xs
xsm
sm
md
lg

อากาศร้อนแล้ว ราคาร้อนกว่า!! “โลกร้อน” ผลักให้ “พริก” โลละ 500 “ผัก” แพงขึ้น 40%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สายเผ็ดมีสยอง!! พริกขี้หนูกิโลละ 500 แถมผักราคาขึ้นทั้งตลาด ปีนี้แพงเป็นพิเศษ ชวนมองให้ลึกกว่า “ราคา” แล้วจะรู้ว่า “โลกร้อน” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวแม้แต่นิดเดียว

“ราคาดีด” เพราะ “ร้อนเกิน”

คนชอบเผ็ดต้องมีคิด เมื่อ “พริกขี้หนูสวน” ดันราคาพุ่งถึงกิโลกรัมละ 500 บาท จากเดิมที่ขายเพียงกิโลกรัมละ 250 บาท นี่คือผลสำรวจราคาผักในตลาดสดของ จ.อุทัยธานี ที่ให้ไว้ผ่านสื่อล่าสุด

และไม่ใช่แค่ “พริก” ที่ราคาขึ้น ผักเกือบทุกอย่างในตลาดก็ปรับราคาขึ้นตามกันเป็นเท่าตัว เช่น “มะเขือพวง” จากเดิมกิโลกรัมละ 100 บาท เป็น 200 บาท, “มะระ” จากเดิมกิโลกรัมละ 50 บาท ก็ขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 80 บาท

แม่ค้าในตลาดยังบอกอีกว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะผลผลิตน้อย เนื่องด้วย“ความแล้ง” และอากาศที่“ร้อนจัด”ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่แค่ในอุทัยฯ ที่ราคาพืชผักดีดตัวสูงจากสภาพอากาศ



“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่า อากาศที่ร้อนเกินทำให้ “ราคาผักพุ่งสูงขึ้นถึง 40%”โดยผักที่มีแนวโน้มราคาจะสูงขึ้นในช่วงหน้าร้อน ได้แก่ ผักชี ต้นหอม ขึ้นฉ่าย แตงกวา ถั่วฝักยาว มะระจีน คะน้า หรือแม้แต่ “ถั่วฝักยาว”ที่หลายคนเกลียดในเมนูกะเพรา

“มะนาว” เองก็มีราคาสูงมาได้ระยะหนึ่งแล้ว จนทำให้ตอนนี้เมนูง่ายๆ แต่ชื่นใจอย่าง “ชามะนาว”ขณะนี้ร้านกาแฟเล็กๆ หรือร้านรถเข็นบางร้านก็เลิกขาย เพราะสู้ต้นทุนไม่ไหวหรือไม่ก็ปรับราคาขึ้นตาม

และเรื่องอากาศร้อนที่ทำให้ราคาผักต่างๆ แพงนั้น ถ้าเราย้อนไปดูข่าวหลายๆ ปีที่ผ่านมาก็จะเห็นว่า ผักผลไม้อย่าง มะนาว ผักชีและต้นหอม ก็จะมีราคาสูงขึ้นในช่วงหน้าร้อนแบบนี้

แต่ปีนี้พิเศษ เพราะราคาผักต่างๆ “เพิ่มขึ้นสูง”กว่าปีที่แล้วในช่วงเดียวกันเป็นอย่างมาก เช่น “ขึ้นฉ่าย” ในเดือน เม.ย. ปี 66 อยู่ที่ 64 บาท/กก. ส่วนปี 67 อยู่ที่ 111 บาท/กก. คือ “เพิ่มขึ้น 76%”

                                    { ผักราคาขึ้น 40% ข้อมูลจาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” }

ใครจะคิดว่าอากาศร้อนจะทำให้ผักแพงได้ขนาดนี้ แต่มันแค่นั้นจริงๆ หรือ? ทีมข่าวจึงติดต่อไปยังผู้เขี่ยวชาญด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่าง “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (Biothai) เพื่อให้ช่วยวิเคราะห์

“ที่จริงไม่ใช่เฉพาะผักนะครับ แต่พืชทุกชนิดจะได้รับผลกระทบ ถ้าอุณหภูมิมันสูงขึ้น ผักนี้ชัดเจนที่สุดเพราะเป็นพืชอายุสั้น มีความต้องการน้ำสูง เมื่ออากาศร้อนขึ้นมันก็จะเจริญได้ไม่ปกติ”

                                        { “วิฑูรย์” กูรูเกษตรทางเลือกใหม่ “มูลนิธิชีววิถี” }

เรื่องที่น่าตกใจกว่านั้น “มะพร้าว”คือกรณีที่ชัดเจนมากที่สุด จากอุณหภูมิที่สูงเกินไปทำให้เวลานี้ มะพร้าวไม่ออกลูก หรือถ้ามีลูกก็จะคุณภาพไม่ดี

“เราจะเห็นว่าราคามะพร้าวตอนนี้ แพงและหาซื้อยาก ราคาปลีกปาไป 60-100 บาท ก็มีนะครับ ราคาส่งหน้าร้าน 30-40 ครับ เพราะมะพร้าวไม่ติดลูกเลยครับ ผลผลิตหายไปเยอะครับจากอากาศร้อน”

“อากาศร้อน” ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรอย่างมาก กูรูจาก Biothai ยังบอกต่อว่า “อุณหภูมิทั่วโลก” ตอนนี้ “สูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย”อย่างชัดเจน เห็นได้จากหลายประเทศประกาศว่า “ฤดูร้อนปีนี้ เป็นฤดูร้อนที่ร้อนที่สุด”



ต่อไป ไม่ใช่แค่ “หน้าร้อน” แต่ตลอดปี!!

