xs
xsm
sm
md
lg

จากที่โหล่สู่ท็อป ร.ร.ชั้นนำ!! ไขไอคิว “ครูเบล” อดีตเด็ก 16 ทุน จาก 10 ประเทศ ใน 5 ปี [มีคลิป]

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เรียนรู้ทุกอย่างในชีวิตที่โอกาสให้” เจาะใจ “ครูเบล” ติวเตอร์คนเก่ง อดีต นร.ไทยผู้มีผลการเรียนอันดับ 1 ใน ร.ร.สิงคโปร์ และผู้หญิงคนแรกที่ได้ 16 ทุนแลกเปลี่ยนภายใน 5 ปี สะท้อนการศึกษาไทย ยิ่งแข่งขันสูง ติวเตอร์ยิ่งบูม!!



จากเด็กหลังห้อง ร.ร.ไทย สู่อันดับ 1 ร.ร.สิงคโปร์

“ตั้งแต่ ป.1 ยัน ป.4 เบลเป็นเด็กที่เรียนหนังสือไม่เก่ง ก่อนไปเรียนที่สิงคโปร์ เบลเรียนที่โรงเรียนไทยมี 60 คนในห้อง เบลสอบได้ประมาณที่ 55 เราไม่ได้ตั้งใจที่จะเรียนหนังสือให้เก่ง แค่ว่าพอเราเคยสอบได้ครั้งแรกได้ดี มันก็เหมือนมีความภูมิใจ เราก็เลยอยากจะรักษาตรงนั้นเอาไว้ ต่อมาก็เลยพยายามเรียนให้ดี”

“เบล - ศุภนุช ชือรัตนกุล” หรือที่รู้จักกันในนาม “ครูเบล” เปิดใจแก่ทีมข่าว MGR Live ถึงเส้นทางชีวิตในฐานะอดีตนักเรียนมีผลการเรียนเป็นอันดับ 1 ของชั้นติดต่อกัน 3 ปีซ้อน ของโรงเรียน Tanjong katong school ประเทศสิงคโปร์ ตลอดจนเกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาวิชาชีววิทยา Mahidol University International College (MUIC)

ยิ่งไปกว่านั้น เธอคือผู้หญิงคนแรกที่ได้รับทุนถึง 16 ทุน แลกเปลี่ยน 10 ประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปี และปัจจุบันกลายเป็นครูติวสอบการเรียนต่อประเทศสิงคโปร์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย


ทว่า…กว่าที่เธอจะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เธอยอมรับว่าในอดีตตนเองเคยเรียนไม่เก่งถึงขั้นรั้งท้าย ซึ่งเมื่อครั้งที่เธอเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสิงคโปร์ ช่วง 3 เดือนแรกในบ้านหลังใหม่ ด้วยอุปสรรคด้านภาษา ประกอบกับความขี้อาย แม้แต่สั่งอาหารก็ยังไม่กล้า ทำให้เธอไม่ได้กินอะไรจนน้ำหนักลดไปถึง 13 กิโลกรัม

โดยบทสัมภาษณ์นี้จะพาไปรู้จักครูเบลแบบเจาะลึก พร้อมเผยเคล็ดลับเรียนให้เก่งระดับท็อปอย่างหมดเปลือก!

“แม่ส่ง 3 พี่น้องไปเรียนที่สิงคโปร์ ก็คือส่งคนโตไปก่อน แล้วก็เบล แล้วก็คนเล็ก ไปคนละช่วงเวลา ที่ส่งไปสิงคโปร์คือ 1. สิงคโปร์มีการศึกษาที่ดีระดับโลก 2. ใกล้ 3. ถูก ไปเรียนต่างประเทศถ้าเราเทียบกับอังกฤษ สิงคโปร์ถูกกว่าครึ่งนึง แล้วการศึกษาดีระดับโลก แต่ข้อเสียคือมันเข้ายาก

ตอนนั้นไปพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แล้วเพื่อนก็เป็นเพื่อนใหม่ทั้งหมด พูดไม่ได้ขนาดที่ว่าเราไม่กล้าไปสั่งอาหารที่โรงเรียน ตอนที่ไป 3 เดือนแรก น้ำหนักลดไป 13 กิโล เพราะว่าไม่กล้าไปพูดกับเขาว่าเราต้องการอะไร แล้วก็ไม่กล้าถามว่ามันเท่าไหร่ พอผ่านไป 3 เดือน ก็คิดว่าเราต้องกินข้าวบ้างนะ ก็เลยต้องชี้ว่าเอาอันนี้ พกเงินมาแล้วให้เขาเลือก เท่าไหร่ก็หยิบไป เด็กทุกคนย้ายประเทศต้องใช้เวลาปรับตัวหมด”


แม้ตอนที่ย้ายไปศึกษาต่อช่วงแรกจะสื่อสารไม่ได้ อีกทั้งต้องเข้าเรียนทันทีโดยไม่มีการปรับพื้นฐาน แต่ด้วยสถานการณ์ที่บังคับ ทำให้เธอต้องเร่งปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ให้ได้โดยเร็ววัน

“จากประสบการณ์ของเบล ตอนไปเบลเข้าโรงเรียนเลย คือเด็กเรียนรู้เร็ว เด็กทุกคนจะฟังออกพูดได้ภายใน 3-6 เดือน ถ้าเขาไปจากศูนย์ เพราะเขาถูกบังคับโดยสถานการณ์ให้ฟังทุกวัน พูดทุกวัน แต่ถ้าผู้ใหญ่อาจจะต่างกันตรงที่ว่า ไม่กล้าพูด ไม่กล้าเอาคำศัพท์ไปใช้

