ถ้วย-เหรียญคือมายา เงินตราสิของจริง! “ป้าอ้อน” นักวิ่งรุ่นเก๋าวัย 74 ปี เจ้าของฉายา “นักวิ่งล่าเงิน” จากต้องการพิชิตภูมิแพ้ สู่ตัวแม่วงการวิ่ง ล่าเงินรางวัลนับพันสนามตลอด 30 ปี มาราธอน-อัลตร้ามาราธอน-วิ่งขึ้นตึก ผ่านฝีเท้าเธอมาหมด “ไม่ใช่ภูมิใจเงินอย่างเดียว เราภูมิใจสุขภาพตัวเองด้วย”
นักวิ่งล่ารางวัล กวาดเงินเหยียบแสนต่อปี!?!
“ถ้าตรงไหนไม่มีเงิน ป้าก็ไม่ค่อยอยากไป ล่าแค่ถ้วยป้าก็ไม่ต้องการซักเท่าไหร่ ถ้วยมันกินไม่ได้ (หัวเราะ) ป้าสนใจเรื่องเงินมากกว่า บอกผู้จัดว่าถ้าเป็นไปได้ ไม่ต้องถ้วยก็ได้ มีเงินอย่างเดียวก็พอ เขาก็เลยตั้งฉายา ถ้าไม่มีเงินก็ไม่ไป
แต่ถ้าหากว่ามีเงินก็ล่าไปทั่ว เป้ขึ้นหลัง ไกลแค่ไหนป้าไปคนเดียวก็ไป ทุกจังหวัดไปมาหมด ประเทศลาวป้าก็ข้ามไป ไปเจอเพื่อนในการเดินทางบ้าง เขาบอกบ้าจังเลยคนเดียวก็ไป ไม่ได้หรอก อันไหนที่มีเงินก็ฝ่าไปหมด ไม่ทิ้งให้มันผ่านป้าไปได้แน่นอน หนาวร้อน ฝนตก ไม่สนใจ เท่าไหร่ก็ได้ บางที 500 ก็ยังมี เราก็เอา (หัวเราะ)”
“ปณิธินาด ขจรอรุณวงศ์” หรือ “ป้าอ้อน” นักวิ่งหญิงวัย 74 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Online กับเรื่องราวชีวิตของตน ซึ่งหากเป็นนักวิ่งส่วนใหญ่ อาจมองว่าเหรียญและถ้วยรางวัลต่างๆ เป็นผลตอบแทนถึงความพยายามที่สามารถเข้าเส้นชัยได้สำเร็จ
แต่สำหรับป้าอ้อนแล้วกลับไม่คิดเช่นนั้น นักวิ่งวัยเก๋ายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า เงินคือแรงจูงใจให้ลงแข่งแต่ละสนาม จนคนในวงการวิ่งมอบสมญานามให้ว่า “นักวิ่งล่าเงินรางวัล” เพราะฝีเท้าของเธอผู้นี้เป็นที่ประจักษ์ว่าไม่ธรรมดา ไม่ว่าสนามไหนๆ ย่อมต้องมีชื่อของป้าอ้อนติดอันดับ รับทรัพย์กลับบ้านแทบทุกครั้ง
นอกจากเจาะลึกเรื่องราวของนักวิ่งหญิงผู้นี้ เธอยังช่วยสะท้อนประสบการณ์การลงสนามวิ่งที่เคยเจอมา ทั้งมุมดีๆ รวมถึงปัญหาที่พบมาตลอด 30 ปีอย่างหมดเปลือก!
