xs
xsm
sm
md
lg

“ระบบ SMS เตือนภัย” ไม่พอ บทเรียนกราดยิง ต้องออกกฎหมาย-ซักซ้อมประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พารากอน” ไม่ใช่กราดยิงครั้งแรก ถามหา “ข้อความแจ้งเตือนจากรัฐ” อยู่ไหน? เราควรจริงจังกับเรื่องนี้ได้หรือยัง? กูรูชี้ “ปัญหาไม่ใช่ระบบอย่างเดียว” ต้องถามด้วยว่า “ทุกคนพร้อมหรือยัง”

สูญความเชื่อมั่น ไม่มี “ระบบแจ้งเตือนภัย”
จากเหตุ “เด็กวัย 14” กราดยิงกลางห้างฯ “พารากอน” จนทำให้ผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บอีก 5 ราย เป็นเหตุให้ผู้อยู่ในเหตุการณ์หนีตายกันจ้าละหวั่น

ที่น่าสนใจคือการแจ้งเหตุร้ายครั้งนี้ ส่วนใหญ่มาจากการส่งสารใน “แอปพลิเคชัน” ของเอกชน ซึ่งบาง “แพลตฟอร์ม” ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อ “แจ้งเตือนภัย” เสียด้วยซ้ำ



จนกลายมาเป็นคำถามที่ว่า “คนที่มีข้อมูลคนทั้งประเทศ และสามารถส่งข้อมูลเข้าถึงผู้คนจำนวนมากได้” อย่าง “รัฐ” ทำไมถึงไม่มี “ระบบข้อความเตือนภัยฉุกเฉิน” หรือ “Emergency Alert System” ส่งมาบ้างละ?

ล่าสุด นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน”เพิ่งสั่งเร่งทำระบบ “Emergency Alert System” โดยด่วน ด้าน “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) ได้ออกมาแสดงความเสียใจ ต่อครอบครัว ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

พร้อมบอกว่า ในวันที่เกิดเหตุ “ได้มีการแจ้งเตือน โดยใช้วิธีส่ง SMS” ถึงผู้เข้าอยู่ในพื้นที่สยามพารากอน “บางคน” ว่า “ขณะนี้เหตุการณ์ฉุกเฉินให้อพยพออกจากพื้นที่พารากอน” แต่ไม่ใช้การเตือนแบบเจาะจงจากภาครัฐ

ตอนนี้ทาง “ดีอี” ได้ประสานกับ “สำนักงาน กสทช.” พบว่า ระบบ Emergency Alert System (EAS) หรือ ระบบการแจ้งเตือนภัย อยู่ระหว่างดำเนินการ ให้เหมือนกันกับหลายประเทศ ที่มีการแจ้งเตือนผ่าน “มือถือ” หรือ “Cell Broadcast” ที่ใช้เตือนภัยแบบเจาะจง



เหตุการณ์แบบนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก ทีมข่าวจึงชวนคุยกับ “อ.ปริญญา หอมอเนก”ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัดผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยระบบไซเบอร์ว่า บ้านเราควรจริงจังกับเรื่องแบบนี้แล้วหรือยัง?

“คือระบบเตือนภัย ไม่ใช่ไม่มีนะครับ มีมาก่อนแล้ว ตั้งแต่สมัยสึนามิ”

แต่ปัญหาคือ บ้านเราไม่ค่อยมีเหตุภัยธรรมชาติ หรือการก่อเหตุอย่างในข่าวบ่อยนัก “คือบ้านเรามันสงบ” จึงไม่มี “sense of urgency” คือยัง ไม่มีความรู้สึกว่า มันเร่งด่วน ต้องรีบทำ

“จนพอมีเหตุการณ์นี้ ถึงเปลี่ยนความคิดกันว่า เฮ้ย ควรจะมีระบบเตือนภัยได้แล้วนะ”

กูรูรายนี้แนะนำว่า หากจะเริ่มทำ ควรเริ่ม ณ ตอนนี้ตอนที่เรากำลังตื่นตัวกับเรื่องนี้ แนะว่าควรออกเป็น “กฎหมาย” พร้อมถามกลับว่า

“ตอนนี้อาจจะอยากมี แต่ผมถามผ่านไป 3 เดือน 6 เดือน ยังอยากมีกันอยู่หรือเปล่า อันนี้มันต้องคุยกันให้เคลียร์ว่า คุณเห็นความสำคัญของมันไหม?”
                                                                    {อ.ปริญญา หอมอเนก}

มากกว่า “ระบบ” ที่ต้อง “พร้อม”

แล้วทิศทางของระบบเตือนภัยนี้ มันควรเป็นอย่างไร? อ.ปริญญา บอกว่า ภาษาในการใช้ควรมีหลายภาษา เช่น คนจีนได้รับภาษาจีน คนพม่าได้รับภาษาพม่า เพื่อความเข้าใจง่ายในการสื่อสาร

อีกอย่าง ต้องออกเป็น “กฎหมาย” บังคับใช้ว่า ถ้าเกิดเหตุ ไม่ว่าจะเป็น เอกชน ราชการ ต้องมีหน้าที่แจ้งเตือนลูกค้า และกำหนดรายละเอียด เพราะ“ถ้าไม่ใช่กฎหมาย ก็ไม่มีใครทำ

“ต้องบอกเลยว่า ทุกคนต้องรับรู้ภายในกี่วินาที ต้องซ้อมปีละ 1 ครั้ง ต้องเตือนภายในเวลากี่นาที ต้องแบบนั้นเลยครับ”

แล้วระบบแจ้งเตือนควรเป็น แอปพลิเคชัน หรือข้อความ SMS ดี? อ.ปริญญายังแนะว่า “SMS”เป็นตัวเลือกที่ “เร็วและดีที่สุด” เพราะทุกคนมีมือถือ ถ้าทำเป็นแอปพลิเคชัน คนที่ไม่ได้ติดตั้ง ก็จะไม่รับการแจ้งเตือน



“แต่ก็ต้องระวัง” ต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีการออกแบบและระบบป้องกัน มีไฟล์หรือหัวข้อที่ชัดเจน ไม่อย่างงั้น อาจมีคนปลอมข้อความ เพื่อใช้ปั่นป่วนผู้คนได้

และสิ่งหนึ่งที่อาจารย์บอกคือ ปัญหาไม่ใช่ “ระบบเตือนภัย” อย่างเดียว แต่มีเรื่อง ความพร้อม และความคุ้นชินของคนเรื่อง “การซ้อม” เมื่อเกิดเหตุด้วย

ยกตัวอย่างในยุโรปและญี่ปุ่น ก็มีระบบข้อความเตือนภัย ทั้งเรื่องการก่อการร้าย ภัยธรรมชาติ แต่หลายครั้งก็เป็นการทดสอบ หรือการซ้อมรับมือ ถามว่าที่เขา “ไม่ตื่นตระหนก” หรือ“รำคาญ” เพราะคนมี “ความคุ้นชิน”



“คือคนเขาชินกับการซ้อม แล้วปัญหาของบ้านเราคือ คุณจะทำให้คนชินได้ไหม แล้วก็สร้างความตระหนักรู้ว่ามันสำคัญได้ไหม ปัญหามันอยู่ตรงนี้ อาจไม่ใช้ที่ระบบอย่างเดียว”

บ้านเรามี sense of urgency แต่เป็นเพียงระยะสั้น คือรู้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่เพียงแป๊ปเดียวก็หายไป เรื่องพวกนี้ ต้องทำอย่าง จริงจังและต่อเนื่อง นอกจากเรื่องระบบของ“รัฐ” แล้ว “คนก็ต้องพร้อมซ้อมด้วยถูกไหมครับ”

“มีการซ้อมระดับชาติ บูรณาการหลายๆฝ่าย ทำเป็น National Security day ต้องแนวนั้นเลยและทำอย่างต่อเนื่อง อาจจะปีละ 2ครั้ง ไม่งันคนจะไม่ชิน อย่างที่ญี่ปุ่นคนได้รับข้อความ คนจะรับมือได้ทันที่ เพราะความคุ้นชิน”


 

“ตอนนี้คือ ลูบหน้าปะจมูกอยู่ ยังไม่เอาจริง” อ.ปริญญาชี้ให้ภาพรวมว่า การที่ “รัฐ” ยังทำเรื่องนี้ไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็ต้องมองไปที่ ประชาชนว่าพร้อมด้วยหรือเปล่า?

“อยู่ดีๆ วันหนึ่ง คุณได้รับ SMS ยิงมาเครื่องคุณ แล้วปรากฏว่ามันไม่มีอะไร แบบว่าเป็นการซ้อม คนจะเป็นกระต่ายตื่นตูมเปล่า จะเข้าใจหรือเปล่า มันต้องประชาสัมพันธ์ก่อน มีการซ้อมกัน ผมว่า มันต้องทำให้คนชินก่อน ”

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : en.wikipedia.org ,queensgazette.demo.our-hometown.com , , twitter “@KhaosodEnglish” , “@Stupiduties” , “@joe_black317”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น