xs
xsm
sm
md
lg

เช็กระดับอันตราย “ติดคลิปสั้น” รอไม่ได้-เหงาไม่เป็น-หงุดหงิดง่าย-จิตหลอน-ทำร้ายตัวเอง!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ติดโซเชียลฯ” ก็เป็น “จิตเภท” ได้จริงหรือ? ถามนักจิตวิทยาโซเชียลมีเดีย ค้นหาความจริง เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพตัวเอง

ประสาทหลอน เพราะติด TikTok?

“ติดคลิปสั้น ท่องโซเชียลฯ”ระวังอาจจะ “ประสาทหล่อน”เมื่อ ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวชแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบประสาทและสมอง ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “สาระสมองกับ อจ.สุรัตน์” ว่า “เจอเคสติดคลิปสั้น กระตุ้น โรคจิตแฝง”จึงกลายเป็นที่ถกเถียงหนักมาก

“เร็วๆ นี้เจอคนไข้ผู้หญิง ราชการ อายุ ราว 40 ปี เล่นTiktokติดงอมแงม ต่อมาเห็นภาพหลอน คือ ปกติคนไข้หูแว่วประสาทหลอนนี่เป็น คนไข้จิตเวช แต่นี่รับปรึกษาอายุรกรรมสมอง เพราะเป็นเร็ว เป็นแปลกๆ”

เคสนี้ คนไข้เล่นTikTok Reelทุกวัน เป็นเวลา 4 เดือน โพสต์คลิปทุกวัน นั่งดูคลิปวนไปซ้ำๆ หัวเราะมีความสุข สนุกสนานจนผลิตคอนเทนต์เอง แต่คนไข้คนนี้ ระยะหลัง “ได้ยินคนกระซิบบอกให้ทำคลิป” รวมบอกเทคนิคและวิธีการทำ

“เริ่มหลอนเห็นคนคุยด้วยไปนั่น เค้ามาแล้ว มากระซิบด้วย เห็นไหม มีผู้ชาย ใส่ชุดดำมาตาม จนญาติเอามาส่ง รพ.”

ในโพสต์นี้ยังบอกอีกว่า นี้ไม่ใช่เคสแรก เพราะเคยมีคุณป้าอีกคนหนึ่งที่เล่นTikTokแล้วหลุดออกจากโลกความเป็นจริง หลอนมีคนบอกให้ทำนู่นทำนี่เหมือนกัน

ทางทีมข่าวขอให้ สิริพร เอมอ่อน นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการ กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลหัวหิน และนักจิตวิทยาจากOOCA telemedicalบริษัทให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ช่วยวิเคราะห์เกี่ยวกับกรณีนี้ว่า การติดดูคลิปสั้นหรือการติดโซเชียลฯ ทำเกิดอาการทางจิตได้จริงหรือ?



“เหมือนที่อ่านมา ทำให้เกิดจิตหลอนและเป็นโรคจิตเภทด้วย แต่จริงๆ ตอนนี้ยังไม่มีรายงานทางการแพทย์หรือว่าผลวิจัยที่ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับนะคะ”

“โรคจิตเวช”มีปัจจัยหลายอย่าง ทั้ง ความเครียด ภาวะทางร่างกาย หรือเรื่อง “Psychosocial” หรือ จิตสังคม คือ “พฤติกรรมของคน โดยมีสิ่งแวดล้อมทางสังคมเป็นตัวกระตุ้น”แต่กรณีที่เกิดขึ้น ส่วนมากคือ มีอาการทางจิตอยู่แล้วแต่อาการไม่เคยแสดงออกมา หรือเรียกว่า "โรคแฝง”

“ทีนี้เวลาดูซ้ำๆ เขาเรียกว่า มันเป็นตัวกระตุ้นเนอะ เหมือนเปิดก๊อกน้ำ คือเดิมมันมีน้ำอยู่แล้ว เมื่ออาการที่มันมีอยู่แล้ว ถูกกระตุ้นอาการโรคก็แสดงออกมา”

ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้อธิบายเพิ่มว่า ในคนปกติถ้าเราดูอะไรซ้ำๆ อาจจะเกิดเรื่อง “ภาพติดตา”เพราะสมองรับข้อมูลมากเกินไปทำให้เรานึกเรื่องนั้นอยู่ตลอด หรือบางที่ก็เก็บเอาไปฝัน แต่มันจะเป็นแค่ระยะหนึ่งเท่านั้น

และการที่เราเสพติด หรือดูอะไรพวกนี้บ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่าเมื่อเราทำแล้วมีความสุข สมองจะหลั่งสารแห่งความสุขอย่าง “โดพามีน” ออกมา ทำสมองเราเสพติด และต้องการมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

                                                               {สิริพร เอมอ่อน }

กลายเป็นสังคมที่ “รอไม่เป็น”

แม้การติดดูคลิปTikTokหรือคลิปสั้นต่าง อาจไม่ได้ทำให้เป็น “โรคจิตเวช”แต่จริงๆแล้ว “โซเชียลมีเดีย” มันมีผลกับสภาพจิตคน มากน้อยขนาดไหนกูรูท่านนี้บอกว่า “มันทำให้เรารอไม่เป็น”

ด้วยทุกอย่างที่รวดเร็วขึ้น มันทำให้ทุกวันนี้ เรารอไม่เป็น และส่วนที่จะกระทบคือ “เด็กยุคนี้” ที่เติบโตมาพร้อม “เทคโนโลยี”ทำให้การอดทนของเขานั้นน้อยลง