“ตอนนั้นอายุ 44 เข้ามาในวงการวิ่ง มันก็ได้ประปราย มันอยู่ที่ความสามารถของเรา รุ่น 30-40 นี่แรงจะตายไป ถ้าไม่เจ๋งจริงก็ไม่ได้หรอก มันจะได้มากก็ตอนที่อายุ 50 กว่าขึ้นไป ตอนที่ได้รับถ้วยจากสมเด็จพระเทพฯ ก็ 50 ขึ้น แล้วมา 60 ก็ได้ทุกงาน ไปที่ไหนก็ที่ 1 ไม่ก็ที่ 2 ยิ่งไปล่าเงินเขา เขาเห็นหน้าก็บอกมาแล้ว แบ่งบ้าง ก็บอกว่าใครเก่งก็เอาไป ไม่ได้หวง อยู่ที่ความสามารถของแต่ละคน มันไม่ใช่ง่ายๆ มันเหนื่อยมากเลยนะ ต้องเร่งให้ได้เวลาด้วย ต้องให้ได้อันดับด้วย
เดือนนึงมี 4 ครั้ง ป้าก็วิ่ง 4 ครั้ง ก็ได้ทุกอาทิตย์ รวมๆ แล้วปีนึงเกือบแสน ที่ป้าเคยได้สูงสุดก็ 15,000 อันดับ 3 มาราธอนพัทยา ค่าวิ่งก็หลักพันแล้ว บางทีไปวิ่ง ค่าวิ่งมันแพงนะ แต่ถ้าไม่ได้เงินป้าไม่ไป ได้ถ้วยเอามาทำไม มันกินไม่ได้ มาตระหนักถึงตอนที่ค่าวิ่งมันแพง เพราะว่าเงินมันสำคัญ ได้มาแล้วก็ต้องไปลงต่อ เราก็ไม่ต้องมาควักทุนตัวเอง
พอเขาเห็นหน้าก็จะพูด ‘มาอีกแล้ว’ ทำไมเหรอ มาไม่ได้เหรอ เราก็ชอบวิ่ง เหมือนกับว่าไปแย่งถ้วยเขา ก็บอกไม่ได้จอง วิ่งไปตามปกติแหละ ถ้าสมมติ 5 รางวัล มันก็ต้องหล่นไปอีก 1 รางวัล คนอื่นเขาก็เก่งเหมือนกัน ไม่ใช่เราเก่งคนเดียว ป้าเป็นคนไม่อยากล่าเหรียญ ใครขอหน้างานป้าก็ให้ เมื่อก่อนได้ถ้วยก็ดีใจ เดี๋ยวนี้เฉยๆ ถ้าแถมเงินมาด้วยก็โอเค
(เหรียญและถ้วยรางวัล) ป้าไม่สนเลย มันเยอะเหลือเกิน เสียดายตอนที่มีรถอยู่แทนที่จะใส่รถไปบริจาคตามต่างจังหวัด เอาไปให้เวลาเล่นกีฬากัน ต่างจังหวัดต้องใช้เหรียญหรือถ้วยให้รางวัลเด็ก เขาชอบมาก แต่ทีนี้ไม่มีใครมาเอา ถ้าไม่มีรถเอาไปมันก็ลำบาก”
เมื่อถามถึงความรู้สึกที่มีต่อสมญานาม “นักวิ่งล่าเงิน” ที่อาจถูกตีความไปในแง่ลบว่าเห็นแก่เงินได้ ป้าอ้อนกล่าวว่า ไม่อาจไปห้ามความคิดใครได้ แต่อยากให้มองในอีกมุมที่ว่าเธออายุขนาดนี้ ยังมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเกินวัย
“เขาคิดยังไงก็ช่าง แล้วแต่เขาจะว่า เขาอาจจะพูดนะแต่เราไม่ได้ยิน ป้าคิดเอาเอง เราก็ไม่ได้คิดอะไรมากถ้าใครจะว่าป้าเห็นแก่เงิน มีใครบ้างที่ไม่เห็นแก่เงิน ที่ไม่ต้องการเงิน ถ้าไม่มีเงินก็ไม่มีชีวิตอยู่ พูดง่ายๆ มันต้องใช้จ่าย ทุกอย่าง ใครจะคิดยังไงก็แล้วแต่เขาจะคิด เราก็บอกว่าเราเป็นคนแบบนี้ เราอยู่เพื่อเงิน ถ้าไม่มีเงินเราก็อยู่ไม่ได้ ป้าก็ให้ข้อคิดแค่นี้เพราะเรื่องจริง (หัวเราะ)
ค่าใช้จ่ายเราก็มีแต่เราก็ขึ้นรถไฟ รถทัวร์ ไปรถเพื่อนบ้าง แต่ถ้าระยะใกล้เราก็ขึ้นรถไปเอง รับรางวัลเสร็จก็ขับรถกลับบ้าน พอตอนหลังรถมันไปชน ลูกเลยไม่ให้ขับ มันก็คุ้มบ้างไม่คุ้มบ้าง แต่ชีวิตไม่ใช่ว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม มันอยู่ที่สุขภาพเรามากกว่า เพราะเราไปไกลแค่ไหนก็ยังไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ได้ทั้งเงินได้ทั้งสุขภาพ มันก็ภูมิใจแล้ว ไม่ใช่เราภูมิใจเงินอย่างเดียว เราภูมิใจสุขภาพตัวเองด้วยที่เราทำได้”
ผลพลอยได้ “ภูมิแพ้หาย-น้ำหนักลด”
“เมื่อก่อนป้าขี้โรค เป็นภูมิแพ้ตลอดเลยนะ ตื่นขึ้นมาก็น้ำมูกไหล หาแต่หมอเดือนนึง 3-4 ครั้ง ตอนหลังพอทำงานไป ผู้อำนวยการก็ให้สูตรเล่นโยคะมา ป้าก็มาเล่นตอนปี 31 มันก็ดีขึ้นแต่ร่างกายก็อ้วนขึ้น ถึงฝึกโยคะมันก็ไม่ลดนะ หนัก 53-54 กิโลฯ มาออกกำลังกายครั้งแรก มันก็ลดลงไปเยอะนะ น้ำหนักป้าลดลงมาเหลือแค่ 45 เท่านั้นเอง ก็ภูมิใจตรงนี้แหละ”
นับตั้งแต่วันที่ตัดสินใจเลือกในเส้นทางของนักวิ่งจนปัจจุบัน ในปีนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 30 แล้ว แต่หากจะย้อนไปถึงจุดเริ่มต้น ป้าอ้อนกล่าวว่า เพียงแค่อยากต้องการหายจากโรคภูมิแพ้ และต้องการลดน้ำหนักเท่านั้น จึงต้องหาเวลาว่างจากการเป็นพนักงานบัญชีที่งานรัดตัวมาออกกำลังกาย
[ ป้าอ้อนเมื่อครั้งเป็นพนักงานบัญชี ]
“ทำงานบริษัทค่ะ พนักงานบัญชี น้ำหนักขึ้น งานเยอะ ข้าวก็ไม่กินตรงเวลา กว่าจะทำงานเสร็จ พอเที่ยงไม่ได้ทานก็ไปทานตอนบ่ายโมง เวลาอาหารของเรามันทำให้เราอ้วนนะ ถ้าทานไม่ตรงเวลา ภูมิแพ้ด้วย เมื่อก่อนหนัก 45 แล้วทีนี้อ้วนขึ้นมาตั้ง ขึ้นมาเกือบ 8 โล เราทนไม่ได้ เพราะป้าเป็นคนรักสวยรักงาม รู้สึกว่าตัวกลมนะ มันอึดอัดนะ ใส่เสื้อผ้าก็ดูไม่ดี พุงป่องบ้าง (หัวเราะ) เวลาเอาเสื้อยัดเข้าข้างในมันก็มีเอว แต่ก็ยังดูกลมใหญ่ มันไม่สวย ก็เลยมาออก
จากในตอนแรกที่ตั้งใจเพียงแค่การออกวิ่งเพื่อสุขภาพ และต้องการเอาชนะโรคภูมิแพ้ที่รบกวนการใช้ชีวิต แต่ทว่าเหมือนเป็นการปลุกพรสวรรค์ด้านการวิ่งที่หลับใหลอยู่ในตัวป้าอ้อนให้ตื่นขึ้น เพราะแค่สนามแรกที่ลงแข่งขัน เธอก็สามารถคว้าที่ 3 มาครองได้ง่ายๆ
“ซ้อมๆ ไป เขาก็มาชวน พอซ้อมเข้าที่ ครั้งแรกก็ไปลอง 8 กิโลฯ ก่อน คนวิ่งเยอะนะ ติดที่ 3 ได้ถ้วย ก็ดีใจแต่ก็เฉยๆ ไม่ได้ปักใจขนาดนั้น พอไป 10 กิโลฯ ก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง เพื่อนอีกคนรุ่นเดียวกันก็หาตัวจับยาก ไปไหนก็ที่ 1 เราอยากได้ วิ่งยังไงก็สู้มันไม่ได้ ต้องเอาชนะให้ได้ซักครั้ง ผลสุดท้ายก็เอาชนะได้ มาราธอนเขาวิ่งไม่ไหว ทุกวันนี้เขาเลิกวิ่งไปเลย
ตอนแรกคิดแค่ว่าออกกำลังกายให้ผอมแค่นั้น แต่เพื่อนมาดึงไปแข่ง ก็เลยติดกระทั่งทุกวันนี้ ซ้อมวิ่งประมาณเกือบปี ตอนแรกมันก็ยาก มันต้องฝึกซ้อม ถ้าเราไม่ฝึกซ้อม หัวใจของเรามันไม่ทำงาน ถ้าเราวิ่งไปมันจะเหนื่อย พอเหนื่อยแล้วก็ท้อ ถ้าเราซ้อม การซ้อมต้องให้ถึงด้วย เดี๋ยวเราวิ่งสู้เขาไม่ได้ ต้องซ้อมให้เต็มที่ ต้องตั้งเป้าตัวเองไว้ว่าซ้อมเท่าไหร่ กี่กิโลฯ มันถึงจะไปได้สบาย ไม่บาดเจ็บ
