xs
xsm
sm
md
lg

โครงสร้างระบบเรื้อรังสังคมไทย “กำนัน” กลายเป็น “ผู้มีอิทธิพล” ที่ “ตำรวจท้องที่” ต้องยำเกรง!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ต่อหน้าตำรวจตั้งหลายนาย ทำไมยังกล้า “ยิง”!! กูรูวิเคราะห์ลึกเชิงโครงสร้างจากเคส “กำนันนก” สะท้อนอำนาจผู้ครองตำแหน่ง “กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน” ที่มักกลายเป็น “เจ้าพ่อ” ที่เหล่าเจ้าหน้าที่สีกากีต้องเกรงใจ

ปกครองลูกบ้าน จนกลายเป็น “ผู้มีอิทธิพล”?

กลายเป็นข่าวดังเมื่อ “หน่อง”ลูกน้อง “กำนันนก” (ประวีณ จันทร์คล้าย)กำนันตำบลตาก้องผู้มีอิทธิพลใน จ.นครปฐมก่อเหตุยิงสารวัตร“แบงค์” (พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว) เสียชีวิต

                                                                    {กำนันนก-ประวีณ จันทร์คล้าย}

ท่ามกลางตำรวจ 26 นาย ที่กำลังสังสรรค์ใน “บ้านกำนันนก”ปมไม่พอใจที่สารวัตร “แบงค์” ไม่ตกลงโยกย้ายตำแหน่งญาติของกำนันนกที่เป็นตำรวจให้

                                                              {สารวัตรแบงค์-พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว}

เพื่อให้สิ่งที่สังคมยังคงสงสัยได้คลายปมทีมข่าวจึงติดต่อไปยัง “โต้ง” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูลผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต ให้ช่วยวิเคราะห์ในเชิงโครงสร้างชัดๆ ว่า เหตุใดในสังคมบ้านเรา “กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน”จึงมักกลายเป็น “ผู้มีอิทธิพล”?

“ดร.โต้ง”บอกว่า กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่น และมีอำนาจในการดูแลความสงบเรียบร้อยของชุมชน “ประเด็นแรก มันทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าตัวเอง มีอำนาจมากกว่าคนในพื้นที่อื่นๆ”

“ประการที่สอง เนื่องจากกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านก็ยึดโยงเกี่ยวกับเรื่อง ฐานเสียงคะแนนเสียงให้กับนักการเมืองท้องถิ่น เช่น การเลือกตั้งของ ส.ส. สจ. ในพื้นที่”

และยังยึดโยงกับนักการเมืองระดับชาติด้วย เพราะพรรคการเมืองก็ต้องการคะแนนเสียงให้กับ ส.ส.ของตัวเอง เพื่อให้ได้เข้าสภา และการจะได้คะแนนก็ต้องอาศัยคนในพื้นที่ “ก็หนีไม่พ้นระหว่าง ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน แกนนำชุมชน”



                                                    {โต้ง-รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์}

“แล้วทำไมคนกลุ่มนี้ถึงดูมีอิทธิพล ก็ต้องถามต่อว่า เขาขึ้นอยู่กับใคร?”

ดร.โต้ง ให้ข้อสังเกตว่า กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็นฝ่ายปกครองซึ่งขึ้นตรงกับ ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ผู้ว่าฯ ซึ่งต้องถามว่ามี ระบบการตรวจสอบดูแลพฤติกรรม การใช้อำนาจของเขาบ้างหรือเปล่า?

“อำนาจที่ไม่มีการตรวจสอบ ก็จะนำไปสู่การใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง อันนี้ตรงตามหลักวิชาการเลย ต้องกลับมาดู คนที่คุมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เป็นใครล่ะ ฝ่ายปกครองทำอะไรอยู่ ไปไหน ผู้ว่าฯ ได้ดูไหม หรือเป็นทั้งระบบเลย”

และ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ก็เป็นที่รู้จักของคนในชุมชน ทั้งยังมีหน้าที่ในการประสานงานทางราชการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือหน่วยงานอื่นๆ “ก็จะทำให้การประสานงาน เปลี่ยนไปเป็นการดูแล”



