“ความภูมิใจจะอยู่กับเราไปจนวันตาย นี่คืออาชีพเรา ถ้าเราสามารถทำให้มันเป็นประโยชน์สูงสุดให้แก่ประเทศชาติได้ และทุกคนในโลกนี้ยอมรับ ผมว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ใครก็ถามว่าจะหยุดเมื่อไหร่ ที่จริงผมหยุด ผมจะแฮปปี้มากนะ แต่ผมจะไม่มีความภูมิใจเหลือเลย แฮปปี้ที่มีเงินเหลือใช้ แฮปปี้ที่จะไปเที่ยวไหนก็ได้ แต่ผลสุดท้ายก็จะหงอยเหงา เพราะว่าเราไม่มีความภูมิใจ คนเราเมื่ออายุเท่านี้แล้ว เฟ้นหาอย่างเดียวคือ ความภูมิใจ หลายคนเฟ้นหาสิ่งผิดๆ ความสบาย ความสนุก พวกนี้อยู่กับเราไม่นาน ความภูมิใจอยู่กับเราจนวันตาย และในเจนเนอเรชันต่อไปสำหรับลูกหลานเรา นี่คือ สิ่งที่ยั่งยืนที่สุด”
โต้ง-กัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา วัย 74 ปี หนุ่มนักเรียนนอก ทายาทรุ่นที่ 2 ของอาณาจักรสวนนงนุช ที่ยังคงมุ่งมั่นกับแนวคิดในการตามฝันให้กับคุณแม่ ในการทำสวนแห่งนี้ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับเยาวชนไทย
หลายท่านอาจจะเคยไปสัมผัสมาบ้างแล้ว สำหรับภาพของความสวยงามของสวนพฤกษศาสตร์สวนนงนุชพัทยา เรียกได้ว่า หากใครได้ไปเยือนพัทยาก็มักจะหาโอกาสแวะไปเที่ยวกันอยู่บ่อยครั้ง เพราะเรียกได้ว่า เป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองพัทยาเลยทีเดียว
เส้นทางความสำเร็จย่อมมีอุปสรรค ปัญหามากมาย การระบาดหนักของสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สวนนงนุชได้รับผลกระทบอย่างหนัก สวนที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่ 1,700 ไร่ กับการดูแลที่ต้องใช้คนเกือบ 3,000 คน
ประธานสวนนงนุชพัทยา เล่าถึงวิกฤตครั้งนี้ว่า รายได้ที่เคยได้จากนักท่องเที่ยว 80% ก็เหลือแค่ 20% ขณะที่ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน อยู่ที่ 70% ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอีกเดือนละ 50%
“เราเป็นองค์กรที่โดนผลกระทบมากที่สุด 80% รายได้มาจากท่องเที่ยวต่างชาติ ตอนนี้ผมกำลังหาเงิน 20% ของรายได้ที่ผมต้องได้ เพื่อที่จะเดินไปข้างหน้าได้ และอยู่ได้ ค่าใช้จ่ายผมอย่างน้อยต้อง 70% ผมหายไปนี่ตั้ง 50% ผมเองก็ต้องพยายามทำอะไรใหม่ขึ้นมา โดยใช้เงินน้อยที่สุด
ก็ถึงเปิดเนิร์สเซอรีให้เป็นสวนขึ้นมา ซึ่งกลายเป็นการตอบรับที่นึกไม่ถึงเลย เพราะทุกคนไม่เคยเห็นเนิร์สเซอรีต้นไม้ สวนสวยเคยเห็นทั้งโลก สร้างสวยๆ วิลิศมาหรา โอ้ถ่ายรูปสวยจัง แต่ได้แค่รูป แต่นี่มานั่งดูโอ้โหกระบองเพชรเดี๋ยวต้องไปหาซื้อ ผมทำหน้าที่แล้ว ผมเป็นหน้าต่างของต้นไม้ ผม interview ต้นไม้ให้แก่โลกได้รู้จัก ให้โลกเราได้ร่มรื่น สุดยอดแล้ว
พนักงานหลายคนก็ลาออกไป เขาคิดว่างานอื่นอาจจะดีกว่า เพราะเราก็ล็อกดาวน์ แล้วเราก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่ผมเองก็พยายามทั้งเงินเก่าที่เราเก็บ ทั้งสิ่งต่างๆ ที่เราทำ เพราะว่าสวนนงนุชไม่ใช่แค่สวนนงนุช เรามีเนิร์สเซอรีต้นไม้ทั่วประเทศ เรามีบริษัทจัดสวน เรามีบริษัทออกแบบ เรามีบริษัทดูแลบ้าน บริษัทเราไปรับงานทำสวนทั่วประเทศไทย
รายได้พวกนั้นเข้ามา รวมทั้งเงินที่เราเก็บไว้กับแบงก์ รวมทั้งเงินเก่าที่ผมพอมีบ้างเอามาผสมกัน ก็ยังพอมีทางทำให้เราเดินได้อีก แต่บอกได้เลยว่าไม่นาน จะอยู่ได้อีกปีหนึ่ง แต่ปีหนึ่งเท่าที่ผมทราบ ไม่ทราบว่าพอหรือไม่พอ เราก็คิดแล้วว่าเมื่ออีกปีหนึ่งมาถึงเราจะแก้ตัวยังไง เราจะทำยังไง”
แม้ไม่ง่ายที่จะยืนหยัดให้สวนนงนุช คงอยู่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นสวนแห่งการเรียนรู้ต่อไปนานๆ เพราะด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่หนักอึ้ง เจ้าของสวนนงนุชก็ยืนยันว่า จะทำต่อไป เพราะการทำตรงนี้คือสิ่งที่ภูมิใจ
“ภูมิใจสวนนงนุช เป็นความภาคภูมิใจของเราคนไทยด้วยกัน ที่ให้สวนเราอยู่ใน Top 10 ของโลก ผมก็อยากให้ทุกท่านให้โอกาสเรา มาชมกันซะหนหนึ่ง หนเดียว ผมขอแค่นั้น แต่รับรอง ก็คงจะต้องมาอีก เพราะมีอะไรที่ต้องดูเยอะเหลือเกิน
ดังนั้น ผมยืนอยู่ในโอกาสนี้ ผมต้องทำเต็มที่เลย ที่จะให้สิ่งนี้เดินหน้าต่อไป ไกลไปเรื่อย จนทั้งโลกจะต้องมานั่งดูประเทศไทยมันมีสวนอันนี้อยู่ ต้องมาดูนะ มันไม่เหมือนใครเลยในโลก
ก็อยากให้ทุกคนมาที่สวนเรา ให้โอกาสเราสักครั้ง เพราะมันเป็นความภาคภูมิใจจริงๆ ของเราคนไทยด้วยกัน ที่ให้สวนเราอยู่ในท็อปของโลก”
“อีกนิดหนึ่ง”เคล็ดลับพัฒนาสวน
ไม่เพียงจะทำให้สวนนงนุชสวยงามติด 1 ใน10 สวนสวยของโลก แต่ยังนำมาซึ่งชื่อเสียงและการยอมรับ ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก รวมทั้งได้รับรางวัลต่างๆ เช่น รางวัลเหรียญทองงานจัดสวนเชลซีฟลาวเวอร์โชว์ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 5 ปีซ้อน รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอื่นๆ อีกมากมาย
คำว่า “อีกนิดหนึ่ง” เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับพัฒนาสวนที่ทำให้สวนแห่งนี้มีชื่อเสียงก้องไปในระดับโลก ทำให้ชาวไทย ชาวต่างชาติเข้ามาดูมาชมอย่างไม่ขาดสาย
“อาลัยอาวร ผมไม่มี ถ้าเผื่อไม่ดี ก็คือไม่ดี เราต้องเปลี่ยนใหม่ ผมคิดว่า เปลี่ยนที่แพงและถูกทิศ คุ้มกว่าที่ไม่ดี แล้วเราไปทำดีที่อื่น แล้วที่ไม่ดีจะติดลบเราเอง มันไปไม่ได้
ที่นี่โตได้เพราะอีกนิดหนึ่ง ที่นี่เปลี่ยนทุกวัน ผมคุยกันว่าที่อยู่แบบนี้อีกนิดหนึ่งทำได้ไหม เขาก็บอกอะไรล่ะ เราก็บอกทำให้มันน่าดูหน่อยได้ไหม จัดให้มันดีหน่อยได้ไหม ในสวนมุมนี้ไม่ดีก็รื้อทำใหม่ ผมคิดว่าจุดไหนก็ตามถ้าเผื่อไม่ดี รื้อทำใหม่ แต่ถ้าเผื่อได้ผลมันคุ้มนะ อันนี้คือสิ่งที่ทางผมคิดตลอดเลย ดังนั้น สวนนงนุชจะเติบโตทุกวัน
เราไปเจอเรื่องการวาดรูปด้วยหิน คนชอบมาก ดังนั้น สวนนงนุชตอนนี้จัดวาดรูปด้วยหิน วาดต่อไปไม่จบ เด็กถามว่าเลิกเมื่อไหร่ บอกไม่เลิก ผมตายแล้วอาจจะสั่งต่อด้วยว่า ทั้งสวนจะต้องเป็นหินประดับอันนี้ จะได้มีชื่อเสียงอีกอันหนึ่งขึ้นมา เราจะได้ปูตำแหน่งนี้ให้ได้ หนึ่งในสิบสวนที่สวยที่สุดในโลก”