ถ้าเราไปออกงานทุกอาทิตย์มันก็ลดลงไป ถ้าลงมาราธอนก็ลดลงไป 2 กิโลฯ เลยนะ ช่วงหลังมันอยู่ตัวแล้ว ลงไม่ถึงกิโลเลย มันไม่มีอะไรให้ลดแล้ว ไปวิ่งแล้วมันก็ติด มันทำให้สุขภาพเราดี ร่างกายเราเป็นหวัดเป็นอะไรไม่มีเลย หายหมด ก็เลยติดใจตรงที่ว่ามันสร้างสุขภาพให้เราได้”
ดาวเด่นสนามแข่งตลอด 3 ทศวรรษ
ด้วยความที่เป็นคนชอบท้าทายตนเอง และอยากไต่ระดับความสามารถ จากการแข่งเพียงไม่กี่กิดลจึงพัฒนามาเป็นการแข่งทุกระยะ ลองสนามมาแล้วแทบทุกรูปแบบ ทั้งมินิมาราธอน, มาราธอน, อัลตร้ามาราธอน ตลอดจนการวิ่งขึ้นตึกทั้งในและต่างประเทศ ก็ทำมาแล้ว และแน่นอน กวาดรางวัลติดมือมาได้อีกเช่นเคย
“ท้าทายตัวเอง อยากจะรู้ว่ามันจะหนักหนาแค่ไหน บางทีแค่ วิ่ง 10 กิโลฯ ก็ชิลๆ นะ พอขึ้นมา 21 อยากลอง ผ่านไปแล้วก็อยากลองมาราธอน 42 กิโลฯ พอมีมาราธอนก็มีอัลตร้ามาราธอน 10 ชั่วโมงอีก ถ้าวิ่งตอนกลางคืนก็ มาสว่าง ระยะทางที่ป้าวิ่ง 10 ชั่วโมงได้ 76 กิโลฯ วิ่งไปหิวก็กิน นวดบ้าง ไม่ใช่วิ่งต่อเนื่องเอาเป็นเอาตาย วิ่งครั้งแรกที่กระทรวงสาธารณสุข ยังติดที่ 3 ได้เงินมา 2,000 ไม่คิดว่าตัวเองจะได้นะ ครั้งที่ 2 วิ่งกับกลุ่ม 50 แต่เรา 60 กว่าแล้ว ก็ได้ที่ 1 ตอนนั้น
วิ่งขึ้นตึก ป้าไม่มีที่ซ้อมต้องไปวิ่งขึ้นสะพานลอย ซัก 40-50 รอบ มันก็ต้องเตรียมตัว มันดึ่ง บางคนขึ้นไปแค่ 10 กว่าชั้นก็จะไม่รอดแล้วนะ ไปนอนแผ่ก็มี มันร้อน แต่ถ้าไปขึ้นตึก KL เขาจะมีไอน้ำตลอดเส้นทางวิ่งขึ้น ของเราไม่มี ร้อนก็ร้อน แล้วคิดดูอากาศ ข้างนอกมันร้อนแต่ยังมีถ่ายเท
อันนี้มันขึ้นไปทางหนีไฟ วิ่งทีละชั้นๆ จนถึง 84 ชั้น มันก็สนุกไปอย่าง บางคนก็สาวราวขึ้น บางทีเราก็เดิน วิ่งไม่ไหว ไวกว่าวิ่งซะอีก แต่พวกเด็กๆ วิ่งแค่ 10 กว่านาทีก็ขึ้นถึงแล้ว ขึ้นตึกคนเขาไม่ค่อยขึ้นกันเท่าไหร่ คนถามหัวเข่าไม่เป็นไรเหรอ ไม่เป็นไรนี่ เขากลัวหัวเข่า ไปกลัวทำไม ถ้าเราแข็งแรงเราก็ขึ้นได้ ทดลองอีก เอาทุกอย่าง”
ส่วนเคล็ดลับในการที่จะวิ่งให้ทำเวลาได้ดีนั้น เจ้าของถ้วยรางวัลมากมายกล่าวว่า อยู่ที่สมาธิ การกำหนดลมหายใจ และที่สำคัญ ห้ามกดดันตัวเองเด็ดขาด
“ปกติป้าไปวิ่งแล้วป้าจะใส่เพลงฟัง จะได้ไม่รับรู้อะไรกับใครที่มาทัก นอกเสียจากได้ยิน มีเหมือนกันคนตะโกนมา บอกเรียกก็ไม่ได้ยิน ชอบฟังเพลงเวลาวิ่ง มันมีความสุข ไม่ว่าจะซ้อมหรือวิ่งมาราธอน ป้าก็ใส่หูฟังตลอด เพลงสากลเก่าๆ สมัยสาวๆ ชอบ แล้วก็เพลงลูกทุ่งจะชอบ โจ๊ะๆ มันเร้าใจดี ทำให้จิตใจมันฮึกเหิมไง
