อดีตมนุษย์เงินเดือนที่เคยประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต ยอมทิ้งชีวิตที่สุขสบาย ออกมาตั้ง “ศูนย์เพลินวัย” (forOldy) เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสุขในบั้นปลายของชีวิตหวังขยายไปยังชุมชนอื่นทั่วประเทศ ลดปัญหาการถูกทอดทิ้ง ทุ่มทุนทั้งหมดที่มี ทั้งแรงกาย แรงใจ ไม่มีเวลาแม้ให้กับตัวเอง ท้อ เหนื่อย แต่ไม่เคยล้มเลิก
ทิ้งชีวิตที่สุขสบาย ตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
“คุ้มทุกการตัดสินใจ มันก็เหนื่อยเงินก้อนสุดท้ายที่คิดว่าจะซื้อตั๋วเครื่องบินไปยุโรปพี่ยังต้องเอามาลงทำกิจกรรมทั้งหมดเลย แล้วพี่ก็ไม่มีโอกาสนั้นอีกแล้ว ถ้าเรียกความสุข ทุกวันนี้มันได้มากกว่าไปยุโรป”
อรนุช เลิศกุลดิลก อดีตมนุษย์เงินเดือนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่เลือกที่จะทิ้งชีวิตที่สุขสบาย มาเปิด “ศูนย์เพลินวัย” หรือโครงการเพื่อผู้สูงอายุ forOldy เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อดีตมนุษย์เงินเดือนทำงานรับราชการมาทั้งชีวิต ไม่มีโอกาสดูแลพ่อแม่ จนพ่อเสียชีวิต เหลือแม่เพียงคนเดียวจึงอยากดูแลให้ดีที่สุด และอยากให้แม่มีเพื่อนด้วย นี่จึงเป็นความตั้งใจแน่วแน่ในการเปิดศูนย์เพื่อผู้สูงอายุ
“พี่ทำงานในเรื่องของการติดตามและพัฒนาครอบครัวเด็ก ในช่วงทำงานอยู่กรุงเทพฯ ก็พบว่าผู้ปกครองเด็กส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้สูงอายุ ก่อนที่จะมาทำ พี่เคยรับราชการ มีโอกาสได้ไปดูงานพัฒนาสังคม มีโอกาสได้ไปเรียนรู้เรื่องชีวิตผู้สูงอายุที่ญี่ปุ่น
ได้มีโอกาสลงไปเยี่ยมศูนย์ผู้สูงอายุด้วย เรียกว่างานพัฒนาสังคมในทุกๆ ด้าน แต่พี่สนใจประเด็นผู้สูงอายุของประเทศญี่ปุ่นในตอนนั้น อันนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือพี่อยากให้แม่มีเพื่อน แล้วก็อยากดูแลแม่ด้วย เพราะว่าที่ผ่านมา พี่ทำงานเยอะ แล้วพี่ก็ไม่ได้ดูแลพ่อ จนพ่อเสีย จึงคิดว่าพี่น่าจะหยุดเดินทาง แล้วก็มาทำอะไรที่ได้ดูแลแม่ แม่มีเพื่อน และได้ดูแลคนอื่นด้วย ก็เลยออกมาเปิดโครงการเพื่อผู้สูงอายุ”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนผู้สูงวัยในสังคมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกวัน หากไม่มีการเตรียมการหรือตั้งรับ ทั้งในแง่ตัวผู้สูงวัยเอง หรือคนรอบข้าง ปัญหาที่เกิดกับผู้สูงวัย อาจกลายเป็นภาระของครอบครัวและสังคมได้
“ศูนย์เพลินวัย” หรือโครงการเพื่อผู้สูงอายุ forOldy แห่งนี้ที่ตั้งอยู่ที่ซอยนวมินทร์ 88 กทม. คงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้สูงอายุในอนาคตได้เป็นอย่างดี
