xs
xsm
sm
md
lg

ค้นมิติ “ชัชชาติ” ที่มากกว่า “ผู้ว่าฯ คนใหม่” เผยมุมฝาแฝดเด็กเรียน-คุณพ่อหัวใจแกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เขาคือผู้ว่าฯ กทม. ครองใจได้หมดทั้งเมืองหลวง 50 เขต ลงทุกพื้นที่-ปลุกความหวัง คว้าคะแนนถล่มทลาย พร้อมชูกว่า 200 นโยบาย “ลดจุดเสี่ยงอาชญากรรม-พัฒนาทางเดินเท้าให้มีคุณภาพ-ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วม” สะท้อนความตั้งใจ ‘จะไม่ทำให้ผิดหวัง’




ครองใจได้หมดทั้งเมืองหลวง 50 เขต


“สิ่งแรกที่จะทำ คือขอให้เจ้าหน้าที่ กทม.ทุกเขตไปอ่านนโยบาย 200 ข้อของผมก่อนเลยครับ เพราะนั่นคือสิ่งที่เราสัญญาไว้กับประชาชน...”


“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เจ้าของฉายา “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” กล่าวหลังเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าได้ตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” คนต่อไปในประวัติศาสตร์การเมืองไทย สามารถครองใจชาวกรุง คว้าคะแนนถล่มทลายกว่า 1,386,215 คะแนนจากปลายปากกาประชาชน


“ถ้า กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) รับรองอย่างเป็นทางการให้ผมได้เป็นผู้ว่าฯ ผมก็พร้อมจะเป็นผู้ว่าฯ ของทุกคน ไม่ว่าพวกเราท่านไหนจะเลือกผม หรือไม่เลือกผม ผมก็ต้องรับใช้ทุกคนเหมือนๆ กัน

เพราะผมถือว่าเราได้เป็นตัวแทนของคนกรุงเทพฯ และผมว่าอนาคตต่อไป เรามาเดินร่วมกัน เราเห็นต่างกันได้ แต่เราอย่าเกลียดกัน เราอย่าทะเลาะกัน

การเลือกตั้งผ่านระบอบประชาธิปไตย เราผ่านจุดนั้นมาแล้ว ถ้าเกิดคนไหนมาดูแลพี่น้องประชาชน ก็ต้องดูแลอย่างเท่าเทียมกัน กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่เต็มไปด้วยความหวัง มีความสวยงาม มีสิ่งที่มีคุณค่ามากมาย แต่ที่ผ่านมา มันคงมีหลายๆ เรื่องที่ทำให้เพชรเม็ดนี้ไม่ได้รับการเจียระไนอย่างเต็มที่…”

พร้อมเรียกร้องสิ่งสะท้อนของประชาชน โดยให้ข้าราชการกรุงเทพมหานครไปเปิดดูนโยบาย 214 นโยบายของตน และทีมงาน ซึ่งเป็นจุดเลี้ยวจุดเริ่มที่ต้องเดินไปด้วยกัน หากไม่เห็นด้วยก็ให้มาคุยกันได้ เพื่อทำตามนโยบายดังกล่าว

เรียกได้ว่าถือเป็นความหวังของคนกรุงเทพฯ เพราะมุมนโยบายกว่า 200 ข้อ ผ่านมิติ "9 ดี" ได้มีการชูสโลแกน “ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” เป็นนโยบายย่อยบางส่วนที่จะพัฒนาแก้ไขปัญหากรุงเทพมหานครให้ดีขึ้นใน 4 ปี ดังนี้


1. ปลอดภัยดี คือ สร้างแผนที่จุดเสี่ยงอาชญากรรม จราจร และสาธารณภัย เชื่อว่าหากรู้ก่อนก็จะสามารถป้องกันได้ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์สั่งการให้มีความชัดเจนและคล่องตัวในการรับมือสาธารณภัย และให้พนักงาน กทม.ช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเหตุ ถนนพัง ไฟดับ ทางเท้าทรุด

2. เดินทางดี คือ ใช้ระบบจัดการจราจรอัจฉริยะ (ITMS) บริหารจราจรทั้งโครงข่ายเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร
ไม่เพียงแค่นั้น พัฒนารถสาธารณะทั้งระบบ เพื่อรถสายหลักและรอง (Trunk and Feeder) ให้มีราคาถูกและเป็นราคาเดียว พร้อมยังหารือเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพื่อลดรายจ่ายประชาชน และพัฒนาทางเดินเท้าให้มีคุณภาพ

3. สุขภาพดี คือ เชื่อมโยงประวัติคนไข้ภายในสถานพยาบาลของกรุงเทพฯ เพื่อการส่งต่อและดูแลรักษาได้อย่างทั่วถึง และเพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย พัฒนาลานกีฬาต้นแบบ 180 แขวง 180 ลาน ภายใน 100 วันแรก

4. สร้างสรรค์ดี คือเปลี่ยนศาลาว่าการ กทม.เดิม เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองและพื้นที่สาธารณะ และสร้าง Open Art Map and Calendar ให้ประชาชนปักหมุดกิจกรรมเพื่อตามเสพงานศิลป์ได้ทั่วกรุง


5. สิ่งแวดล้อมดี คือ มีการวางโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้นเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เป็นกำแพงกรองฝุ่นตามธรรมชาติ อีกทั้งเดินหน้าโครงการตรวจจับรถปล่อยควันดำเชิงรุกจากต้นทาง และจัดทำโครงการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง

6. โครงสร้างดี คือ มีการวางแผนต้นแบบเมืองใหม่ (ชานเมือง) ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วม และยังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งลดการกระจุกตัวในเขตเมือง

7. บริหารจัดการดี คือ มีการพัฒนาระบบการขออนุญาตจาก กทม.ให้ประชาชนตรวจสอบและติดตามได้ มีการจัดสรรงบประมาณบริหารกรุงเทพฯ ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน (Participatory Budgeting) อีกทั้งเปิดให้ประชาชนร่วมประเมิน ผอ.เขต และผู้ว่าฯ ได้




8. เรียนดี คือ เปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักเรียนและชุมชน เพื่อให้เป็นพื้นที่สาธารณะ และ กทม.มีการอุดหนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาให้แก่โรงเรียนและนักเรียนในสังกัด เช่น ค่าชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน ประกันอุบัติเหตุสำหรับนักเรียน อีกทั้งเพิ่มหลักสูตรภาษาต่างประเทศ

และ 9. เศรษฐกิจดี คือ ยกระดับผู้ค้าแผงลอยให้มีความยั่งยืน พร้อมเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงิน และให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี และจัดหาสถานที่ค้าขาย รวมทั้งโปรโมตและต่อยอดผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาด E-Commerce ขนาดใหญ่




เปิดประวัติ “ความหวังของคุณกรุง”


ผู้ได้รับฉายาว่ารัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี ที่ชาวโซเชียลฯ ตั้งให้ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากภาพเดินเท้าเปล่า ถือถุงกับข้าวไปรอใส่บาตรพระตอนเช้า ที่ จ.สุรินทร์ จนกลายเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่เป็นขวัญใจวัยรุ่น ส่งให้มียอดติดตามทางแฟนเพจ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” กว่า 1 ล้านคน


ความทุ่มเท ความคิดความสามารถ การเข้าถึงปัญหาที่แท้จริงของเขานั้นทำให้หลายๆ คนชื่นชอบและชื่นชม ทว่า ชัชชาติไม่ได้เป็นที่จดจำแค่ในฐานะ “ความหวังของคนกรุง”หรือ “รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” เท่านั้น แต่ยังถูกจดจำไปถึงความสามารถจากสายเลือดจากพี่ชาย ซึ่งเขายังเป็นแฝดน้องของ “ฉันชาย สิทธิพันธุ์”

โดยแฝดผู้พี่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้าปริญญาโท และเอกด้านโรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤตทางระบบหายใจ จากสหรัฐอเมริกา มีความเชี่ยวชาญด้านอายุรกรรมโรคปอด ระบบทางเดินหายใจและทรวงอก ซึ่งฉันชาย แฝดผู้พี่ เคยดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการแพทยสภา วาระ พ.ศ. 2562-2564


ทว่า ถึงหน้าตาและลักษณะท่าทางเหมือนกันมาก แต่สิ่งที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้ คือในด้านความสามารถและความเห็นทางการเมืองนั้น ทั้งคู่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

แฝดผู้น้องอย่างชัชชาติ ผู้ว่าฯ ในนามอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อพรรคใด เป็นนักเรียนดี บุคคลที่มาพร้อมกับการเรียนอันดีเยี่ยม ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และได้รับเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จบปริญญาโท ในสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา และบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกใบ ก่อนที่จะต่อดอกเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ปี 30

[ขอบคุณภาพประกอบ ฺฺBBC Thai]
หลังจากทำงานด้านวิศวกร จนถึงปี 55 ได้เข้าสู่เส้นทางการเมืองด้วยการเข้ามาช่วยงานและให้คำปรึกษาแก่กระทรวงคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 และรัฐบาลสมัคร โดยที่ไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ จนกระทั่งปี 55 เขาได้รับโอกาสจากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม




คุณพ่อผู้แข็งแกร่ง


การเข้ามาทำงานการเมืองของ “ชัชชาติ” หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า หนึ่งในเหตุผลนั้นคือ เพราะอยากให้ลูกชายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากลูกชายเพียงคนเดียวเป็นผู้พิการทางการได้ยินตั้งแต่กำเนิด และเคยได้ให้สัมภาษณ์ผ่านเพจ ‘มนุษย์กรุงเทพ’ ไว้ว่า ได้ทราบว่าลูกชายมีปัญหาการไม่ได้ยินตั้งแต่วัย 1 ขวบ ทำให้มองเห็นปัญหา เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตลูกจะต้องใช้ชีวิตได้อย่างไร


“พออายุ 1 ขวบกว่าๆ ผมตัดสินใจพาไปตรวจ พยาบาลบอกผลว่า ลูกชายของผมหูหนวก เคยเห็นเด็กหูหนวกส่งภาษามือ แต่ไม่คิดว่าจะเจอกับตัวเอง เป็นวินาทีเปลี่ยนชีวิตเลย ตอนนั้นผมตกใจ นั่งร้องไห้ สงสารลูกว่าอนาคตจะเป็นยังไง เราเหมือนปฏิเสธตัวเอง

คิดว่าหมออาจตรวจผิด เลยไปตรวจที่อื่น แต่ทุกที่ก็บอกเหมือนเดิม ผมถึงขนาดไปไหว้พระ บนบานศาลกล่าว ขอให้เขาหาย ตอนลูกหลับก็เอาหูฟังเสียงดังๆ เปิดใส่ เผื่อจะกระตุ้นให้เขาได้ยิน เป็นความหวังลมๆ แล้งๆ เวลาผ่านไปเริ่มตกตะกอนว่าเป็นไปไม่ได้…

ประเทศที่ผ่าตัดได้เยอะคือ ออสเตรเลีย ผมติดต่อไปหาหมอคนหนึ่ง เขาผ่ามานับพันคน บินไปคุยอยู่สองครั้ง แล้วถึงพาลูกไปตรวจ พอรู้ผลว่าผ่าได้ ตอนนั้นผมเป็นอาจารย์ เลยสอบเอาทุนจากรัฐบาลออสเตรเลียไปทำวิจัย แล้วพาลูกไปผ่าเมื่อเดือนธันวาคม 2002 ใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมง

แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือเราต้องฝึกให้เขาเข้าใจเครื่องนี้ ปกติประสาทหูชั้นในมีลักษณะเป็นก้นหอย มีขนๆ อยู่ พอได้ยินเสียง ขนก็สั่น แล้วเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นสมอง แต่ลูกของผมไม่มี เลยใส่ขดลวดไฟฟ้าไปแทน เวลาพูดจะเหมือนที่เราพูดกัน แต่เขาจะได้ยินอีกแบบ สมมติคำว่า พ่อ เขาก็จะได้ยินเป็น ตึ๊ด ติ๊ด ติ๊ด


หลังจากผ่าตัด ช่วงแรกเขาไม่พูดเลย เราก็เครียด ไม่รู้ว่ามาถูกทางหรือเปล่า ถ้าผิดก็ไม่รู้จะกลับไปยังไง การผ่าก็ไปทำลายของเดิมทั้งหมด ตอนนั้นพ่อแม่ต้องฝึกอาทิตย์ละ 3 ชั่วโมง เพื่อกลับมาฝึกลูก 24 ชั่วโมงที่บ้าน หลังหกเดือนเขาก็เริ่มพูดได้ ...หลังจากนั้นเขากลับมาอยู่โรงเรียนอินเตอร์ พูดอังกฤษได้ พูดไทยได้นิดหน่อย เป็นเด็กหูหนวกหนึ่งในไม่กี่คนที่เรียนในโรงเรียนปกติได้

การมีลูกเป็นคนพิเศษ ทำให้ผมโฟกัสขึ้น ชีวิตเรามุ่งกับเขาเป็นหลัก ผมต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี เพื่อที่จะอยู่กับเขาให้นานที่สุด เราอยู่เพื่อเขา ตอนนี้ลูกผมอายุ 15 เขาเข้าใจ รับได้ คุยกับเพื่อนได้ ด่ากันได้ ใช้อินเทอร์เน็ตได้ เวลาไหว้พระ ผมไม่เคยขอให้เขาเป็นเด็กเรียนเก่งเลย ผมขอให้เขาเข้าสังคมได้ มีเพื่อนที่ดี ชีวิตมีความสุข ผมพอแล้ว"


ความรู้และประสบการณ์ที่เคยทำงานทั้งในฐานะวิศวกร อาจารย์ นักวิจัย งานการเมือง นักธุรกิจ ผู้บริหาร งานชุมชน และในบทบาทพ่อของลูก ทำให้เขามั่นใจว่าจะสามารถเสนอแนวทางที่จะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นได้ โดยมีความเชื่อว่าการทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้น ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยคนเพียงคนเดียว ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของคนจำนวนมาก







สกู๊ปโดย : MGR Live
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น