ห้ามกดดันตัวเอง ถ้ากดดันตัวเองจะถอยทันที วิ่งแบบมีความสุขไม่ต้องไปกดดันว่าจะติดหรือไม่ติด เมื่อก่อนป้าคิด ตั้งไว้ว่าพยายามให้มันดีที่สุด ยิ่งทำมันยิ่งแย่ สู้ใจเรานิ่ง แล้วก็วิ่งอย่างมีความสุข ถ้ากดดันวิ่งตกทันทีเลย ไม่ว่าระยะไหนตกทั้งนั้น ถ้าไปกดดันแล้ววิ่งไม่ออก ทำไมมันถอยหลัง ก็มาศึกษาตัวเองเพราะอะไร เพราะเราไปกดดันว่าต้องวิ่งให้ดี ทุกวันนี้วิ่งไม่คิดอะไรเลย วิ่งไปเรื่อยๆ มองข้างทางบ้าง ดูคนตบมือให้บ้าง มันก็มีความสุข วิ่งไปได้ฉิวเลย
น้องที่วิ่งด้วยกันก็แนะนำเวลาวิ่งใครทักก็ไม่ต้องพูด ถ้าตอบโต้แรงจะตกทันที พอมีคนมาทัก เราตอบเขาไป สมาธิหรือลมมันเข้า ก็ตกทันที ป้าเคย กว่ามันจะขึ้นมาได้นะ เขาแซงแล้ว ตั้งแต่นั้นมาใครเรียก สวนกัน ยกมืออย่างเดียว ไม่กล้าพูด ถ้าพูดแรงตก เราก็วิ่งของเราไปเรื่อย ตอนหลังเจอก็บอกอย่าว่านะ ที่ไม่พูดมันเหนื่อย เขาจะได้รู้ว่าไม่ได้หยิ่ง
การวิ่ง หัวใจสำคัญที่สุด แต่ถ้าเราไม่สร้างภูมิคุ้มกันให้หัวใจ รับรองวิ่งไม่ได้ มันเหนื่อย พอมันเหนื่อยก็ไม่อยากจะวิ่งต่อ เหมือนจะขาดใจ แต่พอเราฝึกให้ตัวเองให้หัวใจเราแข็งแรง เราก็วิ่งได้ ทั้งวิ่งเร็ววิ่งช้า มันทำให้ระบบหัวใจของเราผ่อนคลายได้ มีแต่คนถามไม่เหนื่อยเหรอ พอวิ่งเสร็จมันก็หายเหนื่อยแล้ว (ยิ้ม)”
สะท้อนวงการวิ่งไทย “ช่องโหว่เยอะแยะ” “สมัยก่อนเข้าจะมีคล้องป้าย 1-2-3-4-5 มันก็มีความสุข เข้าแล้วนะ ฉันติดแล้วนะ ต้องได้เงินแน่นอน บางครั้งก็คิด เขาก็คล้องป้ายให้ เดี๋ยวไม่ต้อง เขามีชิป เวลาเข้ามาต้องไปดูเอง ตัวเองติดมันก็จะขึ้นเลยว่าติดอันดับที่เท่าไหร่ เวลาเท่าไหร่ เราก็นำใบเอกสารไปแจ้งเขา เขาก็จะให้ป้ายคล้องคอมา ป้ามีประสบการณ์เยอะกับพวกที่จัดงาน ที่ดีก็มีเยอะ แย่ๆ ก็มีเยอะ ค่าวิ่งมาราธอนอย่างสูงสุด 500 ก็ถือว่าแพงนะยุคก่อนนู้น แต่มีเงินมันก็ไม่แพง มันหักลบกลบกันแล้วยังเหลือเยอะ เพราะบางทีถ้าที่ไหนไม่มีโรงแรมก็กางเต็นท์นอน บางทีข้ามน้ำข้ามทะเลไปวิ่ง ป้าเคยไปแค่เอเชีย ประเทศลาวและมาเลย์ มาเลย์ของกินเขาเยอะนะ พวกเจล (เอเนอร์จี เจล) กี่อันๆ เอาไปเถอะ ไม่เหมือนคนไทยจำกัดให้ 1 ซอง ที่นั่นวางไว้จะหยิบเท่าไหร่เขาก็ไม่ว่า ให้เต็มที่ อาหารเขาก็มีกล้วยหอม ผัดหมี่ เราก็กินได้ ได้เงินมาก็มากกว่าของคนไทย เขาให้ 20 รางวัล ของไทยเดี๋ยวนี้ค่าวิ่งตั้งเท่าไหร่ ได้น้ำมาขวดนึง แย่ๆ บางแห่งอาหารไม่มี เราก็ว่า ทำได้ไงเนี่ย งานใหญ่นะ ว่าเผื่อคนอื่นเขา ไม่ดีเราก็ว่า ที่อื่นเขาจะมีกักไว้ มาราธอนล็อกนึง ฮาล์ฟล็อกนึง 10 กิโลล็อกนึง ถ้าคุณไม่ใช่มาราธอนไม่ให้เขา มันต้องอย่างนั้น รู้จักจัดการ บางแห่งรวม บางคนเดินกี่รอบไปเอา จะพอที่ไหน คนมาทีหลังไม่มีอะไรกิน อย่างเมืองนอกที่เขามาจัดในไทย อาหารอย่างดีเลย แต่คนไทยไม่เคยทำ บางทีได้แค่ขนมชิ้นนึง แอปเปิลลูกนึง มันคุ้มมั้ย เอาไปไหน แทนที่จะบริการ บางแห่งน้ำก็ไม่ค่อยจะมีกิน วิ่งระยะยาวมันสำคัญที่น้ำ ช่องโหว่เยอะแยะ” |
วางอนาคต “ไม่เป็นภาระใคร-พิชิตกินเนสส์บุ๊ก”
ปัจจุบัน ป้าอ้อนอาศัยอยู่ในบ้านพักย่านสามเสนเพียงลำพัง นอกจากเงินรางวัลจากการวิ่งแล้ว รายได้หลักหลังเกษียณอายุการทำงานมาจากการรับจ้างรีดผ้า
เธอให้เหตุผลที่ต้องดูแลตนเองอย่างดีนั้น ไม่ใช่เพราะต้องอยู่คนเดียว เพราะไม่ว่าจะอยู่คนเดียวหรืออาศัยอยู่กับใคร ก็ต้องสามารถดูแลตัวเองได้และไม่เป็นภาระให้ใคร แม้ชีวิตจะก้าวมาถึงหลัก 7 แล้วก็ตาม
“ป้าอยู่คนเดียว สามีเสียไปตั้งนานแล้ว ลูกก็แต่งงานไปอยู่กับแฟนเขาที่โคราช ทุกวันนี้ป้ายังรับรีดผ้าอยู่เลย ไปวิ่งมาราธอนกลับมาก็มารีดผ้าต่อ เมื่อก่อนเยอะ เดือนนึงก็ได้ 12,000-13,000 ตอนนี้เหลืออยู่ 4-5 เจ้า พอแล้ว กำลังดี บางครั้งผ้าเยอะ รีดผ้าทั้งวันได้ 800-900 บาท
เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ไม่ได้ไปวิ่งไหน ได้จากรีดผ้านี่แหละ ทำมาตั้งแต่เกษียณปี 49 กระทั่งทุกวันนี้ ก็โอเคนะ ค่าใช้จ่ายไม่ได้มากมาย ใช้แรงเราเอง ค่าไฟเราเอง ก็ไม่เท่าไหร่หรอก ถึงจะอยู่กับใครป้าก็ต้องดูแลตัวเอง ไม่ต้องอาศัยใครว่าจะไปนู่นนี่ พาไปหน่อยนะ ไม่ต้อง ป้าต้องไปเองได้ ต้องดูแลตัวเองให้มันดีที่สุดเท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่”
สำหรับอนาคต นักวิ่งผู้นี้วางเป้าหมายไว้ว่า จะยังคงลงสนามแข่งต่อไป และอยากพิชิตกินเนสส์บุ๊ก ในฐานะนักวิ่งมาราธอนอายุมากที่สุดอีกด้วย
“ป้าตั้งใจไว้ว่าตอนอายุ 93 ป้าจะลงมาราธอนด้วยนะ ดูซิว่าจะทำเวลาได้เท่าไหร่ จะฝึกซ้อมของป้าไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ตายก่อน (หัวเราะ) ต้องไปพูดกับผู้จัดงานขอออกก่อนชั่วโมงนึง ทำเวลาตัวเองว่าทำได้กี่ชั่วโมง เพราะต่างประเทศเคยลงกินเนสส์บุ๊ก อายุ 93 เขาวิ่งได้ 11 ชั่วโมง แต่เราจะทำไม่ถึง ยังมีชีวิตอยู่นะ ขออยู่อีกหน่อยจะให้ถึงร้อยเลย (หัวเราะ)
จะวิ่งอย่างนี้ไปตลอด เพราะเดี๋ยวนี้วิ่งที่ไหนก็ได้สิทธิฟรีอยู่แล้ว ป้าไปเรียกร้อง อายุเลข 7 แล้ว มันก็ทำให้รุ่นน้องๆ เด็กๆ หลานๆ อยากจะวิ่ง อยากจะออกกำลัง ในคอนเซ็ปต์ของผู้จัด เป็นแรงกระตุ้นให้คนอื่นได้มาออกกำลัง”
เมื่อถามว่าทุกวันนี้ความสุขของป้าอ้อนคืออะไร เธอกล่าวด้วยรอยยิ้มเปื้อนหน้าว่า การออกกำลังกาย การไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ และการทำให้ตนเองดูสดใสแข็งแรงกว่าวัยอยู่เสมอ