ติด 1 ใน 10 สวนสวยระดับโลก
สวนนงนุชพัทยาไม่เพียงเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่ขึ้นชื่อของเมืองไทย แต่ยังโด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน 10 สวนสวยที่สุดของโลก
ทำให้แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ มาเที่ยวชมหลายพันคน กว่า 40 ปีที่สวนนงนุชพัทยาถือกำเนิดขึ้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพัฒนาและเติบโตจนมีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับในความสวยงามจากผู้คนทั่วโลก แต่ที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่อีกด้วย
“แนวคิดเดิมเป็นของคุณแม่ผม ท่านไปเที่ยวสิงคโปร์ กับเพื่อนๆ ไปชอบสวนพฤกษศาสตร์ที่นั่น ท่านกลับมาที่นี่ เรามีที่อยู่ใกล้เมืองพัทยา ท่านบอกเดี๋ยวเราสร้างบ้าง เพราะว่ามันอยู่ใกล้เมือง ท่านก็เลยสร้างสวนสวยระดับของเขาทำกัน
ผมก็ไม่เห็นด้วยกับท่าน เพราะว่าจริงๆ มันไม่ใช่หน้าที่ของเราหรอก วันที่สวนเสร็จคือวันที่เริ่มใช้เงินเต็มที่ หลังจากที่ได้ใช้เงินเต็มที่ไปแล้ว มันไม่เหมือนตึกที่สร้างเสร็จแล้ว ไม่เหมือนกัน ตึกอาจจะสร้างร้อยล้านก็จบที่ร้อยล้าน สวนสร้างร้อยล้านอาจจะจบที่หมื่นล้านก็ได้
ดูแลไปเรื่อยๆ สร้างไปเรื่อยๆ มันก็เป็นเงินหมื่นล้านได้ มันไม่จบ แล้วก็อาจจะไม่สำเร็จด้วยถ้าเผื่อคนไม่สนใจ อันนี้เราก็ไม่ควรทำ แต่คุณแม่ท่านก็อยากทำ ก็เลยสร้างสวนนงนุชขึ้นมา”
แม้ช่วงแรกของการทำสวนจะเน้นเพื่อการท่องเที่ยว แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งกลับคิดว่า สวนพฤกษศาสตร์ควรเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เยาวชนควบคู่ไปด้วย จึงพยายามทำให้สวนนงนุชเดินไปถึงจุดนั้นให้ได้
โดยเจ้าของสวนเองก็ตั้งปณิธานและเพียรพยายามให้สวนแห่งนี้ เป็นประโยชน์ต่อเยาวชนและสังคมให้มากที่สุด ไม่ใช่เป็นแค่สวนสวยสำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น
“แรกๆ สวนนงนุชจะเห็นเลยว่าเรามุ่งไปเรื่องของการท่องเที่ยว เรื่องของต่างชาติ เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของเมืองพัทยา แม้แต่ชื่อเรายังเปลี่ยนเป็นชื่อสวนนงนุชพัทยาเลย เพื่อจะให้นักท่องเที่ยวพอใจ
แต่หลังๆ พอเรามีรายได้มากขึ้น ดีขึ้น ผมก็เลยตัดสินใจว่าเราควรที่จะต้องเป็นสิ่งที่เราต้องเป็น คือ แหล่งเรียนรู้ ก็เลยเริ่มสร้างสวนนงนุช 2 ขึ้นมา ในสวนนงนุช 1 ก็ตามเราก็แก้เหมือนกัน แก้ให้เขารู้ ได้เห็นสัตว์เยอะแยะ
ทางนี้ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ เอาผักเอาต้นไม้มาปลูก มีเตาเผาไม้ จะได้น้ำส้มควันไม้ขึ้นมา ปั้นกระถาง แม้กระทั่ง Cooking Class เราก็มี หรือทานบุฟเฟต์ผลไม้เราก็มี ต่อยมวยเราก็มี ลอยกระทง สงกรานต์ เรามีหมด”
