กว่า 2.7 ล้านคน คนไทยตอนนี้กำลังมีปัญหาเรื่อง “การได้ยิน” แนวโน้มมีปัญหา “หูเสื่อมก่อนวัยอันควร” เพิ่มขึ้น หมอบอกเริ่มเจอใน “คนอายุน้อย” ขึ้นเรื่อยๆ
“ไลฟ์สไตล์” เปลี่ยน “เสี่ยงหูหนวก”
รู้ไหมว่าคนไทยกว่า “2.7 ล้านคน” กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับ “การได้ยิน” และยังมีการคาดการณ์ว่า ในอนาคต ทุกๆ 10 คน จะมีคนไทย 1 คน ที่ “สูญเสียการได้ยินโดยไม่รู้ตัว”
จากข้อมูลของ”โรงพยาบาลราชวิถี” ในปี 61 บอกว่า แต่ละปีมี “ผู้ป่วยโรคการสูญเสียการได้ยิน” เข้ารับการรักษาถึง “3,000 คนต่อปี” และกระทรวงสาธารณสุขยังบอกอีกว่า “กลุ่มที่จะมีแนวโน้มหูเสื่อมมากขึ้น” คือ “วัยรุ่นและวัยทำงาน”
การเกิด “โรคหูเสื่อม” มีอยู่หลายปัจจัย ทั้งจากกรรมพันธุ์ การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส อุบัติเหตุทางศีรษะ หรือประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ และจาก “การทำงานในสถานที่ที่เสียงดัง”
รวมถึง “พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ” เช่น การใส่หูฟังเป็นเวลานาน การคุยโทรศัพท์เสียงดังเกินไป โดยคนที่เสี่ยงที่สุด คือเหล่าคนที่ทำงานหรืออยู่กับเสียง “ดังเกิน 85 เดซิเบล ติดต่อกันเกิน 8 ชั่วโมง”
บางครั้งก็ไม่ต้องฟังติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะการได้เสียงยินดังระยะสั้นๆ ก็เป็นอันตรายได้ อย่าง“เสียงประทัด” “เสียงปืน” บางคนได้ยินเพียงครั้งเดียว ก็อาจทำให้ “ประสาทหูเสื่อมอย่างถาวรได้”
แล้ว 85 เดซิเบล คือความดังระดับไหน? ในชีวิตประจำวันเราใช้“เสียงพูดคุยปกติ”อยู่ที่ “40-60 เดซิเบล” เสียงที่เริ่มรู้สึกหนวกหูอย่าง “การจราจรติดขัด” จะอยู่ที่“80 เดซิเบล”
ถ้าเริ่มสูงกว่านี้จะเป็นพวกเสียงเครื่องจักรในโรงงานหรือเสียงเครื่องบิน ที่มีระดับความดังอยู่ที่ 80-100 เดซิเบล แต่ไม่ต้องฟังเสียงดังขนาดนั้น ก็เสี่ยงทำให้หูเสื่อมได้อย่าง “การใส่หูฟังเป็นระยะเวลานานๆ”
“คนจะมีปัญหาเรื่องการได้ยินมากขึ้น” เป็นเพราะอะไร ทีมข่าวขอให้ ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสตประสาทวิทยา ศูนย์โรคหู การได้ยิน เวียนหัวและเครื่องช่วยฟัง“เอียร์โทน”มาวิเคราะห์ให้ฟังจนได้คำตอบดังนี้
ด้วยไทยตอนนี้เป็น “สังคมผู้สูงวัย” และ “ปัญหาการได้ยิน”เป็นเรื่องที่มาพร้อมกับอายุที่สูงขึ้น ตอนนี้คนอายุ 60 ปีขึ้นไป 1 ใน 3 จะมีปัญหาเรื่องหูตึง “พอสังคมมีคนสุงอายุมากขึ้น ปัญหานี้ก็เพิ่มมากขึ้นในตัว”
“ปัญหาหูเสื่อมก่อนวัยอันควร เราเจอมากขึ้นเรื่อยๆ และอายุน้อยลงเรื่อยๆ”
{ “พญ.นัตวรรณ” ผู้เชี่ยวชาญด้านโสตจาก เอียร์โทน }
“พญ.นัตวรรณ” เล่าให้ฟังว่า “ปัญหาหูเสื่อมก่อนวัยอันควร” แต่ก่อนพบในกลุ่มคนที่ต้องทำงานกับเสียงดังเป็นเวลานาน ซึ่งระยะหลังก็มีกฎหมายดูแลเรื่องพวกมากขึ้น เช่น ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันเสี่ยงให้กับลูกจ้าง
“แต่หลังมากลุ่มที่เขามีปัญหาเจอเสียงดังเยอะๆ กลายเป็นกลุ่มที่ไม่เกี่ยวกับการทำงาน เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ไป คอนเสิร์ต เจอเสียงดนตรีดังๆ มากขึ้น”
เหตุผลหนึ่งเพราะไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้เรามักชอบใส่หูฟัง ฟังนู่นนี่ตลอดเวลา บางคนเปิดเสียงดัง และฟังตลอดต่อกันเป็นเวลานาน“เมื่อเราเจอเสียงดังนานๆ เส้นประสาทหูก็จะเสื่อมลงเรื่อยๆ”
เคสเหล่านี้ “พบในกลุ่มคนอายุน้อยเยอะขึ้น” หูฟังที่เราใช้กันทั่วไป “ไม่ได้มีการกำหนดระดับการขยายเสียง” แต่ถ้าเราฟังไม่ดังและไม่นานเกินไป ก็จะไม่มีปัญหาอะไร
“ตรวจ” ก่อนจะสายเกินไป
เมื่อคนเจอเสียงดังมากขึ้น บวกกับอายุของคนในสังคมที่เพิ่มเรื่องของ “ปัญหาทางการได้ยินจึงเยอะตาม” แต่จะรู้ได้อย่างไรว่า ประสาทหูเราเริ่มปัญหาแล้ว?
