xs
xsm
sm
md
lg

ต้องส่งลูกหลานเรียนไหน ถึงไม่กลายเป็น “คอนเทนต์ของครู”?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ต้องส่งลูกหลานเรียนไหน ถึงไม่กลายเป็น “คอนเทนต์ของครู”?

เกลื่อนโซเชียลฯ คอนเทนต์หนูน้อยที่ดูแล้วน่ารัก อมยิ้ม ตลกขบขัน แต่ถามเด็กหรือยังว่า “อยากเป็นตัวตลกหรือเปล่า?” เด็กได้ประโยชน์อะไร?

ถาม “เด็ก” หรือยังก่อนทำ “คอนเทนต์”

กลายเป็นประเด็นชวนสงสัยอีกครั้ง หลังคลิปน่ารักๆ ใน TikTok ของครูอนุบาลแชร์ทริก “เช็กเด็กอนุบาลช่วงนอนกลางวัน หลับจริงหรือแกล้งหลับ” ซึ่งดูเผินๆ แล้วเป็นคอนเทนต์น่ารักๆ ไม่น่ามีอะไร

แต่กลับถูกหยิบมาถกสนั่นX (Twitter) ด้วยประโยคเดือดๆ ที่ว่า “สงสัยว่าต้องส่งลูกเรียนโรงเรียนระดับไหน ถึงจะไม่กลายมาเป็นคอนเทนต์ครู”



ส่งให้มีผู้ปกครองหลายรายลุกขึ้นมาแชร์ประสบการณ์ตรง หนึ่งในนั้นเล่าว่าหลานตัวเองไม่อยากไปโรงเรียน เพราะครูชอบถ่ายเขาลงTikTok ทั้งที่เด็กอายุเพียง 5 ขวบเท่านั้น
“น้องไม่ชอบให้ครูถ่ายวิดีโอ น้องไม่อนุญาต ครูไม่เคยขอน้อง”

ที่สำคัญคือหลานวัย5ขวบรายนี้ เป็นเด็กที่พูดไม่ชัด จนเรียกเสียงหัวเราะของใครต่อใครได้บ่อยๆ แต่ถึงอย่างนั้น เวลาครอบครัวจะถ่ายคลิปน้อง ก็ต้องขออนุญาตตัวเด็กทุกครั้ง
เหตุผลก็เป็นเพราะว่า แม่ของเด็กเองเคยถ่ายคลิปน้องตอนพูดครั้งนึง แล้วน้องก็บอกกับแม่ว่า “ทำไมแม่จ๋าไม่ขออนุญาตน้องก่อน น้องไม่ชอบเป็นตัวตลกนะ”



ในยุคของ “โซเชียลมีเดีย” ที่อัดแน่นไปด้วยโลกแห่งคอนเทนต์ คลิปสั้นมากมาย หนึ่งในวิดีโอที่เรียกยอดไลค์-ยอดเข้าชมได้อับดับต้นๆ คือ “คอนเทนต์เกี่ยวกับเด็ก”

เพราะภาพความน่ารักไร้เดียงสา คงทำให้หลายคนเห็นแล้วอดยิ้มตามไปด้วยไม่ได้ แต่ในอีกมุมกลับทำให้สังคมหลงลืมเรื่องสิทธิและผลกระทบต่อเด็กๆ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ “อิลย่า สมิร์นอฟ”ผู้อำนวยการ มูลนิธิสายเด็ก 1387 (Childline Thailand) มองว่าตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว “เด็ก” มีสิทธิไม่ต่างกับ “ผู้ใหญ่”ในมุมหนึ่งอาจต้องมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะเด็กมีภาวะเปราะบางมากว่าผู้ใหญ่
ส่วนเหตุผลที่หลายคนยังไม่ตระหนักเรื่องนี้ เพราะ “เด็กไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ เลยคิดว่าจะทำอะไรก็ได้ ทำเหมือนเราเป็นเจ้าของเขา”

                                               {“อิลย่า สมิร์นอฟ” จาก มูลนิธิสายเด็ก}

เรื่องนี้เลยทำให้ผู้ใหญ่มักไม่เคยถาม “ความยินยอมจากเด็ก” ในการคำคอนเทนต์ต่างๆ และอีกเรื่องที่หลายคนมองข้ามคือ “วุฒิภาวะในการตัดสินใจของเด็ก”

แม้ว่าเด็กจะยิมยอมให้ถ่าย แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า “เด็กเขาไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะรู้ว่า สิ่งที่เขาทำลงไปนั้นมันเป็นผลดีต่อเขาหรือเปล่า” เขายอมทำ เพราะมีผู้ใหญ่รอบข้างสนับสนุนให้เขาทำ “แต่กิจกรรมนั้นอาจไม่เหมาะสมก็ได้”

“เพราะฉะนั้น ความเห็นชอบของเด็กก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ประโยชน์สูงสุดของเด็กคืออะไร ถ้าไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็ก เราก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมแบบนี้นะครับ”



“เด็ก” ได้ประโยชน์อะไร?

“น่ารัก ตลก สดใส” นี่คือสิ่งที่คนได้จากการดู “คอนเทนต์เด็ก” แต่เด็กได้ประโยชน์อะไร? กูรูรายเดิมบอกว่า ถ้าเอาเด็กมาใช้เป็นคอนเทนต์เพื่อตัวเอง “ก็เหมือนกับเราแสวงหาผลประโยชน์จากเขานะครับ”

การหาคอนเทนต์กับเด็ก ไม่ได้เกิดเฉพาะคนนอก แต่บางครั้งคอนเทนต์เหล่านั้นก็ออกมาจากคนใกล้ตัว โดยเฉพาะคนในครอบครัว หรือพ่อ-แม่ของเด็กเอง ทำให้เกิดคำถามว่า ผู้ใหญ่เคยตระหนักเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า?

ผู้อำนวยการ มูลนิธิสายเด็ก 1387 ช่วยวิเคราะห์ไว้ว่า ผู้ปกครองมีทั้งแบบที่ “ใส่ใจกับพัฒนาการและผลกระทบของลูก” นั้นก็อยู่มาก คือจะถ่าย จะแชร์อะไร จะถามเด็กก่อนเสมอ หรือแชร์เฉพาะเรื่องบวก “เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก”



กับอีกแบบหนึ่งที่ “ไม่ได้สนใจผลกระทบที่มีต่อเด็ก”แชร์เรื่องราวที่ทำให้เขา “กลายเป็นตัวตลก” ซึ่งก็ต้องมาคิดกันว่า เราอยากให้ลูกเราเป็นแบบไหน เราก็ควรปฏิบัติกับเขาแบบนั้น

“ถ้าเราอยากให้ลูกเราเป็นตัวตลกของสังคม เราก็ทำแบบนั้น แต่ถ้าเราอยากได้ลูกที่ดี ไว้ใจเรา เคารพเรา ลักษณะแบบนี้ไม่ควรทำ”

การสร้างคอนเทนต์จากเด็ก เรื่องหนึ่งที่มีผลกระทบต่อเขาแน่นอนคือ “จิตใจ” เพราะถ้าหากคอนเทนต์ที่ผู้ใหญ่ยัดเยียดมาให้ เป็นสิ่งที่เขาไม่ชอบ มันก็จะกลายเป็น “บาดแผลในใจเด็กได้”

หรือในเด็กที่ชอบและสนุกกับมัน แต่ถ้าเป็น “พฤติกรรมไม่เหมาะสม” เรื่องนี้อาจส่งให้เด็กมีพฤติกรรมแบบนั้นไปจนโตก็ได้ อย่างเคส “งานกีฬาสีที่จับเด็กแก้ผ้าแล้วใส่ชุดแข่งกัน” ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้



รวมทั้งอีกประเด็นที่น่าสนใจคือ “การที่เรามักมองข้ามความรู้สึกของเด็กๆ” ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจาก “วัฒนธรรมของสังคมไทย”

“สังคมไทย ด้วยจารีตประเพณี ก็จะยังถือว่า พ่อ-แม่ เป็นเจ้าของของเด็ก แต่ทิศทางก็เริ่มจะเปลี่ยนไปเพราะเด็กยุคใหม่ เริ่มมีสิทธิ์มีเสียงของตัวเองมากขึ้น”

“ในสังคมไทย ยังมองเด็กเป็นรูปปั้น ที่เราจะปั้นเขาเป็นอะไรก็ได้” คือเราพยายามบังคับให้เด็ก เป็นในแบบที่เราอยากให้เป็น โดยมองข้ามไปว่า จริงๆ แล้วเขาอยากทำอะไร เขาชอบอะไร ทำให้เห็นได้ชัดว่า “เด็กมีภาวะวิตกกังวลสูงขึ้น”

เรื่องนี้ต้องเปลี่ยมมุมมองเสียใหม่ เพราะมนุษย์มีความถนัดและสิ่งที่ชอบต่างกัน พ่อ-แม่ ต้องกลับมาดูว่า “ลูกเราชอบอะไร” และจะสนับสนุนเขาอย่างไร ให้เป็นประโยชน์ต่ออนาคตเขาที่สุด



สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : TikTok @ploywanich18



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น