xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงยอด "ฆ่าตัวตาย" ไทยปริ่มเกณฑ์ WHO แนะวิธีสังเกตคนอารมณ์ดี มีพลังบวก เลือกจบชีวิต ทำตัวคล้าย "มือถือ" ไม่พร้อมรับสัญญาณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จิตแพทย์ห่วงไทยฆ่าตัวตายเกือบ 8 ต่อแสนประชากร ปริ่มเกณฑ์ WHO กำหนด ชี้ 1 คนฆ่าตัวตายสำเร็จ กระทบอีก 6-10 คน เสียใจด้วย ส่วนเคสคนอารมณ์ดี มีพลังบวก แต่เลือกจบชีวิต วิธีสังเกตทำตัวคล้ายมือถือไม่พร้อมรับสัญญาณ ไม่ต้องการเชื่อมต่อโลกภายนอก

เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ในงานสัมมนาวันผู้สูญเสียบุคคลใกล้ชิดจากการฆ่าตัวตายนานาชาติ ครั้งที่ 4 โดยมี ผศ.พิเศษ นพ.ปราการ ถมยางกูร กรรมการสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อมูลของทั่วโลกพบว่า มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละเกือบ 1 ล้านคน หรือเฉลี่ยเป็นทุกๆ 40 วินาที จะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน สำหรับข้อมูลในประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จเกือบๆ 8 ต่อแสนประชากร ขณะที่เกาหลีใต้สูงถึง 24 ต่อแสนประชากร ซึ่งตัวเลขที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ไม่ควรเกิน 8 ต่อแสนประชากร คำถามคืออะไรเป็นเหตุที่ทำให้เขาฆ่าตัวตาย เพราะ 1 คนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ จะมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 6-10 คน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ญาติพี่น้องหรือเพื่อน รวมถึงผู้ที่รู้ข่าวอย่างน้อย 100 คนที่ได้ร่วมสูญเสีย เสียใจไปด้วย ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกากำหนดให้วันหยุดก่อนถึงสัปดาห์วันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) เป็นวันรำลึกผู้สูญเสียคนใกล้ชิดจากการฆ่าตัวตายนานาชาติ ซึ่งจัดกันมากว่า 20 ปีแล้ว


"การฆ่าตัวตายของคนใกล้ชิด เป็นเรื่องที่หลายคนเองไม่อยากรำลึกถึงสิ่งที่สูญเสีย เพราะว่าเป็นบาดแผลที่ข้างนอกดูดีแล้ว แต่ข้างในอาจจะยังเป็นหนองอยู่ ดังนั้นถ้าเราช่วยกันเยียวยาให้หายสนิท แผลนั้นจะดีมากขึ้น ซึ่งผลของการสูญเสียบุคคลใกล้ชิดจากการฆ่าตัวตาย เป็นเรื่องที่คนใกล้ชิดทำใจได้ยาก และติดอยู่ในใจไม่สามารถทำให้หลุดออกไปได้ ซึ่งการทำกลุ่มบำบัดสามารถช่วยได้จริง ซึ่งประเทศไทยก็จะต้องมีการจัดงานนี้ขึ้นในอนาคต" ผศ.พิเศษ นพ.ปราการกล่าว

นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวว่า สมัยที่ยังไม่มีโลกโซเชียล คนที่คิดจะฆ่าตัวตายจะทิ้งจดหมายลาตาย หรือ Suicide note แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นลักษณะของการโพสต์ในสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณการฆ่าตัวตายผ่านโซเชียล ทำให้ผู้ที่เป็นเพื่อนกันในโลกออนไลน์สามารถมาพบเห็นได้ ซึ่งตรงนี้จริงๆทุกคนสามารถแจ้งข้อมูลผ่านสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 เพื่อแทรกแซงเหตุการณ์ไม่ให้ผู้นั้นฆ่าตัวตายได้สำเร็จ โดยขณะนี้มีเครือข่ายการป้องกันการฆ่าตัวตายร่วมกับตำรวจ ฉะนั้น ไม่ว่าคนโพสต์อยู่จุดไหนของประเทศไทย ก็สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุได้ภายใน 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ดำเนินการมา มีการเข้าไปช่วยเหลือกว่า 500 เคส และทุกเคสใช่เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

