xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอย ศบค.-กทม.ทำงานเหมือนเล่นขายของ ไม่ได้อ่านไลน์กลุ่ม จากร้านอาหารถึงร้านนวด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นี่ไม่ใช่ครั้งแรก! ย้อนรอย กทม.กับ ศบค.ทำงานกันแบบไม่ได้อ่านไลน์กลุ่ม กทม.ประกาศเปิดสถานเสริมความงาม-ร้านนวดตอนบ่าย ตกค่ำ ศบค.ก็หักหน้าเบรกไว้ก่อน พบต้นปีก็มีเรื่องให้รับประทานในร้านได้แค่ 1 ทุ่ม เจอสมาคมภัตตาคารล็อบบี้ผ่านหอการค้าไทยขอเปิดถึง 3 ทุ่ม อ้างคนกินข้าวเย็นเยอะ เกรงว่ามีเวลากินแค่ครึ่งชั่วโมง นายกฯ รับลูกสั่งเบรกทันที

รายงาน

ผลสืบเนื่องมาจากที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) วันที่ 31 พ.ค. 2564 มีมติให้ผ่อนปรนมาตรการสำหรับสถานประกอบการ 5 ประเภท โดยจะให้เริ่มเปิดกิจการภายใต้มาตรการควบคุมป้องกันโรค ได้แก่ 1. พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ หอศิลป์ 2. ร้านสัก เจาะผิวหนัง ทำเล็บ 3. คลินิก สถานเสริมความงาม 4. สปา นวดเพื่อสุขภาพ นวดแผนไทย (ยกเว้นอบตัว อบสมุนไพร อบไอน้ำ นวดหน้า) 5. สวนสาธารณะ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2564

ทันทีที่ กทม.ประกาศผ่อนปรนมาตรการดังกล่าว ดูเหมือนว่าความคิดเห็นแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมองว่าที่ผ่านมา บรรดาสถานเสริมความงาม คลินิกลดน้ำหนัก รักษาผิวหน้า ร้านสัก เจาะผิวหนัง ทำเล็บ สปา ร้านนวดต่างๆ ทั้งนวดเพื่อสุขภาพและนวดแผนไทย ต่างได้รับความเดือดร้อนจากคำสั่งปิดกิจการและกิจกรรม รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่ใช้ประโยชน์จากสวนสาธารณะในการออกกำลังกาย เมื่อถูกสั่งปิด แถมฟิตเนสปิดให้บริการ ก็ต้องล็อกตัวเองอยู่กับบ้าน

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการนวดแผนไทย ที่ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันที่ผ่านมาร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านสปา ได้ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เว้นระยะห่าง จำกัดผู้ใช้บริการ และไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด จึงไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะเมื่อครั้งโควิดรอบแรกก็เป็นกลุ่มแรกที่ถูกสั่งปิด และให้เปิดเป็นกลุ่มสุดท้าย

แต่อีกส่วนหนึ่งกลับมองว่าที่ผ่านมาตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตกวันละ 5,000 คนต่อวัน ซึ่งร้านนวดถือเป็นสถานที่เสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างหมอนวดกับลูกค้า โดยไม่มีการเว้นระยะห่าง คาดว่าเหตุที่ กทม.ออกมาตรการผ่อนคลายรอบนี้มาจากเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการ

ปรากฏว่าไม่ทันไรศูนบ์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กลับเบรก กทม.หัวทิ่ม ด้วยการสั่งให้ชะลอคำสั่งผ่อนปรนมาตรการ ให้ใช้ประกาศกรุงเทพมหานครขยายการปิดกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ตามประกาศฉบับที่ 29 ออกไปอีก 14 วัน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2564

ทันทีที่ได้ยินข่าว ก็มีเสียงวิจารณ์จากสังคมทันทีว่า กทม.และ ศบค.ทำงานแบบต่างคนต่างทำ กทม.ออกมาตรการไปทาง ศบค.จะต้องออกมาเบรกมาตรการอีกทาง ขณะที่ฝ่ายผู้ประกอบการทั้งสถานเสริมความงาม และร้านนวดที่เตรียมจะเปิดกิจการในวันพรุ่งนี้ (1 มิ.ย.) ก็ต้องเบรกตามกันไปด้วย พร้อมเสียงบ่นด่าปนสาปแช่ง เช่น

- ทำงานปรึกษากันบ้างมั้ยคะ คนทำงาน เขาเดินทาง ทำงาน ต้องมีแผน เล่นขายของกันรึไง ทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย ทำแบบนี้ ประชาชนเสียหาย ไม่มีคำว่ารับผิดชอบ

- ทำเหมือนของเล่นเลยนะคะ ยอดติดเชื้อสูงก็ชัดเจนแล้วนี่คะ ว่าการสั่งปิดกิจการไม่ช่วยให้ยอดลดลง เพราะคลัสเตอร์ไม่ได้มาจากกิจการเหล่านี้ แล้วสั่งปิดๆ เปิดๆ นี่มีปัญญาชดใช้ หรือมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการมั้ยคะ มาเลื่อนคำสั่งเอาวันสุดท้าย นาทีสุดท้าย คนที่บอกให้ปิดเพราะสนแต่ตัวเลขนี่ ช่วยคิดถึงหลักความจริงก่อนนะคะว่าการแก้ปัญหาจริงๆ อยู่ที่วัคซีนค่ะ ไม่ใช่การสั่งปิดกิจการแล้วจะติดเชื้อน้อยลง คนจะอดตายก่อนค่ะ ไม่ใช่ติดเชื้อ

- เหมือนจะเป็นหลายรอบแล้วแบบนี้ แนะนำผู้ว่าฯ นำเรียนนายกฯ และ ศบค. ขอความเห็นชอบก่อนจะประกาศดีกว่านะคะ จะได้ไม่สร้างความสับสน และไม่โดนตำหนิด้วย

- ทำไมทำงานไม่ประสานกันครับ เช้าบอกอย่าง ค่ำบอกอย่าง จะเปิดพรุ่งนี้แล้ว นัดคนไข้หมดแล้ว บางคลินิกให้พนักงานกลับมาจากต่างจังหวัด รู้มั้ยว่าคนเดือดร้อนแค่ไหน ห้างก็คนเดินแน่น จะปิดแต่คลินิกกับสปาเพื่อ? ตัวเลขคนติดก็ไม่ได้ลดลง ถ้าจะปิดก็จ่ายค่าชดเชยเสียรายได้มาด้วยนะครับ อย่าปิดเฉยๆ เฮงซวย

- นี่คือความคิดของผู้นำเหรอคะ ปิดๆ ไม่เคยมีมาตรการอะไรรองรับ ขาดรายได้มาเป็นเดือนๆ แต่ต้องกิน ต้องใช้ทุกวัน พวกมึงมาเยียวยากูด้วยนะ

- ทำงานแบบนี้ ผู้ประกอบการเสียหายครับ สั่งเตรียมงานต่างๆ แล้ว มาสั่งปิดแบบนี้

- ปิดมาตั้งนาน ยอด (ผู้ติดเชื้อ) ก็ไม่ลด ก็ควรจะประเมินได้แล้วว่าที่ปิดๆ มันตรงจุดมั้ย มาตรการเยียวยาชดเชยไม่มี วัคซีนไม่มีให้ฉีด จะปิดรออะไร รอมันลดเองเหรอ เป็นผู้บริหารต้องมีสมองนะ

- เพิ่งบอกลูกค้าว่าเปิดร้านได้ เตรียมของเตรียมอุปกรณ์ มาประกาศนาทีสุดท้ายแบบนี้ ผมเจ๊งอยู่แล้วยังโดนซ้ำเติมไปอีก ไม่มีการเยียวยาอะไรเลย งานหายาก เงินหายากกว่า แถมอาชีพที่ทำต้องโดนปิดหลายเดือนแล้ว ชีวิตนี้มีแต่โดนซ้ำเติม อย่างน้อยๆ เยียวยาอาชีพที่คุณให้หยุดนานขนาดนี้หน่อยครับ ค่าเช่าที่ต้องจ่าย ค่าห้อง ค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟยังต้องจ่าย แต่รายได้ไม่มี

- แค่ตอนเช้าประกาศเปิดก่อน 1 วันว่าเ...ยแล้ว ต้องรีบจัดเตรียมของ สถานที่ จู่ๆ เย็นมาปิดอีก เอ้า เตรียมเก้อ พวกมึงเหงา หรือกลัวพวกกูเหงา ว่างไม่มีไรทำ

- ไลน์กลุ่มไม่มีกันหรือไง ทำงานกันเหมือนอยู่คนละประเทศ

- ทำไมไม่คุยกันก่อนครับ ไม่น่ารักเลยนะ

- เห็นยังว่าไม่มีใครปั่นให้เกลียดรัฐบาลนะ มีแต่พวกคุณที่ทำลายตัวเอง ทำเลวๆ แล้วหวังจะให้ใครมารักเหรอ

- ลองไปฝึกบริหารประเทศอื่นก่อนค่อยมาไทยดีมั้ย

ฯลฯ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ กทม.และ ศบค. ทำงานกันแบบต่างคนต่างทำ สร้างความสับสนให้แก่สังคม!

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีมติให้จำหน่ายและนั่งรับประทานอาหารที่ร้านได้ระหว่างเวลา 06.00-19.00 น. หลังจากนั้นห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน และให้ขายแบบ Take Away หรือซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านเท่านั้น โดยมีผลในวันที่ 5 ม.ค. 2564 เหตุผลที่ กทม.ออกมาตรการดังกล่าวเนื่องจากเล็งเห็นการควบคุมการแพร่ระบาด โดยปัจจัยหลักพบว่าควรห่าง 6.5 เมตร การนั่งนานเกิน 5 นาทีก็แพร่ระบาดด้วย

โดยช่วงกลางคืนเป็นช่วงที่คนมักจะนั่งนานกว่าช่วงเวลาอื่น เพราะช่วงเช้า กลางวัน เป็นช่วงการทำงาน จะเร่งรีบและใช้เวลาน้อยกว่า ส่วนการห้ามดื่มสุรา ปัจจัยหลักคือลดระยะเวลา ลดการรวมกลุ่ม เพราะการดื่มสุราจะเพิ่มเวลาในการรับประทานอาหาร หมายถึงปัจจัยการแพร่โรคเกิดมากขึ้น การพบเจอคนมากขึ้น และการรวมกลุ่มกัน เพื่อลดโอกาสแพร่ระบาด จึงออกมาตรการห้ามดื่มสุราในร้านอาหาร

ปรากฏว่าผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. แถลงข่าวว่า ขอให้ยกเลิกมาตรการของ กทม.ที่ประกาศออกมาไปก่อน เพราะได้รับข้อเสนอมาจากสมาคมภัตตาคารไทย ว่ามีผลกระทบสูง โดยจะให้ขายอาหารได้จนถึงเวลา 21.00 น. แต่ต้องมีมาตรการเข้มงวดป้องกันโควิด-19 อย่างการกำหนดจำนวนคน ซึ่งทางสมาคมฯ บอกว่าทำได้ หากทำไม่ได้ก็ถูกปิด ซึ่งต้องช่วยกันเพราะไม่อยากให้เกิดผลกระทบอีก

เรื่องของเรื่องก็คือ สมาคมภัตตาคารไทยที่มี นางฐนิวรรณ กุลมงคล อดีตเจ้าของร้านอาหารครัวรัฐสภา ที่ผันตัวเองไปทำอาหารกล่องดีลิเวอรี ทำหนังสือร้องเรียนผ่าน นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาผ่อนผันเวลาให้เปิดร้านอาหารได้ถึง 21.00 น.

อ้างว่าที่ให้นั่งรับประทานในร้านได้ถึง 19.00 น.ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ร้านอาหารขายอาหารเย็นได้ยาก เพราะส่วนใหญ่คนที่เข้าไปรับประทานอาหารเย็นจะเริ่มตั้งแต่ 18.00 น. กว่าจะรออาหารเสร็จก็มีเวลาเหลืออย่างมากแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น

กลายเป็นที่มาที่ทำให้นายกรัฐมนตรีฉีกมาตรการของ กทม. ซึ่งในช่วงนั้นถูกสังคมมองว่า ศบค.หักหน้า กทม.หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ศบค.ก็เคยให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเป็นผู้พิจารณา ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางออกนอกเขตจังหวัด ที่พบว่าให้อำนาจแต่ละจังหวัดพิจารณา ยังไม่ถึงกับล็อกดาวน์ทั้งจังหวัด ทำให้แต่ละจังหวัดออกมาตรการเข้มงวดกับผู้ที่เดินทางข้ามจังหวัดแตกต่างกันไป

กรณีล่าสุดของ กทม.ที่ผู้ประกอบการสถานเสริมความงามและร้านนวดต้องเก็บของกันแบบนี้ ไม่รู้ว่า กทม. และ ศบค.ที่ทำงานกันแบบต่างคนต่างทำจะแก้ตัวอย่างไร แต่ก็สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นของรัฐบาลว่า ถ้าทำแบบเด็กเล่นขายของเช่นนี้อีก อาจทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลและ ศบค.ในการบริหารจัดการโควิด-19 หนักที่สุดคือจะไม่มีใครฟังรัฐบาลและ ศบค.อีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น