กระทรวงดีอี เผยข้อมูลหลังหารือกับ กสทช. นำแนวทางการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจงมาใช้งาน เริ่มต้นด้วยการส่ง SMS จากความร่วมมือของโอเปอเรเตอร์ ก่อนนำระบบ Cell Broadcast มาติดตั้งใช้งานจากงบประมาณ USO ของ กสทช.
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กล่าวถึงแนวทางทำงานในการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง หลังจากหารือร่วมกับ กสทช. เรียบร้อยแล้ว จะดำเนินงานใน 2 ระยะด้วยกัน
ประกอบด้วย ระยะเร่งด่วนภายใน 1 เดือน จากการนำระบบส่ง SMS ที่ใช้การระบุพิกัดของสมาร์ทโฟน (Location Based Service) ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จากเดิมที่มีใช้อย่างไม่ครอบคลุม ใช้ระบบอย่างไม่บูรณาการ ใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ก่อนเข้าสู่ระยะปานกลางโดยเร็ว ในการนำระบบ Cell Broadcast เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า SMS โดยจะแจ้งเตือนแบบเจาะจงได้ทันที และมีการเตือนได้หลายรูปแบบ เช่น การสั่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสาร การเด้ง Pop-Up ของข้อความ
โดยหลักการทำงานของ Cell Broadcast คือระบบการส่งข้อความแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครื่องมือสื่อสารในพื้นที่ที่มีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ทำให้การส่งข้อมูลรวดเร็วและครอบคลุมทั้งพื้นที่ และ Cell Broadcast ไม่ต้องการเบอร์โทรศัพท์ ทำให้รวดเร็วกว่าการส่ง SMS มาก นอกจากนี้ ระบบ Cell Broadcast สามารถทำงานได้โดย ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
ขณะที่ระบบการแจ้งเตือนภัยแบบ SMS จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าระบบ Cell Broadcast เพราะจะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีในการประมวลผลว่ามีหมายเลขโทรศัพท์ใดอยู่ในพื้นที่บ้าง และใช้เวลาในการส่งข้อความอีกประมาณ 1-20 นาทีในการส่งให้ครบกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ โดยเฉพาะในกรณีที่มีคนจำนวนมากในพื้นที่เป้าหมาย
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. กล่าวเสริมว่า หลังจากนี้ทาง กสทช. จะมีกลไก และการทำงานอย่างการตั้ง Command Center เพื่อให้ผู้ให้บริการเครือข่ายรู้ว่าต้องรับคำสั่งจากใคร พร้อมกับอัปเดตซอฟต์แวร์กระจายส่งสัญญาณ
ทั้งนี้ การให้บริการแจ้งเตือนด้วยระบบ cell broadcast จะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ พร้อมซอฟต์แวร์สำหรับ Cell Broadcast โดยเฉพาะ ซึ่งทางสำนักงาน กสทช. ประสานผู้ให้บริการโทรคมนาคมดำเนินการให้เสร็จพร้อมใช้ทั้งประเทศโดยเร็ว จากงบประมาณของกองทุน USO