xs
xsm
sm
md
lg

“ไม่อันตราย-ไม่เป็นภาระ!?” ฟันธงทุกข้อกังขา โตโน่โปรเจกต์ “ว่ายข้ามโขง-ระดมทุน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตราบใดที่ยังไม่ถึงวันจริงของภารกิจ“One Man and The River (หนึ่งคนว่าย หลายคนให้)” ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 ต.ค.นี้ “โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์” ก็คงต้อง“พิสูจน์ตัวเอง” ไปเรื่อยๆ ว่า โปรเจกต์“ว่ายข้ามโขง-ระดมทุน” ในครั้งนี้ จะไม่มีใครต้องเสี่ยง ทั้งตัวโตโน่เอง ทีมงานเบื้องหลัง ไปจนถึงทีมแพทย์ ฯลฯ หรือต้องไม่เป็นภาระให้ใคร อย่างที่กำลังถูกคนจำนวนไม่น้อยวิจารณ์เอาไว้


และหนึ่งในหลักฐานสำคัญ ที่จะช่วยให้ภารกิจจัดหาเครื่องมือการแพทย์แก่ “รพ.นครพนม” และ “รพ.แขวงคำม่วน (สปป.ลาว)” ลุล่วงไปอย่างไร้ข้อกังขาที่สุด ก็คือการเปิดเส้นทางการว่าย ให้ทุกคนรับรู้ข้อเท็จจริง เพื่อช่วยประเมินความเสี่ยง

อย่างที่เห็นในภาพอินโฟกราฟิก เส้นทางการว่ายน้ำ “ข้ามโขงขาไป” ของพระเอกหนุ่มจิตอาสาคนนี้ จะเริ่มจาก “ลานพญาศรีสัตตนาคราช จ.นครพนม” โดยโตโน่จะว่ายเลียบแม่น้ำโขงฝั่งไทยไปเรื่อยๆ ก่อน

จากนั้นจึงเริ่มว่ายตัดข้ามลำน้ำ เป็นแนวทแยงมุม ตรง “ดอนหมากกะทัน” ซึ่งเป็นสันดอนกลางน้ำ ไปจนถึง “วัดพระธาตุศรีโคตรบอง (สปป. ลาว)” รวมระยะทาง “ขาไป” ทั้งหมด อยู่ที่ราวๆ 5.95 กม.

ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน โตโน่จะเบรกการว่ายน้ำแล้วขึ้นฝั่ง แวะเยี่ยม “รพ.ท่าแขก (สปป. ลาว)” ก่อน จากนั้นถึงจะเป็นคิวของเส้นทางการว่ายน้ำ “ข้ามโขงขากลับ”

โดยเริ่มจากจุดสตาร์ทฝั่งลาว “หาดบ้านนาเมือง แขวงคำม่วน” แบบไม่มีพักเบรก แล้วไปสิ้นสุดที่เส้นชัยฝั่งไทย “ลานพญาศรีสัตตนาคราช จ.นครพนม” (จุดเดียวกับสตาร์ทฝั่งไทย) รวมระยะทาง “ขากลับ”ทั้งหมดราวๆ 2.5 กม.

ที่น่าสังเกตคือ การว่ายข้ามโขงทั้ง “ขาไป” และ “ขากลับ” ของโตโน่ เป็นการว่ายตามกระแสน้ำ ในอีกมุมจึงถือเป็นการทุ่นแรงไปด้วยในตัว โดยเฉพาะช่วงลำน้ำผ่านตัวเมืองนครพนม ซึ่งไม่มีเกาะหรือแก่งหินกลางน้ำ ทำให้กระแสน้ำไหลเป็นทิศทางเดียว

และตลอดระยะการพิชิตภารกิจเพื่อระดมทุนในครั้งนี้ ทางทีมงานเบื้องหลังวางแผนกันไว้แล้วว่า จะให้โตโน่หยุดแวะขึ้นฝั่งเป็นระยะๆ เพื่อรับกำลังใจและเงินบริจาคจากผู้ศรัทธาด้วย ส่วนหน้างานจะออกมาเป็นแบบไหน คงต้องติดตามดูอีกที


ถ้าจะเจาะกันเฉพาะประเด็น “อันตรายเกินไป” อย่างที่หลายฝ่ายบนโลกออนไลน์ห่วงใยนั้น มีกูรูแห่งสายน้ำ “ประสิทธิ์ ปะทะดี” นักว่ายน้ำใน จ.นครพนม ช่วยออกมายืนยันอีกเสียงว่า การว่ายข้ามโขง “ไม่ใช่เรื่องยาก-เรื่องอันตราย” อะไรขนาดนั้น

คอนเฟิร์มเลยว่า “ว่ายข้ามโขง” ง่ายกว่า “ว่ายในสระ”เสียอีก เพราะอย่างที่บอกว่า ถ้าว่ายตามน้ำ ลำน้ำโขงจะกลายเป็นเหมือน “เครื่องทุ่นแรง”แถมยิ่งน้ำขึ้นสูงเท่าไหร่ ยิ่งว่ายง่ายขึ้นเท่านั้น เพราะกระแสน้ำจะพาตัวเราลอยไปได้เอง ต่างกันลิบลับกับน้ำในสระที่นิ่ง

