xs
xsm
sm
md
lg

เคแบงก์-ลอมบาร์ดเผยผลสำรวจความท้าทายผู้มีสินทรัพย์สูง แนะลงทุนด้านความยั่งยืน-สินทรัพย์นอกตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Lombard Odier (ลอมบาร์ด โอเดียร์) ร่วมกับ KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) และพันธมิตรทางธุรกิจอีก 5 รายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เผยผลสำรวจล่าสุด ในหัวข้อ The long game: Understanding APAC HNWI's goals โดยถามความคิดเห็นผู้มีสินทรัพย์สูงมากกว่า 460 รายทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใน 7 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไทย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และออสเตรเลีย เพื่อทำความเข้าใจเป้าหมายด้านความมั่งคั่งและลำดับการให้ความสำคัญของผู้มีสินทรัพย์สูงในการที่จะรักษาความมั่งคั่งไว้ให้แก่ทายาทรุ่นต่อไป

นายวินเซนต์ มาเนียนาต์ Limited Partner, Asia Regional Head and Global Head of Strategic Alliances, Lombard Odier
กล่าวว่า ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างความเชื่อและการกระทำของผู้มีสินทรัพย์สูง พวกเขาต่างมีความชัดเจนในเป้าหมายของตนเอง แต่ยังคงไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากผู้มีสินทรัพย์สูงกลุ่มนี้ต้องมีการปรับโครงสร้างสินทรัพย์ของตนเองเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมทั้งต้องมีการทบทวนพอร์ตในประเด็นด้านการลงทุนอย่างยั่งยืนและสินทรัพย์นอกตลาดเพื่อสร้างความมั่งคั่งและกระจายความเสี่ยง แต่ผู้มีสินทรัพย์สูงจำนวนมากยังไม่ได้เริ่มต้นดำเนินการ และเมื่อเป็นเรื่องของครอบครัว การปกป้องคนที่เรารักและความมั่นใจว่าพวกเขาจะได้รับการดูแลที่ดีเป็นเป้าหมายที่สำคัญ แต่ยังมีสิ่งอื่นอีกที่ต้องทำในการบริหารจัดการความมั่งคั่งของครอบครัว ผู้มีสินทรัพย์สูงจึงต้องการที่ปรึกษาที่มีเครื่องมือที่เหมาะสมในการที่จะวางโครงสร้างที่ดีเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายร่วมกันของครอบครัว ดังนั้น วิธีการที่คำนึงถึงเป้าหมายเป็นหลักจึงเป็นสิ่งสำคัญในการตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้มีสินทรัพย์สูงสามารถบริหารจัดการและรักษาความมั่งคั่งและส่งต่อให้ลูกหลานรุ่นต่อไป

ทั้งนี้ จากรายงานดังกล่าวพบความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเป้าหมายกับพฤติกรรมของผู้มีสินทรัพย์สูงในด้านต่างๆ ดังนี้
1.การบรรลุเป้าหมายส่วนตัว เป้าหมายส่วนตัวมีความสำคัญต่อผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยส่วนใหญ่เชื่อว่าการรักษาระดับไลฟ์สไตล์ที่เป็นอยู่ของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ และยังให้ความสำคัญต่อการยกระดับไลฟ์สไตล์อีกด้วย รวมถึงครอบครัวเป็นสิ่งที่ผู้มีสินทรัพย์สูงให้ความสำคัญ แม้อยู่ท่ามกลางตลาดที่ผันผวนและไม่แน่นอน ครึ่งหนึ่งต้องการปกป้องครอบครัวและสร้างความมั่นใจว่าสมาชิกในครอบครัวจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี แต่มีเพียง 1 ใน 5 ที่ได้จัดโครงสร้างสินทรัพย์ของตนเองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ และสามารถบรรลุเป้าหมายได้

2.การลงทุนอย่างยั่งยืน ผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงเห็นว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นโอกาสที่สำคัญ โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่าการพิจารณาปัจจัยด้านความยั่งยืนจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าได้ ในขณะที่กว่าครึ่งเห็นว่าจำเป็นหรือควรจะลงทุนเพื่อความสร้างยั่งยืน แต่มีเพียง 1 ใน 5 ที่ได้เพิ่มหรือวางแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนของการลงทุนอย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตาม คนรุ่นใหม่มีความพร้อมในการลงทุนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากกว่านักลงทุนที่มีอายุมากกว่า

3.สินทรัพย์นอกตลาด ผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปฟิกมีความสนใจในหุ้นนอกตลาด โดยร้อยละ 60 ต้องการลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเห็นว่ามีการเก็งกำไรมากไปในบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็พบว่า มีเพียง 1 ใน 3 ของผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ผนวกสินทรัพย์นอกตลาดเข้ามารวมในพอร์ตการลงทุน และมีเพียง 1 ใน 4 มีความเข้าใจว่าสินทรัพย์นอกตลาดสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ นั่นแสดงให้เห็นถึงการขาดความมั่นใจและความจำเป็นของการศึกษาเกี่ยวกับสินทรัพย์นอกตลาด

4.การเชื่อมโยงเป้าหมายของครอบครัว จากการสำรวจพบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้มีสินทรัพย์สูงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคิดว่ามีการบริหารทรัพย์สินร่วมกันในครอบครัวหรือโดยบุคคลคนเดียว ผู้ที่ไม่เห็นว่ามี “ทรัพย์สินร่วมกัน” อาจไม่ทราบถึงแผนการส่งต่อความมั่งคั่ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นเนื่องจากขาดการสื่อสารที่ดีและกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน และประมาณร้อยละ 60 ไม่แน่ใจหรือไม่มีกระบวนการที่เหมาะสมเกี่ยวกับเครื่องมือการลงทุนเพื่อติดตามความมั่งคั่งของตนเองเมื่อเทียบกับเป้าหมาย ประเด็นนี้จะก่อให้เกิดจุดบอดซึ่งครอบครัวจะต้องพิจารณาตัดสินใจว่าใครจะมีส่วนเกี่ยวข้องและเมื่อใดที่จะต้องตัดสินใจ ซึ่งในประเด็นการบริหารจัดการสินทรัพย์ครอบครัวนั้น คนส่วนใหญ่เห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องดำเนินการ แต่ร้อยละ 41 เพียงแต่หารือกันในครอบครัวแบบไม่เป็นทางการหรือเป็นครั้งคราว โดยไม่ได้มีการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว และ 1 ใน 4 ยังไม่ได้ลงมือทำอะไรทั้งสิ้น

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มผู้มีสินทรัพย์สูงในเอเชียแปซิฟิก พบว่า มีครอบครัวกว่า 7 หมื่นครอบครัวที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนถ่ายไปสู่อีกรุ่น ซึ่งมีเม็ดเงินประมาณ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจากบางส่วนของผลการศึกษาพบว่า กลุ่มทายาทรุ่นใหม่มีความสนใจเรื่องของการลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือการลงทุนอย่างยั่งยืน รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ปัจจุบันในพอร์ตของลูกค้ายังมีการลงทุนในกลุ่มดังกล่าวในสัดส่วนที่ไม่มากนัก แต่เมื่อมีการเปลี่ยนถ่ายมาสู่กลุ่มทายาทรุ่นใหม่ น่ามีการเพิ่มสัดส่วนที่มากขึ้น ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารในการให้ความรู้เพิ่มเติมในการเรื่องดังกล่าว รวมถึงหาผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่างๆ เพื่อมาตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น และนำพาลูกค้าไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

สำหรับสินทรัพย์ภายใต้การบริหารของธนาคารในปัจจุบัน ยังค่อนข้างทรงต้วอยู่ในระดับ 1 ล้านล้านบาท จากจำนวนลูกค้า 12,000 ราย ขณะที่ผลตอบแทนของพอร์ตโดยรวมน่าจะเป็น 0% ซึ่งเกิดจากความผันผวนของภาวะตลาดเงิน-ตลาดทุนโดยรวม อันเป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผลตอบแทนจากตลาดทุนติดลบอย่างมาก โดยนับจากปี 2565 2566 ผลตอบแทนโดยรวมของอุตสาหกรรม -15% กสิกรไทย -5% ซึ่งคาดว่าหลังจากสิ้นสุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดตามที่ตลาดคาดในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้าอัตราผลตอบแทนน่าจะกระเตื้องขึ้น ขณะเดียวกัน ธนาคารต้องหาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มเติม เช่น การลงทุนเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดเพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างผลตอบแทนเพิ่มให้ลูกค้าด้วยเช่นกัน

"ในช่วงที่ผ่านมา AUM ของเราทรงตัว ซึ่งส่วนหนึ่งอย่างที่รู้ว่าภาวะตลาดเงินตลาดทุนผันผวนมาก ผลตอบแทนลดลง บางส่วนได้มีการโยกเงินกลับไปฝากสถาบันการเงิน หรือไปลงทุนอื่นๆ ซึ่งเป็นภาวะที่เป็นทั่วโลก จากตัวเลขการสำรวจพบว่ามีเม็ดเงินที่ไหลออกจากการลงทุนกลับไปสู่ระบบสถาบันการเงินเพื่อหนีความผันผวนของตลาดทุนประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น พอร์ตของเราปัจจุบัน 15% เป็นสินทรัพย์บริหารสภาพคล่อง 70% พอร์ตลงทุนระยะยาว และอีก 15% เป็นพอร์ตสร้างผลตอบแทน ซึ่งปัจจุบันพอร์ตหลักของเราเริ่มที่จะมีผลตอบแทนเป็นบวกต้นๆ แล้ว หลังตลาดมองว่าเฟดสิ้นสุดวัฏจักรขึ้นดอกเบี้ย แต่วงนอกยังเป็นตัวถ่วงอยู่ คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี และในปีหน้าจะดีขึ้น ซึ่งในปีหน้ายังคงมองความเสี่ยงที่ดอกเบี้ยโลก เศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์"
กำลังโหลดความคิดเห็น