“เลือดกำเดาไหลตลอด” ลูกหลานหลายครอบครัวกระทบหนักจากวิกฤต “PM 2.5 พุ่ง” วิเคราะห์เบื้องหลังเหตุผลผู้คนป่วยเพิ่ม “ระบบทางเดินหายใจ” กับการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุดเสียที
“ฝุ่นพิษ” ต้นตออาการป่วย?
PM 2.5 สถานการณ์ฝุ่นที่พบเจอประจำ จนหลายคนเริ่มทำใจและพยายามมองเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่จริงๆ แล้วภัยของฝุ่นพิษเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามได้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อ “เด็กเล็ก” ที่มีให้เห็นชัดขึ้นทุกที
ล่าสุดมีคุณแม่ท่านหนึ่ง ได้แชร์เรื่องราวผ่านโซเชียลฯ เอาไว้ว่า จู่ๆ ลูกของเธอก็มีเลือดกำเดาไหลออกมา พร้อมตั้งขอสังเกตว่า PM 2.5 อาจเป็นต้นเหตุ เพราะเมื่อไหรก็ตามที่ค่า PM 2.5 เพิ่มสูง ลูกของเธอก็จะมีอาการแบบนี้ทุกครั้ง
เพื่อให้ได้คำตอบที่น่าเชื่อถือ ทางทีมข่าวจึงนำขอสงสัยนี้ไปสอบถามกับ รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก และให้ช่วยวิเคราะห์จนได้คำตอบออกมาว่า...
“เกี่ยวกับเลือดกำเดาออก ปกติแล้วเรายังไม่รู้สาเหตุจริงๆ ว่ามันเกิดจากอะไร แต่รู้ว่าจะชอบเป็นในเด็ก แล้วก็เกิดจากเส้นเลือดฝอยต่างๆ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับเวลาที่ไม่สบาย เป็นไข้หวัด เป็นอะไรต่างๆ มันก็จะมาผสมโรงอยู่ด้วย”
แม้จะยังบอกไม่ได้ชัดเจนว่า เป็นเพราะ PM 2.5โดยตรง แต่คุณหมอท่านนี้ก็บอกว่า มันอาจเป็น “ตัวกระตุน”ให้คนที่มีโรคอยู่เดิม อาการหนักขึ้น เพราะฝุ่นพิษเข้าไปรบกวนภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจให้อ่อนแอลง
อย่างคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ สังเกตว่าเมื่อมีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้น คนเหล่าจะมีปัญหาเรื่องคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ เพราะภูมิคุ้มกันถูกฝุ่นเข้าไปรบกวน จึงผลักให้ป่วยมากขึ้นไปอีก
เมื่อถามถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า มีเด็กที่ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เหตุเพราะ “ฝุ่น PM 2.5”มากขึ้นขนาดไหน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญรายเดิมบอกว่า ตอนนี้ยังไม่มีสถิติที่บ่งบอกเฉพาะในเด็ก มีแต่ข้อมูลโดยรวมซึ่งพบว่า หลัง “โควิด-19” มีผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ “ไข้หวัดใหญ่”
“จากการทำงาน แล้วก็การสังเกตของหมอทั่วๆ ไป จะเห็นว่าผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลเพราะโรคทางเดินหายใจ มันเพิ่มขึ้นในปลายปีที่แล้ว แล้วก็ยังมีเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้”
{นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์}
ดังนั้น ช่วงนี้ถ้าจะมีเด็กป่วยเป็น “โรคทางเดินหายใจ” กันบ่อย ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ ใน 3-4 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด ทำให้ต้องใส่หน้ากากเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
เมื่อสถานการณ์วิกฤตโรคทางเดินหายใจผ่อนคลายลง คนก็เริ่มไม่ใส่หน้ากาก ทั้งที่ยังมีเชื้อไข้หวัดลอยอยู่ตามอากาศ และยิ่งผสมกับฝุ่นในปริมาณมาก ทำให้ภูมิคุ้มทางเดินหายใจเราอ่อนแอ ผู้คนจึงป่วยเยอะขึ้น
“PM 2.5”อันตรายต่อ “เด็กเล็ก”
ข้อมูลยืนยันว่า ผลกระทบที่น่ากลัวของ PM 2.5 ส่งผลต่อร่างกาย “เด็กเล็ก” มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเป็นช่วงวัยที่มีภูมิต้านทานยังไม่เติบโตเต็มที่ และอัตราการหายใจของเด็กอายุ 5 ขวบลงไปนั้น เร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้พวกเขาได้รับมลพิษในปริมาณมากกว่า
ท้ายที่สุดจึงส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้ง “โรคระบบทางเดินหายใจ” “หัวใจและหลอดเลือด” รวมถึงพัฒนาการของ “สติปัญญาและระบบประสาท”
จากบทความเรื่อง “เด็กไทย อยู่ในอันตรายแค่ไหนจากฝุ่นPM2.5” ของ “thailandcan.org” ระบุไว้ชัดเจนว่า “โรคทางเดินหายใจ” และ “โรคหลอดเลือดหัวใจ” คืออันตรายที่เด็กต้องเจอเมื่อสัมผัสกับ PM 2.5 เป็นเวลานาน
ที่น่าห่วงคือฝุ่นพิษเหล่านั้น ยังส่งผลต่อ “พัฒนาการของสมองเด็ก” ด้วย เพราะหากเด็กเล็กได้รับPM 2.5อย่างต่อเนื่อง ฝุ่นจะถูกดูดซึมเข้าไปในกระแสเลือด และเข้าสู่ระบบประสาทไปทำลายเซลล์สมอง
ทำให้เกิด “ปัญหาสมาธิสั้น” และมีความเสี่ยงที่เด็กจะ “สติปัญญาด้อยลง”(IQต่ำ) มีพัฒนาการช้า รวมทั้งอาจทำให้ “สมองมีความเสียหายอย่างถาวร”
โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มคนที่อ่อนแออย่างคนที่มี “โรคประจำตัว” และ “เด็กเล็ก” แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่าPM 2.5จะส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวอย่างไรบ้าง เพราะก็ยังไม่มีข้อมูลมากเพียงพอ
“ฝุ่นผงที่จะเข้าสู่ร่างกาย ทำให้มีการเจ็บป่วยมันได้แน่ แต่ผมยังไม่ค่อยเห็นว่า มันส่งผลระยะยาวเป็นอย่างไร แต่เขากำลังศึกษากันอยู่”
เพิกเฉย “ฝุ่นจากอุตสาหกรรม” ต้องทนไปอีก 10 ปี
ปัญหาเรื่อง “ฝุ่นPM 2.5”เป็นสิ่งที่เราพูดกันมานานมากแล้ว คำถามคือ เราจะต้องเจอเรื่องนี้กันอีกกี่ปี “โบนัส”อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซประเทศไทย ตอบคำถามนี้ให้แก่ทีมข่าวได้อย่างน่าสนใจ
“เราก็คงอยู่กันอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป กว่าสถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้น”
โดยเฉพาะปีนี้ที่คนไทยอาจจะต้องเจอสถานการณ์PM 2.5ที่ แล้วร้ายกว่าปีที่แล้วจากการคาดการณ์ที่ว่า ปีนี้เราต้องเจอกับ “ภัยแล้ง” อย่าง “ซุปเปอร์เอลนีโญ”
“มีแนวโน้มว่า ปีนี้เราจะต้องอยู่กับฝุ่นมากขึ้น เพราะงั้นมันก็จะส่งผลต่อคนที่จะป่วยจากPM2.5 มากขึ้นตามไปด้วยค่ะ”
{ "โบนัส" จาก กรีนพีซประเทศไทย }
เราต้องอยู่เผชิญฝุ่นกันไปอย่างน้อย 10 ปีเลยหรือ?นักรณรงค์จากกรีนพีช อธิบายว่า ถ้าดูตัวอย่างประเทศที่จัดการปัญหาเรื่อง “ฝุ่นมลพิษ”อย่างจริงจังเช่นจีน “เขาประกาศเลยค่ะว่า ทำสงครามกับมลพิษทางอากาศ”
โดยออกแผน “Blue Sky Map” มาในปี 2012ที่กำหนดชัดเจนว่า แต่ละปีจะต้องลดมลพิษทางอากาศได้เท่าไหร่ และมีการปิดโรงงานถ่านหิน หรืออุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินขนาดใหญ่ไปเยอะมาก จนGDPของประเทศตกลง ซึ่งทำให้มลพิษทางอากาศลดลงอย่างรวดเร็ว “แต่กว่าจะเห็นผลก็ใช้เวลา 5-10 ปี”
ซึ่งไทยไม่สามารถทำแบบนั้นได้ และการแก้ปัญหานะตอนนี้ เราก็เน้นแต่ฝุ่นจากภาคเกษตร ฝุ่นข้ามพรมแดน รวมถึงฝุ่นจากภาคขนส่ง ซึ่ง “แหล่งกำเนิดพวกนี้จัดการยากและต้องใช้งบมหาศาล”
“ขณะที่เรามีอีกแหล่งหนึ่งที่สำคัญเหมือนกัน แต่เราไม่เห็นการจัดการตรงนี้เลย ทั้งๆ ที่มันแหล่งที่จัดการได้ง่ายกว่า คือภาคอุตสาหกรรม”
โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่มากกว่า20,000–30,000แห่ง แต่เรายังไม่เห็นรัฐเข้าไปจัดการและควบคุมการปล่อยมลพิษอย่างจริงจัง
“เราค่อนข้างมีความเกรงใจ นักลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมากพอสมควร”
ตอนนี้มีเพียงแผนรับมือระยะสั้นอย่าง “ระบบเตือนภัย” และการจำลองสถานการณ์ล่วงหน้าของ “กรมอุตุนิยมวิทยา” เท่านั้นเอง ซึ่งยังไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนของการแก้ปัญหาPM 2.5
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : www.medi.co.th,เฟซบุ๊ก “Pam Krairiksh”และแฟนเพจ “Drama-addict”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **