xs
xsm
sm
md
lg

วิเคราะห์การสื่อสารรัฐบาลยุคโควิด-19 “ขาดการประสานงาน-สะท้อนความน่าเชื่อถือ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อวิเคราะห์ การสื่อสารของรัฐในการจัดการยุคโควิด-19 ทำสับสนกันทั้งประเทศ หลัง ศบค. ชะลอประกาศ กทม. คลายล็อกสถานประกอบการ สั่งปิดต่ออีก 14 วัน สะท้อนความน่าเชื่อถือ ขาดการประสานงาน ยกเคส “หมูป่า” เป็นตัวอย่างการสื่อสารที่ดี

ขาดการประสานงาน สะท้อนความน่าเชื่อถือ

ทำเอางงกันทั้งประเทศ เนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 15/2564 มีมติให้ผ่อนปรนมาตรการสำหรับสถานประกอบการ 5 ประเภท คือ พิพิธภัณฑ์, สถานที่สักหรือเจาะผิวหนัง, ร้านทำเล็บ, คลินิกเสริมความงาม, ร้านสปา ร้านนวด และสวนสาธารณะ โดยจะให้เริ่มเปิดกิจการภายใต้มาตรการควบคุมป้องกันโรค

แต่ในวันเดียวกัน ศบค. ให้ใช้ประกาศกรุงเทพมหานครขยายการปิดกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ตามประกาศฉบับที่ 29 ออกไปอีก 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป

ทำประชาชนสับสนไปหมด จนเกิดการตั้งคำถามจากประชาชนในการทำงานของรัฐ ทำไมไม่คุยกันก่อน เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ก่อนหน้านี้ไม่นาน ประชาชนก็เกิดความสับสนเรื่องแอปฯ ลงทะเบียนการฉีดวัคซีนที่มีหลายตัว

และยังเจอเคสอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ ท่านนายกรัฐมนตรี ประกาศให้สามารถ Walk-in จนในที่สุดก็ประกาศยกเลิกไปอีกครั้ง


แน่นอนว่า ในยามวิกฤตเช่นนี้ การสื่อสารเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพื่อสะท้อนถึงเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก ผู้ทรงคุณวุฒิคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันสื่อ ให้ช่วยวิเคราะห์การสื่อสารของรัฐบาลที่ทำเอาประชาชนสับสน พร้อมตั้งคำถามถึงเรื่องดังกล่าวมากมาย

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร ก็วิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ ว่า รัฐขาดการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานต่างๆ จึงต้องรีบจัดระเบียบข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับรู้อย่างเป็นระบบให้เร็วที่สุด

“การสื่อสารของรัฐขาดการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานรัฐบาลกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย

ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องจัดระเบียบข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นระบบได้แล้ว เพราะประชาชนบางคนเขาไม่ได้ดูว่าโพสต์ไปสามวัน หรืออันนี้โพสต์ไป 20 นาที บางทีมันก็จะมีว่าเพื่อนคนที่หนึ่งส่งมาวันนี้ เพื่อนคนที่สองส่งมาแบบนี้ ตกลงเพื่อนคนที่สองอาจจะส่งข่าวมาซ้ำวันก่อน ดังนั้นถ้าไม่ควบคุมมันก็จะเกิดความสับสน

แค่ข่าวธรรมดาที่คนทั่วไปควรรู้ ตกลงจะให้ฉันฟังจากใคร เวลานายกฯ ออกมาพูดก็จะปลอบใจประชาชน แต่ยังไม่ค่อยเด็ดขาดลงไป

ถ้ารัฐบาลไม่ประสานกัน ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้ถามก่อน หรือยังใช้สิทธิ์เดิมๆ อยู่ เพื่อประกาศออกมา ก็จะรู้สึกดี คนก็จะปลาบปลื้มกับ กทม. แต่พอดูว่า กทม.เป็นผู้ติดเชื้อสูงสุด ประกาศออกไปอย่างนี้ไม่ได้แล้ว รัฐบาลก็เลยออกข่าวมาใหม่ นักสื่อสารอย่างเรา ก็ต้องการสื่อสารของเบื้องบน ต้องการข้อมูลที่ชัดเจน

อย่างเช่น หมอพร้อม หมอไม่พร้อม ตกลงยังไง คือ เราเห็นภาพอย่างนี้มาตลอดเวลา เอาชัดๆ ในหนึ่งเดือนนี้ ในเรื่องระเบียบ วิธีการลงทะเบียนฉีดวัคซีน หรือแม้กระทั่งวัคซีนจะเอาที่ไหน อะไร ยังไง มันวุ่นวายเกินที่เราจะรับได้ เกินที่คนทั่วไปจะรู้ได้”

[ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก]
ไม่เพียงเท่านี้ ยังวิเคราะห์ว่าหากรัฐมีปัญหาในเรื่องการสื่อสาร ยิ่งจะทำให้เกิดปัญหาความไม่น่าเชื่อถือ ยิ่งน่าเป็นห่วงเข้าไปอีก

