“เศรษฐา” ตรวจเยี่ยม ปปง.-มอบนโยบาย ยํ้า โปร่งใส สุจริต เที่ยงธรรม ด้าน “ฉัตรชัย” ปธ.กรรมการ ปปง. ปลื้ม เป็นนายกฯ คนแรกที่ดูแลเอง
วันนี้ (5ต.ค.) เมื่อเวลา 11.10 น. ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายในการปฏิบัติงานแก่คณะผู้บริหารสำนักงาน ปปง. โดยมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานคณะกรรมการ ปปง. และนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. ให้การต้อนรับ
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ปปง.ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2540 เป็นเวลา 24 ปี นายกฯ เศรษฐาเป็นนายกฯ คนแรกที่แสดงความชัดเจนในการกำกับดูแล ปปง.ด้วยตัวเอง ซึ่งตนถือว่าเป็นความมั่นใจของประชาชน ในเรื่องความโปร่งใสและการรับใช้กฎหมาย และยังเป็นขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการ เพราะข้าราชการของ ปปง.จะต้องต่อสู้กับผู้กระทำผิดและเผชิญหลายอย่าง การที่นายกฯ มาเป็นหลักให้จะทำให้เกิดความมั่นใจ ที่สำคัญคือเรื่องการร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเรามีพันธะกับหลายชาติ หากนายกฯ มากำกับดูแลเองก็ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการ การแสดงต่อนานาชาติ
นายฉัตรชัย กล่าวว่า โครงสร้างภาพรวมของ ปปง. ในเรื่องของคน เงิน งาน ซึ่ง ปปง.มีบุคลากรอยู่ 852 คน เป็นข้าราชการ 552 คน และเป็นพนักงานอีก 300 คน ซึ่งเมื่อดูแล้วกำลังก็อาจจะไม่เพียงพอ แต่ในข้อเท็จจริงเราใช้ระบบเครือข่ายโดยการสร้าง ปปง.ภาคประชาชน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ในส่วนงบประมาณนั้น อุปกรณ์มี 432 ล้าน 92 เปอร์เซ็นต์เป็นงบประจำ งบลงทุนมีประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนงานภาพรวมทั้งหมดของการยึดอายัดตั้งแต่มีการตั้ง ปปง.มา เราดำเนินการไปแล้วประมาณ 8.2 หมื่นล้านบาท และได้นำส่งคลังแล้ว 1.6 หมื่นล้านบาท เหลือประมาณ 6 พันกว่าล้านที่อยู่ในกระบวนการ ซึ่งในส่วนนี้จะนำข้อสั่งการของนายกฯ ที่ให้ไว้ว่าให้ทำงานอย่างโปร่งใส คือจะมีการเปิดให้สอบทางกฎหมายตามกระบวนการสาธารณะในเรื่องของงาน ปปง.ต้องการสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ซึ่งจะได้รับนโยบายของนายกฯ ไปดำเนินการต่อไป
ด้านนายเทพสุ กล่าวว่า ปปง.ขอขอบคุณนายกฯ ที่ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการฟอกเงิน การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอนุภาพทําลายล้างระดับสูง ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ระบบเศรษฐกิจ และเป็นภัยร้ายแรงที่คุกคามต่อประชาชน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปปง.ในฐานะบังคับใช้กฎหมายให้เกิดการปฏิบัติ ก็ได้ดำเนินการตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ โดยได้สนับสนุนการปฎิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา และปราบปราม ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทาง ปปง.ดำเนินการโดยยึดหลักธรรมาภิบาลการบริหารบ้านเมืองด้วยกิจการที่ดี มุ่งเน้นให้ความสำคัญการปราบปราม
