xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปากเจ้าของธุรกิจ เสียหายหลักล้าน!! ขอทิศทางชัดเจน เลิกเล่นขายของกับ “กัญชาเสรี” [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเอง-ปิดเอง กับนโยบาย “กัญชาเสรี” ที่ไม่เคยชัดเจนอะไร!! นี่ “กฎหมาย” นะ ไม่ใช่เล่นขายของ คนลงทุนทำธุรกิจไปแล้ว เสียหายหลายล้าน อยากขอแนวทางให้ชัดเจนว่า จะให้ทำยังไง?





“เสรี” 2 ปี ไม่คิดว่าจะสู่จุดเดิม

นี่จะเป็นจุดจบของ “สายเขียว” หรือเปล่า เมื่อรัฐบาลเห็นชอบ คืนสถานะให้ "กัญชา" กลับเป็น “ยาเสพติด” ประเภท 5 อีกครั้ง โดยจะมีผลบังคับใช้ใน “วันที่ 1 ม.ค.2568”
 นโยบาย “เสรีกัญชา” จริงๆ แล้วเป็นที่ถกเถียงกันตลอด 2 ปีที่มีการเปิดเสรี ซึ่งการผลักให้มันกลับไปอยู่ที่เดิม หลายคนบอกว่า “ดีแล้ว” เพราะไม่เคยเห็นดีเห็นงามกับเรื่องนี้

ย้ำว่าวันนี้ไม่ได้มาชวนคุยเรื่อง “ข้อดี-ข้อเสีย” จาก “กัญชา” แต่เมื่อวันหนึ่งที่รัฐบอกว่า “สิ่งนี้ถูกกฎหมาย” ประกาศบอกประชาชนว่า “กัญชา” จะเป็น “พืชเศรษฐกิจ” ตัวใหม่ของไทย ก็ทำให้เกิดฟาร์ม คาเฟ่ หรือธุรกิจสายเขียวมากมายผุดขึ้นมา


แต่วันข้างหน้า ถ้ามันกลับไป “ผิดกฎหมาย”เหมือนก่อนหน้าธุรกิจเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมาจะเป็นยังไง เดือดร้อนและขาดทุนแค่ไหน?
คงไม่มีใครสะท้อนเรื่องนี้ได้ดีไปกว่าคนทำฟาร์มกัญชาอย่าง “แบงค์” สาธุพล ช่วงฉุนเจ้าของ “พนมทวน ออแกนิค ฟาร์ม” ที่พูดแทนคนทำธุรกิจสายนี้ว่า หลายๆ คนก็ยังไม่รู้ว่า อนาคตจะเป็นยังไงต่อเหมือนกัน

“สำหรับตัวกฎหมายที่จะเปลี่ยนตอนมกราคม 68 เนี่ย เรายังไม่รู้รายละเอียดเนอะ ว่าท้ายที่สุด ขอบเขตมันจะคืออะไรบ้าง”

ตั้งแต่การปล่อย “เสรีกัญชา” นับวันเวลาถึงตอนนี้ก็ร่วม “2 ปีกว่าแล้ว ที่กัญชาปลดล็อก 100%”ในมุมของคนทำธุรกิจ ด้วยเวลาที่ผ่านมานานขนาดนี้ แทบไม่มีใครคิดว่า มันจะกลับไปเป็น“ยาเสพติด”เหมือนเดิม

“ถ้ารัฐบาลไม่ให้ทำธุรกิจเนี่ย เจ๊งอยู่แล้วแน่นอน มันก็ไม่มีทางออกอื่น ถ้าเป็นยาเสพติด คือคุณปลูกได้ แต่คุณขายไม่ได้ คุณพกครอบครองออกไปไม่ได้ ตำรวจจับคุณแน่ แล้วจะทำธุรกิจกันยังไง ใช่ไหมครับ”

                                                        {“แบงค์” เจ้าของ “พนมทวน ออแกนิค ฟาร์ม”}

ถ้ากลับไปเป็นยาเสพติด ความเสียหายนั้น "มหาศาล” เพราะในธุรกิจการอย่าง “ฟาร์ม” มีการลงทุน “หลายล้าน” ยกตัวอย่างฟาร์มของ “แบงค์” เอง “ลงทุนเกิน 100 ล้านบาท”

ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าต้องการคุณภาพ อุณหภูมิ ไฟ ความชื้น ต้องถูกควบคุมอย่างดี และสิ่งเหล่านี้จึงกลายมาเป็น “ต้นทุน” ทั้งหมด

“ในเมื่อมันฟรีไปแล้วนะครับ แล้วคุณเอากลับไปล็อกใหม่ มันมีผู้ได้รับผลกระทบ จริงๆ แล้วคนได้รับผลกระทบ ท้ายที่สุดก็แค่คนกลุ่มนึง คุณก็อาจลืมๆ มันไป เขาเสียหายไปแล้ว เจ๊งไปแล้ว ก็ช่างมันไป”

ในมุมมองของคนทำธุรกิจ แทบจะอยากสื่อสารว่า เรื่องนี้ “ไม่ใช่การเล่นขายของ” ที่นึกจะทำก็ทำ นึกจะเลิกก็เลิก มันเกี่ยวข้องกับ “กฎหมาย” ที่คนหลายล้านคนต้องทำตาม ไหนจะคนที่เสียหาย ลงทุนไปแล้ว อย่าลืมว่ารัฐเป็นคนประกาศเองว่า “กัญชาเสรี”