“พี่อยากให้ผู้สูงอายุมีความสุข เพราะว่าท่านก็เหนื่อยกันมามายแล้ว บั้นปลายชีวิตก็น่าจะมีความสุขตามอัตภาพ พี่ก็เลยเลือกทำกับกลุ่มที่มีรายได้น้อยสุด ไม่มีเงินออมเลย ตอนนี้เรียกได้ว่าผู้สูงอายุใน 300 คน ที่ได้ร่วมกิจกรรมที่พี่ออกแบบไว้จะมีความสุขที่สุด
แม้ถึงยามสุดท้ายแล้วเจ็บป่วยก็ยังได้อยู่บ้านตัวเอง มีคนไปเยี่ยมเยือน มีของไปให้ ของใช้ที่จำเป็น พวกผ้าอนามัย ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ หรือพวกเตียง รถเข็น จะใช้เมื่อไหร่ก็มีให้ใช้ ในเงื่อนไขต่างๆ แต่ว่ายังไงก็ไดเใช้ เรียกว่ามีความสุข
พอถึงสุดท้าย วันสุดท้ายที่จะไปสู่ภพใหม่แล้ว เราก็ยังมีกองทุนอุ่นใจให้ ซึ่งกองทุนอุ่นใจเราก็ไม่ได้ทำแบบทั่วไปที่ศพละ 20 เพราะผู้สูงอายุเราไม่มีรายได้แล้ว เราก็จะทำเป็นบริจาคสบทบแค่เดือนละ 20 บาท แล้วก็จัดระบบให้เขาดูแลกันเอง ซึ่งเรียกได้ว่ามีความสุขในการที่จะร่วมจ่าย และมีความสุขที่จะได้รับ”
“สูงวัยอย่างสง่างาม เจ็บอย่างสบาย จากไปอย่างสงบ” คือ สโลแกน หรือแนวคิดของศูนย์เพลินวัย ที่ก่อตั้งมาเพื่อช่วยเหลือพัฒนาผู้สูงอายุในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ และให้มีชีวิตอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข
“สโลแกน อันนี้พี่ได้จากอาจารย์ตอนที่ไปเรียนภาษาญี่ปุ่น อาจารย์ท่านเป็นโรคกระดูกพรุน ท่านก็บอกมันไม่แน่ไม่นอนชีวิต เราต้องเป็นผู้สูงอายุสง่างาม เจ็บเราจะต้องไม่บ่น ไม่บอกใคร เราต้องอยู่ให้ได้ แก่แล้วไม่เงอะงะ เป็นคนแก่ที่น่ารัก ที่ใครอยากใกล้ชิด
เจ็บอย่างสบาย เราได้เจ็บอย่างเข้าใจ เรามีการเตรียมพร้อม มีการศึกษาเรียนรู้ แล้วก็ดูแลตัวเองไม่ให้มันเป็นมาก หรือว่าให้เป็นน้อยที่สุด ให้อยู่ได้นานที่สุด
จากไปอย่างสงบ เราต้องเตรียมพร้อม บอกกับสมาชิกทุกคนว่าเราต้องเตรียมพร้อม สมมติว่าเราเหลือเวลาอยู่ไม่มาก อีกไม่กี่วันเราต้องจากไป เราต้องทำทุกอย่างไว้ให้เรียบร้อย ไม่ให้เกิดปัญหากับลูกหลานเรา แล้วเราก็ไม่เป็นภาระใครด้วย เราจะได้สงบใจ พี่เองพร้อมแล้วนะ”
เป็นไปรษณีย์เชื่อมโยงทุกคน ให้มีโอกาสช่วยเหลือคนอื่น
ด้วยความมุ่งมั่นที่แน่วแน่ อยากให้บั้นปลายชีวิตของผู้สูงอายุมีความสุข นอกจากลงแรงกาย แรงใจแล้วนั้น ยังทุ่มเททุนทั้งหมดที่มี เพื่อสร้างกิจกรรมต่างๆ ให้กับผู้สูงอายุได้มีรายได้อีกด้วย