“ในเรื่องปัญหาการสื่อสารของรัฐบาล จริงๆ ผู้รับหรือชาวบ้านทั่วไป ไม่สามารถแยกได้ว่าอันนี้รัฐบาล คือ นายกฯ อันนี้คือรัฐมนตรี อันนี้คือหน่วยงานระดับท้องถิ่น เขาไม่รู้หรอก เขาจะดูแค่เนื้อข่าวที่ออกมาว่า บอกให้เปิดสถานบริการ5ประเภทนี้ได้แล้ว แต่พอหนึ่งชั่วโมงผ่านไป เปิดไม่ได้แล้ว

คนเขาดูแต่เนื้อ เขาก็ไม่ได้ดูลึกๆ อย่างพวกเราที่รู้ว่า การพูดทีแรกเพราะผู้ว่าฯ พูด การพูดครั้งที่สองคือ ศบค.พูด ก็เลยเกิดความสับสนกับผู้รับแน่นอน ความสับสนที่เกิดขึ้นมันมาจากว่า เนื้อหาที่พูดกับคนพูด คนพูดคนละคน พอเนื้อหาที่ขัดกัน คนพูดคนที่หนึ่งกับคนพูดคนที่สอง ตกลงฉันจะเชื่อใคร แสดงว่าใครพูดไปก่อนก็ได้รับความน่าเชื่อถือ แล้วค่อยมาแก้ข่าว หรือควรจะฟังคนที่แก้ข่าว แล้วคนพูดคนที่หนึ่งก็หายไปเลย สิ่งที่เกิดขึ้นน่าเป็นห่วง

แต่ กทม.อยู่ภายใต้รัฐบาล เพราะฉะนั้นรัฐบาลใหญ่กว่า แม้กระทั่งกระทรวงใหญ่กว่า เพราะจริงๆ ระดับรองลงมามันต้องมีต้นสังกัดต้นกระทรวงและมอบหมายให้พูดได้

กรณีที่เกิดขึ้นเรื่องเปิดสถานบริการ พอดีเป็นอำนาจรัฐบาล เพราะฉะนั้น ถ้า กทม.ตีเป็นส่วนท้องถิ่น ผู้นำสูงสุดของส่วนท้องถิ่นคือ ผู้ว่าราชการ เหมือนกับว่าจังหวัดนี้อยากทำอะไร อยากล็อกดาวน์ เหมือนกับให้สิทธิ์ไปแล้ว ผู้ว่าฯ ก็ประกาศตามสิทธิ์ที่อำนาจของผู้ว่าฯ พึงมี

แต่อาจจะยอดสูงขึ้น ประชุมใหม่กัน อยู่เฉยๆ จะมาให้ผู้ว่ากลับคำมันก็ไม่ได้แล้ว ตามหลักการก็ต้องใหญ่กว่าผู้ว่าฯ ก็เป็นคำสั่งออกมาอีกว่ายังไม่ให้เปิด”


การสื่อสารเช่นนี้ ยิ่งทำให้ประชาชนรับผลกระทบหนัก เพราะบางคนถึงขั้นจองตั๋วรถเพื่อจะเดินทางเข้ามา กทม. เพื่อทำงานด้วยความหวัง

“ถามว่า สับสนไหม เสียหายไหม เสียหาย เพราะเนื่องจากคำสั่งแรกที่คิดว่าเปิดได้ นึกถึงคนดีใจ ร้านนวด ร้านสปา ก็เริ่มโทร.บอกกลับมาได้แล้ว ตรงนี้เตรียมเปิดได้ เชื่อไหม คนที่กลับบ้านแล้วเขาโทร.จองตั๋วรถทัวร์กันแล้ว ฉันจะเข้ามาทำมาหากินแล้วในวันรุ่งขึ้น หรือพวกร้านบริการเริ่มมีของสด

คนเรารีบ และก็เตรียม เพราะว่ามันก็พร้อมอยู่ เพราะคำสั่งเดิมสิ้นเดือนมันก็จบแล้ว ไม่มีคำสั่งใหม่ว่าต่ออีก 14 วัน ก็คาดหวังว่าเตรียมการกลับมาตามสภาพเดิม มันก็ผิดหวังอีก อีกคำสั่งนั้นมา แต่ฉันซื้อตั๋วรถทัวร์แล้ว ภายในพริบตาเงินเขาก็จะหายไปอีก 300-400 บาท ซึ่งเขาหายาก

ถามว่า อันนี้คิดเป็นเรื่องง่ายหรือในการที่จะกลับคำ หรือในการที่จะเปลี่ยนคำสั่ง ทุกครั้งให้นึกถึงประชาชนทั่วไป ซึ่งทนทุกข์ทรมาน และรอคอยความหวังอยู่แล้ว”


ยกเคส “หมูป่า” เป็นตัวอย่างการสื่อสารที่ดี

ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อ ยังยกเคส กรณีทีมหมูป่า 13 คน ติดถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ที่เรียกได้ว่า เป็นตัวอย่างการสื่อสารที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในยามวิกฤต

“จำได้ชอบข่าวหมูป่าที่ติดถ้ำมากเลย ระหว่างวันเกิดอะไรขึ้น ผู้ว่าฯ สมัยนั้นที่เชียงราย ก็จะบอกว่า ฟังทีเดียวตอนสิบโมง แล้วฟังอีกทีตอนสามทุ่ม ถามว่า ตอนนี้มันต้องถึงเวลาการจัดระเบียบข้อมูล จัดระเบียบของการให้ข่าว จัดระเบียบ จัดลำดับความสำคัญว่าควรจะพูดเรื่องอะไร พูดได้แค่ไหนอย่างไร ถึงเวลานี้แล้ว เพราะในที่สุดความเสียหายจะเกิดกับประชาชน”

นอกจากความน่าเชื่อถือในสื่อสารที่สำคัญแล้ว สิ่งสำคัญอีกหนึ่งคือ อยากให้คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก

“เมื่อก่อนเราไม่เคยคิดเลยว่ามันจะยี่ห้อไหน มีความรู้สึกว่าได้ฉีดโอเครัฐบาลจัดให้ พอตอนหลังมันมีข่าวสารมาเยอะ ยี่ห้อนี้คนมี side effects ยี่ห้อนี้ทำมาจากอะไร หรือยี่ห้อนี้ประเทศไหนส่งมา คือ ข่าวมันก็ตีกันเอง แต่ก็โอเค ในความเสรีของโลกข่าวสารมันก็สามารถทำได้

แล้วประชาชนควรจะเชื่อใคร ตัวคุณหมอเองก็พูดไม่ได้เยอะ ลงลึกไม่ได้ หมอบางท่านที่เราอยากจะฟังกลับลงลึกไม่ได้ เพราะกลัวจะไปกระทบหน่วยงานที่นำเข้า กระทบหน่วยงานที่จัดการ

ตอนนี้ให้คำนึงถึงประชาชน คำนึงถึงความน่าเชื่อถือของข่าวสารด้วย เนื้อหาทั้งหลายที่แพร่กระจายเข้ามา อย่าขัดกันเอง ขัดกันเองในความเป็นบุคคลทั่วไปเราไม่ว่า แต่ขัดกันเองในระดับหน่วยงานของรัฐบาล

ถ้าตอนนี้ท่านนายกฯ เป็นผู้ควบคุมสูงสุดของศูนย์นี้ แต่ทีนี้ก็ยังมีข่าวที่ออกมาจากรัฐมนตรี ข่าวที่ออกมาจากจังหวัด ผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัดก็พูด อบต. อบจ.ก็เริ่มมา

ผู้นำทั้งหลาย ไม่ว่าระดับไหนก็ตาม จะต้องระวัง ใครรับผิดชอบสูงสุดก็น่าจะพูดคนเดียวในวันนั้น ถ้าระดับท้องถิ่น จะเป็นผู้ว่าฯ หรือ อบจ. ก็คนเดียวพูด และเรื่องเดียวในหนึ่งวัน พูดทีเดียว”


วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดในครั้งนี้ อยากให้รัฐบาลจัดระเบียบข่าวสารก่อนเผยแพร่ให้กับประชาชนได้รับทราบ รวมไปถึงจัดระเบียบอำนาจเด็ดขาดของตัวบุคคลก่อนจะให้ข่าวด้วย ไม่อย่างนั้นคงจะสับสนวนแบบนี้เช่นเดิม

“ต้องมีการจัดการเนื้อหาให้ได้ก่อนว่า ในวันนี้ต้องปล่อยเนื้อหาเรื่องอะไร พ.ร.บ.ปัจจุบันนี้จะยังไง จัดระเบียบผู้ให้ข่าว หน่วยงานที่ให้ข่าว หรือคนที่ให้ข่าวว่าใครมีอำนาจในการพูดแค่นั้น และในเรื่องของเวลา ถ้าเป็นเรื่องวัคซีนอาจจะเป็นหกโมงเย็นของทุกวัน เราจะพูดเรื่องนี้กัน อันนี้เวทีของหมอ อันนี้เวทีของการจัดการของรัฐบาล

คิดว่าต้องถึงเวลาการจัดระเบียบข่าวสาร และจัดระเบียบของผู้ที่เป็นสื่อของการให้ข่าว ไม่อย่างนั้นจะมีอีกเยอะมาก อย่าบอกอะไรให้รอ เพราะโลกปัจจุบันมันรอไม่ได้ จัดระบบข่าวสารทั้งประเทศเลย เพราะมันมีอยู่ไม่กี่เรื่องที่จะพูดเรื่องโควิด”




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น