จากบทความเรื่อง “เตือน! วัยรุ่น-วัยทำงาน แนวโน้มหูเสื่อม”ของ “www.thaihealth.or.th” อาการเบื้องต้นของคนที่เริ่มมี “ปัญหาการสูญเสียการได้ยิน” คือ“การได้ยินเสียงดังผิดปกติในหู”
อย่าง “ได้ยินเเสียงซ่า เหมือนเสียงสัญญาณทีวี” “เสียงเหมือนน้ำไหล” “เสียงคล้ายเสียงจิ้งหรีด”หรือ “รู้สึกว่าการได้ยินแย่ลงกว่าเดิม”ถ้ามีอาการเหล่านี้ก็ควรไปพบแพทย์ทันที
พญ.นัตวรรณ” เสริมว่า หลายครั้งเวลาคนไข้อยู่ในที่ที่คนเยอะๆ มีเสียงคุยกัน เขาจะฟังไม่รู้เรื่องและจับใจความไม่ได้ แต่พออยู่กันไม่อีกคน กลับฟังได้ชัดเจน
แบบนี้ทำให้หลายคนไม่มั่นใจว่า หูของเรามีปัญหาหรือคิดไปเอง และมักคิดว่าคนอื่นก็เป็นเหมือนกัน ทำให้การที่จะสังเกตอาการระยะของโรคนี้ด้วยตัวเอง เป็นไปได้ยาก
ดังนั้น “องค์กรอนามัยโลก”จึงแนะนำว่า “คนอายุ 50 ปีขึ้นไป” ทุกคน “ต้องเข้าตรวจระดับการได้ยินเสียง” เพราะ “อาการหูตึง” คือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด “โรคสมองเสื่อมได้ในคนวัย 60” ถ้าพบก่อนก็สามารถป้องกันไม่ได้โรคนี้ได้
และอีกกลุ่มหนึ่งคือ “กลุ่มเด็กแรกเกิด” เพราะอาการหูตึงในเด็ก หากปล่อยนานไป เด็กจะกลายเป็นใบ้ เพราะเขาไม่สามารถได้ยินเสียงได้
“แต่อย่างที่บอกปัญหาการได้ยิน มันเริ่มเจอในคนอายุน้อยลงเรื่อยๆ บางคนแค่อายุ 30-40 ก็เจอปัญหาแล้ว ถ้าเขาได้ยินเสียงดังเยอะๆ มาตลอด”
“พญ.นัตวรรณ” บอกว่า ถึงแม้ไม่มีอาการ หรืออายุไม่ถึง 50 ทุกคนก็ควรเข้าตรวจระดับการได้ยิน ทาง “เอียร์โทน”ก็มีแอปพลิเคชันอย่าง “ear test by eartone” ที่สามารถตรวจได้ด้วยตัวเองที่บ้าน “เพราะถ้ารอให้มีอาการ มันก็อาจจะสายเกินไปแล้ว”
คุณหมอท่านนี้ยังเสริมอีกว่า “พฤติกรรมเสี่ยงที่ควรเลี่ยง” คือ การใช้ไม้หรืออะไรก็ตามแยงเข้าไปในหู เพราะกลายครั้งกลายเป็นว่า มันทำให้ หูอักเสบ ติดเชื้อ และควรหลีกเลี่ยงการฟังเสียงดังๆ เป็นแล้วนาน
“เพราะบางที่ถ้าประสาทหูมันเสื่อมไปแล้ว มันอาจจะเสื่อมถาวรไปเลยก็มี”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณข้อมูล : www.thaihealth.or.th , เฟซบุ๊ก ”Deafthaifoundation”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **