xs
xsm
sm
md
lg

ดัน “ไหว้” เอกลักษณ์ประจำชาติแล้วไง? ดึงให้เที่ยวแค่ไหน ประเทศอื่นก็มี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โทษ นะครับ ปชช. ได้อะไร” เมื่อ ครม. เห็นชอบให้ “การไหว้” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ คนถามแล้วไงต่อ? กูรูบอกที่อื่นเขามีแผนต่อยอด ไทยคิดถึงขั้นนั้นหรือเปล่า นักประวัติศาสตร์ถาม ไหว้ไทย ต่างกับชาติอื่นยังไง?

“ไหว้” เอกลักษณ์ไทย “แล้วไงต่อ?”

“ไทยแลนด์” แดนมารยาทงาม เมื่อ “คารม พลพรกลาง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบการกำหนดให้ “การไหว้” เป็น “เอกลักษณ์ประจำชาติ” ประเภทการทักทายและการแสดงความเคารพแบบไทย

ส่งให้ชาวโซเชียลฯ ต่างออกมาแสดงความภูมิใจปนประชด ถึงการค้นพบครั้งใหญ่ของรัฐบาลที่ว่า “การไหว้” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ ด้วยคำพูดที่ว่า “แล้วไงต่อ?” บ้างก็ตั้งคำถามว่า “โทษนะครับ ประชาชนได้อะไรกับการเห็นชอบของ ครม. เรื่องนี้”



หนักกว่านั้น ตั้งคำถามแกมประชดอีกว่า นี่คือSoft Powerที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนเลย “Soft Powerมากๆ สิ่งใหม่สิ่งนี้รัฐบาลเพื่อไทยคิดขึ้นมาใหม่ ไม่เคยมีใครทำมาก่อนเลยครับ”

ชวนคุยกับ “ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน” ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ให้ช่วยวิเคราะห์ว่า ประเทศอื่นเขาต่อยอดจาก “เอกลักษณ์ประจำชาติ” กันยังไงบ้าง เผื่อผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะมองเห็นอะไรได้มากขึ้น

“ประเด็นปัญหาคือว่า เวลากำหนดแล้ว เวลาวางเอาไว้เนี่ย คนวางต้องการimpactอะไรให้เกิดขึ้น ดาบ 2 คืออะไร ดาบ 3 คืออะไร การไหว้เนี่ย จะนำมาสู่วัฒนธรรมอย่างอื่นอีกไหม”

“ดร.ไพบูลย์”ยกเคสของเกาหลี ประเทศที่ส่งออกวัฒนธรรมของตัวเอง ให้ติดอับดับโลกได้ว่า เวลารัฐบาลเกาหลีกำหนดอัตลักษณ์ขึ้นมา ส่วนใหญ่มันจะนำไปสู่ประเพณี และประเพณีก็จะพาไปสู่ “การท่องเที่ยว”

“แต่ผมไม่แน่ใจว่าของเราเนี่ย เรามองไปถึงขั้นนั้นหรือเปล่า หรือว่าเรามองแค่ขั้นแรกอย่างเดียว ก็คือสร้างความภาคภูมิใจให้แค่นั้นเอง แล้วก็ใครจะใช้ก็นำไปใช้”

                                      {“ดร.ไพบูลย์”สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ม.ธรรมศาสตร์}

“การไหว้ของเรา มันกว้างไปนิดนึง” การกำหนดเอกลักษณ์ของเกาหลี “รัฐบาลไม่ได้กำหนดแค่ฝ่ายเดียว” คืออัตลักษณ์มีทั้งระดับชาติ ลงไปถึงระดับภูมิภาค และจังหวัด

เมื่อรัฐคิดแล้วว่า เอกลักษณ์ที่กำหนดจะพาไปสู่วัฒนธรรม หรือประเพณีอะไร ทำให้ภาคเอกชนและองค์กรท้องถิ่น สามารถส่งเสริมผลักดันได้อย่างเป็นรูปธรรม
 
“ถ้าคุณอยากรู้จักวัฒนธรรมแบบนี้ ก็ให้คุณมาเที่ยวได้ที่งานนี้ และก็นำไปสู่การท่องเที่ยวต่อไป”

อย่างไรก็ตาม กูรูมองว่า “การไหว้” ยังไม่มีพลังพอในการผลักดันให้เกิดSoft Powerทำได้แค่ให้คนนึกถึงบ้านเรา เวลาเห็นการไหว้ปรากฎขึ้น นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้น เมื่อเราไม่ใส่เรื่องราวให้กับมัน

“ดร.ไพบูลย์” กูรูด้าน Soft Power สมมติให้ฟังว่า ถ้านำเสนอการไหว้ว่า มันคือการให้เกียรติกันของคนไทย หากคุณทำแบบนี้ คนไทยจะดูแลคุณเป็นอย่างดี เหมือนคนในครอบครัว “ถ้าไม่เชื่อมาที่หมู่บ้านเราสิ”

มันก็จะเกิดการท่องเที่ยว สินค้าต่างๆ ก็จะขายได้ ไม่ควรจบแค่การกำหนดให้ “การไหว้” เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ มันควรมีการต่อยอดไปต่อ “การไหว้มันคือ the begin to something”



เหมารวม “วัฒนธรรมร่วม” เป็นเอกลักษณ์ตัวเองไม่ได้!!

“ผมคิดว่าน่าจะเป็นการต้องการตอกตะปูไปเลยว่า เอาล่ะ เราต้องการใช้ตรงนี้เป็นเอกลักษณ์ นำหน้าคนอื่นไปเลย คนอื่นก็อาจะลำบากที่จะเอาไปใช้ หมายถึงประเทศอื่นนะครับ”

คำวิเคราะห์กูรูจากสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษารายเดิมมองเอาไว้แบบนั้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ “สมฤทธิ์ ลือชัย”นักวิชาการอิสระ ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ให้ความเห็นกับทีมข่าวไว้ ด้วยการเทียบให้เห็นพฤติกรรมแห่ง “การช่วงชิง”

ทำความเข้าใจกันก่อนว่า “การไหว้”ไม่ได้มีแค่ไทยที่เดียว “การไหว้” หรือ “อัญชลี” เป็นอิทธิพลมาจาก “อินเดีย” ทำให้ประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอินเดียและศาสนาพุทธ อย่างแถบบ้านเราก็ได้รับวัฒนธรรมนี้เข้ามาด้วย

“ผมคิดว่าการเอาไหว้มาเป็นเอกลักษณ์เนี่ย มันไม่น่าจะถูก คือมันจะเป็นของไทยอย่างเดียวไม่ได้เข้าใจไหม เพราะมันเป็นสิ่งที่ภาษาวิชาการเขาเรียกว่า วัฒนธรรมร่วม”

                                         {“สมฤทธิ์” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม}

“คารม พลพรกลาง” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้การไหว้ ในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะได้รับอิทธิพลมาจาก ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพุทธ แต่บ้านเราก็มีการเอาปรับพัฒนา จนเป็น “เอกลักษณ์” “สมฤทธิ์” ตั้งคำถามว่า “จริงหรือ?”

“คุณจะมีไหว้แบบไทย ไหว้แบบลาว ไหว้แบบเขมร จริงเหรอ คุณสร้างความแตกต่างได้เหรอ เรากำลังบอกว่า ไหว้แบบอื่นมันไม่อ่อนน้อม ผมคิดว่า ไหว้คือไหว้ เพียงแต่ว่าเรากำลังจะช่วงชิงวัฒนธรรมแบบนี้ เอามาเป็นวัฒนธรรมไทย”

เราควรถอดแว่นความเป็น “รัฐชาติ” ออก และมองเรื่อง “วัฒนธรรม” อย่างเข้าใจว่ามันคือสิ่งที่คนในแถบนี้ใช้ร่วมกันมา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ที่เรามักทะเลาะกับเพื่อนบ้านว่า วัฒนธรรมนี้ เป็นของใครกันแน่
 


“ผมคิดว่าเป็นความไม่เข้าใจวัฒนธรรมของราชการไทย และพยายามที่จะช่วงชิง ในที่สุดมันจะมีความแตกแยก”

การอยากสร้าง “เอกลักษณ์” หรือ “อัตลักษณ์” ที่บอกถึงความเป็นไทย มีอีกตั้งหลายอย่าง เช่น ดนตรีไทยนาฏศิลป์ไทย ที่สามารถแยกแยะความแตกระหว่างของเรา กับประเทศเพื่อนบ้านได้ชัดเจนว่า นี้เป็นของเราจริงๆ หากคิดจะทำ

ต่างกับการไหว้ ที่เราจะสร้างความแตกกับคนที่ใช้วัฒนธรรมนี้ร่วมกับเราได้อย่างไร สรุปง่ายๆ คือไม่เห็นด้วยกับการที่จะบอกว่า “การไหว้เป็นของไทยชาติเดียว” โดยได้ฝากประโยคเตือนใจผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราไว้ว่า...

“ไหว้เป็นวัฒนธรรมร่วม ไม่ใช่วัฒนธรรมเรา”

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Somrit Luechai” , www.lib.ru.ac.th ,www.wallstreetenglish.in.th ,ikidane-nippon.com



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น