คอลัมน์ “Golf Healing” โดย “พลโทนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎ และ โรงพยาบาลรามคำแหง มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมากกว่า 30 ปี somsak_doctor@hotmail.com”
ไอ้เก่ง...ไอ้เก่ง...เฮ้ย ไอ้เก่ง! คุณชูสง่าเรียกลูกก๊วนด้วยเสียงที่ตะเบ็งขึ้นตามลำดับ เจ้าเก่งแว่วเสียงเรียกจึงรีบถอดหูฟัง “ครับ...ครับเฮีย ขอโทษ..เก่งกำลังฟังเพลงเพลินไปหน่อยครับ” “กูว่าหูมึงจะตึงก่อนวัยพราะไอ้เจ้าหูฟังเนี่ย” หลังจากคุณชูสง่าสั่งงานเจ้าเก่งแล้วจึงหันมาคุยกับพี่หมอเรื่องหูตึง ซึ่งเฮียก็ถูกซ้อสุวรรณากล่าวหาบ่อยๆระยะหลังนี้ เฮียเล่าว่า เดี๋ยวนี้ซ้อมักอารมณ์เสียหาว่าเฮียพูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง ไม่ฟัง และชอบขึ้นเสียงกับเขา “เฮียว่าเฮียก็พูดธรรมดานะ แต่ซ้อเขาชอบบ่นอะไรก็ไม่รู้ฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง” “ชัดเลยเฮีย!” พี่หมอวินิจฉัยอย่างมั่นใจ “หา!” เฮียป้องหูฟัง “ชัดอะไรหมอ?” “เดี๋ยวผมจะหาเวลาพาเฮียกับซ้อไปตรวจการได้ยินครับ” พี่หมอเลี่ยงตอบว่าเฮียหูตึงอย่างสุภาพ
หูตึง เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีปัญหาทางการได้ยินที่หูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง โดยอาจเกิดขึ้นช้าๆหรืออย่างเฉียบพลันจากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้น ได้ยินเสียงดังมากหรือดังต่อเนื่องเป็นเวลานาน ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เป็นต้น และถ้าไม่สามารถป้องกันและรักษาอาการให้หายขาดได้ อาจต้องใส่เครื่องช่วยฟังหรือต้องเข้ารับการผ่าตัด
อาการหูตึง อาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือเกิดขึ้นอย่างถาวร ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการดังนี้
1. มักขอให้ผู้อื่น พูดดังๆช้าๆซ้ำๆ เพราะคิดว่าคนอื่นพูดค่อย พูดไม่ชัด หรือพึมพำ
2. มีปัญหาด้านการได้ยิน โดยเฉพาะเวลาที่มีเสียงรบกวนแทรกหรืออยู่กับคนจำนวนมาก
3. เอามือป้องหูขณะฟังคนอื่นพูด มองปากคนพูด หรือต้องโน้มตัวไปใกล้ๆต้นเสียง
4. เปิดวิทยุโทรทัศน์หรือฟังเพลงดัง เผื่อคนอื่นจนน่ารำคาญ
5. รู้สึกวิงเวียนกับเสียงหึ่งๆหรือเสียงกริ่งต่อเนื่องในหู
6. ต้องใช้ความพยายามในการฟังคนอื่นพูดคุยอย่างมาก จนเครียดหรือเหนื่อย
สาเหตุของหูตึง
1. หูชั้นในเสื่อม เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย
2. เซลล์ หูชั้นในได้รับความเสียหายจากเสียงที่ดังอย่างต่อเนื่อง เช่น เสียงเครื่องจักร เครื่องยนต์ จากโรงงาน หรืออาจได้ฟังเสียงที่ดังมากๆในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น เสียงระเบิด เสียงปืนหรือประทัด
3. เป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ เจนตามัยซิน หรือยาเคมีบำบัด
4. โรคหรือภาวะเจ็บป่วยที่อาจทำให้หูตึงข้างใดข้างหนึ่งแบบเฉียบพลัน เช่น น้ำในหูไม่เท่ากัน ติดเชื้อในหู แก้วหูทะลุ ขี้หูอุดตัน หินปูนเกาะกระดูกหู โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
5. ได้รับบาดเจ็บ หรือ อุบัติเหตุบริเวณศีรษะ หรือลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่าง
การรักษาหูตึง ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ
1. ผู้ป่วยบางรายหูได้ยินน้อยลง จากมีขี้หูอุดตัน รักษาโดยการล้างหู ดูดขี้หูโดยใช้อุปกรณ์
2. การใส่เครื่องช่วงฟัง มักใช้กับผู้ป่วยหูตึงจากหูชั้นในได้รับความเสียหาย ทำให้ได้ยินดีขึ้น
3. การฝังประสาทหูเทียม เข้าไปที่หูชั้นใน ใช้กับผู้หูตึงจากความผิดปกติของประสาทรับเสียง
4. การผ่าตัด ในกรณีติดเชื้อในหูซ้ำๆ อาการปวดเจ็บที่หูอย่างรุนแรงหรือโรคหินปูนเกาะกระดูกหู โดยแพทย์จะใส่ท่อเล็กๆในหูผู้ป่วยเพื่อระบายของเหลวในหูออกมาและเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
การป้องกันอาการหูตึง
1. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงรบกวนดังเกิน 85 เดซิเบลและได้ยินเป็นเวลานาน เช่น เสียงการจราจรบนท้องถนน เสียงมอเตอร์ไซด์ เสียงเพลงจากหูฟังที่ดังมากๆหรือเสียงเครื่องบินที่กำลังบินขึ้น เป็นต้น
2. ใช้หูฟังชนิดครอบหู เพื่อกันเสียงรบกวนจากภายนอก แทนการเพิ่มเสียงเพลงดังแข่ง
3. เข้ารับการทดสอบการได้ยินสม่ำเสมอหากต้องทำงานในสถานที่ที่มีเสียงดัง
4. ไม่ยัดสิ่งของเข้าไปในหู เช่น นิ้วมือ ที่ปั่นหู สำลีหรือกระดาษทิชชู่
5. ควรไปพบแพทย์เมื่อเริ่มสังเกตุเห็นอาการผิดปกติทางการได้ยินหรือหูอักเสบติดเชื้อ