xs
xsm
sm
md
lg

“ข้าว” ไม่ใช่ “ไวน์” ยิ่งบ่มยิ่งอันตราย!! “ข้าว 10 ปี” เสี่ยงแถม “มอด-รา-สารก่อมะเร็ง” [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เก่าเก็บคาโกดัง “ข้าว 10 ปี” ที่ผ่านการรมยามากว่า 60 ครั้ง ถึงจะถูกหยิบมาหุงใหม่ ซาวซ้ำๆ ไม่ต่ำกว่า 15 น้ำ บวกคำคอนเฟิร์มจากรัฐมนตรี โชว์กินเพื่อพิสูจน์ความสะอาดและปลอดภัย แต่ “ความเชื่อมั่น” จะถูกดึงให้เพิ่มระดับได้แค่ไหน ในเมื่อไม่มี “ผลแล็บ” ออกมาช่วยยืนยัน แถมกูรูยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เสี่ยง” และ “น่าเป็นห่วง”





** “ซาว 15 น้ำ” ไม่ช่วยให้กลับมาสด-ใหม่ **


"ข้าวไม่ใช่ไวน์จะได้บ่มไว้เป็น 10 ปี"


"ต้องซาวข้าว 15 ครั้ง เพื่อกินข้าวที่ผ่านการฉีดยากันมอดมาเป็นเวลา 10 ปี ให้ฟรียังคิดหนักเลย..."


"ตรวจสอบแค่การกิน ก็จะรู้แค่รสชาติ กลิ่น ลักษณะทางกายภาพ แต่สารพิษตกค้าง เชื้อรา ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการกิน"

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากคอมเมนต์บนโลกโซเชียลฯ ที่ส่งเสียงสะท้อนไปถึง ประเด็นร้อนๆ ที่ผู้คนในสังคมกำลังจับตามองอยู่ในตอนนี้ ก็คือเรื่องราวของ “ข้าวเก่า 10 ปี” จากโครงการรับจำนำข้าว ในสมัยรัฐบาลของ “นายกปู” (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร)


เวลาผ่านไป 10 ปี เรื่องนี้ถูกหยิบมาเปิดประเด็นอีกครั้ง หลัง “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลปัจจุบัน เอาตัวอย่างข้าวสารจาก 2 โกดังสุดท้าย ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ ที่เก็บไว้นานกว่า 10 ปี มากินโชว์ต่อหน้าสื่อ

แต่ก่อนจะหุง ต้องผ่านการซาวข้าวถึง 15 น้ำ และเห็นได้ว่า น้ำซาวข้าวมีสีขุ่นเหลือง กับมีสิ่งแปลกปลอมลอยขึ้นมาด้วย หลังจากชิมแล้ว รองนายกฯ ก็เอาแต่คอนเฟิร์มออกสื่อว่า ท้องไม่เสีย สบายมาก

“ไม่มีกลิ่นหืน ไม่มีความรู้สึกที่กินไม่ได้ ดมแล้วความหอมอาจจะลดลง ไม่เหมือนข้าวใหม่ แต่ความนุ่มนวลไม่มีปัญหาอะไร”




คนที่ได้ชิมข้าวล็อตนี้ ไม่ได้มีเพียงตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และคณะ ที่ติดตามไปโกดังข้าวในวันนั้นเท่านั้น แต่เขายังส่งข้าวสารค้างโกดังเหล่านั้น มาให้นักเล่าข่าวแห่งรายการเรื่องเล่าเช้านี้ อย่าง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” กับ “ไบรท์-พิชญทัฬห์ จันทร์พุฒ” ด้วย

คนที่ถูกท้าให้ลอง เลยจัดการเอาข้าวไปเทียบกับเสื้อสีขาวที่สวมอยู่ทันที จนเห็นได้ชัดเลยว่า ข้าวสารมีสีค่อนข้างเหลือง ส่วนเรื่องรสชาตินั้น คนเล่าข่าวแจงไว้ให้แล้ว

“ความนุ่มอาจจะหายไปหน่อยนึง กลิ่นหายไป แต่ว่าความเป็นข้าว แล้วก็ความเป็นเม็ด ก็ยังเรียงตัวสวยอยู่”


“คือไม่รู้สึกว่าเป็นข้าวหอมมะลิ มันรู้สึกเป็นข้าวขาว ข้าวเสาไห้ (พันธุ์ข้าวพื้นเมือง อ.เสาไห้ จ.สระบุรี) อารมณ์แบบนั้น (ข้าวหอมมะลิ) จะนุ่ม แล้วมันจะเหนียว จะมียางข้าวกว่า อันนี้ก็เข้าใจได้ 10 ปี”



** “สารก่อมะเร็ง” ล้างไม่ออก-ร้อนไม่ช่วย **


ถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมืองและคนดัง จะออกมากินโชว์เพื่อการันตีว่า ข้าวนี้กินได้ แต่นาทีนี้ สิ่งที่ประชาชนกังวล กลับไม่ใช่เรื่องรสชาติของข้าว แต่เป็นเรื่องของผลกระทบต่อสุขภาพที่จะตามมามากกว่า

เพราะมองจากตาเปล่า ก็อาจจะดูเหมือนข้าวสารทั่วไป เพียงแต่ว่าสีออกเหลืองๆ แต่จริงๆ แล้วข้าวที่ว่า ถูกรมยากันแมลงขึ้นข้าวทุกๆ 2 เดือน ด้วยการใช้สารเคมีที่ชื่อ “เมทิลโบรไมด์ (Methyl Bromide)” ซึ่งก็เท่ากับว่า จนถึงวันนี้ ข้าวสารในโกดังได้ผ่านการรมยามาแล้ว ราวๆ 60 ครั้ง