ในส่วนที่ถูกติติงว่า “ดื้อเกินเหตุ-ไม่ฟังใคร”ถึงได้เลือกว่ายข้ามโขงใน “ฤดูน้ำหลาก” แบบนี้นั้น กูรูแห่งการว่ายข้ามน้ำโขงมาตลอด 25 ปีอย่าง “สุเทพ พันธุเศรษฐ” ต้นฉบับคนว่ายข้ามโขงคนแรกของ จ.นครพนม คอนเฟิร์มเลยว่า ฤดูไหนก็ว่ายได้เหมือนกันหมด

คือไม่เกี่ยวกับว่า“น้ำน้อย” หรือ“น้ำหลาก” ถ้าโตโน่จะว่ายไปที่จุดมาร์ก“วัดพระธาตุศรีโคตรบอง (สปป. ลาว)”ขอแนะให้ว่ายแบบ“เฉียงล่อง” ไปตามกระแสน้ำโขง จะได้ไม่เหนื่อย เพราะให้อารมณ์เหมือนลอยคอไปเรื่อยๆ ตามสายน้ำ

[สุเทพ พันธุเศรษฐ]
อีกประเด็นที่ยังถกเถียงกันอยู่เรื่อยๆ คือ ความหวังดีที่ช่วยกันติติงเอาไว้ว่า ภารกิจครั้งนี้อาจกลายเป็น “ภาระของบุคลากรทางการแพทย์” ไป แม้โตโน่และทีมงานจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ล่าสุด “นพ.ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์” ผอ.รพ.นครพนม ช่วยยืนยันแล้วว่า “ไม่เป็นภาระอะไรเลย”

สรุปคือพร้อมให้การดูแลโตโน่และทีมงาน เพราะถือว่าเป็นเกียรติ ที่ได้เป็นส่วนนึงในการดูแลรับผิดชอบภารกิจ บวกกับปกติแล้วทางโรงพยาบาล คอยร่วมสนับสนุนรถพยาบาลและบุคคลากรเคลื่อนที่ ในกิจกรรมต่าง ๆ ของจังหวัดอยู่แล้ว เช่น งานปั่นจักรยานริมแม่น้ำโขง (ทุกเช้าวันอาทิตย์)

[ นพ.ธนสิทธิ์ ไพรพงษ์ ]
ยืนยันชัดเจนว่า ถ้าเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ในระหว่างโตโน่ทำภารกิจพิชิตแม่โขง ทางทีมงานมีแผนรองรับไว้เรียบร้อยหมดแล้ว คือจะมีคณะผู้จัดทีมกู้ภัย และเจ้าหน้าที่ทีมแพทย์ รับมือด้วยสกู๊ตเตอร์ลำเลียง โดยอาจนำเรือคายัคมาต่อชิดกันเป็นแพ เพื่อเข้าช่วยเหลือให้ทันท่วงที


ส่วนความเคลื่อนไหวจากเจ้าของภารกิจอย่าง “โตโน่” นั้น ล่าสุดประกาศผ่านไอจีถึงผู้ห่วงใยทุกคนว่า “ผ่านการทดสอบปอด” เรียบร้อยแล้ว และกำลังจะทดสอบเรื่องความอึด “การทำงานของหัวใจและอุโมงค์น้ำ” เป็นลำดับถัดไป

“ปอดผมแข็งแรงมาก เก็บลมได้เยอะ แล้วก็ฝากกำลังใจมาให้ โรงพยาบาลนครพนม + ท่าแขกด้วย ขอให้ได้เครื่องมือ ที่พวกเราต้องการ

ทุกคนช่วยผมลงมือทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยกันบริจาค ช่วยกันดูแลสุขภาพของตัวเอง ช่วยกันลดขยะพลาสติก เพื่อแม่น้ำทุกสายนะครับ”


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะตอบทุกข้อกังขาเรื่อง “ความปลอดภัย-การสร้างภาระ” ได้ครบทุกข้อแล้ว แต่ประเด็นหลักอีกอย่าง ที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยลุกขึ้นมาคัดค้านคือ “การสร้างวัฒนธรรมบริจาคอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”


คือคนส่วนใหญ่เข้าใจใน “ความปรารถนาดี” ที่พระเอกจิตอาสาคนนี้มีมาแต่ไหนแต่ไร เพราะโตโน่ทำงานเพื่อสังคมให้เห็นตลอด ตั้งแต่โปรเจกต์เก็บขยะทั่วประเทศ จนถึงว่ายน้ำข้ามเกาะ ระดมทุนช่วยสัตว์ทะเล ก็เคยทำมาแล้ว

แต่สิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยกำลังตั้งคำถามคือ ประเทศไทยต้องเผชิญชะตากรรมแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่? พี่น้องประชาชนชาวไทยต้องพึ่งพากันเองไปอีกนานแค่ไหน?

หรือต้องรอให้ดารา-คนดังลุกขึ้นมาทำอะไรยากๆ ไปจนถึงขั้นเสี่ยงชีวิต เพื่อ “ระดมทุน” มาช่วยเหลือเรื่องโรงพยาบาล-เครื่องมือแพทย์ อยู่ร่ำไป

ในขณะที่ “กระทรวงสาธารณสุข-หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” ไม่เคยอุดช่องโหว่ได้ทั่วถึง ไม่เคยทำหน้าที่ของตัวเองให้ไม่บกพร่อง “โดยไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่น” ให้ได้จริงๆ สักที


สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : ig @mootono29, อมรินทร์ทีวี




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น