โดยกิจกรรมในศูนย์นอกจากให้ความช่วยเหลือ ยังสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ ด้วยการส่งเสริมงานฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นการเย็บกระเป๋าขาย เงินออมไม่ต้องลำบากลูกหลาน ใครที่ไม่มีลูกหลานดูแล หรือลูกหลานไม่มีเวลาให้เพราะต้องออกไปทำงาน ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมและอยู่ได้อย่างมีความสุข
นักอาสาผู้นี้ เธอจึงขอใช้ประสบการณ์ความรู้เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างคนมีสตางค์กับคนไม่มีสตางค์ได้มีโอกาสช่วยเหลือกัน เปรียบเหมือนตัวเองเป็นไปรษณีย์
“สำหรับตัวพี่เอง แค่อยากเห็นคนรอบข้างมีความสุข คิดว่าเจอใครแล้วก็อยากให้เขามีความสุข เราก็ใช้ประสบการณ์และความรู้ที่เรามีอยู่ จุดที่เราเชื่อมโยงได้ พี่ชอบคิดว่าตัวเองเป็นไปรษณีย์อยู่ตรงกลาง ตั้งแต่เด็กมาพี่ก็รู้สึกว่าพี่เกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่ได้เห็นทั้งคนที่เขาลำบาก เช้ามารู้ว่าต้องไปหาตังค์ที่ไหน กับคนที่เขามีตังค์เยอะๆ
ชีวิตที่เดินทางมาพี่ก็อยู่ตรงนี้มาตลอด กิจกรรมทุกอย่างที่ทำ พี่จะเป็นคนกลางตลอดที่จะให้คนลำบาก เขามีโอกาส คนที่เขามีก็ได้มีโอกาสแบ่งปันเช่นกัน วันนี้ที่พี่ตั้งธุรกิจเพื่อสังคมมา พี่ก็รับบริจาคของจากผู้สูงอายุที่มีตังค์ มีกำลังซื้อ ใช้แล้วไม่รู้จะเอาไปไหน พี่ก็รับมาไว้ แล้วพี่ก็ให้ผู้สูงอายุที่ป่วย ที่ไม่มีเงินเลย แต่จำเป็นต้องใช้ได้มีมีโอกาสได้ใช้ ก็เป็นจุดกึ่งกลางจุดหนึ่งที่พี่ได้ทำอยู่นะ”
ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุท่านั้นที่เข้าไปดูแล นอกจากนี้ยังอยากให้ทุกวัยได้เพลิดเพลินกับชีวิตในทุกๆ วัน ยังมีจัดตั้งเป็นโรงเรียนให้กับเด็กๆ ในชุมชน ส่งเสริมด้านคุณธรรมจริยธรรม โดยผ่านงานศิลปะอีกด้วย
“ที่นี่เราเรียกว่าศูนย์เพลินวัย ก็จะให้เป็นไปตามชื่อ เราอยากให้ทุกคน ทุกวัยได้เพลิดเพลิน เราก็ยังมีกิจกรรมของเด็กๆ พอดีเด็กเขาจะมาวิ่งเล่นแถวนี้ เขาก็ชอบสนุกสนาน เราเลยจัดเป็นโรงเรียนสองบาท ส่งเสริมด้านคุณธรรมจริยธรรม โดยผ่านงานด้านศิลปะให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะในเรื่องของสมาธิ เราก็จะมีอาสาสมัครมาช่วยเดือนละครั้ง เด็กๆ ก็จะมาที่นี่
ส่วนผู้สูงอายุก็จะมา ที่นี่เป็นที่ประชุมของกลุ่ม จะเป็นที่อบรมให้ความรู้เป็นเรื่องๆ ไป เป็นที่ถ่ายทอดความรู้ที่เราเรียกว่า Oldy wisdom”