ด้านนายกรัฐมนตรี กล่าวในห้องประชุมว่า ในการขับเคลื่อนนโยบาย สิ่งที่สำคัญคือการบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนภารกิจงาน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชน เป็นกลไกที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมฟอกเงินให้หมดไป เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรฝอกเงิน และยังส่งเสริมภาพรักความเชื่อมั่นของประเทศไทยในสังคมโลกด้วย สำนักงาน ปปง.ต้องมีความโปร่งใส สุจริต เที่ยงธรรม ในการปฏิบัติงาน เพราะการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นที่คาดหวังของประชาชน ขอให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง นึกถึงหลักสิทธิมนุษยชน ภายใต้กรอบอำนาจกฎหมายที่มีอยู่และมาตรฐานสากล และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการเงิน สร้างความน่าเชื่อถือด้านการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ นอกจากนี้ต้องสร้างภาคีเครือข่ายในการปฏิบัติงานร่วมกับทุกส่วนราชการทุกเครือข่ายภาคประชาชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยยึดหลักคุณธรรมและสุจริต
จากนั้น นายเศรษฐา เปิดเผยถึงการมอบนโยบายว่า สำนักงาน ปปง.ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ประธาน ปปง.เลยบอกว่าตนเป็นนายกฯ คนแรกที่ได้มาเยี่ยมและมอบนโยบาย ถือว่า ปปง.เป็นหน่วยงานสำคัญ เพราะเชื่อมโยงเกี่ยวกับความมั่นคง ปัจจุบันธุรกิจสีเทาทั้งหลาย เรื่องธุรกรรมการเงินเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้เครือข่ายสามารถขยายรายได้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด การพนันออนไลน์ และอีกหลายเรื่อง ซึ่ง ปปง. จะเป็นองค์กรที่สำคัญมากในการที่จะกำกับดูแล โดยเฉพาะเรื่องการยึดทรัพย์ ซึ่งจะเป็นการทำลายต้นตอของปัญหาหลายๆ อย่าง ตนจึงมาพูดคุยและมอบนโยบายว่าเราต้องทำงานกันอย่างรวดเร็วและกระชับขึ้น โดยยึดหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะต้องให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดด้วย โดยต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ การบังคับใช้กฎหมายต้องชัดเจน โปร่งใส และสาธารณะชนรับรู้ได้ เช่น หากยึดทรัพย์มาต้องมีการขึ้นเว็บไซต์ว่าทำงานไปแล้วเท่าไหร่ ยึดของใครมา ส่งคืนรัฐไปแล้วเท่าไหร่ เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทางสำนักงาน ปปง.มีความมั่นใจต่อกรณีดำเนินการที่ค้างอยู่ 6 พันล้าน และต้องมั่นใจว่าให้ความเป็นธรรมด้วย จึงมากำชับว่าต้องรวดเร็วและรวบรัดขึ้น ไม่เช่นนั้นจะมีการโยกย้ายถ่ายเทหรืออะไรได้หลายๆ อย่าง ซึ่งเรื่องการตรวจสอบเส้นทางการเงิน เขาก็มีกำหนดระยะเวลาอยู่ และตนก็มอบหมายไปแล้วว่าแต่ละเรื่องต้องมี KPI มีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน โดยเฉพาะคดีใหญ่ๆ ต้องมี
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้มีข้อครหา ปปง.ในเรื่องของความโปร่งใส โดยเฉพาะผู้บริหารที่มีข่าวว่าไปเกี่ยวข้องกับทุนจีนสีเทา นายกฯ มีนโยบายกู้ภาพลักษณ์ตรงนี้อย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า ตรงนี้ต้องให้เกียรติกับเจ้าหน้าที่ด้วย อย่าพูดกันไปอย่างนั้นเลย ตนเชื่อว่าในวันนี้มาพูดแล้ว ทุกคนเข้าใจถึงเรื่องที่สังคมยังมีข้อกังขาอยู่ การมอบนโยบายในวันนี้ก็เพื่อให้เข้าหน้าที่ทุกคนทํางานอย่างสุจริต รอบคอบ รวดเร็ว และตอบโจทย์สังคมได้ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ดูกันต่อไป ตนเชื่อว่าประสิทธิภาพการทำงานจะดีขึ้น ข้อครหาของสังคมต้องลดน้อยลง