“แน่นอน” นี่เป็นคำตอบจากปากของ “วิฑูรย์” เมื่อถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับ ภาวะโลกร้อนหรือไม่ และยังเสริมความจริงที่น่าตกใจว่า นอกจากอุณหภูมิที่ขึ้นทุกปีแล้ว มันจะยังทำลายสถิติความร้อนทุกๆ ปีอีกด้วย

“ภาวะโลกร้อน” จะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เมื่อมันมาเกี่ยวกับปากท้อง เพราะไทยก็เป็นประเทศเขตร้อน ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น หนำซ้ำผักที่เรานิยมกินก็มันเป็น “ผักเมืองหนาว” อีก


 

“ผักส่วนใหญ่ที่เรากินก็เป็นผักเมืองหนาว ไม่ว่าจะเป็นพวก คะน้า ผักกาดขาว ไม่ต้องพูดถึงกระหล่ำปลี ที่ปลูกในพื้นอากาศเย็น คือตระกูลผักพวกนี้จะได้รับผลกระทบทั้งหมด”

และต่อไปจะไม่ใช่แค่“หน้าร้อน” เท่านั้นที่จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตร “ลดลง” แต่กูรูรายนี้ชี้ให้เห็นว่า เกษตรกรไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบ จากสภาพอากาศที่แปรปรวนไป “ตลอดทั้งปี”

“อย่างหน้าฝน ที่อุณหภูมิมันควรจะลดได้แล้วมันก็ไม่ลด ตัวอย่างง่ายๆเลย ที่จริงตอนนี้มันควรจะเข้าสู่หน้าฝนแล้วนะ แต่ปีนี้หน้าฝนมาช้ามาก”



นอกจากฝนจะมาช้า ถ้าฤดูฝนมาแต่อุณหภูมิโดยรวมยังคงสูง นี้ก็จะทำให้เกิดปัญหาจาก “ความร้อนชื้น” โรคระบาดในพืช เชื้อราก็จะเพิ่มขึ้นตาม หมายความ “ผลผลิตก็จะลดลง”

ไม่ใช่แค่พืชผักจะออกผลน้อย “คุณค่าทางอาหาร” ก็หายไปด้วยนอกจาก “คาร์บอนไดออกไซด์” จะเป็นต้นต่อของภาวะโลกร้อน มันยังส่งผลให้พืชสร้างสารอาหารประเภทแป้งมากขึ้น แต่ไม่ลดสารอาหารอย่าง “วิตามิน” ลง

“แล้งก็แล้งนาน ถ้าน้ำมาก็จะมากจนควบคุมได้ยาก” อีกเรื่องที่น่ากลัวคือ ภาวะโลกร้อนทำให้เกิด “สภาพอากาศแบบสุดขั้ว” อย่าง “น้ำท่วม” กับ “ภัยแล้ง” ที่เป็นการทำรายพื้นเกษตรกรรม


 

“หากพื้นที่เหล่านี้ถูกทำลาย หรือลดลงก็จะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารระยะยาว อันนี้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆครับ”

แล้วเรามีทางออกของปัญหานี้ไหม? วิฑูรย์บอกว่า ตอนนี้เราไม่สามารถทำให้อุณหภูมิของโลก กลับมาเป็นแบบเดิมได้อีกแล้ว “ต้องยอมรับชะตากรรมว่า มันเกินขีดที่จะกลับไปสู่ระดับเดิมได้แล้ว”

แต่เราสามารถลดผลกระทบให้มัน “น้อยลง”ได้ ด้านการเกษตร “การปลูกไม้ยืนต้น”หรือ“คลุมดินด้วยอินทรีย์วัตถุ” เพื่อเพิ่มความชื้นในดินการปลูกพื้นก็จะทำได้ดีขึ้น

“ระบบการปลูกพืช เราต้องสร้างความหลายหลากในการปลูก อันนี้ก็จะช่วยลดกระทบเช่นกัน”

ต้องเปลี่ยนจาก “เกษตรเชิงเดี่ยว” ที่เน้นปลูกพืชชนิดเดียว ให้มันหลากหลายมากขึ้น เพราะก็มีผักอีกหลายชนิดที่เป็นไม้ยืนต้น และทนกับสภาพอากาศได้ดี

เราอย่ามองแค่ผักเมืองหนาวอย่างเดียว เรายังมีพืชพื้นเมืองที่คุณค่าทางอาหารมากมายหลายชนิด เราต้องเปลี่ยนผักหรืออาหารที่เรากิน เพื่อรองรับผลกระทบจากผลผลิตที่น้อยลง จากภาวะโลกร้อน



สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : kasikornresearch.com



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น