข้าถึง” นี่แหละ “ช่องโหว่รูใหญ่” ของเว็บไซต์และแอปฯ สถานการณ์น้ำในบ้านเรา จนผลักให้ “น้ำท่วมปี 67” ยังไม่อาจคลายกังวลลงได้เลย






จัดเต็ม “ข้อมูลดิบ” แต่ไม่มี “ประมวลผล”

ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วมทางภาคเหนืออย่างหนัก และกำลังเฝ้าระวังการลามมาสู่ภาคกลาง โดยเฉพาะเมืองหลวงของประเทศ

ล่าสุด “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)” ออกมาเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ เกี่ยวกับเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน “อัปเดตสถานการณ์น้ำ” ที่ใช้ชื่อว่า “ThaiWater (คลังข้อมูลน้ำแห่งชาติ)” ผ่านงานเสวนา “รู้น้ำ รู้อากาศ รู้ทันภัยพิบัติ ผ่าน ThaiWater”

แอปฯ ที่พัฒนาโดย “สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)” หรือ “สสน.” หวังให้ข้อมูลเหล่านี้สามารถ “เข้าถึงประชาชนได้ง่าย”


โดยทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อย่าง “ศุภมาส อิศรภักดี”มองว่า “หัวใจสำคัญของการรับมือภัยพิบัติ”คือ ข้อมูลที่ถูกต้อง-แม่นยำและทันต่อสถานการณ์

“ThaiWater” จึงรวบรวมข้อมูลจาก 52 หน่วยงาน 12 กระทรวง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง“น้ำ”มาไว้ที่เดียวพร้อมทั้งจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการน้ำท่วม อว.” เพื่อเป็น “War Room” ในการติดตามสถานการณ์น้ำด้วย

                                          {“ศุภมาส อิศรภักดี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.}

“ถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าค่ะ ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนได้รับข้อมูล เพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องและทันเวลา”

พิสูจน์คำพูด ด้วยข้อมูลที่ครอบคลุมอยู่บนเว็บไซต์ www.thaiwater.net ตั้งแต่สถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง,เส้นทางการไหลของน้ำ, ปริมาณน้ำในเขื่อน-แม่น้ำสายสำคัญ, ปริมาณฝน ทั้งรูปแบบตกสะสมและปริมาณจากการคาดการณ์ ซึ่งทุกอย่างมีการอัปเดตแบบ “Real time”

“วาสุกรี แซ่เตีย”นักวิเคราะห์ข้อมูลจาก สสน. อธิบายว่า การพยากรณ์สภาพอากาศ ยิ่งคาดการณ์ล่วงหน้าได้นานเท่าไหร่ ความแม่นย่ำก็ยิ่งน้อยลง แต่ข้อมูลในนี้เป็นการ “จำลองการคาดการณ์ฝนใน 7 วัน”

โดยทำแบบจำลองทุกวัน วันละ 2 รอบ ทำให้การพยากรณ์ฝนในช่วง 3 วันแรก“แม่นยำอย่างมาก” ส่วน 4 วันหลัง จะถูกใช้ดูแนวโน้มของฝนแทน

ตัวข้อมูล แผนที่ ปริมาณน้ำ บนเว็บไซต์ “ThaiWater” ถือว่าละเอียดมาก บอกถึงขั้นเกณฑ์ของฝนที่จะตก จากเบาไปหาหนัก


                                    {“วาสุกรี แซ่เตีย” นักวิเคราะห์ข้อมูล จาก “สสน.”}

แต่ดูเหมือนจะยังมี “ช่องโหว่รูใหญ่ๆ” ตรงที่ ข้อมูลสำคัญทั้งหมดนั้น มีไว้เพื่อให้นักวิเคราะห์, หน่วยงานราชการ และสื่อ หยิบไปใช้เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำต่ออีกที ซึ่งต้องผ่านการปรับภาษาอีกครั้ง ก่อนเผยแพร่สู่สาธารณชน


                              {ข้อมูล “สถานการณ์น้ำ” ใน www.thaiwater.net}

นอกนั้น “เพ็ญศิริ ศรัณย์รัฐ” ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ สสน. บอกว่า ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ “วิกฤติ” หรือต้องเฝ้าระวังอย่างหนัก



                         {“เพ็ญศิริ ศรัณย์รัฐ” ผอ.ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ สสน.}

“ThaiWater” ก็จะทำสรุปแจ้งเตือนบนเว็บไซต์ และเฟซบุ๊ก “สสน.” รวมถึงส่งข้อมูลไปยัง 22 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ แยกออกไปอีกช่องทาง

“22 หน่วยงาน ที่เขามีหน้าที่ และมีเครือข่ายในระดับพื้นที่ จะทำหน้าที่หยิบข้อมูลชุดนี้ ไปทำให้เกิดการ operation ปฏิบัติงานในพื้นที่”


                                      {ตัวอย่าง “การแจ้งเตือนและเผ้าระวัง” ของ สสน.}

“คลังข้อมูล” กว้างไป ต้องเจาะ “เตือนภัย” แต่ละพื้นที่

แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ติดตามปัญหาภัยพิบัติในไทยมาตลอด อย่าง “ธารา บัวคำศรี” ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ยังอดเสียดายไม่ได้ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง “ช่องโหว่ของข้อมูล”ที่ไม่มีการหยิบไป “ต่อยอด” ให้ครบวงจร-ใช้ได้จริง