“ความสุขทุกวันนี้คือการออกกำลังกาย ได้วิ่ง ไปทุกที่ที่เราอยากไป ไม่ต้องมีใครมาช่วยเหลือ เราไปของเราเองได้ ป้าก็อายุขนาดนี้ ใครเขาบอกจะไปเล่น (โซเชียลมีเดีย) ทำไม อ้าว… มันก็มีความสุขทางใจอีกแบบนึงนะ เราจะได้ฝึกสมองตัวเอง เราแก่ขนาดนี้ บางคนก็ไม่ไหว ต้องนอนติดเตียง เดินไม่ได้ แต่เราจะไม่เป็นอย่างนั้นแน่นอน เราต้องดูแลตัวเอง
เวลาไปไหนวิ่งไปอย่างเดียว บางทีขึ้นจากรถไฟใต้ดินรอรถอยู่ตั้งนาน ไม่มาก็วิ่งกลับมาบ้าน เอารองเท้าเผื่อไปด้วย มันมีความสุขอีกแบบนึงนะได้ทำตัวแบบนี้ ทำตามสบาย มีความสุขกับตัวเราเองด้วย ได้สุขภาพด้วย ไม่ใช่ว่าจะหวงเงินหวงทองอะไรหรอก แต่เราทำอะไรก็ได้คิดถึงตัวเองเสมอ ต้องดีเราถึงทำ ขากลับก็นั่งรถกลับก็ได้ ขาไปเราก็วิ่ง (หัวเราะ)
การวิ่งมันให้ทั้งสุขภาพ ทั้งด้านจิตใจ ทั้งความสุข ความทุกข์ไม่มี วิ่งไปเรื่อย ชมวิวไปเรื่อยก็มีความสุขแล้ว ถ้าหากเราไม่ได้วิ่งเราจะหงุดหงิดนะ ถ้าอยู่กับบ้านก็เฉา ขอให้ได้ออกไป ถ้าวันไหนไม่ได้ออกต้องยกเวทเทรนนิ่งตัวเองอยู่กับบ้าน ได้พวกกำลังแขน กำลังขา อย่างแขนป้ามันไม่เหี่ยวนะ เหมือนว่ามันจะกลับมาเหมือนเดิม ตีซัก 50 เปอร์เซ็นต์
จริงๆ อายุตั้งแต่ 50-60 ขึ้นมา มันต้องมีโรคภัยไข้เจ็บเยอะแยะ ไขมันในเลือด เบาหวาน ความดัน ลาภอันเป็นประเสริฐนะสำหรับป้า ดีที่สุดแล้ว สมัยก่อนเป็นภูมิแพ้ที่หนักที่สุด ทุกวันนี้ไม่มีอะไร เป็นหวัดก็นิดหน่อย ไม่เป็นไรอะไร”
ตลอดการพูดคุยที่ยาวนานนี้ สัมผัสได้ถึงข้อคิดและพลังใจมากมาย เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย นักวิ่งผ่านประสบการณ์ชีวิตมากว่า 7 ทศวรรษ ก็ได้ฝากถึงคนในวัยไล่เลี่ยกันว่า อย่าดูถูกตนเองว่าแก่แล้วจะไม่มีอะไรดี อีกทั้งยังฝากถึงคนรุ่นลูกหลานให้หันมาสนใจสุขภาพด้วยการเริ่มต้นออกกำลังกายตั้งแต่วันนี้
“ไม่จริงเลย คำว่าแก่แล้วไม่มีอะไรดี มันดีทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราจะดูแลตัวเองแบบไหน เราจะให้ความสำคัญกับตัวเองแบบไหน อย่างป้ามีแต่คนบอกว่าไม่แก่เลยนะ ก็ดีใจ ขออยู่อย่างนี้ตลอดไปแล้วกัน เราจะดูแลตัวเองให้สุขภาพแข็งแรง ให้ผิวพรรณดี
เวลาแต่งตัวไปวิ่ง จะผิดแปลกไปจากคนอื่นเขาเยอะเลย อยากจะทำอะไรก็ทำได้ จะใส่สปอร์ตบราวิ่งก็ทำได้ (หัวเราะ) ฝึกตัวเองให้กล้ามเนื้อขึ้นหน่อย มันสร้างได้ค่ะ อย่าคิดว่าตัวเองแก่ ทำอะไรไม่ได้ มันอยู่ที่ว่าเราจะลุกขึ้นมาสร้างสรรค์ให้กับตัวเองแบบไหน ให้ตัวเองอยู่ได้ยังไง ให้ตัวเองมีความสุขแบบไหน มันอยู่ที่ตัวเราทั้งนั้น