แต่ถ้าเป็นเด็กเราไม่คิดมาก และจะมีเพื่อนที่โรงเรียนที่คอยมาคุยกับเรา ถ้าเราไม่คุยกับเพื่อนเลยเราก็จะไม่มีเพื่อน โดยสถานการณ์มันทำให้เราพูดภาษาอังกฤษทุกวัน ฟังทุกวัน เด็กส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษ ทุกคนที่อยู่สิงคโปร์ต้องพูดภาษาที่ 2 อาจจะเลือกภาษาจีน มาเลย์ หรืออินเดีย เราเลือกเป็นจีน

เบลไปตอน ป.4 ได้เรียนในโรงเรียนที่เป็นภาษาจีน ซึ่งภาษาจีนเราศูนย์ ภาษาอังกฤษเราก็ศูนย์ (หัวเราะ) เรียนโรงเรียนนี้ภาษาจีนจากศูนย์ดีขึ้นมามาก มันใช้การฝึกฝน ก็ใช้เวลาปรับตัว มาสอบได้ดีตอนขึ้น ม.1 เพราะตอนแรกยังจับทางไม่ถูกว่าเขาต้องการอะไร”

เคล็ด(ไม่)ลับปรับเกรด “เห็นหนอ-ได้ยินหนอ-คิดหนอ”

“ตอนไปแรกๆ ก็เป็นช่วงปรับตัว คะแนนก็ยังไม่ดีมาก จนมาเข้า ม.1 คะแนนก็ขึ้นมาเป็นท็อปของโรงเรียน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หาตัวเองแล้วก็เกเร เล่นกับเพื่อน พอกลับมาที่ประเทศไทย แม่ก็พาไปนั่งสมาธิ จับไปเข้าค่าย 3 วัน 2 คืน ในช่วงที่นั่งสมาธิเขาก็สอนให้โฟกัส ให้อยู่กับตัวเอง ให้รู้ว่าทุกนาทีเราทำกิจกรรมอะไรอยู่

พอเบลเอาตรงนั้นมาใช้กับการเรียน อย่างเช่น วันนี้อ่านหนังสือ ก็จะรู้ว่าตรงนี้คืออ่านหนังสือ จากที่เมื่อก่อนเราอ่านหนังสือ 1 ชั่วโมงเท่ากัน แต่เราไม่เคยดูเลยว่า ระหว่างอ่านหนังสือคิดนู่นคิดนี่ ทำจริงๆ แค่นั้นเอง ไม่ได้ทำอะไรเปลี่ยนไป ทำแค่ ณ ช่วงที่เราอ่านหนังสือ ที่เราเรียนอยู่ เรามีโฟกัสกับเวลาตรงนั้น แค่นั้นเองค่ะ”


ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าสิ่งที่ทำให้ผลการเรียนของเธอคนนี้เปลี่ยนไปจากอันดับรั้งท้าย กลายมาเป็นท็อปของโรงเรียน เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ทำได้ แถมไม่ต้องลงทุนแม้แต่บาทเดียว นั่นก็คือ การฝึกการสมาธิ ที่ได้มาจากการเข้าค่ายธรรมะ 3 วัน 2 คืนในช่วงปิดเทอม

“ตอนนั้นเบลดื้อ เถียง ไม่ฟัง เราเริ่มเป็นวัยรุ่นแล้ว 12-13 วันๆ เก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ต่อจิ๊กซอว์ อ่านหนังสือของตัวเอง แม่เลยรู้สึกว่าต้องทำอะไรซักอย่าง จะส่งเธอไปให้คนอื่นสั่งสอน มันเป็นคอร์สยุวพุทธ 3 วัน 2 คืน

ในนั้นเขาก็จะสอนอะไรหลายๆ อย่าง แต่เราจำได้แค่เรื่องเดียว เขาใช้เลเซอร์แล้วยิงไป มีจุดแดงๆ นี่คือ เห็นหนอ ได้ยินหนอ คิดหนอ เขาพูดอยู่แค่นี้เอง แต่เบลว่าทั้งห้องอาจจะไม่ใช่ทุกคนเก็ทแมสเสจนี้ เขาอาจจะพูดเป็นร้อยแมสเสจใน 3 วัน คุณเก็ทกับอะไรก็เอาไปใช้ แต่บังเอิญว่าอันนี้มันใช้กับเราแล้วเวิร์ก

เบลจะบอกว่ามันง่ายมากเลยนะที่เราจะทำ การมีสมาธิหรือการรู้ว่า ณ โมเมนต์นั้นเราทำอะไรอยู่ มันใช้การฝึกฝน มันไม่ใช่ว่าแค่ไปแล้วได้ แต่ว่าเบลไปแล้วเอาอันนั้นมาใช้ ใน 3 วัน 2 คืน เขาสอนหลายอย่าง เบลหยิบมาแค่อย่างเดียว คือ ให้มีโฟกัสกับปัจจุบัน มันฟังดูง่าย แต่ว่ามัน Impactful


หลังจากตกผลึกสิ่งที่ได้จากค่ายธรรมะมาเป็นแนวทางในการเรียนและการดำเนินชีวิต ก็ทำให้ผลการเรียนของเธอคนนี้ก้าวกระโดด จนกลายเป็นอันดับ 1 ของโรงเรียน 3 ปีซ้อน ทั้งที่เป็นเด็กต่างชาติ

อดีตเด็กห้องบ๊วยยอมรับว่า คาดไม่ถึงกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เรื่องนี้นำมาซึ่งความภาคภูมิใจต่อตนเองและครอบครัวเป็นอย่างมาก

เราแค่รู้ตัวว่าเปลี่ยนวิธีการอ่านหนังสือ แต่ผลลัพธ์มันคือได้ที่ 1 ตอนที่ทำได้ก็ไม่ได้คิดว่าเราจะได้ที่ 1แต่เราเป็นเด็กต่างชาติที่ได้ที่ 1 ของทั้งโรงเรียน แสดงว่าเราชนะเด็กสิงคโปร์ ครูเขาก็จะค่อนข้างแปลกใจว่าจากที่คะแนนกลางๆ ล่าง แล้วก็มาจากเด็กห้องสุดท้าย เขาก็เข้ามาดูว่าเราทำอะไรเป็นพิเศษ เราก็บอกว่าเราไม่ได้ทำอะไร เราอ่านหนังสือปกติ

ความจริงที่บ้านก็ค่อนข้างช็อก ตัวเบลเองก็ไม่ได้คิดว่าจะได้ที่ 1 เราก็เอาอันนี้ไปให้ปะป๊า หม่าม้าดู ทุกคนเขาก็รู้สึกภูมิใจนะ จากทั้งชีวิตไม่เคยได้รับเลย เราไม่เคยเรียนเก่งเลย เราแค่เอาอันนี้ทำในปีต่อๆ ไป ตอนเด็กๆ ไม่ได้คิด คิดแต่ว่าทำอันนี้แล้วได้คำชมจากคุณพ่อคุณแม่ ก็แค่ทำแบบนี้ต่อไป ไม่ได้รู้สึกกดดัน

สิงคโปร์สอนให้เราเรียนอะไรมาให้เราใช้กับชีวิต พอเบลเรียนธรรมะ ธรรมะได้สอนว่าอันนี้คือเห็นนะ อันนี้คือได้ยิน เราทำอะไรอยู่ ธรรมะสอนให้เรารู้ว่าเราทำอะไรปัจจุบัน เบลแค่เอาอันนี้มาใช้กับการเรียน ทุกอย่างในชีวิตมันเป็นการเรียนรู้ ให้เราเรียนรู้แล้วเอาอันนั้นมาคิดว่าจะปรับปรุงชีวิตตัวเองยังไง แต่บังเอิญว่าเขาให้เราไปนั่งสมาธิแล้วมันเวิร์ก แล้วทุกอย่างในชีวิตเขาจะดีขึ้นมาเอง”


แตกต่างแค่ไหน การศึกษาไทย VS สิงคโปร์


“ที่สิงคโปร์เราเรียนกันแค่ครึ่งวัน สมมติ 7 โมงเช้าจนถึงบ่ายโมง หลังจากนั้นก็จะว่าง เขาจะเน้นกิจกรรมอะไรก็ได้ที่เด็กชอบหรือถนัด เช่น กีฬา ดนตรี ฯลฯ เขาต้องการให้เด็กเข้าใจเนื้อหาในโรงเรียน อยากให้เด็กหาตัวเองไปด้วย แล้วก็อยากให้เด็กคนนึงเก่งได้รอบด้าน ไม่ใช่เก่งเฉพาะวิชาการ แต่ละปีที่เราเลือกทำกิจกรรม ไม่จำเป็นต้องทำกิจกรรมเดิม

สิงคโปร์เขาสอนให้เด็กคิด กล้าทำ ถ้าไม่มีสกิลนี้ เบลไม่กล้าขอทุนหรอก เพราะว่าทุนสมัคร 500 คนได้คนเดียว สมัครทั่วโลก 1,000 คน ได้คนเดียว เบลคิดว่าเขาสร้างบุคคลขึ้นมาเป็นตัวเองได้ดี ถ้าเราคิดว่าเราทำไม่ได้แต่ต้น ถ้าเรามัวแต่คิดว่าเราไม่ดีพอ คิดว่าคนอื่นเก่งกว่าเรา เราก็ไม่สมัครนะ แต่เบลคิดแค่ว่า คุณเลือกก็เลือก คุณไม่เลือกก็ไม่เลือก แต่ฉันทำสิ่งนี้เพราะฉันอยากทำ

ที่ประเทศไทยเราอาจจะเน้นเรียนวิชาการเยอะ การที่เราเรียนวิชาการได้ดี มันต้องเน้นชั่วโมงเรียนที่เยอะ เลยเป็นว่าเราอยากจะให้เด็กเป็นแบบนี้ต่อไปมั้ย เบลไม่ได้มองว่าการศึกษาไทยไม่ดี แค่คิดว่าเราโฟกัสที่การท่องจำ การศึกษาไทยใช้เกณฑ์การวัดคือท่องจำ สิงคโปร์เขาจะใช้ความเข้าใจเยอะกว่า ถ้าเข้าใจในโรงเรียน เราจะสามารถทำได้ เพราะฉะนั้นเด็กคนเดียวกันถ้าเรียนที่ไทยกับที่สิงคโปร์ คะแนนเขาก็ต่างกันโดยอัตโนมัติ เพราะใช้เกณฑ์การวัดไม่เหมือนกัน

(คิดว่าเด็กไทยมีความสุขไหม) ไม่อยากว่าการศึกษาของประเทศไทย เพราะว่าถ้าพูดเราในฐานะคนไปคอมเมนต์ เราก็ควรจะไปพัฒนาให้การศึกษาไทยดี ถ้าเรารู้สึกว่ามันไม่ดี เบลไม่ได้อยู่ในบทบาทจะไปพัฒนาระบบการศึกษา เราก็เลยไม่กล้าไปบอกเขาว่าเขาทำไม่ดี เพราะเราไม่ได้ไปช่วยเขา

แต่ถ้าถามว่าเด็กไทยหรือคนไทย ถ้าเราอยู่ประเทศนี้ คุณเลือกที่จะไปเปลี่ยนระบบการศึกษา ถ้าระบบการศึกษาไม่เปลี่ยน คุณก็ต้องอยู่กับระบบการศึกษานั้นให้เป็น คุณจะทำยังไงให้อยู่กับระบบการศึกษาแบบนี้แล้วมีความสุข”



ไม่ธรรมดา! คว้า 16 ทุน 10 ประเทศ ภายใน 5 ปี

หลังจากที่เบล เรียนจบมัธยมปลายจากประเทศสิงคโปร์ ด้วยความที่เป็นเด็กมั่นใจ กล้าคิด กล้าทำ ประกอบกับมีรางวัลการันตีด้านการศึกษามากมาย จึงมีความฝันที่อยากออกไปท่องโลกกว้าง โดยที่ไม่กลับมาบ้านเกิดแล้ว แต่ความฝันนั้นเป็นอันต้องพับโครงการไปก่อน นั่นก็เพราะผู้สนับสนุนหลักเรื่องเงินอย่างครอบครัวไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้

“เบลจบมา เบลขอหม่าม้าไปเรียนต่อที่สิงคโปร์ เพราะเบลรู้สึกว่าการศึกษาดีมาก เหมาะกับเรา แล้วเราก็เรียนได้ดี เบลจะเข้ามหาวิทยาลัยระดับโลก ไม่กลับมาแล้วเมืองไทย แม่ก็บอกว่าไม่ได้ ต้องกลับมาเมืองไทย เขาอยากให้เรากลับมาพัฒนาประเทศ เขาพูดอย่างนี้เลยนะ เราก็บอกว่า ศักยภาพเรามีระดับโลก เราจะกลับมาทำไม


แต่ว่าเงินทุนเขาเป็นคนส่ง (หัวเราะ) เราก็กลับตามที่เขาสั่ง ตอนนั้นอายุ 16 จบ ม.4 ที่นู่น เท่ากับ ม.6 บ้านเรา เบลก็มาเข้ามหิดลอินเตอร์ เราก็บอกแม่นะว่า ขอเงินหน่อยแม่ เราจะไปเที่ยวรอบโลก ขอซักกี่ล้านดี เบลก็พูดอย่างนี้เลยนะ เพราะเราเป็นเด็ก คิดอย่างเดียว ทำยังไงก็ได้ให้ไปเมืองนอก พูดทีเล่นทีจริง เผื่อฟลุก (หัวเราะ)

ก็บอกว่าเขาไม่ให้ มีลูก 3 คน ถ้าฉันให้เธอไป ก็ต้องให้คนโตกับคนเล็กไปด้วย ฉันไม่สนับสนุน ฉันไม่มีเงินขนาดนั้นหรอก พอขอเงินเขาไม่ให้ เราก็บอกแม่เลยนะ ถ้าหม่าม้าไม่ให้ เบลจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ไปต่างประเทศ แม่ให้มั้ย แต่ไม่ผิดกฎหมายนะ แต่ขอแค่ว่าแม่ให้ไป ไม่ใช่ว่าเบลไปทำแล้ว แล้วแม่ไม่ให้ไป ไม่โอเค แม่ก็บอกว่าโอเค ถ้าเธอไม่ยุ่งกับเงินฉัน ฉันโอเค (หัวเราะ)”

หลังจากผ่านการอนุมัติจากผู้เป็นแม่เป็นที่เรียบร้อย เธอก็พบว่า ทุนแลกเปลี่ยนในต่างประเทศ น่าจะเป็นใบเบิกทางที่ดีและตอบโจทย์ที่สุด เส้นทางการสอบชิงทุนของเบลจึงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่นั้น และแน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกครั้งที่ผลการสอบออกมาตามที่เธอหวัง

“หลังจากนั้น เบลก็เริ่มขอทุน เบลไม่ได้คิดเลยนะว่าจะได้หรือไม่ได้ เบลแค่อยากลองว่าถ้าเราลองดู ซึ่งแน่นอนว่าทุนแรกที่เบลขอเบลไม่ได้ เบลขอทุน UN ไปอังกฤษ ทุนนั้นค่อนข้างใหญ่เลย ติด 3 คนสุดท้ายรอบสัมภาษณ์ รู้สึก High มาก เรื่องของเรื่องมีสิทธิ แข่งมาเป็นร้อยแล้ว แต่ก็รู้แล้วยังไงเราก็ไม่ได้ เพราะว่าอีก 2 คนเก่ง แล้วก็ไม่ได้


กลับมาที่บ้านไม่กินข้าว 2 วัน ไม่คุยกับใครเลย เรารู้สึกว่าอีกนิดเดียวเองมันจะได้ แม่เดินมาแล้วก็บอกว่า “เธอไม่ต้องไปสมัครอะไรแล้ว ถ้าเธอรับกับความผิดหวังไม่ได้ มันไม่ใช่ทุกทุนที่สมัครแล้วเธอจะได้ เขาสมัครกันเป็นร้อย เธอได้ 3 คนสุดท้าย มันก็คือโอเค มันดีแล้ว” พอเขาพูดประโยคนี้มา เราก็คิด แล้วเราก็เหมือนกับ… ไม่ได้ก็ไม่ได้ ช่างมัน ก็เลยไปสมัครทุนใหม่ แล้วมันก็ได้

ตอนที่ไปขอทุนต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยดูเกรด เพราะทุกคนเกรดดีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรแตกต่าง เทคนิคของเบล คือ คุณต้องรู้จักตัวเองมากพอที่คุณจะสามารถบอกได้ว่านี่คือตัวตนของคุณ คนพวกนี้จะโดดเด่น อีกอย่างเราต้องชำนาญในเรื่องที่เราไปขอ

ทุนที่เบลสมัครเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไปปลูกปะการัง ไปอนุรักษ์แมวน้ำ อนุรักษ์ฉลาม ข้อดีก็คือ เบลชอบอยู่แล้ว Portfolio เบลมาด้านนี้ ฉะนั้น เวลาไปสัมภาษณ์มันก็จะโดดเด่นกว่าเด็กคนอื่น เพราะว่าเราชอบ จะตอบคำถามได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ง่าย ทุกทุนที่เราได้มันก็คือไปไฟต์มา

เพราะความกระหายใฝ่รู้ และไม่หยุดพัฒนาตนเอง หลังจากที่ได้สัมผัสประสบการณ์การได้ทุนไปแลกเปลี่ยนยังต่างประเทศครั้งแรกมาแล้ว ภายในระยะเวลา 5 ปี เธอก็คว้ามาได้อีกรวมแล้ว 16 ทุน ขณะที่กำลังศึกษาปริญญาตรี อีกทั้งไม่กระทบผลการเรียน เพราะเธอเป็นเจ้าของเกียรตินิยมอันดับ 1 สาขาวิชาชีววิทยา Mahidol University International College (MUIC)

“พอเราได้ไป 1 ทุน เราก็รู้แล้วว่ามันดี มันสนุก เวลาไปทุนเขาจะบอกว่าคุณคือหน้าตาของประเทศ คุณต้องทำตัวดี ทุกครั้งที่เราขึ้นไปพูดบนเวทีมันคือโอกาส ถ้าเราเอามุมมองที่ดีออกไปเผยแพร่ให้ผู้นำเยาวชนในอนาคต เขาก็จะรู้สึกว่าประเทศไทยเก่งนะ ประเทศไทยมีมุมมองแบบนี้ๆ เหมือนเราเอาประเทศไทยไปแสดงให้คนอื่นรู้ ทุกคนจะหันมามองประเทศไทยในมุมที่ดีขึ้น

เอาจริงๆ เด็กคนนึง ส่วนใหญ่ก็เยอะแล้วนะปีนึงทุนนึง 16 ทุนคือทุนที่เราได้ แต่เรายื่นมากกว่านั้น เราไม่ได้ได้ทั้งหมด สมมติทุนที่เรายื่น 70 เปอร์เซ็นต์เราได้ อัตราส่วนที่เบลได้ถือว่าสูง เพราะว่าพอเรายื่น เราจะมีโปรไฟล์ที่ดีขึ้น แล้วเราก็อินกับ Topic นี้ มันก็ง่ายขึ้นที่เขาจะเลือกเราไปเป็นตัวแทนประเทศ มีทุนที่ได้แล้วตัดสินใจไม่ไปก็มี


16 ทุนที่ขอเบลรู้สึกสนุกมากที่ทุกวันต้องมากรอกใบสมัคร แล้วก็รู้สึกว่าต้องมาลุ้น ได้ไม่ได้ ไม่ได้รู้สึกกดกัน รู้แค่ว่าได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร อยู่ที่เดิม ไม่ต้องสมัครทุกทุน เพราะว่าเบลไม่ได้ชอบทุก Topic กว่าคุณจะหาตัวเองเจอต้องใช้เวลา แต่ถ้าคุณชอบแล้ว ผู้ปกครองควรจะสนับสนุนเด็กให้เขาทำ ให้เขาลองดู ไม่เสียหาย ได้ก็คือได้ ไม่ได้แค่ไม่เหมาะ ไม่ได้แปลว่าเราไม่ดี แค่ทุนมันไม่แมชกับเราปีนี้ ปีหน้าไม่แน่ ก็ลองใหม่”

สำหรับเด็กทุนผู้นี้ เธอกล่าวว่า การขอทุนไปด้วยขณะที่เรียนอยู่ ไม่ใช่เรื่องนี้เกินความสามารถของตนเอง ซึ่งหากต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งจริงๆ เธอก็เลือกที่จะขอทุนก่อน เพราะมีระยะเวลาที่จำกัดคืออายุไม่เกิน 25 ปี

“ต้องรู้ว่าเราเรียนเป็นหลัก เราไม่ใช่ขอทุนเป็นหลัก เราต้องจัดให้ถูกว่าชีวิตเราต้องการอะไร บ้านเบลบอกว่าเรียนก่อนนะ เธอเรียนไม่เก่งก็ได้แต่ต้องเป็นคนดี ถ้าเธอเรียนเก่งก็เป็นเรื่องรองลงมา ถ้าเราสมัครทุนแล้วเสียการเรียน เราก็ต้องมาดูว่ามันใช่สิ่งที่เราต้องการในชีวิตมั้ย แล้วคุณพ่อคุณแม่โอเคมั้ย ถ้าเราทิ้งกับการเรียนไปเลยแล้วมาสมัครแต่ทุน มันต้องคิดแต่ละบ้าน

ช่วงที่ไป เบลต้องเรียนมหิดลอยู่ เบลจบภายใน 3 ปี เพราะฉะนั้นในช่วง 3 ปี เบลก็สมัครทุนไปเรื่อยๆ เขาให้เราหยุด 2-3 สัปดาห์ได้ หรือถ้ามากสุดถ้าเป็นทุนวิจัยก็จะเดือนนึง ส่วนตัวไม่ได้มองว่ามันผิด เพราะว่าความคิดเห็นเราเรียนตอนไหนก็ได้ (หัวเราะ) ถ้ามันหนักไปที่จะทำทั้งคู่ ของเบลทำทั้งคู่ ไม่ได้รู้สึกว่าหนักไป เพราะอันนี้เราก็ชอบ

เรื่องเรียนมันก็ไม่ได้ยากมาก ถ้าเราจะเรียนไปด้วย ขอทุนไปด้วย แต่ถ้ามันหนักไปสำหรับเรา เราก็มาจัด อันไหนสำคัญกับเรากว่า เพราะทุนมันมีเวลาจำกัด เราทำได้แค่อายุ 18-25 ปี มันจะจบเยาวชน ตอนเบลเริ่มที่อายุ 20 แต่อายุ 26 แล้ว เราก็ยังเรียนได้


และความสำเร็จทั้งหมดที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่ได้กำลังใจจาก “ครอบครัวชือรัตนกุล” ที่คอยเป็นแรงผลักดันและหล่อหลอมให้เบลเป็นเบลอย่างทุกวันนี้

“แม่เป็นผู้หญิงเก่ง เขาทำทุกอย่างจากไม่มีจนเขามีทุกวันนี้ด้วยตัวเอง เขาจะสอนให้ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่ต้องคิดว่าจะไปพึ่งคนอื่น ซึ่งเบลได้เขามาเต็มๆ และแม่จะพูดว่า ‘ไม่จำเป็นต้องได้ร้อย ไม่ต้องเป็นที่ 1 ขอให้ทำแล้วมีความสุข ก็โอเค’

ส่วนคุณพ่อเป็นคนที่ตลกมาก ไม่เครียด ทุกอย่างในชีวิตจะชิล สมมติสอบทุนนี้ไม่ได้ พ่อก็บอกไม่เป็นไร เราได้ตรงนี้ของพ่อมา พ่อขออย่างเดียวขอให้เป็นคนดี ซึ่งเราก็ทำได้ เพราะมันไม่ยากที่จะเป็นคนดี ส่วนพี่น้องเขาก็ซัปพอร์ตนะ เป็นกำลังใจให้ ไปรับไปส่งเราที่สนามสอบ เบลคิดว่าบ้านเบลเป็นบ้านที่โอเพน อยากทำอะไรคุณทำ ขอแค่ปลอดภัย


ทุนเปลี่ยนชีวิต

“เบลเคยไปทุนนึง เขาให้ไปที่พัฒนาโครงการให้ชีวิตคนในสลัมดีขึ้น เขาสนับสนุนโดยบรูไน แต่ว่าได้ไปที่ฟิลิปปินส์ แล้วเขาเอาเด็กไป 20 คน ที่เป็นหมอ หมอฟัน วิศวกร ตอนนั้นเบลไปโดยเป็น Entrepreneur ก็แยกกลุ่ม หมออาจจะไปทำสุขภาพ เราต้องไปพัฒนาสินค้าให้มันยั่งยืน ให้สลัมนี้มีอาชีพ โดยใช้มันสมองของแต่ละคน ลงแรงเต็มที่

ไปอยู่ในสลัมเลย เขาให้อยู่ที่ดีที่สุดคือตึกอพยพ บ้านทั้งหมดในสลัมจะสร้างโดยขยะ ถ้าน้ำท่วมคนจะอพยพมาที่ตึกนี้ เพราะเป็นตึกเดียวที่มีคอนกรีต วิธีที่เรานอนเขาก็ให้ 20 คนนอนเรียงกัน เขาสอนเราตั้งแต่ออกไปตักน้ำ 3 กิโล ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้า ไม่ต้องพูดถึงว่าใช้ชีวิตประจำวันยังไง Culture shock เหมือนกัน บ้านเราก็มีสลัม แต่เราไม่เคยเข้าไปอยู่ในสลัม เราไม่เคยเข้าไปเห็นจริงๆ ว่ามันขนาดนี้เลยนะชีวิต

แล้วเราเห็นคนยากจนจริงๆ เราเห็นแม้กระทั่งเด็กมายืนขายบริการถูกฉุดไปต่อหน้า ทุกคนก็ช็อก แต่ไม่สามารถช่วยเขาได้ มันเป็นสลัม ตอนนั้นเราก็รู้สึกมันต้องขนาดนี้เลยเหรอ เพื่อที่จะแลกกับข้าวมื้อนึง มันก็ Impactful สำหรับชีวิต ทุกคนเรียนรู้เหมือนกัน เรารู้นะว่าชีวิตเราสบาย เราควรจะให้มากกว่าที่ได้รับเยอะ แล้วก็ใช้ชีวิตในการเรียนรู้ของจริง

พอจบโครงการ ก่อนกลับเราคุยกัน เขาสอนเรามากกว่าอีก ให้เรารู้คุณค่าของชีวิต ทุกคนในนั้นพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่เราทำมันจิ๊บจ๊อยมาก เราโชคดีแล้ว หลังจากนั้น เบลไม่เคยทิ้งขว้างของ ไม่เคยกินข้าวไม่หมด ไม่เคยซื้อของที่เราไม่ใช้และไม่จำเป็น ตอนไปเราก็ขนเสื้อผ้าไปอยู่ 2 สัปดาห์ ตอนกลับกระเป๋าเปล่า เราบริจาคทั้งหมด

เราอยากจะทำอะไรเพื่อจะช่วยคนอื่นให้มากกว่าทุกวันนี้ที่เราทำอยู่ ทุกวันนี้เราอาจจะช่วยแค่สอนหนังสือ คำถามต่อมาคือมันเพียงพอมั้ยที่เราจะทำแบบนั้นกับสิ่งที่เราเคยได้รับมา แล้วเราไม่เคยคิดเลยนะเราจะยึดติดกับมัน เราให้โดยที่เรารู้สึกว่าเราควรให้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ เบลชอบทุนระยะสั้นมากกว่าระยะยาว เรามีเวลาแค่ 2 สัปดาห์ เรียนรู้ทุกอย่างในชีวิตที่โอกาสให้ ทุกครั้งที่ไปเบลคิดแต่ว่า เราต้องพยายามเรียนรู้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเรียนได้”



ติวเตอร์ที่เป็นมากกว่าติวเตอร์

สำหรับหน้าที่การงานนั้น ปัจจุบัน เบล ได้ผันตัวมาเป็นติวเตอร์ ติวสอบให้แก่เด็กๆ ที่ต้องการจะไปศึกษาต่อที่ประเทศสิงคโปร์ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการค้นพบความสามารถด้านการสอนของตนเอง มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย

“มีน้องคนนึงเขาจะต้องไปสอบ IGCSE คล้ายๆ สอบขึ้นระดับชั้น ม.4 ไป ม.5 ของระบบอังกฤษ ซึ่งเป็นข้อสอบใหญ่ เรียนมา 2 ปีแล้ว คะแนนอ่อนมาก สอบเลขธรรมดาแต่เขาไม่รู้สูตรอะไร เราช่วยสอนน้องได้ไม่มีปัญหา นั่งรถเมล์จากมหิดล ศาลายา ไปสอนถึงพารากอน สัปดาห์ละครั้ง ทุกครั้งที่เบลไปเบลก็บอกเขาว่า เธอฉลาด แล้วเธอก็ทำได้ แล้วฉันก็มั่นใจในตัวเธอว่าเธอทำได้ เพราะฉันสอนเธอก็เข้าใจ สอนไปด้วยพูดไปด้วย เราต้องเชื่อมั่นในตัวเด็กที่เราสอน

3 เดือนผ่านไป น้องคนนี้ได้ A ทั้งโรงเรียนช็อกนะ เพราะว่าเด็กคนนี้ไม่เคยสอบผ่านเลย เมื่อกี้แค่สอบในโรงเรียน พอผ่านไปอีกซักเดือนนึง เขาจะสอบของจริง ของจริงเขาได้ A คือ 90 ขึ้น แม่รู้ว่าลูกเขาสอบผ่านแล้วได้คะแนนดี เขาปิดบ้านเลี้ยงเลย เซอร์ไพรส์นะ ไม่คิดว่าเขาจะทำได้ดีขนาดนี้ นี่คือ Big Achievement ของเขาแล้ว ทั้งชีวิตเขาคิดมาตลอดว่าเขาไม่เก่ง เขาไม่มีทางทำได้”


หลังจากนั้น เราก็รู้แล้วว่าเราสามารถ Impact กับชีวิตคนๆ นึงได้ จากที่เราไม่เคยคิดว่าจะไปช่วยใคร แต่คนนี้เราเห็นๆ แล้วเขาก็รู้สึกว่าเขาได้จริงๆ เขารู้สึกขอบคุณเราจริงๆ ที่เราช่วยเขา ช่วยลูกเขา เราก็คิด เราได้ทุนมาตั้งเยอะต้องช่วยคนอื่นบ้าง ก็พยายามทำมาตลอด เราก็เลยเริ่มทำมาตั้งแต่เรียนมหิดลด้วย ขอทุนไปด้วย แล้วก็สอนเด็กไปด้วย ทุกอย่างที่ทำ เบลมีความสุขกับสิ่งที่ทำนะ เบลไม่ได้รู้สึกว่าไปสอนเขาแล้วลำบาก รู้สึกว่าได้ช่วยเขา และได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ

สำหรับช่วงอายุของนักเรียนในการดูแลของครูเบลนั้น จะอยู่ในช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 2 เหตุผลก็คือ เป็นช่วงวัยที่เหมาะสม และช่องว่างทางการศึกษาไม่ได้ห่างจนเกินไป

และเธอก็ยอมรับอย่างติดตลกว่า “ไม่คอนเฟิร์ม” ว่า เด็กที่มาติวสอบด้วยจะสอบเข้าโรงเรียนในประเทศสิงคโปร์ได้ทุกคน หากแต่การเรียนกับเธอนั้นจะเป็นการเพิ่ม “โอกาส” ในการสอบติดให้มากขึ้น


เด็กที่จะไปสิงคโปร์จะมี 2 แบบ 1. ขยันมาก 2. ไอคิวสูง หลักๆ ติว 2 วิชา คือ ภาษาอังกฤษ กับ เลข เพราะสิงคโปร์ใช้สอบแค่ 2 วิชา ปกติที่สอน ก็คือ เด็ก ป.2 จนถึง ม.2 ถ้าเกินกว่านี้เขาไม่รับ เพราะว่า Gap ระหว่างการศึกษามันจะยิ่งห่วง ณ ตอนนี้เราอยู่ไทย สิงคโปร์มีการศึกษาระดับโลก ทำให้เราสอบเข้ายาก ช่วงประมาณ ป.2 - ม.2 เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด

ทุกคนทั่วโลกอยากส่งลูกไปเรียนสิงคโปร์ เราอาจจะเห็นสิงคโปร์ว่าใกล้ แต่จริงๆ เราไปสอบเด็กทั่วโลกนะ เด็กยอมลด 1-2 ปีเพื่อให้เข้าไปเรียน คู่แข่งเยอะ มีหลากหลายชาติ มีที่น้อย เขาให้เด็กสิงคโปร์เรียนก่อน ที่เหลือสอบแข่งกันทั่วโลกเพื่อเข้าไป สมมติมีเด็กสมัคร 800 คน เขาก็รับแค่ 10 ที่ Top 10 ของปีนั้นๆ มันก็ยากตรงนี้

(เปอร์เซ็นต์การสอบติด) แบบไม่เรียนกับเบลสอบติด 10 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งหมดที่เขารับ ถ้าติวกับเรา 40-50 เปอร์เซ็นต์ เหมือนเพิ่มโอกาสในการสอบติด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สอบติด ขึ้นอยู่กับพื้นฐานเด็ก จริงๆ ที่มาติวไปสิงคโปร์ ก็เพราะระบบเขาดี ที่ได้ทุนเยอะขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเราได้ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน แล้วเรากล้าพูด กล้าแสดงออก มั่นใจ ถ้าเด็กมีโอกาสแล้วเขาทำได้ ก็อยากให้เขาได้รับการศึกษาที่ดี”

ไม่เพียงแค่การเป็นติวเตอร์เท่านั้น ผู้ปกครองหลายคน ยังยกครูเบลให้เป็นต้นแบบที่อยากให้บุตรหลานของตนเจริญรอยตาม เพราะไม่ใช่แค่สอนวิชาการ ยังสอดแทรกแง่มุมการใช้ชีวิตให้นักเรียนอีกด้วย

นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นสถาบันเสริมทางด้านการศึกษา ยังสะท้อนความคิดเห็น ถึงค่านิยมในปัจจุบัน ที่หลายบ้านเห็นว่าการศึกษาในรั้วโรงเรียนไม่เพียงพอต่อการแข่งขันในปัจจุบัน


“เบลไม่ได้ทำให้ตัวเองเป็น Role Model ของเขา แต่เราก็ทำในสิ่งที่ดี คิดในสิ่งที่ดี แล้วก็ไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดีต่อคนอื่น เช่น เบลจะเป็นคน Positive ทุกอย่าง สอบตก ไม่เป็นไรครั้งหน้าเอาใหม่ เราสอนเด็กให้เขามีความมั่นใจในศักยภาพของตัวเขาเอง แล้วให้เด็กเอาศักยภาพของตัวเขาเองมาใช้ สอนเขาโดยการใช้แนวความคิดของเราสอนเด็ก เด็กเวลาเขาฟังแล้วเขาเชื่อครู เขาจะรู้สึกมั่นใจ แค่นั้นเขาจะไปทำอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตให้ดีขึ้นได้

เพราะเบลไม่ได้มองว่าเบลเป็นติวเตอร์ เบลมีโอกาสพัฒนาเขาให้เป็นคนที่ดี เบลจะสร้างเขาให้ไปในแนวทางของเขา เราแค่ช่วยให้เขาไปถึงฝั่ง เบลจบสิงคโปร์โดยตรง เบลรู้ว่าวัฒนธรรมของสิงคโปร์คืออะไร แล้วเบลก็มีมุมมองจากหลายๆ ประเทศที่จะให้เขาได้เปลี่ยนมุมมอง ผู้ปกครองหลายๆ คนเขาก็จะให้เบลเป็น Role Model กับลูกเขา เบลก็บอกเขาว่า เด็กอยู่กับคนแบบไหนเขาก็จะเป็นแบบนั้น เขาอยากให้คนนี้อยู่กับครูเบล เขาพูดแค่นี้ ได้ไม่ได้เขาไม่ซีเรียส

หลายๆ คนมีภาพลบกับการที่เด็กต้องไปติว ในความคิดเห็นเบลนะ เราต้องถามกลับทำไมถึงต้องไปติว เด็กต้องไปติวเพราะมันมีการแข่งขัน ถ้าเราไม่ซีเรียสจะต้องเข้ามหาลัยพวกนั้น ก็ไม่ต้องไปติว คำถามคือแต่ละบ้านให้คุณค่ากับอะไร ถ้าต้องการเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ ติวเตอร์มันก็คือเป็นตัวช่วยให้เด็ก แต่เด็กหลายคนที่ไม่ติวแล้วสอบติดก็มี ในมุมมองเบล ติวก็ได้ ไม่ติวก็ได้ แต่ในทางสังคม ติวเตอร์เกิดขึ้นได้ เพราะมี Demand ถ้าไม่มีมันก็ไม่เกิดธุรกิจติวเตอร์


เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย กับคำถามที่ว่า คนส่วนใหญ่อาจมองว่าอดีตนักเรียนทุน 16 ทุนเช่นเธอ อาจจะทำอะไรได้มากกว่าการเป็นติวเตอร์หรือไม่ เรื่องนี้เบลให้คำตอบว่า ไม่อยากคิดอะไรที่ใหญ่เกินตัว เพราะทุกวันนี้การได้สร้างเด็กคนหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ ก็เป็นเรื่องที่ทำให้เธอมีความสุขแล้ว

“เบลมองว่า 1. ทำสิ่งที่เราถนัด 2. สิ่งที่เราทำได้ เบลจะไม่ไปมองภาพใหญ่ว่าจะขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาฯ เพราะเบลไม่ได้ชอบ เบลจะทำในจุดที่เบลทำได้ มันจะมีสตอรี่นึงที่มีปลาดาวถูกซัดขึ้นมาจากหาดเป็นหมื่นๆ ตัว มีเด็กคนนึงเขาหยิบปลาดาวโยนกลับไปในทะเล แล้วก็มีคนแก่คนนึงเดินมาบอกว่า ทำทำไม คุณไม่สามารถช่วยทั้งหมดได้หรอก เด็กคนนี้เขาตอบว่า ไม่เป็นไร ตัวนี้คือตัวที่ฉันช่วย ถ้าฉันอยากจะช่วยอีกตัวนึงฉันก็จะไปช่วย

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เบลได้เรียนรู้จากอันนี้ คือ เราทำที่เราไหว แล้วเรามีความสุขกับชีวิต ความสุขของเบลทุกวันนี้ มันมี 2 อย่าง 1. มาจากตัวเอง ถ้าเราโอเคกับชีวิตเรา เราจะช่วยคนอื่นได้ง่าย เพราะเราเต็ม ไปเติมของคนอื่นมันก็เลยจะง่าย 2. มาจากคนอื่น เขาอาจจะเลิกทะเลาะกับพี่น้อง เขาสอบได้ หรือเขาเรียนได้ดีขึ้น เราเห็นแล้วเราภูมิใจกับเขา เราได้ช่วยเขา ก็ประสบความสำเร็จแล้ว”







สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: กีรติ เอี่ยมโสภณ, อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม: แฟนเพจ “ติว AEIS, IGCSE Math by ครูเบล”
ขอบคุณสถานที่: ร้าน "CoCo Chaophraya" (ถนนพระอาทิตย์)




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น