จะกลับไปก็ได้ แต่ขอให้ชัดเจน

“ความไม่ชัดเจน” คือปัญหาที่มีมาตั้งแต่การปล่อยเสรี โดยไม่มีกรอบในการควบคุม “แบงค์” บอกว่า “กัญชาเพื่อเศรษฐกิจและการแพทย์” ที่เคยรัฐโปรโมตเอง รัฐยังบอกไม่ได้เลยว่า “มันต้องทำแบบไหน”

“คือเราในฐานะผู้ประกอบการนะครับ ถ้าคุณปลดล็อกมันแล้ว คุณปลดให้มันขายได้ตามปกติเนี่ย ตอนนี้เวลา 2 ปีที่ผ่านมาเนี่ย มันควรจะไม่มีทำถามเรื่องพวกนี้ถูกไหมครับ”

ไหนจะเรื่อง “การควบคุม” ที่ทุกวันนี้เรื่องง่ายๆ อย่าง “อายุ” ก็ยังไม่มีการระบุให้ชัดว่า ต้องมีขอบเขตช่วงวัยเท่าไหร่ ถึงจะ “ครอบครอง” หรือ “เสพ” ได้ ที่ตลกร้ายยิ่งกว่านั้นคือ ที่ผ่านมา “มีแต่ผู้ประกอบการที่พยายามมาควบคุมกันเอง”
“การควบคุม ร้านกัญชาก็ควบคุมกันเอง ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีกฎหมายชัดเจนว่า ไม่ควรจำหน่ายแก่เด็ก”


นี่คือความย้อนแย้ง เมื่อกลุ่มผู้ครอบครองธุรกิจกัญขา กลุ่มคนที่กำลังถูกคนในสังคมหลายคนก่นด่าว่า “สร้างปัญหา” ทำให้เด็กเสพติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง กลับเป็นกลุ่มคนที่พยายามจัดการปัญหาของตัวเอง ส่วนตัวต้นเรื่องอย่าง “ภาครัฐ” กลับตีมึนปล่อยเกียร์ว่างต่อไป



ย้ำชัดว่า สาเหตุที่ทำให้เรื่องของ “กัญชา” เป็นปัญหาทุกวันนี้ อย่างแรกคือ “ความไม่ชัดเจน” ว่าสรุปรัฐบาลต้องการทำยังไงกับธุรกิจนี้ อย่างต่อมาคือ “การปล่อยเสรีโดยไม่มีกฎควบคุม” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

“รัฐยังงงอยู่เลยว่า แล้วควบคุมทำแบบไหน” เทียบกับประเทศที่เสรีกัญชาได้อย่าง“เยอรมัน” เขาจะมีข้อกำหนดเลยว่า ต้องมีอายุเท่าไหร่ และแต่ละคนจะพกพาได้ไม่เกินกี่กรัม

“ก็เหมือนกับเหล้าอะครับ เพราะผลสุดท้ายแล้วเนี่ย คุณควบคุมอายุ ผับ-บาร์ โอเคมันอาจจะมีคนที่แหกกฎบ้าง ก็จับ แต่มันต้องมีกรอบก่อน”

ข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบการอย่าง “แบงค์” คือ คนที่ทำธุรกิจนี้ พวกเขาไม่ได้หวังเงินเยียวยา ไม่มีใครอยากได้เงิน 1 ก้อน แล้วก็จบกันไป พวกเขาอยากรู้ว่า “อนาคตของธุรกิจนี้ในมือของรัฐ จะเป็นยังไงต่อ”

“ต่อให้จะกลับไปเป็นยาเสพติด คุณก็ต้องเขียนให้ชัดเจนว่า สำหรับผู้ประกอบการที่ขอใบอนุญาตได้ หรือว่าทำไปแล้วเนี่ย เราควรจะได้ทำธุรกิจต่อในรูปแบบไหน”



รัฐต้องอธิบายว่า “เศรษฐกิจเพื่อการแพทย์” มันคืออะไร และที่บอกว่าต่อจากนี้ “ใครจะปลูกต้องขออนุญาต” แล้วหลักเกณฑ์มันจะเป็นธรรมหรือเปล่า ช่องทางในการขายจะเป็นแบบไหน

จากวันนี้ ถึงวันที่ 1 ม.ค.2568 นับรวมเวลาแค่ 5 เดือนกว่าๆ ที่กัญชากำลังจะ “ผิดกฎหมาย”ถือว่าเป็นระยะเวลาที่น้อยมาก สำหรับการเตรียมปรับตัวของเหล่าผู้ประกอบการ
 ระยะเวลาที่สั้นแบบนี้ มันไม่ใช่แค่บอกว่า “ผมจะจับมันกลับเป็นยาเสพติด” แล้วหน้าที่คุณก็จบแค่นั้น เจ้าของฟาร์มกัญชา ขอพูดแทนคนทำธุรกิจสายเขียวว่า...

“ผู้ประกอบการอย่างเรา ที่เราทำธุรกิจไปแล้วเนี่ย เงินเยียวยาไม่ใช่ประเด็น เราขอความชัดเจน ในเรื่องการขอใบอนุญาตที่ยุติธรรม และการขายทางการแพทย์ที่ชัดเจน เขาควรออกมาได้แล้ว”







ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





@livestyle.official ...ไม่ได้มาชวนคุยเรื่อง “ข้อดี-ข้อเสีย” จาก “กัญชา” แต่ถ้าวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า จะกลับไป “ผิดกฎหมาย” เจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะซวยแค่ไหน... . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #ธุรกิจสายเขียว #ผู้ประกอบการ #ธุรกิจ ♬ original sound - LIVE Style


เรื่อง : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : นลธวัช กาญจนสุวรรณ์
ขอบคุณภาพและข้อมูล : Facebook "พนมทวนฟาร์ม"



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น