xs
xsm
sm
md
lg

ว่ายข้ามโขงเสร็จ วอนพิจารณา “อีโก้” โปรดดีไซน์กิจกรรมให้ดี ไม่ก่อ “ภาระที่ไม่จำเป็น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



...มองอีกมุม บางครั้ง “การช่วยเหลือ” ก็มาจาก “ความรู้สึกผิด” อย่างไม่อาจปฏิเสธได้...

“เผอิญว่ากิจกรรมที่คุณโตโน่ทำ มันค่อนข้างคาบลูกคาบดอก คือ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายถึงชีวิต

แล้วพอมันเสี่ยง ก็ทำให้เกิดความเป็นภาระ คือ ถ้าคุณโตโน่จะวิ่งจากสุไหงโกลกไปแม่สาย มันอาจจะไม่เป็นประเด็นเท่านี้ เพราะมันไม่มีความเสี่ยงที่มองไม่เห็น

การวิ่ง (ระดมทุน) มันก็เสี่ยง คุณอาจจะกล้ามเนื้อสลายเฉียบพลัน แล้วก็ไตวายตายไป แต่อย่างน้อยทุกคนเห็นคุณในที่โล่งและที่แจ้ง

แต่พอคุณไปว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งไม่รู้ว่าใต้ผืนน้ำนั้น มันมีอะไรบ้าง และคุณไม่ใช่นักกีฬาว่ายน้ำมืออาชีพ

ซึ่งมันมีคนทำแบบนี้ในประเทศอื่น ว่ายจากสกอตแลนด์ไปประเทศนั้นประเทศนี้ แต่เขาเป็นนักว่ายน้ำระดับโลก เป็นนักไตรกีฬา

และเขาก็มีการซ้อมอยู่บนเรือ ปีละ 11 เดือน ซึ่งคุณโตโน่ไม่ใช่ professional ทางด้านกีฬาทางน้ำ

พอคุณเลือกดีไซน์กิจกรรม ที่มันไม่สอดคล้องกับความสามารถ มันเลยกลายเป็นภาระกับทีมที่จะช่วยชีวิตคุณ ถ้ามันเกิดอะไรขึ้น


และถ้าเกิดคุณตายไป คุณจะทิ้ง “ความรู้สึกผิด”ไว้ในหัวใจคนเยอะมาก คนนครพนมอาจจะรู้สึกผิดว่า เป็นเพราะกูเหรอที่จน ทำให้ต้องมาหาเงินบริจาค แล้วก็ต้องตายไป

โรงพยาบาลนครพนมก็รู้สึกว่า เป็นเพราะกูแน่เลย ทำให้โตโน่ตาย เพราะกูเคยไปเกริ่นเอาไว้ว่า โรงพยาบาลเราขาดแคลนอุปกรณ์”

คือ อีกมุมคิดจากปาก “แขก-คำ ผกา” (ลักขณา ปันวิชัย)คอลัมนิสต์และพิธีกรดัง ที่สะท้อนเอาไว้ผ่านรายการ “ข่าวจบ คนไม่จบ”ถึงโปรเจกต์ “One Man and The River (หนึ่งคนว่าย หลายคนให้)”ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป

แม้สุดท้ายแล้ว จะไม่มีซีนน่ากลัวๆ อย่างที่หลายคนวิตกกังวล ตลอดการว่ายน้ำข้ามโขง เพื่อระดมทุน จัดหาเครื่องมือการแพทย์ให้ “รพ.นครพนม”และ “รพ.แขวงคำม่วน (สปป.ลาว)” ในครั้งนี้

แต่การตั้งคำถามเรื่องการเลือก “กิจกรรมว่ายน้ำ” ที่ไม่ใช่ความถนัดหลักของ “โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์” ก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามไปได้

ที่สำคัญกว่านั้น คือ คอลัมนิสต์รายนี้มองว่า ควรถอดบทเรียนให้สังคมเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึง “แก่นของดรามา” ที่คนออกมาคัดค้านไม่น้อย เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ “ระดมทุน-เสี่ยงชีวิต-สร้างภาระ” อย่างครั้งนี้อีก


“มนุษย์เราไม่กลัวอะไร มากไปกว่ากลัวรู้สึกผิด และคิดว่า เป็นเพราะกูที่ทำให้มึงตาย ถามทุกคนได้เลยว่า กลัวอะไรมากที่สุด คือ กลัวจะทำใครสักคนตายเพราะกู จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

เพราะฉะนั้น สรรพกำลังที่ไม่ทำให้โตโน่ตาย ก็เป็นสรรพกำลังที่เกิดจากความรู้สึก ว่า ถ้าโตโน่จะตาย ต้องไม่ได้มาจากกูนะ ดังนั้น กูทำอะไรได้ กูก็จะทำ

มันก็เลยกลายเป็น “ภาระอันไม่จำเป็น” และคนก็เลยวิจารณ์ว่าเปลี่ยนกิจกรรมไหม ทำอย่างอื่นไหม เดิน-วิ่งการกุศลไหม ไปวาดรูปกับช้างไหม? แค่นี้เลยค่ะ

หวังว่า อีโก้ของโตโน่จะได้รับการขัดเกลา กิจกรรมนี้ส่วนนึงเป็นแค่ excuse (ข้ออ้าง) ของการหล่อเลี้ยง “อีโก้”ของตัวเอง ไม่ให้แหลกสลายลงไปหรือเปล่า?

ยิ่งถูกวิจารณ์ ยิ่งถูกห้าม อีโก้ก็ยิ่งใหญ่ แล้วก็ยิ่งดื้อดึงที่จะฝ่าฟันเสียงวิพากษ์วิจารณ์

เพราะฉะนั้น ความมุมานะตั้งใจอันนี้ มันมีเส้นบางๆ นะว่า มุมานะตั้งใจในสิ่งที่ตั้งความปรารถนาเอาไว้ ภาวนาจิตเอาไว้ว่าจะทำให้สำเร็จ หรือทำเพียงเพราะไม่อยากเห็นอีโก้ของตัวเองถูกทำลายลงไป

และเมื่อกิจกรรมนี้สำเร็จลง หวังว่า โตโน่จะได้นั่งนิ่งๆ พินิจพิจารณาว่า ความสำเร็จอันนี้ มันเกิดจากแรงกายแรงใจของคนเยอะมาก ที่ไม่อยากเห็นคุณตาย และก็ขอให้ได้ใช้โอกาสนั้น ทบทวนแล้วก็ขัดเกลาอีโก้ของตัวเอง”


ส่วนมุมมองเรื่องการสืบทอด “วัฒนธรรมแห่งการบริจาค” นั้น เธอมองว่า เป็นเรื่องยากที่จะให้คนในบ้านเมืองเรา หันมาเห็น “ต้นตอของปัญหา” ได้เหมือนๆ กัน

หนึ่งในเหตุผลนั้น เป็นเพราะ “ช่องโหว่การทำงานของภาครัฐ” ที่สร้าง “ปัญหาเรื้อรังรูใหญ่” จนต้องเดือดร้อนมาถึงพี่น้องประชาชนไทย ให้ต้องหันหน้ามาพึ่งกันเองผ่านคำว่า “บริจาค-ระดมทุน”

“ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศโลกที่ 3 อย่างเรา มักจะมีปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์การเรียน และอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์

แล้วการหาเงิน เพื่อซื้อบริจาคอุปกรณ์การเรียนและเครื่องมือแพทย์ มักจะเป็นการบริจาคที่มี consent (การยินยอม) ที่สูงสุดในสังคม

ส่วนจะขาดแคลนจริงหรือไม่จริง คนจะรู้สึกว่าการแสวงหาความจริง สำคัญน้อยกว่าการที่เราได้ทำสิ่งที่ดีๆ

ต่อให้โรงเรียนไม่ขาดแคลน แต่เด็กจะมีอุปกรณ์เพิ่มขึ้น มันก็ไม่เสียหายอะไร ต่อให้โรงพยาบาลไม่ขาดแคลนจริง

แต่ถ้ามีคนทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง และมีการบริจาคให้สิ่งนั้นเพิ่มขึ้น ก็ไม่เสียหายอะไร

หรือแม้กระทั่งในการหาเสียงของ ส.ก.พรรคเพื่อไทย โครงการ “50 เขต 50 โรงพยาบาล” ซึ่งแขกเคยถามคุณหมอว่า เราจะเอาเงินจากไหนมาสร้างโรงพยาบาล


คุณหมอก็ยังเคยพูดเลยว่า โอ้โห..เรื่องการสร้างโรงพยาบาลจะมีคนใจบุญในประเทศไทยเยอะ ที่ยินดีอยากจะสละเงินมา

เพราะเขารู้สึกว่าการเอาเงินช่วยคนป่วย-คนเจ็บ สำหรับคนไทยมันเป็นการช่วยเหลืออย่างที่สุดแล้ว คือ การช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์

ในแง่ของคนไทยที่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ ก็รู้สึกว่าดีกว่าเอาเงินไปช่วยโปรเจกต์อื่น ซึ่งเราอาจจะไม่อิน

คือ เอาเงินไปเป็นทุนการศึกษาเด็ก เหมือนเราสร้างมนุษย์ขึ้นมาคนนึง หรือเอาเงินไปช่วยโรงพยาบาล ก็เหมือนกับเราได้ชุบชีวิตคนขึ้นมาใหม่อีกคนนึง

ฉะนั้น ในแง่นี้ (โครงการแบบนี้) มันไม่ได้มีอะไรเสียหายด้วยตัวของมันเอง และเราจะเก็บเรื่อง “ไม่มองปัญหาเชิงโครงสร้างเหรอ?”เอาไว้ก่อน เพราะคนพูดกันมาเยอะแล้ว

หรือ “ทำไมเอาเงินไปซื้อเรือดำน้ำ ไม่เอาเงินมาซื้ออุปกรณ์การแพทย์?” เก็บไว้ก่อน เพราะคนพูดกันเยอะแล้ว เพราะทุกคนก็เข้าใจปัญหาอยู่แล้วว่าเป็นยังไง”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ที่มา (ข้อมูล) :https://youtu.be/ab8VSDWQOXE





** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น