กรมสุขภาพจิตแนะทางออกเมื่อสูญเสียความรักจนเจ็บปวด ต้องยอมรับความเป็นจริง ปรับจิตใจให้ยอมรับได้ ลดอารมณ์ด้านลบ โกรธ เกลียด ก้าวร้าว ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ฆาตกรรม ช่วยคลี่คลายเป็นพฤติกรรมทางบวก เช่น วิเคราะห์ความผิดพลาดรักครั้งนี้ เพื่อเข้าใจรักครั้งใหม่ ย้ำคนทำผิดแม้อ้างป่วยจิตเวช หรือเกิดจากจิตเวชจริงก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ปล่อยลอยนวล
จากกรณีชายอายุ 35 ปี ฆาตกรรมแฟนสาวอายุ 30 ปี หลังถูกจับกุมสารภาพถึงแรงจูงใจ ขั้นตอนการวางแผนฆาตกรรมอย่างละเอียด ระบุว่าเลียนแบบตามภาพยนตร์ต่างประเทศ และมีการวางแผนล่วงหน้ามานาน โดยบางสื่อมีการนำเสนออย่างละเอียด ทำให้เกิดข้อกังวลเป็นตัวอย่างเหตุลอกเลียนแบบ
เมื่อวันที่ 3 ต.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจที่เรื่องนี้ผ่านการวางแผนมาแล้ว ฟ้องถึงจิตใจที่โหดร้ายของคนในสังคมที่อาจจะมีรายอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ อย่างไรก็ตาม เหตุปัจจัยความรุนแรงเกิดจากความขัดแย้งในความสัมพันธ์ ฟ้องให้เห็นว่ามีประชาชนที่ไม่เข้าใจการแก้ปัญหา ปรับใจกับการสูญเสียความรักที่เกิดความเจ็บปวด ทำให้เกิดความรู้สึกโกรธ เกลียดชังเป็นความก้าวร้าว ถ้าเกิดกับตนเองก็จะเป็นความซึมเศร้า ไปจนถึงการระบาดความรู้สึกออกมาเป็นการกระทำที่เหมาะหรือไม่เหมาะสมก็ได้ ทั้งนี้ การยอมรับไม่ได้ ความรู้สึกด้านลบ การแสดงออก หากเราเข้าใจตัวเอง มีสติ ให้เวลาตัวเองทำใจยอมรับความเป็นจริง แล้วปรับจิตใจให้ยอมรับได้ อารมณ์ด้านลบจะถูกคลี่คลายเป็นพฤติกรรมทางบวก เช่น วิเคราะห์สาเหตุความผิดพลาดความรักครั้งนี้ เพื่อเข้าใจความรักครั้งต่อไป ทั้งหมดนี้เราเห็นใจแต่จะไม่ตามใจ ปล่อยให้ผู้ใช้ความรุนแรงลอยนวล ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ
พญ.อัมพร กล่าวว่า เครื่องเตือนใจจากเหตุการณ์นี้ คือ การนำเสนอของสื่อ ภาพยนตร์ หรือสื่ออื่นๆ ที่ติดกับสีสันความรุนแรง นำเสนออย่างละเอียด ต้องระวังอย่างยิ่ง หากมีการนำเสนอความรุนแรงออกมามากเท่าไร ยิ่งทำให้คนชาชิน เห็นเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น ดังนั้น การนำเสนอควรให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าเกิดกับผู้ก่อเหตุ ครอบครัวและสังคมอย่างไร ขณะเดียวกันการนำเสนอสีสันความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก หากคนที่เลือกเสพมีอารมณ์ด้านลบอยู่แล้ว ปรารถนาความรุนแรง ก็จะวิ่งเข้าหา เท่ากับเพิ่มเชื้อความรุนแรงในใจมากขึ้นเป็นวัฏจักรที่เลวร้าย ตรงนี้สังคมต้องช่วยกันมองในกลไกของสื่อและประชาชนก็สามารถเป็นสื่อได้เองด้วย อาจทำให้ความก้าวร้าวเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีของสังคม ที่สำคัญทุกคนต้องสำรวจตัวเองไม่ปล่อยใจและไม่เป็นส่วนหนึ่งในการเติมความรุนแรงในสังคม
เมื่อถามว่านานเท่าไรในการสะสมพฤติกรรมเลียนแบบแล้วถึงแสดงออกเป็นความรุนแรง พญ.อัมพร กล่าวว่า อาจเกิดได้ฉับพลันทันทีหากสิ่งที่ชี้นำสอดคล้องกับความประสงค์ของตนเอง แต่ก็มีการเลียนแบบค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยในสิ่งที่ตรงกับจิตใต้สำนึกของตัวเอง ฉะนั้น อย่ารอให้ตัวเองเริ่มรู้สึกไม่ไหวแล้วจึงแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง แต่จงทยอยดูแล ชำระตะกอนขุ่นๆ ในใจด้วยวิธีที่ถูกต้อง เผื่อให้ไม่มีพื้นฐานจิตใจที่ผลักดันให้ทำความรุนแรง
เมื่อถามต่อว่าการเผชิญความรุนแรงมาก่อน เป็นสาเหตุในการก่อเหตุหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า ไม่จำเป็นแต่เกี่ยวข้องได้ เนื่องจากผู้ใช้ความรุนแรงมักจะเรียนรู้ผ่านกระบวนการความรุนแรงมาก่อน เช่น เป็นเหยื่อความรุนแรง เห็นสิ่งแวดล้อมที่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา หรือคนๆ นั้นอาจเคยทดลองใช้ความรุนแรงระดับหนึ่งแล้วตนเองยังไม่เห็นผลเดี๋ยวนั้นอย่างชัดเจนทันที
เมื่อถามถึงบทบาทของกรมสุขภาพจิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ป้องกันการเลียนแบบ พญ.อัมพร กล่าวว่า กรมมีกลไกลดักกรองปัญหาความก้าวร้าวรุนแรง มีคนคอยสังเกตสัญญาณเตือนว่า จะเกิดความก้าวร้าวรุนแรงในชุมชนนั้นๆ ซึ่งสังคมชนบททำได้ง่ายกว่าเพราะมีกลไก อสม. ไปจนถึงกลไกผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังกลุ่มเสี่ยงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง ขณะเดียวกันฝากถึงทุกคนที่เริ่มเกิดปัญหาความขัดแย้ง อย่ารีรอ ควรรีบปรึกษาผู้เชี่ยวาญ หรือหาทางออกที่สร้างสรรค์
"กรมสุขภาพจิตเห็นความสำคัญในการนำเสนอภาพความรุนแรงจนเกิดความชาชิน กรมมีช่องทางการสื่อสารของตนเอง รวมถึงอาศัยกลไก Influencer กระจายมิติที่ดีอย่างต่อเนื่อง แต่พื้นที่ดีๆ มักตามไม่ทันเหตุการณ์ความรุนแรง ดังนั้น เราจึงมีบทบาทเยียวยาผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นๆ ป้องกันไม่ให้เหยื่อ พยาน ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ก่อความรุนแรงในอนาคต หลายกรณีที่เหยื่อรอดชีวิต อาจเกิดบาดแผลในใจ ทั้งความแค้น ความเจ็บปวดที่อาจบ่มเพาะให้เขาก่อความรุนแรงในอนาคตได้ หากกลไกเยียวยาเข้าไม่ถึงก็ติดต่อมาที่กรมสุขภาพจิตได้เสมอ สายด่วน 1323 เพื่อไม่ให้แผลนั้นเป็นต้นเหตุไปสู่วิกฤตที่เลวร้าย” พญ.อัมพรกล่าว
เมื่อถามถึงการอ้างความเจ็บป่วยทางจิตในการก่อเหตุความรุนแรง พญ.อัมพร กล่าวว่า ความเจ็บป่วยทางจิตเกิดขึ้นได้เสมอ ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด กังวล ความเศร้า แต่ทั้งหมดไม่ใช่เหตุผลที่ทำความรุนแรง เราเข้าใจโรคทางจิตได้ เพื่อนำไปสู่การรักษา ไม่ใช่เข้าใจเพื่อตามใจหรือปล่อยให้ทำความผิด การอ้างอิงความเจ็บป่วยไม่ใช่เหตุของการลดโทษ ยังคงต้องรับผิดชอบสิ่งที่กระทำ หากการก่อเหตุเกิดขึ้นจากโรคทางจิตเวช ความรับผิดชอบในการชดใช้ความผิดยังเกิดขึ้น คู่กับการรักษาโรค คนมักเข้าใจผิดว่าเมื่อรักษาแล้วไม่ต้องรับผิดชอบ แต่จะมีรายละเอียดทางกฎหมาย กรณีคนนั้นทำผิดโดยไม่รู้ผิดชอบชั่วดี โดยสิ้นเชิง เนื่องจากโรคทางจิตเวชหรือระบบประสาท พิสูจน์ได้ว่าขณะทำไปนั้น ไม่รู้ตัว ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ศาลจะใช้ดุลยพินิจตามกระบวนการตามกฎหมาย