เปรียบ “สวนนงนุช” เสมือนโชว์รูมต้นไม้ ทั้งยังตั้งมั่นอีกว่า อยากสร้างโอกาสให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ได้เข้ามาเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจ
สวนแห่งนี้จึงเป็นทั้งโชว์รูมต้นไม้ ที่มีต้นไม้มากมายมหาศาล และเป็นแหล่งรวมของรูปปั้นสัตว์นานาชนิด มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม มีการแสดงช้างน้อยแสนรู้ และอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งมีสวนลอยฟ้า มีสกายวอล์กซึ่งใช้พื้นที่ถึง 6 ไร่ ให้นักท่องเที่ยวได้อิ่มเอมกับทิวทัศน์จากมุมสูงอีกด้วย
“ส่วนนงนุชเป็นเหมือนโชว์รูมของต้นไม้ คุณจะซื้อรถก็ต้องไปดูที่โชว์รูมว่ารถคันนี้น่าดู อยากจะซื้อ สวนนงนุชเห็นต้นไม้ต้นนี้สวย ปลูกอย่างนี้ดี ถ้าอย่างนั้นเอาไปปลูกที่บ้าน ผมเป็นโชว์รูมให้ เป็นแหล่งเรียนรู้ นี่คือ หน้าที่ของสวนพฤกษศาสตร์สำหรับทั่วไป
แต่สวนพฤกษศาสตร์ที่นี่จริงๆ คือ อบรมเยาวชนรุ่นใหม่ ให้เด็กรักธรรมชาติ รักสัตว์ ตั้งแต่เกิด พวกนี้จะอยู่ในความทรงจำเขา แล้วเขาจะถ่ายทอดให้ลูกเขาต่อไป พวกเรามันผ่านยุคนั้นมา ผมไม่มีโอกาสเหมือนกับรุ่นใหม่
สวนนงนุชกำลังสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยเรา ให้เด็กได้มาได้เห็น และเข้าใจที่สุดว่าอันที่เขากินรูปร่างหน้าตาเขาปลูกอย่างนี้ ผลไม้ต้นอย่างนี้นะ ซึ่งเขาไม่เห็น อย่างสัตว์บางอย่าง
ทำให้นอกจากจะเป็นสวนพฤกษศาสตร์แมกไม้นานาพันธุ์ที่สวยงามนั้น ยังเพิ่มความรู้ด้านการเกษตรเข้ามาอีกด้วย นั่นคือ การทดลองทำแปลงผัก ที่ตั้งใจทำเองทุกขั้นตอน ลองผิดลองถูก ให้ผู้คนได้เข้ามาเยือน พร้อมให้ความรู้ตลอดเส้นทางที่เข้ามาชมสวนแห่งนี้
“คนมาดูงานก็พยายามให้เขาดูเรื่องแตกต่างกับพวกเกษตรในที่ต่างๆ ที่เราปลูกกัน อย่างเช่น แปลงผัก ผักสลัด เราก็ไม่ได้ใช้สารเคมีอะไร ใช้สิ่งที่เราผลิตเองได้ อย่างเช่น ปุ๋ย ดินที่เราผสม หาหลักสูตรที่ดีที่สุด
สิ่งพวกนี้ไม่ใช่สิ่งที่เรารู้ เราอาศัยว่าเรารู้หลักว่าเรากำลังจะทำแหล่งเรียนรู้ ดังนั้น ผู้รู้หลักต่างๆ ที่มาที่สวนเราก็จะแนะนำเราแตกต่างนานา เราก็ได้ทำการทดลองไปเรื่อยๆ
ล่าสุด อย่างแปลงผักเราก็ปลูกกันแบบง่ายๆ เอาดินขึ้นมาแล้วก็ปลูก โดยที่ใช้เป็นพวกสแลนง่ายๆ ชั้นล่างก็อาจจะปลูกผักบางอย่างที่ไม่ต้องการใช้แสงมาก นี่ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ของเรา เรามีแปลงผักหลากหลายชนิด จริงๆ ตรงนี้ก็เป็นไม้ผลด้วย เราก็มีไม้ผลของไทยเรา ซึ่งทุกคนอาจจะเห็นแต่ผล แต่ไม่รู้ต้นหน้าตาเป็นยังไง เราก็มาปลูกตามทาง นั่งรถชมวิวผ่านจะเห็น ตามเส้นทางที่นั่งรถเข้าชมวิว ผมก็นำความรู้กรอกเข้ามาตลอด”
สัมภาษณ์ รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ
เรียบเรียง MGR Live
เรื่อง พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊กแฟนเพจ “สวนนงนุช พัทยาNongnooch Garden Pattaya”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **