xs
xsm
sm
md
lg

เจาะร่างแผน PDP 2024 เขียวไม่พอ สู่เป้าพลังงานสะอาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



•คนไทยอยู่ตรงไหนในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567-2580 (PDP 2024) เร่งหรือรั้ง ! พาไทยสู่เป้าหมายพลังงานสะอาด
•วงเสวนางาน “A Better World is Possible: ชำแหละร่างแผน ไม่มั่นคง แพง และไม่นำประเทศสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero
•บทวิเคราะห์ทีดีอาร์ไอ ยืนยันไม่ตอบโจทย์โลกลดคาร์บอนที่มากพอ


เมื่อพูดถึงแผนพลังงานแห่งชาติ สำหรับคนธรรมดาทั่วไปแบบพวกเราแล้วดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวมาก แต่รู้หรือไม่! ว่าแผนพลังงานแห่งชาตินี่ล่ะ ที่จะเป็นตัวกำหนดว่า พวกเราต้องจ่ายค่าไฟแพงหรือถูก นั่นล่ะคนส่วนใหญ่ถึงเริ่มทำความเข้าใจและติดตามมากขึ้น
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP เป็นแผนระยะยาว 15-20 ปี ที่วางทิศทางการผลิตไฟฟ้าของไทย และ เป็น 1 ใน 5 แผนพลังงานภายใต้กรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan : NEP 2024) ที่กำกับทิศทางการพัฒนานโยบายพลังงานของประเทศ ร่วมกับ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan)

เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567-2580 โดยไม่มีการเปิดเผยเนื้อหาฉบับเต็มเกี่ยวกับร่าง PDP 2024 ให้แก่สาธารณชนรับรู้ก่อนวันรับฟังความคิดเห็น เปิดเผยเพียงเอกสารการนำเสนอ อีกทั้งกระบวนการรับฟังใช้เวลาเพียง 12 วันและจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนเพียงช่องทางออนไลน์ โดยจำกัดให้ในส่วนประชาชนทั่วไปสามารถแค่ร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ทางช่องทางออนไลน์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เท่านั้น

ทั้งนี้ภายหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวตามขั้นตอนแล้ว ขั้นต่อไปก็จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะอนุพีดีพี จากนั้นจะเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามลำดับ ) เพื่ออนุมัติภายในเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งล่าช้ากว่าเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้เดือนกันยายน 2567

นั่นทำให้ภาคประชาชนออกมาติดเบรก โดยให้มุมมองที่แตกต่าง ว่าไม่ดำเนินการเป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ถูกบัญญัติรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย พร้อมกับชำแหละร่างแผน PDP ที่มีปัญหาหลัก 3 ข้อ คือ “ไม่มั่นคง แพง และไม่นำประเทศสู่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero” ตามที่รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาบนเวทีการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศระดับโลก


ชำแหละร่างแผน ไม่ตอบโจทย์โลกลดคาร์บอน

วงเสวนาชวน Talk ทวงถาม : ภัยความมั่นหลักทำแผน PDP2024 จากงาน“A Better World is Possible: ถกถามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP2024) เพื่อประชาชนและโลกที่ดีกว่าเดิม” (เมื่อ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา) เครือข่ายเพื่อพลังงานที่ยุติธรรมสำหรับทุกคน ได้แก่ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จาก SDG Move นายรพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ จาก Climate Finance Network Thailand และนายธารา บัวคำศรี จากกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกันเสนอว่าแผน PDP ที่มั่นคง ยั่งยืนและเป็นธรรมกับประชาชนควรจะเป็นอย่างไร

รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ให้ความเห็นว่า แผน PDP ที่ดีนั้น จริง ๆ แล้วควรจะต้อง ‘แฟร์’ ทั้ง 3 ด้าน คือ ความมั่นคงด้านพลังงานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงไฟฟ้า ใช้ไฟฟ้าได้ทั่ว ๆ กัน อย่างที่สองคือไฟฟ้าที่ประชาชนใช้มีราคาที่เหมาะสมสำหรับประชาชน และข้อสุดท้ายคือพลังงานไฟฟ้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แต่เมื่อพิจารณาจากร่างแผน PDP 2024 แล้วกลับไม่ตอบโจทย์ในประเด็นสำคัญ คือ ‘ความมั่นคง ราคาเหมาะสม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ เหตุผลสำคัญหลายประการที่เราพบในร่างแผนนี้ และอยากให้รัฐบาลไทยทบทวนและพิจารณาร่างแผน PDP ใหม่ เพื่อความเป็นธรรมต่อประชาชนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ได้แก่

