รายงานพิเศษ
“ระยอง เป็นจังหวัดที่มีมติคณะรัฐมนตรีในการจัดการปัญหามลพิษมากที่สุด ทั้งยังมีประกาศให้บางพื้นที่เป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งกว่าจะได้มาซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาแต่ละครั้ง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องออกมาต่อสู้เรียกร้องด้วยตัวเองทุกครั้ง แต่มาจนถึงวันนี้ เราก็พบว่ามลพิษยังไม่ได้ลดลงไปเลย และอุตสาหกรรมต่างๆก็ยังขยายตัวออกไปอีกมาก แต่รัฐบาลชุดที่ผ่านมากลับมีความจะยกเลิกการประกาศเขตควบคุมมลพิษ”
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยกตัวอย่างปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นใน จ.ระยอง ในการสัมมนาเรื่อง “มลพิษอากาศกับผลกระทบทางสุขภาพจังหวัดระยอง และความจำเป็นต้องมีกฎหมาย PRTR” เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 โดยชี้ให้เห็นว่า ระยอง เป็นพื้นที่ที่สามารถชี้วัดประสิทธิภาพในการจัดการปัญหามลพิษของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมหลายชนิดทั้งในและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเป็นพื้นที่สำคัญที่ทำให้เกิดกากของเสียอันตรายจำนวนมากที่ถูกส่งไปลักลอบทิ้งในหลายพื้นที่ ซึ่งปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องรวมตัวกันออกมาต่อสู้เพื่อให้รัฐเข้ามาควบคุมการปล่อยมลพิษ
แต่ในช่วงการบริหารงานของรัฐบาลที่ผ่านมาประกอบกับการเกิดขึ้นของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้มีความพยายามหลายครั้งที่จะประกาศยกเลิกพื้นที่ จ.ระยอง ออกจากการเป็นเขตควบคุมมลพิษ ผู้อำนายการมูลนิธิบูรณะนิเวศ จึงเปิดเผยว่า ระยองยังเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยการปนเปื้อนมลพิษ เกิดอุบัติเหตุทางเคมีบ่อยครั้ง พบการปนเปื้อนทั้งในแหล่งน้ำ น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และจากการเก็บตัวอย่างของหลายหน่วยงานตลอดหลายปีที่ผ่านมายังพบค่าของสารอินทรีย์เหยง่าย (VOCs) สูงเกินมาตรฐาน
“ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่รัฐบาลกำลังจะขอประกาศยกเลิก จ.ระยอง ออกจากการเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่กลับไม่เคยมีกระบวนการหรือความพยายามในการแก้ปัญหามลพิษในพื้นที่เลย เพราะที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนด้วยซ้ำว่ามลพิษที่เกิดขึ้นมาจากแหล่งกำเนิดใดบ้าง” เพ็ญโฉม กล่าว
รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นข้อมูลทางวิชาการ ว่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มีปัญหาเรื่องมลพิษมาตั้งแต่ปี 2541 จนประชาชนออกมาต่อสู้เรียกร้องในปี 2550 จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน จ.ระยอง ก็ยังไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษให้ครอบคลุมทุกพื้นที่และที่สำคัญยังพบว่า แม้จะมีบางพื้นที่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ แต่ยังคงมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมเดิมๆ ซึ่งสวนทางกับการทำงานทางกฎหมายของรัฐที่จะหยุดยั้งมลพิษ
“สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐต้องทำ คือ ต้องทำตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 ซึ่งในส่วนที่ 3 เรื่องเขตควบคุมมลพิษ มาตรา 60 เขาระบุไว้ตั้งแต่ในข้อ 1 ว่า รัฐจะต้องทำการสำรวจ และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของมลพิษ... จากนั้นจึงนำไปจัดทำบัญชี แสดงจำนวน แยกประเภท ขนาดของแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อประเมิน วิเคราะห์ หาวิธีกำหนดมาตราการที่เหมาะสมในการแก้ไข ... ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐ ไม่ได้ทำตั้งแต่ข้อแรกเลย คือ ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนของแหล่งกำเนิดมลพิษด้วยซ้ำ
เวลาเราวิเคราะห์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ เราก็ต้องไปดู HOTSPOT ว่า ไฟไหม้มันเกิดที่ไหนบ้าง จะได้เลือกวิธีการแก้ไขได้ถูกจุด แต่กับปัญหามลพิษจากภาคอุตสาหกรรม เราแทบไม่รู้เลยว่า แหล่งต้นกำเนิดของมลพิษอยู่ที่ไหน เพราะเวลาเราตรวจเจอว่า พื้นที่ไหนมีค่ามลพิษเกินค่ามาตรฐาน เราก็บอกได้ว่า เจอค่านั้นที่สถานีตรวจวัดสถานีไหน แต่บอกไม่ได้ว่า แหล่งกำเนิดมลพิษมาจากไหน เราก็ไปดำเนินการทางกฎหมายต่อไม่ได้” รศ.ดร.เรณู กล่าว
เมื่อชี้ให้เห็นปัญหาใหญ่แล้วว่า ประเทศไทย สาเหตุที่ประเทศไทยยังไม่สามีรถจัดการควบคุมการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมได้ดี เป็นเพราะไทยไม่เคยมีข้อมูลที่สามารถระบุถึง “แหล่งกำเนิดมลพิษ” ได้ ดังนั้นมูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีชเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จึงขอเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาผ่าน “ร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ (PRTR)” แทนการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งหากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้ข่อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารพิษทุกชนิดของทุกโรงงาน จะต้องถูกเปิดเผยสู่สาธารณะให้ประชาชนสามารถมองเห็นข้อมูลได้เท่ากับหน่วยงานรัฐและจะง่ายต่อการจัดการแก้ไขปัญหา
“เราเคยสอบถามความเห็นจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบหากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ แต่ก็พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ เห็นด้วยที่จะให้มีกฎหมาย PRTR แม้ว่าผู้ประกอบการจะต้องลงทุนเพิ่มในช่วงเริ่มต้นเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่พวกเขาก็เชื่อว่า มันจะส่งผลดีกว่าต่อองค์กรในระยะยาว ทั้งในเชิงภาพลักษณ์องค์กรที่จะต้องติดต่อการค้ากับต่างประเทศ ความสัมพันธ์กับชุมชน รวมทั้งการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐที่จะลดทอนความยุ่งยากซับซ้อนลงไปได้มากเมื่อข้อมูลถูกเปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้ว” ผู้อำนายการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าว
ผลักดันร่างกฎหมาย PRTR เข้าสู่สภาฯ หวังรัฐบาลใหม่ ให้ความสำคัญกับเสียง “ผู้ได้รับผลกระทบ”
“วันที่ 24 มิถุนายน 2564 กฎหมาย PRTR ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัดตกออกไปจากสารบบของสภาฯ เพราะถูกตีความว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน อำนาจจึงไปอยู่ที่นายกรัฐมนตรีว่าจะส่งเข้าบรรจุเป็นวาระการพิจารณาหรือไม่ ซึ่งจริงๆแล้ว เราก็ยอมรับว่า กฎหมาย PRTR เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินจริง แต่มันมีความสำคัญที่ควรจะต้องตราเป็นกฎหมายให้มีผลบังคับใช้”
สุภาภรณ์ มาลัยลอย นักกฎหมาย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ยกความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมาย PRTR เพราะการที่สาธารณชนไม่รับรู้ข้อมูลการปล่อยมลพิษ ส่งผลเสียอย่างมากต่อการจัดการปัญหามลพิษ เช่น เมื่อประชาชนร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากมลพิษ หน่วยงานรัฐก็ไปวัดค่าการปล่อยมลพิษแต่ละปล่องแบบแยกส่วน ซึ่งก็จะได้ค่าที่แต่ละปล่องไม่เกินค่ามาตรฐาน ทั้งที่เมื่อรวมกันแล้วอาจจะเกิดค่ามาตรฐาน หรือแม้แต่กรณีเกิดภัยพิบัติร้ายแรงในโรงงานต่างๆ เช่น ไฟไหม้ ถังสารเคมีระเบิด ก็มีบ่อยครั้งที่เกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย เพราะไม่มีข้อมูลที่ตรวจสอบได้ ณ เวลานั้น ว่ามีสารเคมีอยู่ในที่เกิดเหตุอีกมากน้อยเท่าไหร่ ดังนั้น กฎหมาย PRTR คือ เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ และภาครัฐก็จะมีแหล่งข้อมูลที่สำคัญว่า ที่ดบ้าง เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องเข้าไปจัดการ
“กฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) คือ กฎหมายที่กำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยลัเคลื่อนย้ายสารมลพิษ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน ทั้งชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือมลพิษที่มีการปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียหรือของเสียที่มีสารเคมีหรือมลพิษออกจากแหล่งกำเนิดเพื่อไปบำบัดหรือกำจัดด้วย ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกที่ใช้กฎหมายนี้แล้ว เพราะพบว่า นี่เป็นกฎหมายที่สามารถช่วยปกป้องสิทธิชุมชน สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลมลพิษใกล้ตัว และยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยกจากผลกระทบต่างๆได้ รวมถึงยังช่วยให้หน่ววยงานรัฐมีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินสถานการณ์มลพิษและสามารถใช้เพื่อการวางแผนแก้ปัญหาในระยะยาวได้ด้วย แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทยยังไม่มี” สุภาภรณ์ กล่าว
หลังถูกนายกรัฐมนตรี ปัดตกไปเมื่อกลางปี 2564 พวกเราก็เริ่มยื่นร่างกฎหมาย PRTR เข้าไปใหม่เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 และอยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนกฎหมายนี้ให้ครบ 1 หมื่นรายชื่อ ซึ่งหากครบแล้วจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น วิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายก่อนจะถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม จากนั้นเราก็จะรอผลการพิจารณาของสภาฯ ซึ่งเราเชื่อว่า รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง มีแนวโน้มที่จะผลักดันกฎหมายฉบับนี้”
ในเวทีสัมมนาที่ อ.เมือง จ.ระยอง ยังมี ส.ส.และอดีต ส.ส.ในพื้นที่ภาคตะวันออกจากพรรคก้าวไกล เข้ามาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นด้วย โดยยืนยันว่า ร่างกฎหมาย PRTR เป็นหนึ่งในกฎหมายที่พรรคก้าวไกลจะผลักดันทันทีหากได้เป็นรัฐบาล และเวทีนี้ยังมีกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมจากหลายพื้นที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ทั้งประชาชนที่มาบตาพุด ประชาชนชุมชนบ้านแลง - เชิงเนิน – ตะพง เครือข่ายประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนันรั่วในทะเล 2 ครั้งในรอบ 10 ปี
รวมถึงกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย ซึ่งทุกกลุ่มแสดงความเห็นสนับสนุนให้มีกฎหมาย PRTR แต่ในขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนด้วยว่า จะให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและชุมชนไม่น้อยไปกว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรม เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีทั้งกฎหมาย มีประกาศเขตควบคุมมลพิษ มีมติคณะรัฐมนตรีมากมาย แต่ปัญหามลพิษก็มักจะถูกแก้ไขแบบเฉพาะหน้าเท่านั้น โดยมีอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้งเสมอมา