ตั้งแต่ปี 2556 ถึงปัจจุบัน ศูนย์แห่งนี้ มีชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 8 ชุมชน จากจำนวนสมาชิกเป็นผู้สูงอายุประมาณ 300 คน โดยสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการนี้ต่างมีวัตถุประสงค์ตรงกันก็คือ การรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือสมาชิกให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“เราก็จะพบปะกันบ้างเดือนหนึ่งบ้าง สองเดือนบ้างแล้วแต่สะดวก เราก็นัดเจอกันมาคุย อัพเดตกิจกรรมกลุ่มของเรา ก็มีหลายกิจกรรม ซึ่งในทุกกลุ่มจะใช้วาระการประชุมที่เหมือนๆ กัน คุยเรื่องสมาชิก เรื่องอาสาสมัคร กองทุนอุ่นใจ แล้วมีเรื่องไหนที่เราไปทำข้างนอก ก็แจ้งให้เขาทราบ
มีรายงานการเยี่ยม ไปคุยเป็นเพื่อน ไปแนะนำเรื่องอาหาร ไปแนะนำเรื่องกายบริหาร ไปแนะนำดูแลเรื่องสุขภาพให้คำปรึกษา ไปให้ข้อมูลข่าวสาร
ส่วนสำคัญของเราก็คือ ถ้าอยากให้ช่วยเหลืออะไรก็บอก หรือถ้าบางคนบอกว่าต้องการเก้าอี้นั่งถ่าย ต้องการเก้าอี้นั่งอาบน้ำ รถเข็น เราก็จะมาคุยกันว่าเราจะช่วยเหลือแบบไหน
ต้องขอบคุณผู้บริจาคทุกคนเลยที่เห็นในสิ่งที่เราทำ แล้วเราได้มีโอกาสเป็นคนกลางได้ส่งต่อความช่วยเหลือนี้ไปให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการใช้ ตอนนี้บอกได้ว่าผู้สูงอายุในชุมชนเรามีความสุข”
ที่นี่เรียกได้ว่าเป็นองค์กรต้นแบบของการพัฒนาชุมชน ที่มีแนวคิดในการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข ซึ่งในอนาคตข้างหน้า หากโครงการนี้ได้ขยายผลไปยังชุมชนอื่นทั่วประเทศ จะช่วยลดปัญหาการพึ่งพา และการรับมือเตรียมความพร้อมกับสภาวะต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการดูแลผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น
และทำให้สถาบันครอบครัวของสังคมไทยมีความเข้มแข็ง ไม่มีใครถูกทอดทิ้ง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ด้วยความที่มีหัวใจอาสา เธอก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์แห่งนี้จะสร้างทั้งความสุข และรายได้ให้กับผู้สูงอายุได้อย่างยั่งยืน
“เราตั้งใจมาแล้ว เรามาด้วยความมุ่งมั่น ไม่ว่าฟีดแบ็กจะกลับมายังไง พี่ว่ามันเป็นเรื่องของความเข้าใจนะ วันนี้ไม่เข้าใจวันหน้าก็คงเข้าใจ เราก็จะเป็นอย่างที่เราเป็น เพราะเราตั้งใจที่จะทำอย่างนี้แล้ว คิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิมทุกครั้ง มีความมุ่งมั่นที่จะทำ ปลายทางก็อยากให้ผู้สูงอายุทุกคนมีความสุข
ตอนนี้เราเริ่มทำเป็นธุรกิจเพื่อสังคม พี่ออกแบบไว้ ก็มี Oldy หลายๆ Oldy ที่ทำอยู่ คือOldy Shop ร้านคุณตาคุณยาย Oldy Space คือที่เราจัดเป็นสถานที่ประชุมให้ความรู้ และยังมี Oldy Wisdom เป็นการให้ภูมิปัญญา และ Oldy Design เป็นงานฝีมือผู้สูงอายุ Oldy Workshop Oldy Nursing และOldy Trip ส่วนใหญ่ Oldy ที่สามารถสร้างรายได้มีแค่ 2-3 อย่างเท่านั้น
