ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาสถิติศาสตร์
สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จากพรรคเพื่อไทย ได้พิสูจน์ให้สื่อมวลชนกินข้าวสวยที่หุงจากข้าวสารเก่าเก็บจากโครงการรับจำนำข้าวที่มีการทุจริตในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมีรัฐมนตรีติดคุกและหนีคดีมาแล้ว โดยมีสื่อมวลชนอาวุโสคือ นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย หรือแยม ได้ร่วมกินข้าวสวยหรือข้าวสุกดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตจากสำนักข่าวหลายสำนักว่านายภูมิธรรม แทบไม่ตักข้าวสวยในจานขึ้นมากิน กินแต่กับและหลีกเลี่ยงการกินข้าวเก่าเก็บสิบปีดังกล่าว
มีรายงานข่าวว่าข้าวสารดังกล่าวเป็นมาแล้วสิบปี มีการรมยาฆ่าแมลงกันมอดขึ้นข้าวสารเป็นสารเคมีชื่อเมทิลโบรไมด์เดือนละสองครั้งดังนั้นข้าวสารนี้จึงผ่านการรมยาเมทิลโบรไมด์มาแล้ว 120 ครั้ง และเก็บไว้ในโกดังธรรมดาในกระสอบป่าน ไม่ได้มีการรักษาความเย็นหรือรักษาอุณหภูมิให้คงที่แต่อย่างใด
ก่อนนำมาหุงให้นายอ้วนกับนางสาวแยมกินนั้น เจ้าหน้าที่ได้ใส่ถุงมือทางการแพทย์เอาข้าวสารเก่าเก็บ 10 ปี ผ่านการรมยาฆ่าแมลงมาแล้ว 120 ครั้ง เทใส่กาละมังแล้วซาวน้ำทิ้งไป 15 ครั้ง เมล็ดข้าวที่เทออกมานั้นมีสีเหลืองซีดเก่าเก็บ ไม่ได้เป็นเมล็ดข้าวสารสีขาวสะอาดแต่อย่างใด นอกจากนี้น้ำซาวข้าวยังเป็นสีเหลือง เต็มไปด้วยฝุ่นผงและมีตัวมอดสีดำที่ตายแล้วลอยอยู่เต็มไปหมด หลังจากนั้นจึงนำข้าวสารที่ซาวน้ำทิ้ง 15 ครั้งไปใส่หม้อหุงข้าวไฟฟ้าให้นายอ้วนกับนางสาวแยมได้กินโชว์สื่อมวลชน
ทำให้เกิดความฮือฮาว่าทำไมนายอ้วนกับนางสาวแยมจึงกล้ากิน และยังออกมายืนยันว่ากินได้ ไม่ท้องเสีย กินแล้วไม่เจ็บป่วย ไม่มีอันตรายใดๆ
คำถามคือข้าวสารคุณภาพต่ำเก่าเก็บสิบปี ไม่ได้เก็บรักษาด้วยวิธีการที่ถูกต้องในไซโลที่แห้งและรักษาอุณหภูมิ อาจจะมีหนู แมลงสาบ ความชื้น แมลงเข้าไปปนเปื้อนได้ตลอดเวลายังจะปลอดภัยสำหรับการบริโภคอยู่หรือไม่?
อีกทั้งข้าวสารโครงการรับจำนำข้าวนี้ผ่านการรมยาสารเคมีไล่แมลงและมอดมาหลายรอบคือประมาณ 120 ครั้ง จะมีสารเคมีตกค้างเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่
ประวัติของข้าวสารล็อตนี้ก็หาได้เป็นมงคลไม่
ข้าวสารที่มีการทุจริตคอรัปชั่นโดยนักการเมืองและข้าราชการจนมีคนติดคุกไปหลายคน หนีคดีไม่มีแผ่นดินอยู่ก็ด้วย
ข้าวสารที่มีชีวิตชาวนาที่ต้องเซ่นสังเวยฆ่าตัวตายไปกับใบประทวนหลายสิบชีวิต เพราะรับจำนำข้าวไว้แล้วไม่ได้เงินจากรัฐบาล
ก่อนหุงต้องซาวน้ำล้างทิ้ง 15 ครั้ง
โดยส่วนตัว ถ้าเป็นผม ผมไม่กล้ากิน จริงๆ ครับ
กลัวจะเป็นอันตรายกับร่างกาย
กลัวไม่เป็นสิริมงคลกับชีวิตและจิตวิญญาณ
อย่าว่าแต่จะกินเองเลยนะครับ
จะหุงข้าวสารนี้ให้เอ็นดู ชูใจ และอั่งเปา สุนัขสามตัวที่ผมเลี้ยงได้กิน ผมยังไม่กล้าเลยครับ
ผมรักสุนัขเกินกว่าจะทำร้ายพวกมันด้วยสิ่งที่เป็นอันตรายได้ครับ
ใจหมาใจคน ไม่ใช่ คนใจหมา ครับ
ปกติข้าวสารที่ขายในท้องตลาด มีวันหมดอายุครับ ผมเคยลองสังเกตประมาณ 8-9 เดือนหรือหนึ่งปีเท่านั้นเองครับ
การหุงข้าวสารเก่าเก็บ 10 ปี รมยาฆ่าแมลงมา 120 ครั้ง และเก็บด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องนั้น ไม่ควรเป็นแค่ปาหี่ทางการเมืองเพื่อเบี่ยงประเด็นที่คุณอุ๊งอิ๊งไปกล่าวโจมตีธนาคารแห่งประเทศไทยจนโดนทัวร์ลงหรือเพื่อช่วยฟอกขาวให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หนีคดีต้องเข้าคุกจากโครงการรับจำนำข้าว ยังไร้แผ่นดินอยู่จนทุกวันนี้
การแสดงปาหี่ทางการเมืองเช่นนี้ ไม่ได้ช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าข้าวสารเก่าเก็บเช่นนี้จะบริโภคได้จริง
ควรให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรผู้บริโภคที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและได้เงินภาษีอุดหนุนปีละหลายร้อยล้านบาทเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบคุณภาพข้าวสารเหล่านี้ก็ยังได้ครับ ออกรายงานผู้บริโภค (Consumer reports) ให้ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าปลอดภัย บริโภคได้ (หากผลการตรวจสอบวิเคราะห์ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านอาหารและความปลอดภัย)
ผมขออนุญาตแนะนำว่าควรตรวจสอบอะไรบ้าง
หนึ่ง ตรวจสอบสิ่งเจือปนที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น มอด แมลง เศษหิน กรวด ทราย ขี้หนู ขาแมลงสาบ เศษกระสอบป่าน นับกันให้เห็นชัดๆ ไปเลย ข้าวสารหนึ่งลิตร มีของพวกนี้ปนอยู่กี่เม็ด สมัยนี้ใช้กล้องดิจิทัลถ่ายรูปแล้วใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) และการเรียนรู้ด้วยเครื่องจักร (Machine learning) ตรวจจับวัตถุ (Object detection) จากภาพก็สามารถทำได้ นับได้เสร็จสรรพ แล้วตีตารางแสดงตัวเลขและค่าสถิติออกมาครับ
สอง ตรวจสอบสารเคมีตกค้าง เช่น ยาฆ่าแมลงที่ใช้อบเมล็ดข้าวสาร ว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพราะข้าวสารล็อตนี้ผ่านการรมยาฆ่าแมลงมา 120 ครั้ง ต้องแสดงผลการวิเคราะห์ทางเคมีให้ประชาชนมั่นใจว่าข้าวสารนี้สามารถบริโภคได้จริง
สาม ตรวจสอบเชื้อราและสารพิษจากเชื้อราที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งปกติใช้แสงพิเศษส่องดูเบื้องต้น หรือนำข้าวสารไปบดหรือขุดออกมาแล้วนำไปเพาะเชื้อแล้วส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อีกครั้ง ส่วนสารพิษที่เกิดจากเชื้อรา เช่น สารอะฟลาท็อกซิน นั้นอาจจะต้องใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์ทางเคมีประกอบด้วย หากมีเชื้อราปนเปื้อนหรือมีสารพิษจากเชื้อราปนเปื้อนสูงเกินกว่ามาตรฐานที่คนจะบริโภคได้ก็ไม่ควรให้กิน ที่ต้องตรวจข้อนี้เพราะการเก็บข้าวในโกดัง ไม่ได้มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นดีเพียงพอ อีกทั้งประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น โอกาสที่ข้าวสารจะขึ้นรานั้นมีสูงมาก
สี่ ตรวจสอบเชื้อโรคอื่นๆ ที่อาจจะปนเปื้อนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตรวจสอบในข้อแรกหากมีขี้หนู ก็ต้องตรวจเชื้อโรคฉี่หนู กาฬโรค จริงอยู่ว่าหุงสุกเชื้อโรคพวกนี้ก็ตายหมด แต่ว่าคนเป็นแม่ครัวซาวข้าวสารด้วยมือเปล่า ไม่มีใครใส่ถุงมือซาวข้าวแบบวันนี้ที่ซาวข้าวสาร 15 ครั้งให้นายอ้วนกับนางสาวแยม จะไม่ติดโรคพวกนี้ไปก่อนหรือไม่ หากพบเจอขาแมลงสาบก็อาจจะต้องระวังการปนเปื้อนของแบคทีเรียหรือเชื้อโรคอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ก็เป็นประเด็นที่อาจจะต้องคิด
