xs
xsm
sm
md
lg

“กัญชาเสรี" ต้องไปต่อวอนจบสุญญากาศ เร่งสร้างศักยภาพกัญชาไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวคุณภาพชีวิต



ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรง นับตั้งแต่มีการ ‘ปลดล็อกกัญชา’ ออกจากบัญชียาเสพติดเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 จนถึงตอนนี้ ประเทศไทยก็ยังอยู่ในภาวะ ‘สุญญากาศ’ ด้านการควบคุมกัญชา จนหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการโจมตีทางการเมือง ซึ่งเรื่องนี้มีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่าง

อย่างไรก็ตามข้อกังวลและความสับสนที่ยังไม่ได้ข้อสรุป จำเป็นอย่างยิ่งที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ…. ต้องเร่งออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์อย่างรอบคอบ รวดเร็ว ที่สุด เพราะนอกจากการออกกฎหมาย การเร่งสร้างความเข้าใจถึงขอบเขตนโยบายเสรีกัญชาที่ชัดเจนในสังคมแล้ว อีกด้านหนึ่งคือการให้ความชัดเจนกับประชาชนและผู้ประกอบการ ที่ลงทุนใน “ธุรกิจกัญชา” ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ในงาน SMEs HERO TALK จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 ธันวาคมที่ผ่านมา นายธวัช จรุงพิรวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชน Thai Herb Centers ซึ่งได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “SMEs ธุรกิจกัญชา สมุนไพรไทย ไปต่อได้อย่างไร” กล่าวว่า เมื่อพูดถึงกฎหมายสำคัญที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสภาผู้แทนฯ คือ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง นั้นเป็นกุญแจดอกสำคัญในการหาทางออกให้กับปัญหาการใช้กัญชา รวมถึงจะเป็นการหาทางออกให้กับผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายใหญ่ เช่นเดียวกับวิสาหกิจชุมชนที่มีการปลูก แปรรูป และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็มีความจำเป็นที่จะได้ข้อสรุปของกฎหมายเพื่อความชัดเจนเช่นกัน

“ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเดินหน้าต่อเพราะขณะนี้ 69 ประเทศกำลังจะเปิดเสรีกัญชา แต่เรายังอยู่ในวังวนการเมือง เนื่องจากมีผู้ได้ และผู้เสียผลประโยชน์ เราจำเป็นต้องผลักดันกฎหมายออกมาให้เป็นรูปธรรม เราต้องเดินหน้าต่อ อย่าลืมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่สามารถนำ ใบ กิ่ง ราก ลำต้น มาแปรรูป เอามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อบำบัดรักษาโรค ทั้งคนและสัตว์ พัฒนาเป็นเครื่องสำอาง เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แต่เรายังไม่ก้าวไปถึงไหน ตอนนี้ทางภาครัฐควรสนับสนุนเรื่องการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับการพัฒนากัญชาของไทย ไม่เช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับข้าวหอมมะลิ หรือเรื่องอื่นๆ ที่เป็นของเราแต่ในที่สุดก็กลายไปเป็นของคนอื่น”

นายธวัชกล่าวต่อไปว่า กัญชาหางกระรอกของไทย ส่งขายตั้งแต่รัชกาลที่ 6 เพราะดีที่สุดในโลก โดยในปี พ.ศ. 2453 หรือกว่า 100 ปีมาแล้ว ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ได้เขียนในหนังสือตำรับอาหารว่าใช้ใบกัญชาดั่งเช่นใบกะเพรา การใช้กิ่ง ก้าน ใบ ราก ลำต้น จึงเป็นภูมิปัญญาของไทยที่มหัศจรรย์มาก และในตอนนี้วิสาหกิจชุมชน ภาครัฐ เอกชน ก็ได้พยายามพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์กัญชาขึ้นมาเพื่อบำบัดรักษาสุขภาพ ซึ่งคาดว่า แนวโน้มของความต้องการกัญชาโลก ในตลาดจะพุ่งสูงขึ้นไม่หยุด โดยในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 1.039 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์มีสัดส่วนราว 60% และอีก 40% เป็นตลาดกัญชาเพื่อการสันทนาการ ซึ่งหากประเทศไทยมีการผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และมีการจำหน่ายในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ของไทย น่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 7,000 – 10,000 ล้านบาท

“วิสาหกิจชุมชน Thai Herb Centers มีความตั้งใจทั้งในเรื่องการปลูกกัญชาทางการแพทย์ การแปรรูป และการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ยาดม ยาหม่อง ยานวด น้ำผึ้งรากกัญชา ลูกประคบ ฯลฯ โดยสินค้าทุกชนิดต้องผ่าน อย. นอกจากนี้เรายังมีการอบรมการปลูกกัญชาทางการแพทย์มากว่า 60 รุ่น โดยมุ่งเน้นในเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ สำหรับการปลูกจะปลูกในร่ม ซึ่งบ้านเราการปลูกนั้นพัฒนาไปเร็วมาก แต่เราจะแข่งขันกันอย่างไรให้ช่อดอกมีคุณภาพที่ดีที่สุดเพื่อนำมาใช้ในทางการแพทย์และเพื่อสุขภาพ”

นายธวัช กล่าวในตอนท้ายว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยมีการต้อนรับนักท่องเที่ยวครบ 10 ล้านคน ปฏิเสธไม่ได้ว่านักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งเดินทางเข้ามาเพื่อ “สันทนาการ” ซึ่งหากไม่มีการควบคุมหรือมีกฎหมายที่ชัดเจนนี่จะเป็นข้อเสีย เมื่อมองภาพรวมเราเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปลดล็อกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้ ขณะนี้ ทั้งอินโดนีเซีย และมาเลเซีย กำลังเร่งศึกษาเรื่องปลดล็อกเช่นกัน หากเรายังไม่รีบก้าวต่อไป ภาครัฐยังไม่เข้ามาสนับสนุนในมิติของกัญชากับเศรษฐกิจอย่างจริงจัง รวมทั้งการเร่งออกกฎหมายมาควบคุม ในอนาคตเราอาจจะตามหลังประเทศเพื่อนบ้านที่ตามมาติดๆ














กำลังโหลดความคิดเห็น