มีการพึ่งพาไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศสูง ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงนำเข้าเป็นส่วนใหญ่ เช่น ก๊าซ LNG จะทำให้ไทยเสี่ยงต่อความไม่มั่นคงทางพลังงาน (ร่างแผนกำหนดว่าไทยจะใช้ก๊าซ LNG สูงถึง 48%) ก๊าซดังกล่าวยังเป็นแหล่งพลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง และจะยิ่งทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศหนักหน่วงยิ่งกว่าเดิม

มีแผนเพิ่มโรงไฟฟ้าสำรองใหม่ (ที่เป็นก๊าซฟอสซิล) มากถึง 6,300 เมกกะวัตต์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสวนทางกับคำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการพาประเทศสู่เป้าหมาย Net Zero
หากในอนาคตแผน PDP ดังกล่าวได้รับการอนุมัติใช้ เราอาจต้องเจอกับราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น เพราะในแผนจะมีการนำเข้าพลังงานน้ำจากเขื่อนลุ่มน้ำโขงและก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น

สัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนที่ร่างแผนกำหนดไว้ยังไม่ตอบโจทย์ศักยภาพของไทย ความจริงแล้วประเทศไทยสามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนได้มากกว่านั้น (ในแผนกำหนดการผลิตพลังงานหมุนเวียน ประกอบไปด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 16% พลังงานน้ำจากเขื่อนลุ่มน้ำโขง 15% พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ 16%)


เสนอแผน PDP ที่ดี ควรเป็นอย่างไร?

รศ.ดร.ชาลี นำเสนอว่า แผน PDP ที่ดีนั้น สิ่งสำคัญคือต้องพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับทิศทางโลกและเหมาะสมกับการใช้ไฟฟ้าในประเทศอย่างเพียงพอ เพื่อลดต้นทุนการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลที่ไม่จำเป็น ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยังจะทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าราคาแพงขึ้น

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอในเชิงเทคนิคเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานอีกด้วยเช่น รัฐจะต้องตั้งเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระดับที่สูงกว่า 51% เพราะสัดส่วนนี้ดูเหมือนจะเหมาะสมแล้ว แต่หากเราเทียบกับเป้าหมายการลดคาร์บอนในระดับโลกก็ยังถือว่าห่างไกล ต่อมาคือระบบสายส่งไฟฟ้าต้องพัฒนาให้ยืดหยุ่นและเป็นสายส่งที่รองรับพลังงานหมุนเวียนในระดับสูง และข้อเสนอสุดท้าย คือรัฐจะต้องหยุดซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวที่มีราคาแพง ไม่โปร่งใสและผูกขาด

“ปัญหาสำคัญของร่างแผน PDP 2024 ฉบับนี้คือ กระบวนการยอมรับจากภาคประชาชน เพราะทุกครั้งที่มองย้อนกลับไปที่ปัญหาของค่าไฟฟ้าแพง ล้วนมีสาเหตุมาจากการวางแผน PDP ที่ผิดพลาดทั้งสิ้น

ได้แก่ การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง เพราะไม่ได้ประเมินรวมสัดส่วนของผู้ที่ผลิตพลังงานใช้เองที่เพิ่มมากขึ้น เลือกวิธีการสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิลที่กำลังเป็นของล้าสมัย และทำให้เกิดวิกฤตโลกเดือดเพิ่มขึ้น และเป็นการบดบังความสามารถในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน หากเราพัฒนาพลังงานหมุนเวียนได้ไว โรงไฟฟ้าฟอสซิลก็จะถูกใช้น้อยลง เชื้อเพลิงฟอสซิลก็จะไม่คุ้มค่า ทำให้เกิดค่าไฟฟ้าแพงมากขึ้นเลยปิดกั้นการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ในขณะฟอสซิลที่มีอยู่ปัจจุบันก็ล้นระบบอยู่แล้ว