ห้า ตรวจสอบวินิจฉัยคุณค่าทางโภชนาการ เช่น คาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโน ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ เทียบกับข้าวสารใหม่อายุไม่เกินหนึ่งปี ว่าแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร แต่คาดว่าคุณค่าทางโภชนาการของข้าวสารเก่าเก็บ 10 ปี ด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องนั้นคงไม่เหลือมากเท่าไหร่แล้ว คงเหลือแต่คาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก
การตรวจนี้ต้องสุ่ม (Sampling) ตรวจพิสูจน์ด้วยวิธีการควบคุมคุณภาพทางสถิติ (Statistical quality control) ให้ครบถ้วน มีความเป็นตัวแทนที่ดี ไม่เอนเอียงก่อน ถ้าตรวจสอบแล้วก็ต้องแสดงการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ อาจจะต้องจัดเกรดว่าบางโกดัง คนกินได้ บางโกดังเอาให้สัตว์กินได้ บางโกดัง อาจจะต้องเอาไปหมักทำแอลกอฮอลล์เชื้อเพลิง หรือเอาไปเผาทำลายหรือฝังกลบเท่านั้น ก็คงต้องพิจารณาให้เหมาะสม
สำหรับการนำข้าวสารเก่าเก็บ 10 ปี ด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ไม่ได้มาตรฐาน ผ่านการรมยาฆ่าแมลง 120 ครั้งไปทำอาหารสัตว์นั้น รองศาสตราจารย์พันทิพา (ชุติมา) พงษ์เพียจันทร์ ซึ่งผมเรียกว่าคุณแม่นั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญสอนด้านการผลิตอาหารสัตว์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้อย่างน่ารับฟังว่า
---------------------
จากกรณีที่เอาข้าวเก่า ค้าง 10 ปี มาหุงรัปประทานโชว์กัน ขอบอกว่าท่านได้รับสารพิษจากเชื้อราไปแล้วไม่น้อย หลายตัวหลายชนิดด้วย และใครที่ไปร่วมชิมเป็นสักขีพยานว่า ข้าวนั้นทานได้ ก็รับเคราะห์ไปด้วยค่ะ
1. ปกติอาหารสัตว์ เราจะเก็บพวกธัญเมล็ดต่างๆ (รวมถึงข้าว) ได้อย่างมาก 1 ปี ที่อุณหภูมิ ห้อง เช่นเดียวกับที่โรงสีที่โชว์เก็บ แต่ก่อนเก็บนอกจากรมควันแล้ว ความชื้นในเมล็ดธัญพืชจะต้องไม่เกิน 12% เพราะพวกนี้สามารถดูดซึมน้ำกลับได้ ซึ่งสภาพการเก็บของโรงสีที่เห็น ใส่ในกระสอบป่าน โอกาสดูดซึมน้ำกลับ ทำให้ความชื้นของเมล็ดข้าวสูงขึ้นแน่นอน
หากจะเก็บไว้นานกว่านี้ต้องเก็บในสภาพเย็นแบบแห้ง (Cold dry processing) อุณหภูมิต้องไม่เกิน 13 °C ทำให้แมลงไม่ฟักออกเป็นตัว
2. กระสอบป่านที่เก็บข้าว สภาพที่เห็น วางทับซ้อนกันสูงมาก อากาศไม่ถ่ายเท ส่งเสริมการดูดซึมน้ำกลับ ความชื้นในเมล็ดข้าวสูงขึ้น ส่งเสริมการเจริญของมอด แมลงต่างๆ
3. แม้จะรมยาแต่สภาพการวางทับกระสอบ รมยาไม่ทั่วถึงแน่นอน เพราะข้าวที่เอามาหุงแสดง ขณะล้างฟ้องอยู่แล้วว่ามีมอดข้าว ด้วง
4. การที่เมล็ดข้าวมีความชื้น ส่งเสริมการเติบโตของมอด แมลงต่างๆ หลักฐานประจักษ์ขณะซาวข้าว (15 ครั้ง ตามข่าว ซึ่งข้าวปกติเราล้างไม่ถึง 3 ครั้ง)
5. การมีมอดแมลง มูลของแมลงเหล่านี้นำมาซึ่งการเจริญของเชื้อรา และแบคทีเรีย ทำให้เน่าได้รับสารพิษโดยไม่รู้ตัว
6. จากสภาพข้าวที่หุงออกมา จะมีข้าวจำนวนไม่น้อย ที่มีสีน้ำตาลตรงปลายเมล็ด นั่นคือเมล็ดข้าวที่ขึ้นรา อย่างน้อยต้องตรวจพบสารพิษอะฟลา 1 ตัว ตรวจง่ายๆโดยใช้เทคนิค บี จี วาย ฟลูโอเรสเซนท์ (Bright Greenish-Yellow Fluorescent) ซึ่งสารนี้ทนอุณหภูมิได้ถึง 250°C และยังจะมีสารพิษอื่น ๆ ตามมาอีกหลายตัว อุณหภูมิข้าวที่เราหุงน้ำเดือด 100°C ไม่สามารถทำลายพิษจากเชื้อราได้ อาจได้แค่แบคทีเรียจากมูลของแมลง
เห็นเจตนาดีของท่าน (รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย) ที่จะหาเงินกลับคืน ขอแนะนำว่า
๑. อย่าขายให้คนหรือสัตว์นำไปบริโภค ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเราจะมีคนป่วยด้วยมะเร็งมากขึ้น สำหรับผู้บริโภคโดยตรง
๒. กรณีนำไปเลี้ยงสัตว์ เราจะได้ผลิตภัณฑ์ เนื้อ นม ไข่ ที่มีสารพิษจากเชื้อราตกค้างในอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งมากขึ้น
๓. การนำไปขายให้อัฟริกา ชื่อเสียงข้าวเน่าเสียของไทยจะกระจายไปทั่วโลก คู่แข่งเราจะได้เปรียบ กว่าเราจะกู้ชื่อเสียงกลับคืนมาคงหลายปี เสียตลาดข้าวให้คู่แข่ง โดยเขาไม่ต้องออกแรงเลย และที่สำคัญบาปตกอยู่กับผู้คิด ผู้ขาย แน่นอน
๔. ขอแนะนำให้นำข้าวเหล่านี้ ไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์ หรือน้ำส้มสายชู จะดีกว่า สอบถามนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์การอาหารต่อไปค่ะ
หมายเหตุ : การตรวจสอบสารพิษเหล่านี้ มีตามมหาวิทยาลัยที่มีห้องแล็บตรวจอาหารทั่วไปหรือกรมปศุสัตว์หรือบริษัทรับตรวจสารพิษในอาหาร
อ่านข้อมูลและทัศนะที่รองศาสตราจารย์พันทิพา หรือคุณแม่ แสดงบน Facebook ในฐานะนักวิชาการด้านการผลิตอาหารสัตว์ ผมมีความเห็นว่าข้าวสารโครงการรับจำนำข้าวชุดนี้ ไม่ควรนำไปให้แม้แต่สัตว์เลี้ยงบริโภคแต่อย่างใดครับ แต่เพื่อจะไม่ได้ทิ้งไปเลยทันทีอย่างเสียดาย ก็ลองตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ก่อนก็ได้ แล้วค่อยตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ในระหว่างนี้ มีหลายคนเสนอแนะว่า สามารถปรับปรุงคุณภาพข้าวสารเก่าเก็บ 10 ปีของโครงการรับจำนำข้าวได้ด้วยหลายวิธีการ
หนึ่ง เอาเข้าเครื่องเป่าและตะแกรงร่อนทำความสะอาด เป่าและร่อนเอาเศษกระสอบป่าน กรวด ทราย มอด แมลง ขี้หนู ขาแมลงสาบ ออกไปให้หมด เทคโนโลยีของโรงสีข้าวทุกวันนี้ดีกว่าแต่ก่อนมาทำให้เราสีข้าวได้ข้าวสารที่สะอาดมากกว่าสมัยเมื่อพวกเรายังเป็นเด็กๆ มาก อันนี้เป็นความจริงครับ
สอง ข้าวสารที่เม็ดเหลืองนั้น หากเหลืองแค่ภายนอกไม่กินเข้าไปในเนื้อข้าวที่แกนกลางเมล็ดข้าว สามารถนำไปขัดด้วยเครื่องขัดข้าวให้ขาวสวยได้ แต่อาจจะเสียน้ำหนักไปบ้าง ทั้งนี้ต้องลองผ่าเมล็ดข้าวดูก่อนว่าเสื่อมและเปลี่ยนสีไปจนถึงเนื้อในหรือไม่
แล้วนำไปใส่ถุงขาย ในนามของพรรคเพื่อไทยก็ได้ครับ ประชาชนที่เลือกพรรคเพื่อไทยจะช่วยกันอุดหนุนเพื่อชาติ
ส่วนประเด็นเชื้อราและสารเคมีตกค้างนั้น ผมคิดว่าการซาวน้ำ 15 ครั้งก็คงไม่ช่วยอะไร และไม่ควรเอามาบริโภคหรือเอาไปทำเป็นอาหารสัตว์หากตรวจพบว่ามีการปนเปื้อนดังกล่าว