“คือข้อมูลใน ThaiWater เนี่ยดี ต้องยอมรับ ต้องยกนิ้วให้ แต่ว่ามันต้องมีอะไรต่อยอดมากไปกว่านั้น ก็คือการสร้างระบบเตือนภัย ที่มันครบวงจรขึ้นมา”

หลังได้ลองใช้แอปฯ ดังกล่าวแล้ว เพื่อมอนิเตอร์สถานการณ์น้ำท่วมตลอดช่วงที่ผ่านมา ผอ.กรีนพีชมองว่า การรวบรวมข้อมูลเรื่องน้ำและสภาพอากาศ จากทุกหน่วยงานในไทยมีอยู่


                                                             {แอปฯ “ThaiWater”}

แต่ปัญหาคือ มันมาไม่ถึงมือคนใช้ สุดท้ายประชาชนก็มองภาพไม่ออก และตอบคำถามไม่ได้ว่า สรุปแล้ว น้ำจะท่วมบ้านของตัวเองหรือเปล่า?

“มันยังไม่ถึงขั้นที่จะประมวลผล เพื่อที่จะตอบโจทย์ของผู้ใช้งานปลายทางได้ อย่างที่ควรจะเป็น”

เมื่อ ThaiWater มีข้อมูลมากมายขนาดนี้ สิ่งที่ควรเพิ่มเข้าไปคือ “ระบบเตือนภัยน้ำท่วม”ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า ทางผู้รับผิดชอบโครงการ ThaiWater มีอำนาจตรงจุดนี้หรือเปล่า?


                                                {“ธารา บัวคำศรี” กรีนพีซ ประเทศไทย}

เริ่มกันที่เรื่อง “อำนาจ” ในการประกาศเตือนภัย “สสน.” มีหน้าที่แค่ “ด้านวิชาการ” สนับสนุนข้อมูล ส่วนเรื่องการประกาศเตือนภัย อาจเป็นหน้าที่ของหน่วยงาน ที่จะต้องนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่ออีกที

ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหา “ใครจะเป็นคนเตือน” เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับน้ำมีหลายหน่วย ตั้งแต่ กรมชลประทาน, กระทรวงเกษตร, กรมอุตุนิยมวิทยา ฯลฯ

“คือมันไม่มีการ Streamline (ปรับปรุงประสิทธิภาพ) ระบบการเตือนภัยที่มันทันท่วงที แล้วมันก็มี gap ระหว่างหน่วยงานต่างๆ เป็นสิบๆ หน่วย ที่จะสามารถสอดประสานกันได้”



ทั้งนี้ การจะพัฒนาให้ “ThaiWater” กลายเป็นแอปฯเตือนภัย อาจจะไม่เหมาะ เพราะอาจมันเป็นข้อมูลภาพใหญ่ของทั้งประเทศ แต่ระบบเตือนภัย จำเป็นต้องลงลึกเฉพาะพื้นที่

“เพราะฉะนั้น มันต้องมีระบบเตือนภัยที่แยกส่วนออกไป เจาะลึกลงไปในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เพื่อทำให้เกิดการเตือนภัยที่แม่นยำ รวดเร็ว และตอบรับกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที”

ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง “ฟิลิปปินส์” ที่ “สหประชาชาติ(UN)” เข้านำร่อง “ระบบเตือนภัยระดับลุ่มน้ำ” เป็นระบบเตือนภัยระดับพื้นที่ โดยให้อำนาจท้องถิ่นการออกแบบระบบเตือนภัยที่ “ครบวงจร”

คือมีทั้งข้อมูลพื้นที่แจ้งเตือน, วิธีแจ้งเตือน ว่าจะผ่านแอปฯ, SMS หรืออะไรก็แล้วแต่ และต้องมีช่องทางการสื่อสารสำรอง เพื่อส่งข่าวหลักไปยังประชาชนด้วย



ดังนั้น อาจจำเป็นต้องหา “Startup” เพื่อสร้างโครงการนำร่องแบบนี้ โดยการแปลงข้อมูลจาก ThaiWater ไปพัฒนาเป็นระบบเตือนภัยในท้องถิ่นอีกที

แต่ก่อนจะเริ่มทำแบบนั้น เราอาจต้องหา “หน่วยงานหลัก” ที่รับผิดชอบเรื่อง “ระบบเตือนภัยพิบัติ” แบบจริงๆ จังๆ ให้ได้เสียก่อน ไม่อย่างนั้น อาจต้องเจอ “ความเทอะทะ” ของราชการ ที่ทำให้การเตือนภัยล่าช้า และไม่ทันต่อสถานการณ์ จนสร้างปัญหาเพิ่มไม่รู้จบ





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)






@livestyle.official ...“ข้อมูลน้ำ” มีครบ แต่ขาดการ “สานต่อ” ให้เข้าถึงประชาชน นี่แหละ “ช่องโหว่” ของสถานการณ์น้ำในบ้านเรา จนผลักให้ “น้ำท่วมปี 67” ยังไม่อาจคลายกังวลลงได้เลย... . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #น้ําท่วม67 #น้ําท่วมแล้ว #น้ําป่าท่วมเชียงราย #Saveเชียงราย #น้ําท่วมเหนือปี67 #น้ําท่วมเชียงใหม่67 #หนองคาย #แม่น้ําโขง ♬ original sound - LIVE Style


สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : www.thaiwater.net, Facebook “สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ - องค์การมหาชน”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น