ในแผน PDP 2024 นี้ไม่ได้มีเป้าหมายโซลาร์รูฟทอป (solar rooftop) จริง ๆ แล้วมันเป็นวิธีการพึ่งพาตนเองในการผลิตพลังงาน และไม่จำเป็นที่เราจะผูกขาดให้ใช้ไฟฟ้าจาก กฟผ. เท่านั้น ถ้าเราส่งเสริมด้านนี้ให้มาก ๆ มันก็จะช่วยลดการใช้สายส่ง เพราะผลิตไฟที่ไหนก็ใช้ที่นั้น อีกทั้งไม่ต้องนำเข้าก๊าซ LNG จากต่างประเทศที่แพงและราคาไม่แน่นอน ดังนั้นถ้ารัฐมองหาความมั่นคงด้านพลังงานต้องหันมาส่งเสริมให้เกิด Solar Rooftop ในแผน PDP นี้ด้วย”

   รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์
ร่างแผนนี้ช่วยเศรษฐกิจไทยดีถ้วนหน้าจริงหรือ?

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย นอกจากเกี่ยวโยงถึงความมั่นคงด้านพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อม ก็ย่อมเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศด้วย

นายรพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย Climate Finance Network Thailand ตีแผ่ถึงร่างแผน PDP2024 กับผลกระทบทางเศรษฐกิจ นำเสนอทางออกที่เป็นธรรมให้กับทุกคน โดยเสนอ 3 ประเด็นที่อยากให้ทุกคนจับตา ได้แก่ ราคาผันผวน ต้นทุนแฝงแพง และ เขียว (เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) ไม่พอ

1.ราคาผันผวน ปัจจุบันไทยผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฟอสซิลอยู่ที่ 60% ส่วนในร่างแผน PDP2024 ระบุว่าในปี 2580 ไทยจะผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฟอสซิลอยู่ที่ 41% หากมองเผิน ๆ จะดูเหมือนเราใช้ก๊าซฟอสซิลลดลงแต่ความจริงแล้วร่าง PDP ฉบับใหม่นี้ยังมีโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลใหม่เพิ่มอีก 6,300 เมกะวัตต์ การเพิ่มโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลจะเป็นสัญญาณว่าเราจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เนื่องจากราคาต้นทุนไฟฟ้าจะสูงขึ้นรวมทั้งราคาก๊าซยังมีความผันผวนสูง แล้วผู้บริโภคเป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้า จึงต้องแบกรับการผันผวนของราคาไปด้วย (Pass Through Mechanism) สถานการณ์นี้หลายคนทราบดีเพราะช่วงที่ราคาก๊าซแพงขึ้น เราเองนี่แหละที่เป็นคนจ่าย

แล้วทำไมราคาก๊าซฟอสซิลจึงผันผวน ? หากลองศึกษาข้อมูลเราจะพบว่าต้นทุนราคาก๊าซในอ่าวไทย หรือในเมียนมาร์ไม่ได้ผันผวนมากนัก แต่ร่างแผน PDP ฉบับนี้จะเพิ่มเติมการนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามา ซึ่งต้นทุนก๊าซประเภทนี้มีความผันผวนในตลาดโลกสูงมาก ทำให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า Energy Pool Price โดยก๊าซจากแหล่งอื่น ๆ จะผันผวนตามราคาก๊าซ LNG
เมื่อกลับมามองสถานการณ์การใช้ก๊าซ LNG ปัจจุบัน ไทยนำเข้าก๊าซชนิดนี้ที่ 19% แต่ในร่างแผน PDP 2024 ระบุว่าในปี 2580 ไทยจะนำเข้าก๊าซชนิดนี้ถึง 38% และอาจจะมากกว่านั้นถ้าเราไม่สามารถจัดหา Potential Gas ได้ (ในแผนยังไม่ได้ระบุว่ามาจากไหน ซึ่งอาจจะเป็นแหล่งก๊าซที่อาจขุดเจาะได้เพิ่มในประเทศเพื่อนบ้านในช่วงระยะเวลานั้น) หากเราไม่สามารถหา Potential Gas ได้ ก็ต้องเพิ่มสัดส่วนการนำเข้าก๊าซ LNG ไปถึง 50% เลยทีเดียว ทั้งนี้ การวิเคราะห์จากทั่วโลกเกี่ยวกับความผันผวนของต้นทุนก๊าซ LNG จะยังคงอยู่ต่อไปและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกด้วย เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือความต้องการใช้พลังงานที่แปรผันตามฤดูกาล (ยุโรปในช่วงฤดูหนาวมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเยอะ หรือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาฤดูร้อนและต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน ก็จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น)

2.ต้นทุน (แฝง) แพง จากแผนที่ระดับความเข้มข้นของแสงอาทิตย์ที่เป็นไปได้ในประเทศไทยชี้ให้เห็นว่าไทยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สูงมาก (จากเฉดสีส้ม แดง และแดงเข้ม) นั่นทำให้ไทยได้รับการประเมินว่ามีต้นทุนการผลิตพลังงานจากโซลาร์เซลล์ต่ำที่สุดเป็นอันดับสองในอาเซียน

เมื่อเทียบราคาต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บวกกับแบตเตอร์รี่กักเก็บในปัจจุบันนั้นมีราคาเทียบเท่ากับการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฟอสซิลแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับการประเมินว่าในพ.ศ. 2576 ราคาต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บวกกับแบตเตอร์รี่กักเก็บจะถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน

แล้วต้นทุนแฝงที่ว่าแพงคืออะไร ? นายรพีพัฒน์ อธิบายต่อว่า ราคาค่าไฟฟ้าที่เห็นในร่างแผน PDP ฉบับล่าสุด (3.87 บาท) ยังไม่รวมกับ ‘กลไกราคาคาร์บอน’ ซึ่งจะเกิดจากร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ พ.ร.บ. Climate Change ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวผ่าน ราคาค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแน่นอน

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ยังไม่ได้ระบุในร่างแผน PDP คือเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน Carbon Capture Storage (CCS) หากในอนาคตไทยจะมีโครงการ CCS เกิดขึ้น นี่คือข้อสรุปว่าหากเรายังเดินตามร่างแผน PDP ฉบับนี้ ในอนาคตค่าไฟฟ้าอาจะแพงขึ้นจาก กลไกราคาคาร์บอน และเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนได้

3.เขียวไม่พอ อย่างที่เราทราบกันดีว่า ภาคพลังงาน เป็นภาคที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด แต่เหตุผลที่เราอยากสร้างการเปลี่ยนผ่านที่ภาคพลังงานก็เพราะเป็น Quick wins ที่จะเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนได้เร็วที่สุดและมีต้นทุนถูกที่สุด โดยเฉพาะประเทศไทยที่ระบบการผลิตพลังงานยังเป็นระบบรวมศูนย์
สิ่งสำคัญอีกข้อหนึ่ง เขาเน้นย้ำคือ การบรรลุเป้าหมาย Net Zero Carbon ของไทย ที่วางไว้ใน ค.ศ. 2065 นั้น ช้าที่สุด เป็นที่โหล่ในประเทศกลุ่มอาเซียน เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าในอนาคต ประเทศไทยอาจไม่ดึงดูดให้กลุ่มบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศอีกด้วย ท้ายที่สุดแล้วเป้าหมาย Net Zero ของไทยอาจทำให้ไทยเองแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคไม่ได้เลย

นายรพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
กระทบแผน Net Zero และความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างไร

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “แม้ประเทศไทยประกาศเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2608 แต่ร่างแผน PDP 2024 ยังไม่หลุดพ้นไปจากการครอบงำของผลประโยชน์อุตสาหกรรมฟอสซิล ซ้ำร้าย ยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด มีเพียงระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเต็มร้อยเท่านั้นหากประเทศไทยต้องการไปถึงความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Net Zero ตามที่ประกาศไว้

อย่างไรก็ตาม เนื้อแท้ของแผน Net Zero ของไทยนั้น นอกจากจะเอื้อให้อุตสาหกรรมฟอสซิลเดินหน้าสำรวจ ขุดเจาะ สกัดและเผาไหม้ถ่านหิน ก๊าซและน้ำมันต่อไปแล้ว ก็ยังใช้กลยุทธ์ฟอกเขียวโดยการปลูกป่าชดเชยคาร์บอน (carbon offset) หรือใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) ที่ต้นทุนสูงลิบลิ่วและไม่ได้รับการพิสูจน์”
เขาขยายความว่า ถึงแม้ร่างแผน PDP2024 ระบุว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามเป้าหมาย Net Zero จาก 85.90 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2567 เป็น 53 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2580 โดยใช้องค์ประกอบ 4 ส่วน คือ

1)โรงไฟฟ้าฟอสซิล (ใช้ไฮโดรเจนผสมก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าความร้อนร่วม)

2) โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด (โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าสูบกลับและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์)

3) เทคโนโลยีทางเลือก (แบตเตอรี่เก็บกักพลังงาน/demand response/distributed energy resources)

4) ระบบ smart grid

คำถามคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทั้งหลายเหล่านี้จะนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตไฟฟ้าของไทยให้เป็นไปตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจก (NDC) ได้จริง ขณะที่แผน Net Zero ที่เป็นอยู่นั้นยังคงเอื้อให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเดินหน้าสำรวจ ขุดเจาะ สกัดและเผาไหม้ถ่านหิน ก๊าซและน้ำมันต่อไปและจ่ายเงินจ้างใครสักคนทำการดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโดยการปลูกป่าชดเชย กลไกซื้อขายคาร์บอน (Emission Trading) หรือใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage:CCS) ที่ต้นทุนสูงลิบลิ่วและไม่ได้รับการพิสูจน์

ที่แคนาดา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติอนุมัติโครงการ Quest เพื่อผลิตน้ำมันจากทรายน้ำมัน(Tar Sand) ซึ่งมีเงินอุดหนุน 654 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอ้างว่า เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน(CCS) เป็น “เครื่องมือสำคัญสู่เป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่มุ่งมั่นของแคนาดา” นั่นคือ Net Zero ภายในพ.ศ. 2593 แต่โครงการ Quest ปล่อยคาร์บอนมากกว่าที่ดักจับ/กักเก็บได้และเพิ่มการผลิตทรายน้ำมันซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่สกปรกที่สุดและมีคาร์บอนเข้มข้นมากที่สุดในโลก เป้าหมาย Net Zero จึงล่องลอยในสายลม

นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการและนักวิเคราะห์ด้านพลังงานระหว่างประเทศ 400 คนลงนามในจดหมายถึงรัฐบาลแคนาดาเพื่อขอให้ยุติการสนับสนุนโครงการ จดหมายเตือนว่า การดักจับ กักเก็บและใช้ประโยชน์คาร์บอน(CCUS) ไม่ใช่ “เทคโนโลยีการปล่อยคาร์บอนเป็นลบ(Negative Emission Technology)”แถมยังใช้เงินภาษีประชาชนหลายพันล้านเหรียญกระตุ้นการผลิตน้ำมัน นักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการเตือนถึงผลกระทบด้านสุขภาพต่อชุมชนท้องถิ่นว่าการอุดหนุนเงินให้กับโครงการนี้จะทำให้แคนาดาต้องพึ่งพาทรายน้ำมันอันสกปรก และโครงการจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นราว 50 ล้านตันต่อปีภายในพ.ศ. 2578

ชวนคนไทยมีส่วนร่วม ให้ระบบการผลิตไฟฟ้าในไทย มั่นคง ยั่งยืน และเป็นธรรม

แม้ว่าจะเป็นทางออกเดิม ๆ ที่เราเห็นหลายองค์กรร่วมรณรงค์มาตลอดหลายปี แต่การร่วมลงชื่อเพื่อแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเช่นนี้ยังคงเป็นหนทางในการสนับสนุนหรือคัดค้านเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่เสมอ

รศ.ดร.ชาลี ให้ความเห็นว่า “ข้อแรก การร่วมกันลงชื่อเพื่อแสดงเจตนารมย์ว่าประชาชนแบบเราไม่ยอมรับร่างแผน PDP2024 ฉบับนี้ เพราะร่างแผนฉบับนี้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพียงน้อยนิด อีกทั้งยังไม่เป็นธรรมกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าอีกด้วย ข้อที่สองคือพยายามศึกษาด้วยตัวเองว่าสิ่งที่เครือข่ายนำเสนอเป็นความจริงหรือไม่ และข้อสุดท้ายที่ประชาชนสามารถช่วยกันได้คือ การบอกต่อ การช่วยกันแชร์กับคนรอบข้างว่าทำไมเราจึงไม่เห็นด้วยกับร่างแผน PDP2024 นี้ บอกถึงผลกระทบที่จะเกิดกับเรา”

ด้านนายรพีพัฒน์ เสริมว่า “ร่างแผน PDP2024 กำลังพาไทยไปเจอปัญหาด้านเศรษฐกิจ 3 ประการ อย่างแรกคือต้นทุนที่ผันผวนจากสัดส่วนการพึ่งพาการนำเข้า LNG ที่เพิ่มขึ้น อย่างที่สองคือต้นทุนที่แพงจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่อาจเผชิญกับการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน หรือต้องพึ่งพาเทคโนโลยีราคาแพงอย่างการดักจับและกักเก็บคาร์บอน และอย่างที่สามคือเขียวไม่พอ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ของไทยล่าช้าที่สุดในอาเซียน

เขาบอกว่าความล่าช้านี้กำลังทำให้เราเสียเปรียบในการแข่งขันเพราะนอกจากจะไม่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทที่ให้ความสำคัญด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ภาคส่งออกของเรายังเผชิญกับกำแพงภาษีจากมาตรการคาร์บอนข้ามพรมแดนซึ่งเริ่มบังคับใช้แล้วในสหภาพยุโรป ส่วนแคนาดา ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาก็กำลังพิจารณาเดินหน้ากฎหมายดังกล่าวเช่นกัน”

“ทางออกที่เป็นไปได้ในปัจจุบันคือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปลี่ยนผ่านการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฟอสซิลสู่พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังปล่อยคาร์บอนต่ำ และประเทศไทยยังโชคดีที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมหาศาลอีกด้วย”

ทั้งนี้ นายธารา เสนอการสนับสนุนระบบ Net Metering หรือ ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้า “แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลยังไม่สนใจระบบ Net Metering แต่เราจำเป็นจะต้องสนับสนุนระบบนี้เพราะเป็นหนทางที่จะทำให้ลดปัญหาที่เกิดจากระบบพลังงานไฟฟ้าแบบรวมศูนย์และเพิ่มการกระจายศูนย์ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าแบบหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืนกว่าและเป็นธรรม”

หากร่าง PDP 2024 ไม่ได้รับการแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชน ค่าความเสียหายจากการวางแผนที่ผิดพลาดของภาครัฐจะถูกผลักภาระมาที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคน จึงขอชวนคนไทยร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนกระบวนการและร่างแผน PDP2024 ที่ไม่มั่นคง แพง และไม่นำประเทศสู่การบรรลุเป้าหมาย Net zero ได้ที่ https://act.gp/pdp-petition

นายธารา บัวคำศรี
5 ข้อเสนอต่อการแก้ไขร่าง PDP 2024

1)ให้คำนึงถึงแผนการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงานเป็นเป้าหมายสำคัญในการออกแบบ เพื่อให้บรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และ Net Zero Emission ภายในปี 2065

2)ประกาศปลดระวางถ่านหิน โดยไทยจะสามารถเร่งเลิกใช้ถ่านหินได้เร็วสุดภายในปี 2027 เนื่องจากภาระทางสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกเดือดสูงกว่าพลังงานชนิดอื่น

3)หยุดการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลใหม่และเขื่อนในลุ่มน้ำโขง

4)ใช้พลังงานหมุนเวียนภายในประเทศให้เต็มศักยภาพและป้อนเข้าสู่ระบบสายส่งเป็นลำดับแรก เพื่อลดการพึ่งพาและนำเข้าพลังงานจากการนำเข้าต่างประเทศ เพิ่มความยืดหยุ่นในระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน ท้ังการทําสัญญาซื้อขาย และการนําเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานและการบริหารจัดการแบบกระจายศูนย์มาใช้

5)เตรียมความพร้อมสำหรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากภาคครัวเรือนและ เปิดโอกาสให้บุคคลที่สามสามารถขอใช้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Third Party Access: TPA) ได้อย่างเต็มที่

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์
ทีดีอาร์ไอ ส่อง PDP 2024 เร่งหรือรั้ง?

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน ทีดีอาร์ไอ นำเสนอบทวิเคราะห์ต่อร่างแผนว่าประเด็นด้านบวกในร่างแผนใหม่ พบว่าภาครัฐได้เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดมากขึ้น จากเดิมเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานอยู่ที่ 36% ได้เพิ่มเป็น 51% ภายในปี พ.ศ.2580

แม้จะมีความก้าวหน้าขึ้น แต่จะดีกว่านี้หากผลักดันให้มีการดำเนินการที่รวดเร็วกว่าระยะที่วางไว้ เนื่องจากระหว่างทางไปสู่ปี พ.ศ.2580 มีหลายภาคส่วนต้องการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดค่อนข้างมาก อย่างในปี พ.ศ.2569 (ค.ศ.2026) เป็นปีที่เริ่มบังคับใช้มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนจากยุโรป (CBAM) ย่อมจะเป็นต้นทุนที่มีผลต่อภาคอุตสาหกรรม และภาคส่งออก
“ถ้าเราไม่ใช้พลังงานสะอาดในการผลิตไฟฟ้าเร็วขึ้น แล้วมีการปล่อยคาร์บอนจากการผลิตเกินมาตรฐานที่กำหนดจากยุโรป เราก็ต้องเสียภาษีตามมาตรการ CBAM อีกทั้งความล่าช้าของแผนยังมีโอกาสสูงที่จะกระทบต่อการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น เช่นเวียดนามที่มีการใช้ไฟฟ้าพลังงานมากกว่าไทย”

นอกจากนี้ในร่างแผน ค่อนข้างไม่อัปเดต มีการคาดการณ์ไฟฟ้าสูงเกินจริง และพบว่ายังจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก 8 แห่ง ทว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ไม่ได้เดินเครื่องราวครึ่งหนึ่งมาจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันในแผนมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)สูงขึ้น และการสร้าง LNG เทอร์มินัลเพิ่มเติมซึ่งอาจจะส่งผลต่อต้นทุนและกระทบต่อค่าไฟในที่สุด

ชู 3 ข้อเสนอปรับแผน เร่งเข้าสู่เป้าหมายพลังงานสะอาด

ดร.อารีพร บอกว่าโดยภาพรวมของร่างแผน PDP เป็นตัวรั้งมากกว่าช่วยเร่งให้ไทยรักษามูลค่าทางเศรษฐกิจและความสามารถทางการแข่งขัน รวมถึงการบรรลุเป้าหมายพลังงานสะอาดเพื่อไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net Zero โดยมีข้อเสนอใน 3 ประเด็น

1.ปรับการคาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าใหม่โดยการคาดการณ์ GDP ที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น

2.ใช้ศักยภาพของ Energy technology มากขึ้น โดยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับ energy storage มากขึ้นเนื่องจากต้นทุนลงมากแล้ว รวมถึงการพัฒนาระบบไมโครกริด และ Demand Response

3.ปรับระบบการผลิตและซื้อขายไฟฟ้า โดยการระบุบทบาทการผลิตไฟฟ้าจากภาคเอกชนให้ชัดเจน ระบุการผลิตไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชนให้ชัดเจน อนุมัติระบบ Net Metering หรือปรับราคารับซื้อในระบบ Net Billing และเร่งเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาด


กำลังโหลดความคิดเห็น