xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยเจ๋ง!! “มัธยม” หนึ่งเดียว “แข่งดาวเทียม” รางวัลระดับโลก ท่ามกลางรุ่นพี่มหาวิทยาลัย [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นี่แหละ “คอซองหัวกะทิ” ของจริง!! เพราะพวกเขาคือ “วิศวกรระดับมัธยม” ทีมเดียว ท่ามกลางรุ่นพี่ระดับมหาวิทยาลัยจากทุกมุมโลก ที่แข่งขันออกแบบและควบคุมดาวเทียม จนสามารถคว้ารางวัลระดับโลกมาครองได้สำเร็จ!!

“ต้นทุนการแข่งขันรายการพวกนี้ จริงๆ จะเป็นการแข่งระดับมหาวิทยาลัย แต่พวกเราเป็นโรงเรียนมัธยมเพียงโรงเรียนเดียว ที่ได้แข่งขันกับมหาวิทยาลัยทั่วโลกครับ”


น้องๆ จากทีม “SPOROS” โรงเรียนอัสสัมชัญ ผู้ได้รับรางวัลอันดับที่ 3 จากการแข่งขันระดับโลก “USA CanSat Competition 2021” ย้อนเล่าถึงบรรยากาศ “การแข่งขันควบคุมดาวเทียมขนาดเล็ก” ท่ามกลางทีมมหาวิทยาลัยจากทั่วโลก

หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า การแข่งขัน “Cansat” ซึ่งนำเอา “ดาวเทียมขนาดกระป๋องเครื่องดื่ม” มาจำลองการทำงาน ให้เหมือนดาวเทียมจริง โดยให้ทีมผู้เข้าแข่งขันออกแบบ สร้างสรรค์ “ดาวเทียมจิ๋ว” นั้นขึ้นมา กระทั่งถึงขั้นตอนติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เข้าไป เพื่อให้ใช้ได้จริง


จากปกติแล้ว การแข่งขันจะแบ่งออกเป็น 3 รอบใหญ่ๆ คือ 1. รอบ PDR (Preliminary Design Review) การนำเสนอการออกแบบเบื้องต้น 2. รอบ CDR (Critical Design Review) การนำการออกแบบเบื้องต้นมาปรับปรุง และ 3. รอบ Lauch คือการปล่อยตัวดาวเทียมออกไปปฏิบัติงานจริง แล้วเก็บข้อมูลเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับทีมอื่นๆ

แต่เนื่องจากในปีนี้ เป็นการแข่งขันท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 การแข่งขันในรอบสุดท้าย หรือรอบ Lauch จึงถูกปรับเปลี่ยนให้กลายมาเป็นการเก็บข้อมูลการสาธิต โดยผ่านระบบออนไลน์แทน


เขาทดแทนรอบ Lauch ด้วย 2 รูปแบบครับคือ ขั้นตอน Environment Test ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ทางผู้จัดการแข่งขันจะให้ภารกิจมาทำ เช่น นำไปจำลองความสูงโดยการใช้ความดัน และจะมีการทดสอบเรื่องอุณหภูมิความร้อนต่างๆ ว่า ทนได้สูงถึงอุณหภูมิที่เขากำหนดไว้หรือเปล่า

และ ขั้นสุดท้ายคือ Live Demonstration หรือการสาธิตให้เขาดูแบบสดๆ ว่า สามารถทำภารกิจที่เขากำหนดให้ได้หรือเปล่า

ในการแข่งขันจะมีการแบ่งการให้คะแนน โดยจะมี โค้ชแผนก Code, Electronic และ Mechanic โดยแผนก Mechanic จะเป็นการออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ตัว Science Payload หรือตัว Container

ส่วนแผนก Electronic จะเป็นการออกแบบวงจร ดูแผงควบคุมว่าตัวเซ็นเซอร์ต่างๆ จะใช้อะไรบ้าง เพื่อนำไปทำแผงวงจร และแผนก Code จะเป็นการทำให้ส่วน Electronic ทำขึ้นมา ใช้งานได้จริงครับ


โดยการแข่งขันในครั้งนี้้ เป็นการแข่งขันระบบลีกของประเทศสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางทีมนับร้อยจากทั่วทุกมุมโลก แล้วคัดให้เหลือเพียง 48 ทีม ผ่านภารกิจสุดหิน เพื่อเข้ารอบสุดท้าย

และน้องๆ เหล่านี้ก็คือวิศวกรระดับหัวกะทิ ซึ่งสามารถบุกลุยไปคว้า “อันดับ 3” มาครองได้ ในนาม “ทีม SPOROS” จากประเทศไทย ซึ่งเป็นทีมระดับมัธยมเพียงทีมเดียว ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขัน










ทั้งนี้ ทีม SPOROS โรงเรียนอัสสัมชัญ ประกอบไปด้วย นักเรียนแผน “วิทย์-วิศวกรรมศาสตร์” ทั้งหมด 5 ชีวิต คือ พชรพล สุจินดาวัฒน์ ชั้น ม.6/2, วริศนันตร์ รัตนาชัยพงษ์ ชั้น ม.6/2, ปภพ เลขาปัญญพร ชั้น ม.6/2, ธัญพิสิษฐ์ กังเสถียร ชั้น ม.6/2 และ สิระวุฒิ ชาญถาวรกิจ ชั้น ม.6/3

โดยมี มาสเตอร์พชร ภูมิประเทศ และ มาสเตอร์ณัฐกิตติ์ ขวัญกิจพิศาล เป็น “ครูที่ปรึกษา” จากโรงเรียนอัสสัมชัญ


พ่วงด้วย “อาจารย์ที่ปรึกษา” จากรั้วมหาวิทยาลัยอย่าง รศ.ดร.อศิ บุญจิตราดุลย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.พีระเมศร์ โชติกวีกิจญาดา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

และคำแนะนำเพิ่มเติมจาก “รุ่นพี่ศิษย์เก่า” อย่าง ณัฐเมศร์ ศรีปรัชญานันท์, วิวรรษธร ฐิตสิริวิทย์ และ ภวัต งามดีวิไลศักดิ์










เรื่อง: ทีมข่าว MGR Live
เรียบเรียง: อิสสริยา อาชวานันทกุล

ข้อมูลเพิ่มเติม: แฟนเพจ "SPACE AC ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีการบินและอวกาศ โรงเรียนอัสสัมชัญ"



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น