xs
xsm
sm
md
lg

เทียบพลัง จีน-สหรัฐฯ ใครเหนือกว่าในศึกชิงไต้หวัน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"รศ.ดร.ดุลยภาค" เชื่อจีนยังไม่รวมชาติไต้หวันเร็วๆ นี้ หนุนไทยยังไม่ต้องเลือกข้าง ชี้กองทัพอากาศจีน-ไทยร่วมซ้อมรบกันถือเป็นการช่วยถ่วงดุลสองมหาอำนาจ



วันที่ 15 ส.ค. 2565 รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "เทียบพลัง จีน-สหรัฐฯ ใครเหนือกว่าในศึกชิงไต้หวัน?"

โดย รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวว่า ในการเยือนไต้หวันคราวนี้ของเพโลซี ทำให้จีนมีความชอบธรรมในการอ้างว่าต้องรวมชาติให้เร็วขึ้น ต้องทำทุกวิถีทางให้อธิปไตยจีนปลอดภัยจากการคุกคามของสหรัฐฯ สถานการณ์ไต้หวันนับจากนี้ไปจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะจีนซ้อมรบเรียบร้อย โอบล้อมไต้หวันทุกทิศทุกทาง

แต่เชื่อว่าจีนคงยังไม่จัดการไต้หวันเร็วๆ นี้ แต่พื้นที่น่านน้ำที่เป็นอธิปไตยของไต้หวันจะถูกเซาะกร่อนจากกองทัพจีนมากขึ้น เกาะเล็กเกาะน้อยอาจถูกยึดมากขึ้น รวมถึงด้านเศรษฐกิจ สังคม นโยบายการเมือง ก็จะถูกดำเนินการควบคู่ขนานกันไป

รศ.ดร.ดุลยภาคกล่าวถึงกรณีกองทัพอากาศจีน-ไทย ร่วมซ้อมรบกันที่อุดรธานี ว่า ไทยมีความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์และการทหารกับสหรัฐฯ มานานตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ระยะหลังจีนมีแสนยานุภาพมากขึ้น และสำแดงกำลังในภูมิภาคแถบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นไทยเองกับหลายประเทศไม่สามารถปฏิเสธบทบาทของจีนได้ การซ้อมรบนัดนี้ก็ทำให้กองทัพจีน-ไทยได้เรียนรู้กันมากขึ้น

แบบนี้ทำให้ถ่วงดุลอำนาจของมหาอำนาจเองโดยอัตโนมัติ สหรัฐฯ ก็จะจับจ้องแล้วแมตช์หน้าสหรัฐฯ ก็ต้องมาซ้อมอีก หมุนเวียนกันมาซ้อมรบ ความสัมพันธ์ตอนนี้ทำให้ไทยไม่ต้องเลือกข้างชัดเจน เราทำให้เกิดการถ่วงดุล ตอนนี้อันไหนผ่อนสั้นผ่อนยาวก็ต้องทำ สถานการณ์ยังไม่บีบให้ถึงขั้นต้องเลือกข้าง อำนาจของจีนที่แผ่มาในเอเชียอาคเนย์ดูเบาไม่ได้

ถ้าถึงจุดที่ต้องเลือก นั่นคือการที่เราถูกบีบคั้นทางยุทธศาสตร์อย่างรุนแรง แรงบีบคั้นก็คงมาจากการมีสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เช่น จีนรวมชาติไต้หวันโดยใช้กำลัง ถ้าเป็นอย่างนี้จะระส่ำระสาย สหรัฐฯ ก็ต้องเคลื่อนเข้ามาเติมมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่ให้ไต้หวันเสียดินแดน พื้นที่สู้รบก็จะกว้างขึ้นมาอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น