xs
xsm
sm
md
lg

แนะข้าวเก่า 10 ปี ผลิตแอลกอฮอล์-น้ำส้มสายชู หวั่นขายให้คนกิน-อาหารสัตว์ได้ไม่คุ้มเสีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แสดงความกังวลกรณีนำข้าวสารเก่า 10 ปีมาหุงรับประทานโชว์ได้รับสารพิษจากเชื้อราไม่น้อย แนะอย่าขายให้คนหรือสัตว์เพราะได้ไม่คุ้มเสีย ผลิตเป็นแอลกอฮอล์ หรือน้ำส้มสายชูจะดีกว่า ด้านมูลนิธิชีววิถีตั้งคำถาม รมยา 6-12 ครั้งต่อปี สารเคมีตกค้างขนาดไหน สารอาหารลดลงเท่าไหร่ และความเสี่ยงจากอะฟลาทอกซินแค่ไหน

วันนี้ (8 พ.ค.) จากกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลตามโครงการรับจำนำข้าว สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เก็บไว้นาน 10 ปี ที่ บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 ต.เฉลียง อ.เมืองสุรินทร์ จ.สุรินทร์ พร้อมกับสาธิตการรับประทานข้าวสวยร้อนๆ ขึ้นมาชิมโชว์สื่อมวลชน และยืนยันว่าข้าวสารในสต๊อกยังมีคุณภาพ ซึ่งข้าวสารดังกล่าวผ่านการซาวข้าว 15 ครั้งก่อนหุง ทำให้สังคมกังขาว่ารับประทานได้จริงหรือไม่ และมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

บนโซเชียลฯ แชร์ข้อความจากเฟซบุ๊ก "พันทิพา พงษ์เพียจันทร์" ของ รศ.พันทิพา พงษ์เพียจันทร์ รองศาสตราจารย์ คณะเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ข้อความระบุว่า "จากกรณีที่เอาข้าวเก่า ค้าง 10 ปี มาหุงรับประทานโชว์กัน ขอบอกว่าท่านได้รับสารพิษจากเชื้อราไปแล้วไม่น้อย หลายตัวหลายชนิดด้วย และใครที่ไปร่วมชิมเป็นสักขีพยานว่าข้าวนั้นรับระทานได้ ก็รับเคราะห์ไปด้วยค่ะ

1. ปกติอาหารสัตว์ เราจะเก็บพวกธัญเมล็ดต่างๆ (รวมถึงข้าว) ได้อย่างมาก 1 ปี ที่อุณหภูมิห้อง เช่นเดียวกับที่โรงสีที่โชว์เก็บ แต่ก่อนเก็บนอกจากรมควันแล้ว ความชื้นในเมล็ดธัญพืชจะต้องไม่เกิน 12% เพราะพวกนี้สามารถดูดซึมน้ำกลับได้ ซึ่งสภาพการเก็บของโรงสีที่เห็น ใส่ในกระสอบป่าน โอกาสดูดซึมน้ำกลับ ทำให้ความชื้นของเมล็ดข้าวสูงขึ้นแน่นอน

หากจะเก็บไว้นานกว่านี้ต้องเก็บในสภาพเย็นแบบแห้ง (Cold dry processing) * อุณหภูมิต้องไม่เกิน 13 °C ทำให้แมลงไม่ฟักออกเป็นตัว *

2. กระสอบป่านที่เก็บข้าว สภาพที่เห็น วางทับซ้อนกันสูงมาก อากาศไม่ถ่ายเท ส่งเสริมการดูดซึมน้ำกลับ ความชื้นในเมล็ดข้าวสูงขึ้น ส่งเสริมการเจริญของมอดแมลงต่างๆ

3. แม้จะรมยา แต่สภาพการวางทับกระสอบ รมยาไม่ทั่วถึงแน่นอน เพราะข้าวที่เอามาหุงแสดงขณะล้าง ฟ้องอยู่แล้วว่ามีมอดข้าวและด้วง

4. การที่เมล็ดข้าวมีความชื้น ส่งเสริมการเติบโตของมอด แมลงต่างๆ* หลักฐานประจักษ์ขณะซาวข้าว (15 ครั้ง ตามข่าว ซึ่งข้าวปกติเราล้างไม่ถึง 3 ครั้ง)

5. การมีมอดแมลง มูลของแมลงเหล่านี้นำมาซึ่งการเจริญของเชื้อรา และแบคทีเรีย* ทำให้เน่าได้รับสารพิษโดยไม่รู้ตัว

6. จากสภาพข้าวที่หุงออกมา จะมีข้าวจำนวนไม่น้อยที่มีสีน้ำตาลตรงปลายเมล็ด นั่นคือเม็ดข้าวที่ขึ้นรา อย่างน้อยต้องตรวจพบสารพิษอะฟลา 1 ตัว ตรวจง่ายๆ โดยใช้เทคนิค บีจีวาย ฟลูออเรสเซนต์ (Bright Greenish-Yellow Fluorescent)** ซึ่งสารนี้ทนอุณหภูมิได้ถึง 250°C *** และยังจะมีสารพิษอื่นๆ ตามมาอีกหลายตัว อุณหภูมิข้าวที่เราหุงน้ำเดือด 100°C ไม่สามารถทำลายพิษจากเชื้อราได้ อาจได้แค่แบคทีเรียจากมูลของแมลง

เห็นเจตนาดีของท่านที่จะหาเงินกลับคืน ขอแนะนำว่า

1. อย่าขายให้คนหรือสัตว์นำไปบริโภค ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเราจะมีคนป่วยด้วยมะเร็งมากขึ้น สำหรับผู้บริโภคโดยตรง

2. กรณีนำไปเลี้ยงสัตว์ เราจะได้ผลิตภัณฑ์ เนื้อ นม ไข่ ที่มีสารพิษจากเชื้อราตกค้างในอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น

3. การนำไปขายให้แอฟริกา ชื่อเสียงข้าวเน่าเสียของไทยจะกระจายไปทั่วโลก คู่แข่งเราจะได้เปรียบ กว่าเราจะกู้ชื่อเสียงกลับคืนมาคงหลายปี เสียตลาดข้าวให้คู่แข่งโดยเขาไม่ต้องออกแรงเลย และที่สำคัญบาปตกอยู่กับผู้คิด ผู้ขาย แน่นอน

4. ขอแนะนำให้นำข้าวเหล่านี้ไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ หรือน้ำส้มสายชูจะดีกว่า สอบถามนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การอาหารต่อไปค่ะ

หมายเหตุ: การตรวจสอบสารพิษเหล่านี้มีตามมหาวิทยาลัยที่มีห้องแล็บตรวจอาหารทั่วไป หรือกรมปศุสัตว์ หรือบริษัทรับตรวจสารพิษในอาหาร

ด้านเฟซบุ๊ก "BIOTHAI" ของมูลนิธิชีววิถี โพสต์ข้อความระบุว่า "ก่อนขายข้าวสารอายุ 10 ปี ต้องตอบคำถาม 1. รมสารเคมี 6-12 ครั้งต่อปีตกค้างขนาดไหน 2. สารอาหารลดลงเหลือเท่าไหร่ 3. ความเสี่ยงจากทอกซิน"

โดยพิมพ์คอมเมนต์เพิ่มเติมว่า สื่อต่างประเทศและสื่อในประเทศโทร.มาขอความเห็นของไบโอไทยเรื่องคุณภาพข้าว เราไม่อยากตอบเอง แต่แนะว่าควรมีคำถามอะไรกับรัฐบาลในกรณีนี้บ้าง

ในฐานะที่เคยติดตามคุณภาพข้าวจากโครงการจำนำข้าว สื่อน่าจะมีคำถามดังต่อไปนี้

1. ปริมาณข้าวที่เอกชนประมูลเพื่อการบริโภคมีปริมาณเท่าไหร่ จำหน่ายในประเทศเท่าไหร่ ส่งออกเท่าไหร่ บริษัทไหนบ้าง

2. คุณภาพของข้าวใน 3 มิติ คือ

1) สารรมควันพิษที่แจ้งว่ามีการรมปีละ 6-12 ครั้ง คือสารอะไร มีการตกค้างหรือไม่ เพราะในกรณีเมทิลโปรไมด์เมื่อตกค้างในข้าวสารแล้วการล้างหลายครั้งหรือการหุงก็ทำให้ลดลงได้เพียง 40-50% เท่านั้น

2) คุณค่าของสารอาหาร เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และแร่ธาตุอื่นๆ ที่พึงได้จากข้าวสารลดลงมากน้อยแค่ไหน

3) ความเสี่ยงจากทอกซินที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเก็บมีมากน้อยแค่ไหน มีการสุ่มตรวจเพียงใด

3. จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศและต่างประเทศ และจะมีผลต่อภาพลักษณ์ข้าวไทยอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น