ขอฝากทุกคนนะ อย่าคิดว่าตัวเองแก่ ทำอะไรไม่ได้ ต้องทำได้ อยู่ที่ใจค่ะ แล้วก็ขอฝากให้น้องๆ ที่ไม่อยากออกกำลังกาย ขอเถอะค่ะ เพื่อสุขภาพตัวเอง ไม่ต้องขี้เกียจ ลุกออกมาทำสิ่งที่ดีๆ ให้กับตัวเอง จะได้มีสุขภาพแข็งแรง ออกน้อยออกมากขอให้ได้ออก ชีวิตก็จะเจริญและจะมีความสุขค่ะ”
เคล็ด(ไม่)ลับ สาว 3,000 ปี “อาหารการกินมันสำคัญกับร่างกายเรานะ ป้าทำเองไม่ค่อยซื้อ ไม่ทานพวกมีมัน มื้อเช้าถ้าป้าไปทานอะไรผิดแปลก ท้องจะรับไม่ได้ รับได้อย่างเดียวคืออาหารปั่น มื้อเช้าป้ามีอกไก่นึ่งชิ้นนึง ไข่ต้ม 3 ฟอง กล้วยหอม 1 ใบ แอปเปิล มะเขือเทศ แครอท นม ใส่รวมกันแล้วปั่น สร้างกล้ามเนื้อ กินมาได้ประมาณ 5-6 ปีแล้ว ทำให้ร่างกายเราดีขึ้น พอบอกอายุเขาก็บอกไม่น่าเชื่อ บางคนบอกสาวแกร่ง สาว 3,000 ปี นักวิ่งด้วยกันก็จะทักกันอย่างนี้ ก็ดีใจเขาเรียกอย่างนั้น (หัวเราะ) ทกวันนี้ไปที่ไหนๆ ป้าก็วิ่งไป บางทีป้าจะไปซื้อของ ก็ตั้งไว้ วิ่งก่อนเสร็จแล้วก็เข้าห้าง วิ่งไปห้าง ขึ้นฟุตปาธ เราไม่กล้าลงข้างล่าง กลัว เดี๋ยวไม่ได้กลับบ้าน (หัวเราะ) มันจะกลับบ้านเก่าก่อนไง เคยวิ่ง 20 กว่าโล จากนี่ (ย่านสามเสน) ไปวงศ์สว่าง ไปร้านอาหาร ขากลับให้เพื่อนขับรถมาส่ง นอนหัวค่ำหน่อย 3 ทุ่มไม่เกิน เพราะเราตื่นเช้า ส่วนมากวิ่งมาราธอนไม่ได้นอนก็มี บางทีนอนไม่หลับ ทานยาแล้วมันแพ้ คันทั้งตัวยันสว่าง ทำยังไงวิ่งมาราธอนนะจะไหวมั้ย ตายแน่ๆ รำพึงกับตัวเอง วิ่งไปมันก็คันยิบยับๆ ตลอดทาง วิ่งไปเข้าหาน้ำทุกจุด เกลือแร่ทุกจุด กินตลอดเส้นทาง กลับวิ่งดีนะ ได้ที่ 1 ใครเขาบอกขนาดไม่หลับนะเนี่ย ยังวิ่งได้ดี มันอยู่ที่ว่าร่างกายเราแข็งแรงมากกว่า ไม่ขาดน้ำไม่ขาดเกลือแร่มันก็โอเคแล้ว อาหารต้องถึงด้วย เคยหิว น้ำ เกลือแร่ น้ำหวาน ก็ไม่อยู่ หิวจนต้องเดินเข้าเส้นชัย มันไม่มีแรงวิ่งเลย นั่นเป็นประสบการณ์ ตั้งแต่นั้นมาคิดหาวิธีเอาไง ก่อนลงป้าจะกินไข่ลวกมันจะไม่หิว สารครบทุกอย่าง กินจนกระทั่งทุกวันนี้ ลงมาราธอนต้อง 4 ฟอง มันมีแรงฮึด มีแรงวิ่ง ไม่หิว ไปถามหมอหมอว่าสารครบทุกอย่างเลยนะ มันทำให้เราร่างกายดี ตอน 60 ร่างกายก็ไม่ค่อยดีนะ คล้ายๆ ว่าไม่ค่อยได้เสริมอาหารเท่าไหร่ แต่พอป้ามาบำรุงตัวเองแบบที่ทำอยู่ตอนนี้ ร่างกายดี ผิวพรรณก็ดีขึ้นด้วย เมื่อก่อนเหี่ยว หน้าตาก็เหี่ยว คงเป็นเพราะทานอาหารด้วย ป้าทานแคปซูลโปรตีนเป็นประจำ มันก็ทำให้ร่างกายดี มันก็เป็นไปได้” |
ดูโพสต์นี้บน Instagram
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: อิสสริยา อาชวานันทกุล, กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ: ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “ปณิธินาด ขจรอรุณวงศ์”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **