MGR Online - “รมว.ยุติธรรม” ลงนามเอ็มโอยู 15 หน่วยงาน ร่วมแก้ปัญหาผู้เสพยาป่วยอาการทางจิตเพิ่มสูงขึ้น หวังครอบครัว-ชุมชนสอดส่องดูแลใกล้ชิด
วันนี้ (3 ต.ค.) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตจากการใช้สารเสพติด และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ เพื่อการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต อันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด โดยมี น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม , นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. และผู้แทน 15 หน่วยงาน เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เข้าร่วม
โดย นายสมศักดิ์ กล่าวว่า จากบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ การแก้ปัญหา ผู้มีอาการทางจิต จากการใช้ยาเสพติด ร่วมกันของ 15 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 6 มี.ค.62 ปัจจุบัน มีผลสิ้นสุดลงแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.65 จึงทำให้เกิดการลงนามร่วมกันอีกครั้งในวันนี้ เพราะจากข้อมูล การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ พบว่า มีสัดส่วนผู้เข้ารับการบำบัด และใช้ยารักษาโรคทางจิตเวชร่วม เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2565 มีจำนวน 8,871 คน ส่งผลให้ผู้มีอาการทางจิต จากการใช้ยาเสพติด มีแนวโน้มก่อความเดือดร้อนให้กับสังคม เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการสำนักงาน ป.ป.ส. ปี 2565 พบว่า มีข่าวผู้ใช้ยาเสพติด ก่อเหตุ จำนวน 731 ข่าว เพิ่มจากปี 2564 เป็น 2 เท่า ที่มีเพียงจำนวน 307 ข่าว
“ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหา จึงต้องเร่งแก้ไข กลุ่มผู้มีอาการทางจิต จากการใช้สารเสพติด โดยใช้สาธารณสุขนำ เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ร่วมกันค้นหา บำบัดรักษา และติดตามดูแลช่วยเหลือ รวมทั้งต้องเสริมสร้างความร่วมมือ จากครอบครัวและชุมชน เข้ามาช่วยแก้ปัญหา” รมว.ยุติธรรม กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปประเทศออสเตรเลีย เพื่อไปแลกเปลี่ยนการปราบปรามยาเสพติด รวมถึงได้หารือถึงการบำบัดฟื้นฟูด้วย เพราะที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า เรายังเข้าไม่ถึงในเรื่องการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด จึงมีข่าวผู้ติดยา ทำร้ายคนในครอบครัว อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น การร่วมมือกันในวันนี้ จะสามารถช่วยแก้ปัญหาการบำบัดได้ เพราะจะมีการวางกรอบการทำงานที่ชัดเจนว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักตามประมวลกฎหมายยาเสพติด คือ กระทรวงสาธารณสุข
ขณะที่ พล.ต.ท.ภาณุวัฒน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า เรื่องการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ต้องมีเจ้าภาพที่ชัดเจน เพราะการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ มีถึง 15 หน่วยงานร่วมกัน ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา ตำรวจ ไม่มีบทบาทในเรื่องนี้ เพราะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ กระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้ตำรวจ ทำได้เพียงโครงการป้องกัน ที่มีการบำบัดเป็นกิจกรรมร่วมด้วยเท่านั้น ส่วนการส่งผู้ติดยา เข้ารับการบำบัด ก็พบว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังไม่มีความพร้อม โดยจากการทำงานที่ผ่านมา พบว่า หน่วยงานที่ขับเคลื่อนเรื่องการบำบัดได้ดีคือ กระทรวงมหาดไทย เพราะมีกลไกท้องถิ่น ที่เข้าถึงทุกชุมชน
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า การบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ต้องใช้ระยะเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาเสพติดมาเป็นเวลานาน ซึ่งจะมีอาการทางจิต จึงอาจทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า มีผู้เสพมากขึ้น ทั้งที่ข้อมูลพบว่า มีผู้เสพน้อยลงแล้ว แต่ที่เห็นข่าว ผู้มีอาการทางจิต จากการใช้ยาเสพติดก่อเหตุมากขึ้น เพราะยังต้องใช้เวลาในการบำบัดต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่มีผู้เสพมากขึ้น