สิ่งที่น่าห่วงไปกว่านั้นคือ “อะฟลาทอกซิน” (Aflatoxin) สารก่อมะเร็งที่มีอันตรายมาก ที่มักจะพบในวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งถูกหยิบนำมาแปรรูป และจัดเก็บอย่างไม่เหมาะสม


เรื่องนี้ “จ่าพิชิต” หรือ “นพ.วิทวัส ศิริประชัย” แห่งเพจ "Drama-addict" แฟนเพจวิเคราะห์ปัญหาสังคมชื่อดัง ก็ได้ออกมาให้ความเห็นเอาไว้เหมือนกัน เขาเสนอให้รัฐบาลพิสูจน์ความปลอดภัยของข้าว ด้วยการส่งแล็บตรวจหาสารพิษที่ว่า

เพราะในบ้านเราและประเทศเพื่อนบ้าน มักจะเจอปัญหาข้าวปนเปื้อนอะฟลาทอกซิน ในเคสของข้าวหรือถั่วที่จัดเก็บไม่ดี จนส่งให้เกิดความชื้นที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เกิดเชื้อรา ผลิตสารพิษออกมา

ส่วนอะฟลาทอกซิน คือสารก่อมะเร็งที่อันตรายมาก แถมยังทนความร้อนได้ถึง 260 องศา แน่นอนว่าการเอาข้าวเอาไปต้มในน้ำเดือด หรือแม้แต่การหุงก็ไม่สามารถทำลายสารพิษตัวนี้ได้

ดังนั้น การที่จะบอกว่า ข้าวอายุกว่าทศวรรษนี้ ปลอดภัยต่อการบริโภคหรือไม่ ยังไงก็ควรจะมีผลแล็บมายืนยัน



** พิสูจน์ผ่านแล็บ อย่าคิดแค่ “ระบายออก” **


สอดคล้องกับมุมมองจาก รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ และผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ที่สะท้อนประเด็นดราม่าของข้าวเก่า 10 ปีไว้ว่า ข้าวสารกว่าแสนกระสอบที่ไปตรวจสอบนั้น แม้จะอยู่ในโกดังเดียวกัน แต่ยังไงคุณภาพก็ไม่เหมือนกัน

“ในฐานะของผมเป็นนักวิชาการ ผมจะบอกว่า ในข้าวใน 1 กอง โดยเฉพาะที่เป็นแสนกว่ากระสอบ คุณภาพจะไม่เหมือนกันทั้งหมดหรอกครับ


หนึ่งก็คือว่า อากาศที่เข้าไป ความชื้นที่แม้จะมีไม่มากเพราะว่าลมพัด มีโกดังที่เก็บดีอยู่ แต่ว่าการเรียงระหว่าง หน้ากองกับกลางกอง ก็จะต่างกัน สีก็จะต่างกัน


แล้วก็โอกาสที่รมยาแล้วไปไม่ถึง มอดมันก็จะเกิดขึ้นเยอะ ในจุดนั้น วันนี้เราอาจจะไม่เห็น แต่เวลาซาว แล้วเห็นมอดเกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง”


กูรูข้าวรายเดิมยังบอกด้วยว่า ปกติการเก็บข้าวสารไว้นานๆ ถ้าเก็บไม่ดี มอดอาจจะบุกได้ แต่ข้าวล็อตนี้ พอมองด้วยตาเปล่า จะเห็นว่าลักษณะกายภาพของข้าวยังดีอยู่ เพราะยังมีจมูกข้าว ข้าวไม่หัก ข้าวไม่ป่น ข้าวไม่ติดเป็นก้อน

เห็นว่าทางผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ สนใจเข้าร่วมประมูล และต้องการส่งออกไปตลาดแอฟริกาที่สนใจข้าวเก่าจากไทย ตรงนี้เอง ที่ภาครัฐควรคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย มาก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ใช่จะเน้นแต่การระบายออกอย่างเดียว


“ส่งออกได้ก็ดีครับ ถ้าไปตลาดแอฟริกาได้ อย่างที่คณะทำงานพูดถึง ผมคิดว่าอันนั้นก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศไทย ก็คือว่าราคาประมูล มันจะได้ไม่ตกต่ำกว่านี้


คือเขามีตลาดที่จะไปจำหน่าย และเป็นตลาดข้าวเก่าที่มีคนต้องการ แต่เอาสักนิดนึงไปตรวจ เรื่องคุณภาพและความปลอดภัย ก็คือเรื่องเชื้อรา เพื่อจะประกาศได้เลยว่า ข้าวล็อตนี้มันได้มาตรฐาน ได้คุณภาพ ได้ความปลอดภัยเกิดขึ้น”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





@livestyle.official ...“ข้าว 10 ปี” ที่ผ่านการรมยามากว่า 60 ครั้ง ถึงจะถูกหยิบมาหุงใหม่ ซาวซ้ำๆ ไม่ต่ำกว่า 15 น้ำ แต่กูรูยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เสี่ยง” และ “น่าเป็นห่วง”... . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิี #ข้าวไทย #ข้าวเก่า #ข้าว10ปี #ส่งออกข้าว #ข้าวหอมมะลิ ♬ เสียงต้นฉบับ LIVE Style


เรียบเรียง : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น