xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกแรงผลัก #กราดยิงหนองบัวลําภู วิจัยชี้ “เกลียดชัง” มากกว่า “ป่วยจิต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



...#กราดยิงหนองบัวลําภู...

อีกแล้วเหรอ!! โรคจิตแน่ๆ!! ทำไมต้องทำแบบนี้ด้วย!!? หลากอารมณ์ “โกรธเคืองปนหดหู่” ที่ถูกถ่ายทอดออกมาว่อนโซเชียลฯ ในทุกครั้งที่เกิดเหตุ “กราดยิง” ขึ้น และเคสล่าสุด คือ “กราดยิงหนองบัวลําภู”

และคงไม่มีวันจับตัว “ผู้ก่อเหตุ-ผู้ก่อการร้าย” มาสอบถามแรงผลักเบื้องหลังได้แล้ว เพราะผู้พรากชีวิตเด็กน้อยตาดำๆ ณ ศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู ไปแล้วอย่างน้อย 36 ลมหายใจ ได้ปลิดชีพตัวเองไปแล้ว

ทราบข้อมูลพื้นฐานเพียงว่า เคยเป็นอดีตตำรวจ ซึ่งถูกจับพร้อมยาบ้า และถูกให้ออกจากราชการ ส่วนเหตุผลที่ทำไมต้อง “ทำร้ายชีวิตบริสุทธิ์” อาจไม่มีคำตอบที่แน่ชัดมาบอกได้

แต่ถ้าหยิบงานวิจัยในต่างประเทศมาเทียบหลายๆ เคส ก็พอจะทำให้ได้คำตอบคร่าวๆ ว่า “อาการทางจิต” ไม่ใช่แรงผลักหลักด้วยซ้ำ แต่เป็น “ความเกลียดชัง” ต่างหากที่สั่งให้ลั่นไก!!



จากข้อมูลการศึกษา “ความเชื่อมโยงระหว่างการกราดยิงและอาการเจ็บป่วยทางจิต” ของ James L. Knoll IV และ George D. Annas สรุปเอาไว้ว่า...

มี “ผู้ป่วยจิตเวช” เพียง 3% เท่านั้น ที่มีประวัติก่ออาชญากรรมรุนแรง และมีเพียง 1% ที่ใช้อาวุธปืน เพราะผู้ป่วยที่ใช้ปืนก่อเหตุ ส่วนใหญ่ทำเพื่อ “จบชีวิตตัวเอง” แต่ไม่ค่อยเป็นข่าวดังเท่าเคส #กราดยิง

สอดคล้องกับข้อมูลจาก Amy Barnhorst ที่เคยเขียนไว้ในนิตยสาร Psychology Today ว่า ส่วนมาก “มือปืนกราดยิง” ไม่ได้ทำไปเพราะ “เสียงและภาพหลอนในหัว” จากอาการป่วยทางจิตหรอก แต่เพราะ “ถูกกระตุ้นจากความเกลียดชัง” มากกว่า

“ถูกกระตุ้นด้วยความปรารถนา ที่จะใช้อำนาจข่มคนอื่น เพราะโกรธที่รู้สึกว่าชีวิตไม่ได้รับความยุติธรรม เช่น ผู้หญิงที่ไม่อยากนอนกับเขา, นักเรียนกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ชื่นชมความสามารถที่เขามี ฯลฯ”

แม้แต่ข้อมูลจาก “กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐฯ” ยังระบุเอาไว้ผ่านเว็บไซต์ MentalHealth.gov ชัดเจนเลยว่า “ผู้ป่วยทางจิตขั้นรุนแรง” มีความเสี่ยงจะตกเป็น “เหยื่อความรุนแรง” มากกว่าคนทั่วไปมากกว่า 10 เท่า!!



ตรงกับอีกข้อมูลจาก “ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคในสหรัฐฯ” ที่ช่วยคอนเฟิร์มไว้ว่า ผู้ป่วยทางจิตมีแนวโน้มจะ “ทำร้ายตัวเอง” มากกว่า “ทำลายคนอื่น” เพราะ 2 ใน 3 ผู้ใช้ปืนก่อเหตุ ทำเพื่อปลิดชีพตัวเอง

ดังนั้น “โรคทางจิตเวช ≠ ความเกลียดชัง” แม้จะมีบางส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่บ้าง แต่สุดท้ายแล้ว “ผู้ป่วยทางจิตขั้นรุนแรง” ก็ยังไม่ได้ให้ผลเท่ากับ “มือปืนกราดยิงหัวรุนแรง” อยู่ดี

ถ้าจะหยิบ “โรคทางจิตเวช” ขึ้นมากล่าวอ้างว่า เกี่ยวพันกับ “การกราดยิง” จึงควรเน้นไปที่เรื่อง “การเยียวยาหลังเกิดเหตุ” มากกว่าว่า...

ผู้รอดชีวิตและญาติของเหยื่อ จะถูกกระทบจิตใจอย่างหนัก จนส่งผลให้เกิด “อาการซึมเศร้าชนิดรุนแรง” หรือ “ภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง” แค่ไหน

รวมถึงอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ปัญหาเรื่อง “การเข้าถึงอาวุธปืน” ที่ช่างง่ายดาย เพราะถึงแม้จะ “ป่วยทางจิต” แต่เข้าถึงอาวุธไม่ได้ เหตุการณ์สุดหดหู่อย่าง “กราดยิง” คงไม่เกิดขึ้น

เรียบเรียง : ทีมข่าว MGR Live
ที่มา (ข้อมูล) : https://bit.ly/3Eu4JVo





** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น