xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้ากับเหว!! จัดการโควิด “ญี่ปุ่น” เทียบ “ไทย” เมื่อ “เตียงเต็ม” เกินแก้ เสนอมาตรการ “เซฟตัวเองที่บ้าน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ของมันต้องมี! ผู้ป่วยโควิดที่อาจจำเป็นต้องใช้ “เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด” ตัวช่วยกรณีเตียงโรงพยาบาลเต็ม- อาการไม่หนัก ที่ประเทศญี่ปุ่นใช้ เทียบไทยกับญี่ปุ่นล้มเหลว ต้องช่วยตัวเอง กว่าจะรอการสนับสนุนจากทางรัฐที่อาจจะช้า!?




“เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด” ตัวช่วยจากโควิด





“สาธารณสุขญี่ปุ่นส่งเครื่องวัดออกซิเจนให้ผู้ป่วยที่เป็นโควิด รวมถึงแม่ด้วย ให้เช็กค่าออกซิเจนด้วยตนเองและกักกันตัวที่บ้าน


ถ้าอาการแย่เดี๋ยวเขาส่งรถมารับ อย่างวันนี้ สาธารณสุขก็โทร.มาคุยกับแม่สองชั่วโมงเต็ม สอบถามทุกสิ่งอย่าง โดยมีล่ามคนไทยช่วยแปล เมื่อสวัสดิการดี และรัฐบาลเป็นห่วงประชาชนจากใจจริง ทุกอย่างก็ถูกเตรียมการเป็นอย่างดี

 ก็ได้แต่หวังว่าผู้ป่วยในไทยจะได้รับการดูแลแบบนี้บ้างในวันที่กักตัวที่บ้าน คือ ทางเลือกสุดท้ายในอนาคต”

[ขอบคุณภาพ : FB “Pook Sukonta Berthebaud”]
กลายเป็นเรื่องที่สังคมต่างให้ความสนใจ หลังเฟซบุ๊ก “Pook Sukonta Berthebaud” ได้โพสต์ถึงแนวทางการจัดการ ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของแม่ ที่อาศัยในประเทศญี่ปุ่น ด้วยการใช้ “เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด”

อย่างไรก็ดี เมื่อค่าออกซิเจนลดลงจากเกณฑ์ ทางสาธารณสุขประเทศญี่ปุ่น ส่งรถมารับแม่ของผู้โพสต์ไปรักษาที่โรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว


เช่นเดียวกับเพจ “Drama-addict” หนึ่งในเพจชื่อดัง ก็ออกมาแชร์ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นเช่นกัน

“แม่ของปุก ที่มันจัด CH บ่อยๆ ช่วงนี้ ติดเชื้อ covid-19 (แม่เขาอาศัยที่ญี่ปุ่น) ทางรัฐบาลญี่ปุ่น ก็ส่งอุปกรณ์วัดค่าออกซีเจนในเลือดมาให้วัดเป็นระยะ ระหว่างกักตัวอยู่บ้าน นี่คือ แนวทางตามที่จ่าบอกไว้มาหลายวันละ เราจะได้ใช้สิ่งนี้แน่นอน ใครไม่มี ไปซื้อมาเตรียมไว้”

ทันทีที่มีการแชร์ออกไป แน่นอนว่า เกิดข้อสงสัยของเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximeter) ตัวนี้ช่วยติดตามอาการโควิด-19 ได้อย่างไรบ้าง


เพื่อได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทีมข่าวจึงติดต่อไปยัง “นพ.วิทวัส ศิริประชัย” หรือ “จ่าพิชิต” เจ้าของเพจ “Drama-addict” ได้มีความคิดเห็นและสนับสนุนให้ใช้เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เพราะประสิทธิภาพของเครื่องวัดออกซิเจนในเลือดจะช่วยบอกว่าค่าความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดของเราต่ำลงหรือยัง ซึ่งเป็นค่าที่บอกว่าเราอาการหนักขึ้น ควรที่จะต้องแจ้งทางโรงพยาบาลให้มาดูแล หรือให้เราเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้แล้ว

โดยช่วยติดตามอาการสำหรับผู้ป่วยที่แสดงอาการน้อย แต่อาจมีความผิดปกติในปอด ปริมาณออกซิเจนในเลือดระดับปกติจะไม่ต่ำกว่า 96%


“อย่างของล่าสุดที่ผมลง เป็นของเพื่อนผมที่แม่เขาอยู่ที่ญี่ปุ่น แล้วแม่เขาติดเชื้อ รัฐบาลญี่ปุ่นเขาส่งเครื่องนี้ (เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด) มาให้เขามอนิเตอร์ที่บ้าน คือ เขายังไม่มีอาการอะไร

มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวนิดหน่อยเท่านั้นเอง แต่ว่าค่ามันลงมากว่า 95 ปกติไม่ควรต่ำกว่า 95 พอมีค่านี้ปุ๊บ เขาก็แจ้งไปที่โรงพยาบาล เขาก็พาไปตรวจ และได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที ซึ่งมันช่วยให้เราสามารถที่จะรักษาชีวิตของเคสที่ทำ Home isolate ได้


และสามารถที่จะ save เตียงโรงพยาบาลได้ ไว้ให้เคสที่หนักจริงๆ ซึ่งบ้านเราควรจะทำแบบนี้ แล้วแนวทางในต่างประเทศทุกที่ ทำอย่างนี้หมดเลย

ประเทศที่เขาชนะกันแล้ว หรือกำลังสู้ และแนวโน้มไปทางที่ดี แต่ต้องมีการประสานกับทางโรงพยาบาล อันนี้เป็นแค่ปลายเหตุ แต่ที่ดีที่สุด คือ ต้องมีการประสานในระบบกับทางโรงพยาบาล เพื่อมอนิเตอร์เคสว่า วันนี้คุณอาการเป็นยังไง

ค่าตรงนี้แย่ลงรึเปล่า มีอาการเหนื่อย แน่นหน้าอกอะไรไหม ถ้ามีจะได้รีบพาไปที่โรงพยาบาลทันที”




ฟ้ากับเหว เทียบ ญี่ปุ่น VS ไทย “เตียงเต็ม-ล้มเหลว”!?


จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลุกลามไปทั่วทั้งประเทศ ทำให้มีผู้ป่วยและมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนต้องมีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามชั่วคราว เพื่อรองรับผู้ป่วยให้เพียงพอ

พร้อมนำมาเปรียบเทียบถึงการจัดการดูแลของประเทศญี่ปุ่น จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาตรการประเทศไทยล้มเหลว ทั้งระบบการตรวจโรคที่แสนลำบาก และโรงพยาบาลต่างๆ ไม่มีพื้นที่สำหรับผู้ป่วยวิกฤตจริงๆ

ทางด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่า ประเทศไทย ควรนำวิธีการของการใช้เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือด ของประเทศญี่ปุ่นมาเป็นต้นแบบ เพื่อลดอัตราเตียงไม่เพียงพอ ซึ่งผู้ป่วยทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล

“ควรทำอย่างยิ่งแล้วตอนนี้ เพราะว่าตอนนี้เตียงของโรงพยาบาลแทบทุกที่ ใกล้จะเต็มแล้ว คือ ต่อให้ตัวเลขมันยังบอกว่ามีเตียงว่าง แต่มันเป็นของโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเพิ่มเท่าไหร่ก็ได้


[ขอบคุณภาพ AFP]
แต่เราต้องดูศักยภาพของ I.C.U. ซึ่งตอนนี้เตียงค่อนข้างที่จะเยอะ และบุคลากรใน I.C.U. ตอนนี้ ใช้งานแบบเต็มที่ แทบจะไม่ไหวอยู่แล้ว

ดังนั้น ตอนนี้ผมว่า ต้องปรับนโยบายเป็น Home isolate ให้การมอนิเตอร์ อาการที่บ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างเคสที่ป่วยไม่มากที่เราเห็น อัดคลิปลง TikTok อยู่ในโรงพยาบาลสนาม จริงๆ แล้วสามารถดูอาการที่บ้านได้
เพราะว่าส่วนมากมักจะหายโดยไม่มีอาการทรุดลง แต่ว่าในบางเคส อย่างเช่น เคสที่มีความเสี่ยง อายุมาก ก็อาจจะมีแนวโน้มที่อาจจะทรุดลงได้”


นอกจากนี้ ยังสะท้อนอีกว่า แม้จะเป็นภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน ประสบการณ์หรือบทเรียนที่ผ่านมา จนมาถึงการระบาดรอบที่ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการปรับปรุงให้มากขึ้น

“เอาจริงๆ ผมว่าตอนนี้ที่ทำ ไม่มีใครทำแบบเรานะ เราถือทิฐิอะไรอยู่ไม่ทราบ ที่จะเอาทุกเคสไปแอดมิต


เห็นเขาเตรียมการกันอยู่ครับผม ที่ได้ข่าวมาตอนนี้มีการเตรียมมาตรการ ทำ Home isolate อยู่ แต่ขอให้ประกาศโดยเร็ว เพราะว่าสถานการณ์ตอนนี้ไม่มีเวลาแล้ว ไม่อย่างนั้นเราจะมีเคสตายระหว่างรอไปแอดมิตที่โรงพยาบาลอีกมากมายมหาศาล เพราะหาเตียงให้เขาอยู่ไม่ได้

อยากให้เอาเคสที่ล่าช้ามาพูดกันตามข้อเท็จจริง เอามาวิเคราะห์ อย่างเคสของอาม่า เคสคุณอัพ แล้ววันนี้มีเคสที่เสียชีวิตเพิ่มหลายราย เอาเคสเหล่านี้มาดูกันว่าอะไรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเข้าถึงการรักษาล่าช้า

และตอนนี้ข้อมูลเตียงก็ทำให้เชื่อมโยงเป็นระบบ ไม่ใช่หน่วยงานคนอื่นๆ ทำ แล้วฐานข้อมูลไม่ได้เชื่อมโยง อันนี้มันจะเป็นปัญหา”

[ขอบคุณภาพ AFP]
สุดท้ายถึงแม้จะมีงานวิจัยของต่างประเทศรองรับ แต่เขายังย้ำเตือนให้ฟังว่า การตรวจวัดภาวะออกซิเจนในเลือดลดลงหลังออกแรง ควรทำภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือมีผู้ดูแลที่บ้านอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้อาการทรุดหนักจากการออกกำลังได้ และหากมีค่าออกซิเจนลดลงมากกว่าหรือเท่ากับ 3% จริง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

“ซื้อใช้เองได้ ราคา 300-400 บาท ตัวนี้มันมีวิธีวัด เพราะที่ต่างประเทศมีการทำงานวิจัยแล้วว่า คนที่ติดโควิด มันจะสัมพันธ์กับการออกกำลังกาย ถ้าเดินสัก 6 นาที และให้ชีพจรขึ้นไปถึงระดับนึง แล้วมาวัดดูว่าค่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิน 3% ไหม ถ้ามีก็จะมีความเสี่ยง

มีผลวิจัยออกมาเยอะ เพราะที่ต่างประเทศเขาเจอสถานการณ์แบบบ้านเราล่วงหน้ามาก่อน แล้วเรามาเจอตามหลังเขาหลายเดือนเลย แล้วมาตรการเหล่านี้ เขาพิสูจน์แล้วว่าช่วยได้ ลดอัตราการตายที่บ้านได้ แต่น้อยคนที่ทำตาม”







ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น