"ทุกคนอาจจะไม่ได้มีปรารถนาอย่างแรงกล้าในการปลิดชีพตัวเอง หลายเคสเป็นการส่งสัญญาณ ในสิ่งที่คนอื่นเรียกว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจ แต่แท้จริงแล้วเป็นการแสวงหาความช่วยเหลือ ซึ่งเราจะเห็นทุกวันว่าในโซเชียลมีเดียจะมีเรื่องประมาณนี้อยู่ทุกวัน หลายเคสมีเวลาไตร่ตรองอยู่ ซึ่งก็เป็นข้อดีในการให้ตำรวจเข้าไปช่วยเหลือและส่งต่อไปยังสถาบันจิตเวชรับการดูแลรักษาต่อได้" นพ.ณัฐกรกล่าว


นพ.ณัฐกรกล่าวว่า ขณะเดียวกัน สื่อที่นำเสนอข่าวก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ตนสงสัยมาตลอดว่าทำไมต้องพูดถึงข่าว เช่น "ดาราดังสวมเสื้อยืดคอกลม แขนสั้นสีแดง กางเกงขาสั้น 3 ส่วนสีดำ มือขวากำแว่นตาไว้แน่น โดยใช้สายสะพายกระเป๋าหนังผูกคอตัวเองไว้ที่ระแนงไม้" ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การรายงานข้อมูลที่จำเป็น โดยหลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน ตนได้ไปถามตำรวจที่เข้ามาอบรมเรื่องป้องกันการฆ่าตัวตาย ทุกคนจำเหตุการณ์นั้นได้ว่า มือของบุคคลนั้นกำลังกำแว่นตาอยู่ ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่เป็นเรื่องต้องจำ ฉะนั้นสื่อที่นำเสนอเรื่องของการฆ่าตัวตาย หรือผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ขอให้มีการพูดถึงทางออก เช่นสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 หรืออธิบายช่องทางการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้คนอ่านนั้นได้รับทราบว่ามีทางออกและได้ใช้สติไตร่ตรองในเรื่องนั้นๆ

เมื่อถามถึงการสังเกตผู้ที่มีอารมณ์ดี มีพลังบวกมาก แต่สุดท้ายแล้วเลือกจบชีวิตตนเอง ผศ.พิเศษ นพ.ปราการกล่าวว่า สัญญาณเตือนเหล่านั้นจะแสดงออกมาทางอารมณ์ มีความซึมเศร้ามีอารมณ์แปรปรวน หรือโมโหง่าย ประกอบกับพฤติกรรมการแยกตัวเอง ในบางรายอาจพูดถึงว่าตนเองอยู่ไปก็เป็นภาระผู้อื่น สำหรับผู้ที่ฆ่าตัวตายจะมี 2 ประเด็น คือ 1.ผู้ที่ส่งสัญญาณเตือนมาโดยตลอดซึ่งคนรอบตัวจะต้องจับสัญญาณมันให้ได้ และ 2.การตัดสินใจด้วยอารมณ์ชั่ววูบ ที่เกิดจากมีความรุนแรงมากระทบจิตใจหรือความรู้สึก แม้ว่าภายนอกจะดูเป็นคนสดใสร่าเริง ไม่แสดงความทุกข์ที่อยู่ในใจ ดังนั้นการสื่อสารเพื่อให้เขาได้พูดความทุกข์ที่อยู่ในใจก็จะช่วยให้เขาปลดปล่อยความรู้สึกเศร้าออกมาได้

ด้าน นพ.ณัฐกรกล่าวว่า สิ่งที่จะต้องดูคือ เขาดูเปลี่ยนไปจากปกติของเขา เช่น ความสัมพันธ์ทางสังคม แม้กระทั่งผู้ที่เป็นคนโลกส่วนตัวสูง (Introvert) ก็ยังจะมีเส้นหนึ่งที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเขากับโลกภายนอก ฉะนั้นการดูว่าเขาเปลี่ยนไปนั้นต้องรู้ว่า คนๆ นั้นไม่ต้องการที่จะไปเชื่อมต่อกับโลกภายนอก หรือสังคมข้างนอก หรือทำตัวคล้ายมือถือที่ไม่พร้อมรับสัญญาณใด


กำลังโหลดความคิดเห็น