จากกรณีที่เป็นข่าว การไปสังสรรค์ของกลุ่มตำรวจที่บ้าน “กำนันนก” กันทุกเดือน ดร.โต้ง มองว่าไม่เหมาะสมอยู่แล้ว และตั้งคำถามกลับว่า ทำไมไม่มีหน่วยที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ? เพราะมันจะทำให้เกิด “ความเกรงใจ”

“ไปกินฟรีทุกเดือนอย่างนี้ ถ้าเขาทำผิดจะเกินความเกรงใจในการไม่กล้าใช้กฎหมาย เทียบกับคนธรรมดาที่เขาไม่ได้รู้จักกับตำรวจ แต่เขาฝ่าฝืนอาจจะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ผมว่าการบังคับใช้กฎหมายต่างกันอยู่แล้วครับ”

“ทำไมถึงกล้าชักปืนยิ่งใส่ ตำรวจระดับสารวัตร ต่อหน้านายตำรวจคนอื่นตั้งเยอะ”? ดร.วิเคราะให้ฟังว่า เพราะการที่กำนันนกเชิญนายตำรวจมากินเลี้ยงหลายครั้ง สร้างให้คนรู้สึกว่าเขามีอิทธิพลเหนือตำรวจ ทำให้ “หน่อง” กล้ายิง “สารวัตรแบงค์” ต่อหน้าตำรวจคนอื่น



รวมอำนาจไว้ที่เดียว ปัญหาของ “ระบบมาเฟีย”

“ผู้มีอิทธิพล” คือภาพสะท้อนของ “ปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมไทย”คือเราต้องมีแกนนำในพื้นที่ เพื่อค่อยประสานงานกับส่วนกลาง เพราะบ้านเราเป็น “ระบบแบบรัฐรวมศูนย์”

“หมายความว่าการสั่งการจากส่วนกลาง จะต้องมีคนจากพื้นที่มาค่อยรับนโยบายไปด้วย จะได้ขับเคลื่อนและเชื่อมต่อกับส่วนกลาง ก็ดูเหมือนเป็นแนวคิดที่ดี แต่ปรากฏว่าระบบแบบนี้ อาจจะส่งผลตามมาก็คือขาดการตรวจสอบ ขาดการติดตามกำกับดูแล ก็จะทำให้เกิดการใช้อาจในทางไม่ถูกต้อง”

เมื่อหลายคนบอกว่า “การกระจายสู่ท้องถิ่น” คือทางออก แล้วมันช่วยลดปัญหานี้ยังไง? ดร.โต้ง อธิบายว่า ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาโดยการสั่งการจากส่วนกลางเท่านั้น



“เกิดเหตุอะไรก็ส่วนกลางเช่น เคสนี้ก็ส่วนกลางมาดู แต่หลายปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ เรื่องไม่ถึงส่วนกลาง ก็ไม่ได้รับการแก้ไขโดย เฉพาะเรื่องของตำรวจที่แต่งตั้งโยกย้ายโดยไม่ยึดโยงกับพื้นที่”

การกระจายอำนาจหมายถึง “ตำรวจต้องมีการทำงานคู่ขนาดไปกับประชาชน” เหมือนในอังกฤษที่มีระบบให้คนในชุมชนสามารถตรวจสอบหรือถอดถอนตำรวจในพื้นที่ได้

“แต่บ้านเราเนี่ยก็รวมศูนย์อำนาจแบบสุดโต่ง เพราะฉะนั้น บ้านเราอาจจะต้องปรับสมดุลคือ กระจายอำนาจไปยังระดับจังหวัด คือมีหน่วยงานรักษาความปลอดภัยระดับจังหวัด”

ดร.โต้ง แนะนำระบบที่คล้ายแบบ “ญี่ปุ่น” คือให้มีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด ที่มีการคัดเลือกจากส่วนกลางและตัวแทนจากประชาชน เพื่อมาดูแลประชาชนและตรวจสอบหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เกิดการทำงานที่ยึดโยงกับคนในชุมชนมากขึ้น

“เพราะเขาจะต้องถูกตรวจโดยคณะกรรมการชุดนี้ ที่มีตัวแทนจากภาคประชาชนมาหลายๆ ส่วน จะทำให้การแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น”


สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก” MGR Onlineภาคกลาง-ตะวันออก”,Twitter @UvgtdERt4PWmcjF, @cm_mcv”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น