“กลายเป็นว่าเราก็จะเป็นสังคมที่ เหงาไม่เป็น เบื่อไม่เป็น เพราะว่าเรามีเครื่องมือ เข้ามาทดแทนไอ้สิ่งพวกนี้ตลอดเวลา”

และการเสพคอนเทนต์ ในโซเชียลมีเดีย ถ้ามีเป็นในเซิงบวก มันก็ทำให้เราสนุกแต่ถ้าสื่อด้านลบล่ะ การดูซ้ำๆ ก็กระทบในเรื่อง “อารมณ์”แน่นอน อย่างหงุดหงิด เศร้า หรือเบื่อหน่าย

“แล้วก็อันต่อมาก็กระทบในเรื่องของความคิด ก็อาจจะเป็นความคิดในเชิงลบ เพราะว่าคอนเทนต์มันลบใช่ไหมคะ อาจมีการคิดวน อาจจะเป็นเรื่องของการที่ว่า เฮ้ย..มองโลกแล้วหาสิ่งดีๆ ยากจัง ทำไมถึงมีแต่ข่าวอะไรก็ไม่รู้”



แล้วสุดท้ายมันจะส่งผลต่อถึง “พฤติกรรม”เมื่ออารมณ์ด้ามลบมันเยอะเกิน อาจจะเกิดอาการแปลกแยก ไม่เข้าสังคม หรือถึงขั้นมีความคิดทำร้ายตัวเองมากขึ้น

“มีผลกระทบมากน้อยขนาดไหน จริงๆ ค่อนข้างมากนะคะ มันอยู่ที่ประเด็นคือ ชั่วโมงที่เราเสพมันเยอะแค่ไหนต่อวัน อันนี้อันที่ 1 เนอะ”

2 คือ ตัวคอนเทนต์ที่เสพ มันเป็นแบบไหน เชิงลบหรือเชิงบวก ฉะนั้น ทักษะที่สำคัญและจำเป็นคือ “Media Literacy” การแยกแยะข้อมูล เชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ก่อนตัดสินใจเชื่อกับ “การตระหนักรู้” ว่าเราติดโซเชียลฯ ขนาดไหน เราอยู่กับมันมากเกินไปหรือเปล่า


ปัญหาอาจอยู่ที่ “เรา”

อีกหนึ่งที่น่าคนใจคือ “โซเชียลมีเดีย” ทำให้คน “ขาดความมั่นใจในตัวเอง” และทำให้ “ภาวะซึมเศร้า” ได้ มันเกิดขึ้นได้ยังไง? นักจิตทยาจาก OOCA ท่านนี้อธิบาย “เรื่องโรคซึมเศร้าจาก โซเชียลมีเดีย” ว่า...

“ประเด็นอันแรกก็คือ คนที่เสพสื่อเนี่ย ตัวเขาเองเขาอาจมีสภาวะนั้นอยู่แล้ว แล้วสื่อพวกนี้เป็นตัวกระตุ้นนั้นแหละ กระตุ้นเรื่องอารมณ์ ตัวของเรื่องหาอะไรพวกนี้ อาจจะไปทำให้เขาเกิดความเศร้ามากขึ้น”

ประเด็นที่ 2 สำหรับปกติ หรือไม่ได้มีภาวะซึมเศร้า การเสพคอนเทนต์เชิงลบ ก็อาจทำให้เกิด อารมณ์เศร้าได้แต่คงไม่ถึงขั้นเป็น “โรคซึมเศร้า” แต่ว่ามีผลกับภาวะอารมณ์แน่นอน

ส่วนเรื่อง “ขาดความมั่นใจ” เป็นเพราะในโลกออนไลน์มันคือ “ชีวิตที่ถูกปรับแต่งแล้ว” คนส่วนมากก็โพสต์แต่เรื่องดีๆ ของตัวเอง และเวลาที่คนเรา เปราะบางหรือรู้สึกอ่อนแอ เรามักจะเอาตัวเองไป “เปรียบเทียบกับคนอื่น”

“ช่วงไหนที่เรารู้สึกเปราะบาง แล้วเราแย่อะ เรารู้สึกว่า เราจะเปรียบเทียบกับคนอื่นเยอะ เวลาเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ก็เกิดความไม่มั่นใจ”



อีกอย่างหนึ่งคือ “FOMO” การ “กลัวตกกระแส” ทำให้จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง แล้วบางอย่างมันเป็นเรื่องลบ และถ้าช่วงนั้นสภาพจิตคุณเปราะบาง หรือมีความเครียดอยู่แล้ว มันก็ทำให้สุขภาพจิตแย่ลงไปอีก

ดูเหมือนปัญหาสุขภาพจิตจากโลกออนไลน์ “ส่วนใหญ่มักก็จะมาตัวเราเองทั้งนั้น” กูรูนักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า ก่อนอื่นคือ เราต้องเช็คอารมณ์ตัวเองก่อนว่า เราพร้อมไหม ในการเสพสื่อต่างๆ เหล่านั้น

“สมมติอยู่หน้าTwitterแล้วเราแย่ เราหงุดหงิดจัง เราเศร้า เราเบื่อจังเลยช่วงนี้ หลายคนก็ทำ Social Detoxคือปิดการรับรู้เรื่องของโชเชียลมีเดียไปเลยอะไรแบบนี้”

แต่ถ้าเราถอยห่างออกมาแล้ว ยังมีอาการ มีเศร้า มีเบื่อหน่าย หรือเริ่มมีความคิดทำร้ายตัวเอง แบบนี้ ก็ควรเริ่มเข้ารับการปรึกษากับ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือผู้เชียวชาญทันที



สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น