พี่อยากให้ทั้ง 7 Oldy ได้สรุปกันว่า เราต้องมีงานลักษณะนี้ที่รองรับ จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข เรียกว่า ผู้สูงอายุอยากไปเที่ยว เราก็จัดได้ อยากมีความรู้ดูแลผู้สูงอายุ เราก็จัดได้ อยากมีสถานที่ให้ผู้สูงอายุ เราก็จัดได้ อยู่ใน Oldy ทั้งหมดนี้ เราก็อยากให้ตรงนี้เป็นไปได้”
ท้อ เหนื่อย แต่ไม่เคยล้มเลิก
“มีเหมือนกันนะ แต่เวลาพอถึงจุดพีกสุดๆ ก็จะไปชุมชน ไปคุยกับผู้สูงอายุ ก็กลับมา ถ้าเราไม่ทำใครจะทำ ก็กลับมาทำต่ออีกแล้วก็ต้องขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์สวรรค์บันดาลด้วย ในวันที่สุดๆ หลายครั้งสับสนว่าจะเป็นต่อยังไง
แต่ยังไงก็ขี่หลังเสือลงไม่ได้ เพียงมันรู้สึกแย่ๆ แค่นั้นเองว่าทำไมมันไม่มาสักที ไอ้ปัจจัยที่เราต้องการ สิ่งเกื้อกูลที่เราต้องการมาทำให้เราเดินทางได้ถึงเร็วที่สุด พี่อยากได้ทีม อยากได้คนมาร่วมทางกับพี่ เรียกเพื่อนร่วมทาง ที่มาทั้งทุนด้วยนะ เพราะพี่เองก็ใช้ทุนตัวเอง ใช้แรงตัวเองทำมาจนถึงสุดๆ ของพี่แล้ว ตอนนี้ก็อยากได้ทุนอีกนิดหนึ่ง อยากได้เพื่อนอีกนิดนึงที่มาร่วมทางให้มันไปถึงจุดที่มันยั่งยืน พึ่งตัวเองให้มันยั่งยืน พี่ว่าพี่ขาดอยู่อีกนิดนึง”
เป็นมนุษย์เงินเดือนที่เคยใช้ชีวิตอยู่อย่างสุขสบายสามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้อย่างสบายๆ แต่เธอก็ไม่เคยเสียดายในตลอดระยะเวลาที่ได้ทุ่มเทมา ถึงแม้จะเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง ถือว่าคุ้มค่าเหนื่อยที่ทุ่มเทมาโดยตลอดหากย้อนกลับไปได้ก็ยังจะตัดสินใจที่จะทำ
“คุ้มทุกการตัดสินใจ แต่มันก็เหนื่อย ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อก่อน ในวันที่ตัดสินใจ เรียกว่าเป็นจุดสูงสุดในชีวิตมนุษย์เงินเดือนทั่วไปนะ เรียกได้ว่าพี่วางโปรแกรมท่องเที่ยวได้ตลอดปีเลย เดือนไหนหยุดสามวัน หรือยุดยาวพี่ไปต่างประเทศเที่ยวได้ตลอด
ตั้งแต่มาทำตรงนี้ไม่เคยมีโอกาสได้ไปไหนเลย ต้องเก็บตังค์ไว้ทำโครงการ เงินก้อนสุดท้ายที่คิดว่าจะซื้อตั๋วเครื่องบินไปยุโรปต้องเอามาลงทำกิจกรรมทั้งหมดเลย แล้วพี่ก็ไม่มีโอกาสนั้นอีกแล้ว ถ้าเรียกความสุข ความสุขมันได้มากกว่าไปยุโรป”
ตลอดระยะเวลาที่ก่อตั้งศูนย์เพื่อผู้สูงอายุมา มีเรื่องราวที่ทำให้ประทับใจมากกมาย เคสคุณตาที่ต้องการเตียงผู้ป่วยหลังออกมาจากโรงพยาบาล แต่ไม่มีเงินซื้อ เธอก็ได้ยื่นมือเข้าไปช่วย ซึ่งรู้สึกว่าสิ่งที่ทำเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างมาก
“ประทับใจ ก่อนหน้านี้เคสแรกของพี่เลย อาสาสมัครแจ้งมาว่ามีผู้สูงอายุกลับจากโรงพยาบาลแล้วนอนกลับพื้น แล้วมีถังออกซิเจนมาถังหนึ่ง พี่ก็เลยไปเยี่ยม ถามว่าตาจะเอาเตียงไหม แต่ตาบอกไม่มีตังค์ ตาเอานะหนูให้เช่านะ 500 บาท ตอนแรกจะขาย 5,000 บาทเลยนะ เพราะว่ารายได้แรกแล้วได้ตังค์ พูดความจริงเนอะ
ตาบอกตามีเงินเดือนละ 500 ตอนนั้น พี่ก็เลยบอกว่าอย่างนั้นตาเอาไปใช้ จ่ายเมื่อไหร่ก็ได้ แกก็เอาไปใช้ แล้ว 3-4 เดือนถัดมา ไม่นาน ไม่ถึงปีแกส่งเตียงคืน แล้วแกก็ขอรถเข็น รถเข็นพี่ก็หาสปอนเซอร์ให้แก พอรถเข็น แกขอซื้อรถเข็น ขอซื้อไม้เท้า พี่ก็เลยขายไม้เท้าให้แก 20 บาท
เป็นเคสที่รู้สึกว่า มันเป็นประโยชน์จริงๆ ถ้าเราไม่มา เขาก็จะนอนอย่างนั้นตลอดไป เราเคยเห็นแต่ผู้สูงอายุใช้ไม้เท้า ใช้รถเข็น และใช้เตียง แต่ของพี่ใช้เตียง ใช้รถเข็น และก็ใช้ไม้เท้า”
สิ่งที่บรรจง ทุ่มเทลงไป หวังเพียงอยากให้ผู้สูงอายุมีความสุขในบั้นปลายชีวิตเท่านั้น แต่หญิงแกร่งหัวใจอาสาผู้นี้ยอมรับว่า ได้มากกว่าที่คิด และดีใจที่ครอบครัวและคนรอบข้างคอยซัพพอร์ตเสมอมา
“ในส่วนที่เป็นผู้ทำ พี่ได้ครอบครัวจิตอาสาของพี่ คือที่บ้านเมื่อก่อนพี่เรียนหนังสืออยู่ที่บ้านค่อนข้างจะงง กับชีวิตกับนักกิจกรรม แต่ปัจจุบันที่บ้านเป็นผู้สนับสนุนเราหลักๆ เลย ตั้งแต่แม่มาถึงน้อง แล้วก็ญาติพี่อีกส่วนหนึ่งเขาก็สนับสนุนมา
กับเพื่อนก็ได้เยอะ คนที่เขาเป็นนักธุรกิจเขาก็จะได้มีพื้นที่ในการแบ่งปัน ส่วนผู้สูงอายุของพี่ก็คิดว่าเขาได้รับอย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับแบบชิลๆ ไม่รู้สึกลดทอนใจว่าเราขอบริจาค พี่บอกแล้วพี่สร้างกลไกล พี่จะอยู่ตรงกลาง คนรับก็รับอย่างมีศักดิ์ศรี คนให้ก็ให้อย่างไว้วางใจที่จะได้เป็นผู้ให้ ให้ตรงคนตรงจุด
พี่ว่าได้มากกว่าที่คิดนะ ที่ได้บรรจงทำ ได้ทุ่มเท จริงจัง อาจจะมีบางคนไม่ชอบ เพราะว่าตรงเกินไป แต่พี่คิดว่าความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย ถ้าเราได้ทำอะไรที่มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง มันจะเป็นแผลให้เรารู้สึกไม่สบาย
ทุกวันนี้พี่มองกลับไปทุกครั้งพี่มีความสุขนะ แม้มันจะเหนื่อยยากในหนทางที่พี่เดินมาในตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีในการทานเพื่อสังคม”
สัมภาษณ์ รายการ ฅนจริงใจไม่ท้อ
เรียบเรียง MGR Live
เรื่อง พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊กแฟนเพจ “forOldy”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **